หลังจากผ่านการเสาะหาผู้ร่วมลง ทุนมานานถึง 2 ปีเต็มและผ่าน การเจรจามาหลายเดือนกับผู้ร่วมทุนที่น่าสนใจหลายราย
ในที่สุดธนาคาร นครธน ซึ่งเป็นกิจการที่ก่อตั้งและบริหารโดยตระกูลหวั่งหลี
ก็ได้ผู้ร่วม ทุนคือธนาคารสแตนดาร์ดชาร์-เตอร์ด และมีการลงนามในบันทึก ความเข้าใจร่วมกันไปแล้วเมื่อ
28 เมษายนที่ผ่านมา แต่การลงทุนในธ.นครธนของธ.สแตนดาร์ดชาร์-
เตอร์ดจะสำเร็จหรือไม่นั้น แผนการร่วมลงทุนครั้งนี้ต้องได้รับการยอมรับและอนุมัติจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสถาบันการเงิน
ซึ่งในวันลงนามนั้นยังไม่ได้รับการอนุมัติ
ทั้งนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
(กปส.)เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาของธ.นครธนว่ามี 3 แนวทางเลือกด้วยกัน
คือ 1. ปิดกิจการธนาคาร 2. ทางการเข้าแทรกแซงและหาทางขายในภายหลังเหมือนกรณีธ.ศรีนครและธ.นครหลวงไทย
3. ให้ธ.นครธนเข้าโครงการขอความช่วยเหลือเพิ่มทุนในเงินกองทุนขั้นที่ 1 ตามมาตรการ
14 สิงหาคม
ในแต่ละทางเลือกนั้น ทางการจะมีภาระทางการเงินแตกต่างกัน และให้ผลในการสร้างความมั่นคงต่อสถาบันการเงินแตกต่างกันด้วย
โดยการปิดแบงก์ตามแนวทางแรกนั้น เนื่องจากในตอนนี้ทางการประกาศรับที่จะค้ำประกันเงินฝาก
ประชาชนและหนี้ของเจ้าหนี้ธนาคาร หากปิดแบงก์นครธน ทางการจะมีภาระการค้ำประกันจำนวน
40,000-50,000 ล้าน บาท
ดร.ประสารให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางแรกว่า "หาก ทางการไม่มีผู้ดูแลหรือผู้บริหารสินทรัพย์ที่มีความสามารถ
ก็จะทำให้สินทรัพย์เสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็น ในกรณีปิดสถาบันการเงิน
56 แห่ง และที่สำคัญจะทำให้ภาพพจน์การแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินไม่ค่อยดี
แทนที่จะคืบหน้ากลายเป็นถอยหลังไป"
สำหรับทางเลือกที่สอง ทางการจะมีภาระทางการเงิน คือต้องเข้าไปเพิ่มทุนให้ธ.นครธนเพื่อตัดความเสียหายที่มีอยู่
ซึ่งหากใช้ตัวเลขประมาณการของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์-
เตอร์ด และธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ ซึ่งเป็นผู้สนใจร่วมทุนและได้ทำ due
diligence แล้วปรากฏว่าต้องใช้เงิน 13,000-17,000 ล้านบาท หลังจากนั้นยังต้องเพิ่มทุนอีก
7,000 ล้านบาทเพื่อให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(capital
adequacy ratio-car)ตามมาตรฐาน BIS 8.5% (แยกเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 = 4.25%
และเงินกองทุน ชั้นที่ 2=4.15%)
วิธีนี้ทางการต้องใช้เงิน 20,000-24,000 ล้านบาทและ ทางการมีภาระต้องหาผู้บริหารที่มีความสามารถเข้าไปบริหาร
งาน ซึ่งหากไม่สามารถฟื้นฟูกิจการให้ดีขึ้นได้ในระยะเวลาอัน สั้น ก็จะทำให้สินทรัพย์ธนาคาร
เสื่อมคุณภาพลง เป็นภาระ ของทางการไม่จบสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่แล้ว
ทางเลือกที่สามคือการมีผู้ร่วมทุน ซึ่งธนาคารก็มีการเจรจากับผู้สนใจร่วมทุนมานานหลายราย
