Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2542
กิตติรัตน์ ณ ระนอง "เถ้าแก่" คนใหม่             
 


   
search resources

คาเธ่ร์ แอสเซท แมนเนจเม้นท์
กิตติรัตน์ ณ ระนอง




15 ปีแห่งการทำงานของชายหนุ่มผู้มากไปด้วยประสบการณ์และคอนเนกชั่น บนถนนสายธุรกิจทั้งการเงินและหลักทรัพย์ วิถีการเป็นมือปืนรับจ้างของเขาได้ยุติลงแล้ว เขากลายมาเป็น "เถ้าแก่" ที่โดดลงมาทำงานกับ "ลูกค้า" เอง พร้อมกับทีมงานอีก 11 คนก่อตั้งบริษัท ที่ปรึกษาคนไทยล้วน ซึ่งทำให้เขากับเพื่อนได้ชื่อว่ายังมีงานทำ ในยุคมืดของสถาบันการเงินไทย แสนสิริ vs สตาร์วู้ด เป็นดีลแรกที่เปิดตัวเขาอย่างงดงาม หลังจากเงียบหายไปนานถึง 2 ปี

วันนี้กิตติรัตน์กลับมาแล้วพร้อมกับความฝันที่จะสร้างบริษัทที่ปรึกษา และบริหารเงินของเขา และผองเพื่อนให้แข็งแกร่งมั่นคง!!

...จากพิษฟองสบู่แตก เกิดบาดแผลเศรษฐกิจที่ลุกลามเป็นแผลติดเชื้อ บรรดาสถาบันการเงินทั้งหลายที่เปรียบเสมือน "คลินิกการเงิน" ศูนย์รวมของเซียนการเงินที่เปรียบเหมือน "คุณหมอ" หัวกะทิ หัวใส ที่คอยผ่าตัดเปลี่ยนแปลงตกแต่ง "คนไข้" ที่มาขอคำปรึกษาและรับการรักษาเยียวยาให้ดูดีขึ้นผิดหูผิดตา ถึงคราวล่มสลาย เนื่องจากรักษาคนไข้ไม่ถูกวิธี นานวันเข้าก็เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ ลุกลามขึ้น เป็นผลให้ทางการเข้ามาสั่งปิดตาย "คลินิก" ดังกล่าว บรรดาคุณหมอทั้งหลายจึงต้องแตกแยกกระจัดกระจายไปตามทางของแต่ละคน บ้างก็เลือกที่จะปิดตัวเองออกไปจากแวดวงธุรกิจ บ้างก็ยังคงต้องออกมาดิ้นเพื่อความอยู่รอดของตนเองและพวกพ้อง...นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด"!!!

กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนหนึ่งในหลายๆคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น แม้ว่าสถาบันการเงินที่เขาสังกัดและรับผิดชอบอยู่ในขณะนั้นจะไม่ได้ถูก "ปิดตาย" ไปด้วย แต่เขามีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาตัวเองหลังจากที่เขาพยายามผลักดันให้ S-ONE กับ FAS รวมกิจการกัน... เรื่องราวเริ่มต้นของการพลิกผันตัวเอง มาเป็น "เถ้าแก่" ในวันนี้ของกิตติรัตน์ เริ่มขึ้นแล้ว...

กันยายน 2539 กิตติรัตน์ กับภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ หารือกันถึงความเป็นไปได้ของการควบรวมกิจการ กันระหว่างบล.เอกธำรง กับบงล.เอกเอเซีย (S-ONE กับ FAS) เนื่องจากเขาทั้งสองมีความเห็นว่า ในเมื่อ FAS เองมีบริษัทลูกคือ ASIA EQUITY ซึ่งมี สาขา ในต่างประเทศหลายสาขา อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ นิวยอร์ก และลอนดอน เป็นต้น ประกอบกับ S-ONE ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีนโยบายที่จะออกไปตั้งสาขาในต่างประเทศ ดังนั้นน่าจะเป็นผลดีหากทั้ง 2 บริษัทรวมกิจการกัน ซึ่งจะทำให้ S-ONE ออกไปสู่ตลาดสากลด้วยสาขาของ FAS และ FAS เองก็ได้เทคโนโลยีและบริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้นจาก S-ONE แผนการนี้ดูสวยหรู หากเป็นจริงอย่างที่ตั้งเป้าไว้ แต่แล้วหลังจากที่ใช้เวลาในการพิจารณาตัดสินใจว่าจะรวมทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกันนานถึง 6 เดือน สถานการณ์ภายนอกเริ่มไม่เป็นใจ แต่การรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทยังคงดำเนินต่อไป และหลังจากการรวมกิจการแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและภูมิภาคยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ผู้บริหารจึงตัดสินใจขาย ASIA EQUITY ให้แก่บริษัทฝรั่งเศส และขาย FAS ให้แก่บริษัทในมาเลเซียไป หลังจากมาเลเซียซื้อไปได้ 1 ปีก็เจอพิษเศรษฐกิจเช่นกัน จึงขายต่อให้สิงคโปร์

