ในขณะที่ธนาคารเอเชีย ตัดสินใจเลือกบริษัท walker group จากนิวยอร์ก มาเป็น
ผู้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับธนาคารเอเชีย ปรับปรุงสาขาใหม่ให้มีความสดใส กระฉับ
กระเฉง ตั้งแต่นามบัตรไปจนถึงโลโกใหม่ อย่างที่เห็นอยู่เวลานี้
สาขาแต่ละแห่ง ที่เคยมีระดับขั้นในการทำงาน ที่ซับซ้อน มีทั้งผู้จัดการ
รองผู้จัดการ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนก จะถูกรีเอ็นจิเนียริ่งใหม่ เหลือเพียงหัวหน้าพนักงานการตลาด
ในขณะที่พนักงานก็จะมีหน้าที่ให้บริการเฉพาะบางรายการที่ยังพึ่งพาระบบไม่ได้เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งของการผ่าตัดองค์กร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ
3 ปีที่แล้ว เพื่อก้าวไปสู่การเป็นรีเทลแบงกิ้ง
ในเวลานั้น ผู้บริหารของธนาคารเอเชีย ต้องใช้เวลา 6 เดือนเต็มในการคัดเลือกเทคโนโลยีใหม่
ในการยกเครื่องระบบไอทีทั้งหมด เครื่องเมนเฟรมของไอบีเอ็มถูกนำมาติดตั้งแทนระบบฮาร์ดแวร์เดิม
และเลือกเอาซอฟต์แวร์ของ systemetics (Altel co.) ซึ่งเป็นระบบ ที่ธนาคารขนาดใหญ่ของต่างชาติ
ใช้งานอยู่มาใช้แทนซอฟต์แวร์เดิม
"เราเลือกซอฟต์แวร์ระบบ world class ซิตี้แบงก์ก็ใช้
เชสแมนฮัตตันแบงก์ก็ใช้ เฟิสท์เนชั่นแนลแบงก์ก็ใช้ ธนาคารของไทยบางแห่งก็ใช้
แต่ถึงแม้ซอฟต์แวร์จะดีก็ต้องอยู่ ที่คนด้วย" วิลาวรรณกล่าวอย่างภูมิใจ
ผลที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเหล่านี้ ก็คือ ระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารเอเชียสามารถรองรับกับบริการใหม่ๆ
ที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายดาย เมื่อระบบงานเป็นมาตรฐานของโลก ที่เป็นระบบเปิดอยู่แล้ว
หลังจากธนาคารใช้เวลาในติดตั้ง และพัฒนาระบบงานอีก 1 ปีเต็ม จากนั้น จึงไปสู่ขั้นตอนของการใช้งานให้กับพนักงานของธนาคาร
โดยอาศัยสื่อมัลติมีเดียเข้าช่วย
ทันที ที่การวางระบบคอมพิวเตอร์หลัก ที่ใช้เงินลงทุนไป 700 ล้านบาทเสร็จสิ้น
ก็นำ application ต่างๆ มาเสริมใน เรื่องการใช้ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
วิลาวรรณบินไปซื้อซอฟต์แวร์ทีเซอร์ (Tser) มาใช้ในเรื่องของการวิเคราะห์ต้นทุนนำมาติดตั้ง
โปรแกรมโลตัสโน้ต ถูกนำมาใช้ในเรื่องของระบบอินทราเน็ต เพื่อการสื่อสาร
และการใช้ข้อมูลภายในของธนาคารเอเชีย
ทั้งหมดนี้ เพื่อเอื้อให้กับทิศทางใหม่ของธนาคารเอเชีย ที่จะมุ่งไปสู่ตลาดรีเทลแบงกิ้ง
นอกจากภาพลักษณ์ ที่เปลี่ยนใหม่ ระบบการทำงานของสาขาถูกปรับเปลี่ยนใหม่ จากสาขาแบบเดิม
ที่เคยมีตำแหน่งงานมากมาย มีขั้นตอนการทำงานซับซ้อน คนเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นนักการตลาด
เป็นตัวแทนบริการ ระบบทำงาน ที่ยุ่งยากซับซ้อนจะถูกทดแทนด้วยระบบคอม พิวเตอร์เป็นเครื่องมือ
ที่จะต้องรองรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว สาขาทั้ง 110 แห่ง ที่ถูกเชื่อมโยงด้วยระบบเครือข่าย
(network) ได้นำเอาซอฟต์แวร์ systemetics มาใช้ในด้านบริการของธนาคาร เช่น
การโอนเงิน และถอนเงินจนครบทุกสาขา
กระบวนการที่สำคัญ และยากที่สุด ก็คือ การแปลงข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลหลัก
หรือ ระบบ CIS ไปเชื่อมโยงเข้ากับระบบการทำงานของสาขา ทั้ง 110 แห่ง เพื่อให้ฐานข้อมูลสามารถเชื่อมกับระบบทำงานทั้งหมดของสาขา
ไม่ว่าจะเป็นการฝากถอน ระบบเครดิตการ์ด รวมถึงระบบของเครื่องเอทีเอ็ม
"เราทำระบบนี้ก็ เพื่อ ที่ว่าเราจะรู้ข้อมูลของลูกค้าได้ตลอด
ไม่ว่าเขาจะไปใช้บริการที่สาขาไหน เราจะรู้ข้อมูลได้เลยทันทีว่า คนนี้ระบบบัญชีเป็นอย่างไร
เราจะเพิ่มบริการอะไรให้เขาบ้าง ซึ่งเราจะทำควบคู่ไปกับการสำรวจความต้องการเป็นระยะ"
วิลาวรรณเล่าถึง ที่มาของการเปิดธนาคารสาขาในช่วงวันหยุด ที่มาจากฐานข้อมูลเหล่านี้
ผลที่ได้รับจากการตัดสินใจผ่าตัดองค์กรเมื่อ 3 ปีที่แล้ว นอกจากจะทำให้ธนาคารลดต้นทุนในเรื่องต่างๆ
ลง ธนาคารเอเชียสามารถขยายสาขาเพิ่มได้ โดยไม่ต้องรับพนักงานเพิ่ม การมีระบบหลังบ้าน
ที่พร้อม ระบบคอมพิวเตอร์ ที่ถูกปรับโฉมใหม่ ที่ใช้มาตรฐานสากลก็ทำให้ธนาคารเอเชียก้าวไปสู่การเป็น
Internet banking
ถึงแม้ว่าการผ่าตัดจะเสร็จสิ้นลงไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ภาระของการพัฒนาเทคโนโลยีจะหยุดลง
สิ่งที่ธนาคารเอเชียต้องทำในวันนี้ ก็คือ การเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีในวันข้างหน้า
สำหรับคลื่นของการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้