และปรากฏว่า เมื่อพิจารณาข้อเสนอของผู้สนใจร่วมทุนต่างๆ นั้น ข้อเสนอ ของธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีสาระที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบ
คือให้ทางการเข้าไปเพิ่มทุนจำนวน 13,000 ล้านบาทซึ่งจะทำให้เงินกองทุนของธนาคารไม่ติดลบ
และทางการเป็นผู้ถือ หุ้นในสัดส่วน 70% แล้วทำสัญญาให้ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
บริหารสินทรัพย์ที่มีปัญหา ถ้าภายใน 5 ปีสามารถเรียกหนี้คืนได้เท่าไหร่ ทางการจะได้
90% ของจำนวนที่เรียกคืนอีก 10% เป็นของธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการเรียกหนี้คืน
ซึ่งดร.ประสารกล่าวว่าประเมินว่าทางการอาจจะได้เงินจากการเรียกหนี้คืนประมาณ
5,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ทางการยังได้เรียกร้องข้อเสนออื่นอีกเช่น ให้มีการจัดสรรหุ้นให้ทางการจำนวนหนึ่ง
โดยทางการไม่ต้องจ่ายเงินค่าหุ้น และยังได้ใบสำคัญแสดงสิทธิ์การซื้อหุ้นหรือวอร์แรนต์ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นได้ภายใน
5-7 ปี โดยคาดว่าทางการจะได้ผลตอบแทนจากหุ้นที่ได้เป็นโบนัสและวอร์แรนต์ประมาณ
3,000-4,000 ล้านบาท สุทธิแล้วเท่ากับทางการเสียหาย 3,000-6,000 ล้านบาท
ขึ้นกับราคาหุ้น ธ.นครธนในอนาคต
ดังนั้นเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบทั้งสามแนวทางนี้แล้ว จะเห็นว่าแนวทางที่สามเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของธ.นครธน
ซึ่งรายละเอียดจากการเซ็นบันทึกความเข้าใจเมื่อปลายเดือน เมษายน ดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวทางที่สาม
แต่ก็มีผสม กับแนวทางที่สองด้วยคือการใส่เม็ดเงินลงไปอีก 7,000 ล้าน บาทจากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและผู้ถือหุ้นเก่าซึ่งก็คือตระกูล
หวั่งหลี (จำนวน 6,194 และ 808 ล้านบาทตามลำดับ-ดูตาราง)
วรวีร์ หวั่งหลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารนครธน เปิดแถลงข่าวครั้งสำคัญของธนาคาร
ซึ่งปกติทั้งตัวเขาและธนาคารก็เป็นพวก low profile มาตลอด ถ้อย แถลงของวรวิร์สะท้อนให้เห็นความรับผิดชอบ
การตัดสินใจ และคำขอบคุณผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีน้ำหนักถึงครึ่งหนึ่งของคำแถลง
เขากล่าวว่าการลงนามในบันทึกความเข้าใจกับธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดครั้งนี้เป็น
"การลงนามครั้งประวัติ ศาสตร์" ของธนาคารฯ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ปิดบังว่าแม้นการเจรจา
กับธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจะสำเร็จลงแล้ว แต่เงื่อนไขทั้งหลายที่ทำกันก็ต้องได้รับการยอมรับจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
ด้วย
ส่วนเหตุผลที่เลือกเอาธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนั้นวรวีร์ อธิบายว่าข้อเสนอของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเรื่องการปรับโครงสร้างเงินทุนให้นครธนมี
"ความน่าสนใจและความเป็นไปได้สูง" นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ธนาคาร "ดำรงอยู่ได้ในระยะยาว