"การตัดสินใจขาย ASIA EQUITY และ FAS ทิ้ง ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ในเมื่อเราเห็นแนวโน้มแล้วว่า ไปไม่รอดแน่ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาตัวเอง เพราะทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน ประกอบกับในแง่ขององค์กรใหม่จำเป็นต้องลดขนาดและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย" กิตติรัตน์เล่า

ตุลาคม 2540 กิตติรัตน์หมดสภาพความเป็นพนักงานของ S-ONE ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ กรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Sale and Research เขากลายเป็นคนว่างงานอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งในระหว่างนั้นเขาเกิดความคิดที่จะก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้น โดยดึงสมัครพรรคพวกที่ตกงานเช่นเดียวกันมาร่วมลงขันและทำงานร่วมกัน จากเดิมที่คิดไว้ว่าจะมีหุ้นส่วนเพียง 5 คน ชวนกันไปชวนกันมากลายเป็น 12 คน และในเวลาต่อมาเขาก็ได้ผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาร่วมด้วยคือ บมจ.แสนสิริ ซึ่งเป็นลูกค้าของเขาเอง

มกราคม 2541 กิตติรัตน์ก่อตั้งบริษัท คาเธ่ย์ แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด สำเร็จด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้นเพียง 10 ล้านบาท จากนั้นเพิ่มทุนเป็น 18 ล้านบาท และเป็น 25 ล้านบาทในปัจจุบัน ให้บริการด้านการเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัททั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้

"ตอนแรกเราตั้งใจจะให้บริษัทเราทำเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น แต่พอหลังๆมีบริษัทที่แข็งแรงเข้ามาเป็นลูกค้าเรา ขอความเห็นในเรื่องของการจัดโครงสร้างบริษัทให้เหมาะสมกับภาวะข้างหน้า เราก็ทำให้แรกๆก็ตื่นเต้นเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่จะทำให้แต่บริษัทที่มีปัญหา" กิตติรัตน์กล่าวถึงกิจกรรมหลักๆ ของบริษัทให้ "ผู้จัดการ" ฟัง พร้อมทั้งเล่าถึงที่มาของ บริษัทนี้ด้วย

กิตติรัตน์สร้างบริษัทนี้ขึ้นมาจากแรงบันดาลใจสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ ธุรกิจในเมืองไทยในยุคปัจจุบันประสบปัญหากับ "ภาระหนี้" ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว หลังจากรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ยอดขายไม่เกิด รายได้ไม่มี แต่หนี้ท่วมหัว ดังนั้น "การปรับโครงสร้างหนี้" จึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยทำให้บริษัทอยู่รอดต่อไป

ประการที่ 2 คือ เพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นอันต้องตกงานกันเป็นทิวแถว เนื่องจากรัฐบาลสั่งปิดกิจการสถาบันการเงิน 56 แห่ง "หางานให้ทำ หาเงินให้ใช้ ดีกว่าตีกอล์ฟไปวันๆ" นั่นเป็นความคิดเริ่มแรกของเขา

"ผมคิดว่า หากบรรดาลูกหนี้ทั้งหลายมีที่ปรึกษาในการช่วยคิดและช่วยทำความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสีย และแนวทางในการไปเจรจาตกลงกับเจ้าหนี้ จะช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นผมยังมีโอกาสชักจูงเพื่อนฝูงผมที่มีประสบการณ์มาร่วมงานกันในลักษณะของหุ้นส่วน โดยทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของบริษัทเท่าเทียมกัน และไม่มีตำแหน่งใดๆมาค้ำคอ สังเกตได้จากนามบัตรที่ผมให้จะไม่มีตำแหน่งปรากฏอยู่ เวลาใครถามว่าตำแหน่งอะไร ผมก็ตอบว่าตำแหน่งกิตติ รัตน์" กิตติรัตน์กล่าวอย่างอารมณ์ดี