อีกทั้งยังนำผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ถือหุ้นปัจจุบัน รวมทั้งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินได้ในอนาคต"
(ดูรายละเอียดแผนการปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคาร)
เหตุผลถัดมาวรวีร์มองในเรื่อง ความสามารถในการแข่งขันของนครธนในอนาคต ซึ่งสแตนดาร์ดชาร์-
เตอร์ดจะให้ความช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยีที่นครธนต้องการอย่างมาก เพื่อให้ธนาคารมีความสามารถในการ
แข่งขันกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ที่เข้ามาร่วมลงทุนกับธนาคารในประเทศรายอื่นๆ
เหตุผลสุดท้ายเป็น เรื่องของความเชื่อมั่นของคณะผู้บริหารธ.นครธนที่ให้ความเชื่อมั่นต่อ
แผนงานของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ว่าแผนการนี้จะได้รับการยอมรับอย่างดีจากผู้ถือหุ้นของธนาคาร
อินทิรา วัฒนเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.นครธนกล่าวว่า "โครงการนี้ถือเป็นการขอความช่วยเหลือเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่
1 (ตามมาตรการ 14 สิงหาคม) อันนี้เป็นไปตามไกด์ไลน์ของการเข้าร่วมโครงการฯ
โดยรวมแล้วไม่มีอะไรแตกต่าง รวมทั้งเรื่องโครงสร้างการบริหารด้วยที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติ"
ประเด็นเรื่องการเข้าในโครงการขอความช่วยเหลือเพิ่มเงินกองทุนนี้ เป็นเรื่องที่มีความสงสัยกันมากในวันแถลงข่าว
และยืดเยื้อต่อมาจนกลายเป็นประเด็นทาง "การเมือง" ที่รอให้รมต.คลังชี้ขาดด้วยแนวทางที่ว่าต้องมีการแก้ไขเงื่อนไขการขอเข้าโครงการฯ
เพราะเงื่อนไขบางอย่างของธ.นครธนไม่เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือกล่าวในทางกลับกันคือทางการไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้หากใช้โครงสร้าง
ของมาตรการ 14 สิงหาฯ
ทั้งนี้ในแผนการเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 1 โดยภาครัฐ มีรูปแบบวิธีการเพิ่มทุน
รัฐบาลจะทำได้โดยวิธีออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่สามารถซื้อขายได้ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้:
-ภายหลังจากการกันสำรองจนเต็มจำนวน และได้ตัดหนี้สูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ เสี่ยงของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่ำกว่าร้อยละ 2.50
รัฐบาลจะเตรียมพร้อมเพื่อเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินดังกล่าว จนมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่
1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงสุดไม่เกินร้อยละ 2.50
- เมื่อผ่านเกณฑ์ข้างต้นแล้ว รัฐบาลจะเตรียมพร้อม เพื่อเพิ่มทุนให้กับเงินกองทุนชั้นที่
1 อีกจำนวนหนึ่งไม่เกินจำนวนเงินทุนที่เพิ่มโดยผู้ลงทุนภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าธ.นครธนยังไม่ได้มีการกันสำรองจนเต็มจำนวน โดยตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารฯ(NPL)
มีอยู่ประมาณ 23,047 ล้านบาท(เมื่อ 31 ธ.ค. 2541 และเพิ่มเป็นประมาณ 53%
ในเดือนเมษายน 2542- วันแถลงข่าว) ขณะที่การดำรงเงินกองทุนของธนาคาร ก็ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
(มี CAR 2.54% โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 1.50- ข้อมูลจากหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ
3.15 ของงบการเงินเมื่อ 31 ธ.ค. 2541)
ในการนี้ วรวีร์ยอมรับว่า "หากได้เงินของกองทุนเพื่อ การฟื้นฟูฯ เข้ามาจำนวน
13,000 ล้านบาท ก็จะทำให้มีเงินกองทุนสำรองเต็ม 100% และหนี้เสียก็สำรองเรียบร้อยเป็น
clean bank ไปเลย" วรวีร์เปิดเผยด้วยว่าการขอความช่วยเหลือจากทางการครั้งนี้
"ไม่เข้ามาตรการ 14 สิงหาคม เนื่องจากมีข้อกำหนดบางอย่างที่ไม่เข้าข่ายระเบียบดังกล่าว"
นอกจากนี้เขายังย้ำด้วยว่า "แม้ลดทุนมาเหลือ 1 สตางค์ก็ยังไม่ cover ต้องเอามาอีก
13,000 ล้านบาท จึงจะครบ กองทุนฯ จึงจะเพียงพอ"
หลังจากธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเข้ามาควบคุมกิจการแล้ว วรวีร์และตระกูลหวั่งหลีจะลดอำนาจการบริหาร
หรือแทบจะไม่เข้าไปยุ่งในตำแหน่งบริหารอีก ส่วนตัววรวีร์นั้นจะไม่ดำรงตำแหน่งทางการบริหาร
เหลือไว้เพียงแค่การเป็นที่ปรึกษาธนาคารเท่านั้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการธ.นครธนเมื่อสแตนดาร์ดชาร์
เตอร์ดเข้ามาแล้ว จะมีคนของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 8 คน ฝ่ายนครธน 3 คน และจากกระทรวงการคลัง
กองทุนฟื้นฟูฯ และกรรมการอิสระ รวมทั้งชุด 15 คน
วรวีร์เปิดเผยเกี่ยวกับการเซ็น MOU กับสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ซึ่งหลายๆ
ฝ่ายมองว่าทำไมต้องรีบร้อนนัก ในเมื่อกองทุนฯหรือทางการยังไม่อนุมัติ เขากล่าวว่า
"หลังจากที่เราประชุมคณะกรรมการแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าทุกอย่างต้องกระจายออกไปสู่สาธารณะ
ทุกคนรู้แล้ว ทีนี้เราจำเป็นต้องเซ็นสัญญาเพื่อให้มีข้อตกลงที่พอจะเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับทราบ"
นอกจากนี้ เขายังได้ commit ไว้กับผู้ถือหุ้น และ ธนาคารแห่งประเทศไทยว่าแผนการปรับโครงสร้างของธนาคาร
โดยเฉพาะแผนเพิ่มทุนนั้นต้องเรียบร้อยภายใน 30 มิถุนายน ศกนี้
หากกองทุนฯ ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในแผน การปรับปรุงธนาคารฯ อีก ก็คงต้องมีการคุยกัน
"หากเขาจะให้ผมเปลี่ยนแปลง ผมก็ไม่มีสิทธิที่จะไปทำอะไรเขา ก็คงต้องยอมรับ
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องใช้เหตุผลมาพูดกัน แต่ผมเชื่อว่ามันคงไม่ทำให้ดีลที่เราทำกับสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ล้ม และนี่ไม่ใช่การลงนามที่เร็วเกินไป" วรวีร์เผยความในใจของเขา
"ก็ควรจะอนุมัติ เพราะผมคิดว่าทุกอย่างก็ได้ผ่านขั้น ตอนการพิจารณาของทางภาครัฐมาค่อนข้างเยอะแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นทางกปส. แบงก์ชาติ หรือกระทรวงการคลัง" นอก จากนี้ "ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรจะทำให้เรียบร้อย
เหตุผลคือมันก็ได้พูดจาต่อรองกันมานานแล้ว พวกนักข่าวก็อยากจะรู้เรื่อง ให้มีข้อมูลที่จะเขียนได้
เราก็เลยอยากจะเซ็นสัญญา เพื่อที่จะได้เปิดเผยข้อมูลได้อย่างถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
เพราะผมเองเกือบทุกเช้าก็ต้องมานั่งส่งเรื่องให้ตลาดฯเพื่อแก้ข่าว รายงานความจริง"
สำหรับทิศทางของธนาคารในอนาคตนั้น แน่นอนพนักงานก็กังวลเรื่องผู้บริหารกลุ่มใหม่
ซึ่งวรวีร์ให้เหตุผลเกี่ยวกับข่าวเรื่องการปิดสาขาว่า "การที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
เข้ามา เขาก็ต้องมาดูเรื่องพนักงาน ประสิทธิภาพการทำงาน อย่างพนักงานนี่เรามี
2,054 คน เรื่องการยุบสาขานี่ ต้องเข้าใจว่าการขอเปิดสาขานั้นเราต้องขออนุญาตจากแบงก์ชาติ
ซึ่งเขาก็มีจุดมุ่งหมายต้องการกระจายความเจริญ การที่เราจะไปปิดสาขาอะไรก็ต้องดูว่ามันขัดหลักการใหญ่นั้นหรือเปล่า"
ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องคือการเปลี่ยนชื่อธนาคาร วรวีร์เปิดเผยว่าขึ้นอยู่กับคณะผู้บริหารชุดใหม่
ว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่เขายอมรับว่าชื่อนครธนจะใช้อยู่ต่อไปอีกประมาณ 1
ปี และส่วนตัวเขาเองนั้น "ส่วนตัวผมคงยังลาออกไม่ได้ ก็ต้องอยู่ช่วยเขาไป
จนกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย เราคงต้องให้ทั้งสองแบงก์นี่หันหน้าเข้าหากัน
พยายามทุกอย่างให้พนักงานนี่เข้ากันได้"
ปัจจุบันตระกูลหวั่งหลีถือหุ้นในธนาคารฯ อยู่ประมาณ 8-11% พวกเขามีสิทธิซื้อหุ้นใหม่และ
วอร์แรนต์ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ทุกคนอยากทราบว่าตระกูลหวั่งหลีจะเอาอย่างไร
วรวีร์ กล่าวว่า "ผมไม่สามารถตอบแทนสมาชิกในตระกูลคนอื่นๆ ได้" แต่ส่วนตัวเขานั้น
"หากเขา (ผู้ถือหุ้นรายใหม่) ยอมให้ผมซื้อ ผมก็ซื้อครับ ซึ่งหากทุกคนซื้อตามสัดตามส่วน
เอา right เอา warrant ต่างๆ มันก็มีเท่าเดิมคือ 11%" แต่หากว่าซื้อไม่ครบตามสัดส่วนที่มีอยู่นั้น
อินทิราเปิดเผยว่า "ในส่วนที่เหลือของ 800 ล้านบาทนั้น ผู้ร่วมทุนก็จะรับไป"
วรวีร์กล่าวปนหัวเราะว่า "ตระ-กูลหวั่งหลีเสียไปหมด เพราะเหลือแค่ 1 สตางค์
แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่าสูญไปเท่าไหร่" วิธีนี้เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับวรวีร์
ซึ่งเขามีความมั่นใจมากในวันเซ็นสัญญานั้น และดูเหมือนสุจินต์ หวั่งหลี-น้องชายสุวิทย์
ซึ่งขึ้นมาเป็น senior แทนสุวิทย์ที่จบชีวิตไปอย่างกะทันหันก่อนเห็น ฉากประวัติศาสตร์ของธนาคารที่บรรพบุรุษสร้างมา
ก็ดูจะให้การสนับ สนุนวรวีร์อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี สำหรับทำนุ หวั่ง หลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ มีความ รู้สึกที่ต่างออกไป
"ผมรู้สึกใจหาย ก็เพราะว่า goodwill ของเราหายไป มันตั้ง 60 กว่าปี ผู้ใหญ่ให้มา
ของตระกูลแล้ว อยู่ๆ ต้องขายให้ต่างชาติไป แล้วคุณใจไม่หายหรือ และเราก็ปล้ำกันมาตั้งแต่แรกจนมีความเจริญถึงขนาดนี้
แล้วจะไม่ใจหายหรือเมื่อต้องมอบให้เขาไป"
สำหรับตระกูลหวั่งหลี นี่อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะประเมินได้ในเวลานี้
แม้จะยังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าเป็นการลอยคออยู่กลางมหาสมุทรก็ตาม