สำหรับความเป็นมาของชื่อบริษัทที่ใช้ว่า "คาเธ่ย์" นั้นกิตติรัตน์เล่าว่า "ผมมีเพื่อนสนิทอยู่ที่ฮ่องกง เขามีความตั้งใจจะตั้งบริษัทที่ทำธุรกิจที่ปรึกษาเหมือนเรา โดยเขาจะใช้ชื่อว่า "คาเธ่ย์" และเสนอให้เราใช้ชื่อเดียวกับเขา เป็นลักษณะ Brother & Sister Company ผมก็ตกลง แต่ยังไม่ทันได้มาทำงานร่วมกัน เขาก็ได้สปอนเซอร์ใหญ่จากอเมริกาและเปลี่ยนเป็นบริษัทที่รับจ้างบริหารจัดการกิจการในเมืองจีนแทน ผมก็เลยตามเลย ใช้ชื่อ "คาเธ่ย์" แล้วกันไม่เปลี่ยนแล้ว"

ย้อนกลับไปดูภูมิหลังของกิตติรัตน์ในช่วงก่อนที่เขาจะเข้าสู่แวดวงตลาดทุน น้อยคนที่จะรู้ว่ากิตติรัตน์เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับบริษัทเทรดดิ้งสินค้าเกษตรกรรมชื่อว่า "พูลผล" ของตระกูลหวั่งหลีเป็นบริษัทแรกหลังจากจบปริญญาตรีจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

หลังจากกิตติรัตน์ทำงานกับตระกูลหวั่งหลีได้ประมาณ 4 ปี เขาก็ลาออกมาศึกษาต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ศศินทร์ เขาเล่าถึงชีวิตในช่วงวัยเรียนปริญญาตรีที่จุฬาฯเขาไม่ตั้งใจเรียนเท่าที่ควร คะแนนเลยออกมาไม่ดี ในสมัยนั้นมีค่านิยมว่า เรียนจบปริญญาตรีแล้วจะต้องไปสอบชิงทุน เป็นนักเรียนทุน ไม่ทุนของบริษัทปูนซิเมนต์ ก็ทุนแบงก์ ซึ่งต้องเรียนให้ได้ GPA 3.25 ถึงจะมีสิทธิสมัครสอบ แต่เขาหมดสิทธิแม้แต่จะยื่นใบสมัคร เพราะคะแนนไม่ถึง เขาเลยสัญญากับตัวเองว่าถ้ามีโอกาสได้กลับมาเรียนอีกครั้งจะต้องทำให้ได้ดี จึงเป็นผลให้เขามุเรียนจบปริญญาโท จากศศินทร์ด้วยคะแนน 4.00 รวดคือ A หมดทุกวิชา

หลังจากจบปริญญาโท เขาได้เข้าสมัครไปเป็นพนักงานธนาคารของธนาคารกสิกรไทย ในฝ่ายสินเชื่อ

"หลายคนนึกว่าผมเป็นนักเรียนทุนกสิกร แต่ไม่ใช่ ที่ผมอยากมาทำงานแบงก์เพราะอยากรู้ว่าจะแตกต่างจากงานเทรดดิ้งที่เคยทำอย่างไร พอมาอยู่ที่แบงก์ เขาก็มีนโยบายว่า คนที่เข้าใหม่จะเป็น First Entry ทั้งหมด ผมเลยเป็นเด็กโข่งหน่อย เพราะทำงานมาแล้ว 4 ปี ถึงมาเข้าแบงก์" กิตติรัตน์ เล่าถึงการทำงานเมื่อครั้งอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทยในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดูแลสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อนร่วมงานในขณะนั้นก็ได้แก่มือการเงินระดับพระกาฬอีกหลายท่านที่เคยเป็นศิษย์โรงเรียนกสิกร และออกมาตั้งบริษัท ดำเนินธุรกิจส่วนตัวเอง อาทิ ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์, ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ, ธวัชชัย ม่วงไหมแพร เป็นต้น

หลังจากเป็นพนักงานแบงก์อยู่ได้ 2 ปี เขาได้ลาออกไปร่วมงานกับ S-ONE ในฝ่าย Research จากการชักชวนของชาญ ศรีวิกรม์ ตั้งแต่ S-ONE มีพนักงานแค่ 25 คน ซึ่งขณะนั้นภควัต รุ่นพี่จากกสิกรฯ ได้ออกมาทำงานที่ S-ONE ก่อนแล้ว กิตติรัตน์ทำงานที่ S-ONE ได้ประมาณ 4 ปีครึ่ง เขาได้รับ มอบหมายจากผู้บริหารของบริษัทฯให้ดูแลรับผิดชอบในฐานะกรรมการ ผู้จัดการบลจ.วรรณอินเวสเมนท์ (ONE) เขาอยู่กับ ONE ได้ 3 ปีก็ได้รับมอบหมายให้ไปนั่งที่บงล.เอกเอเซีย หรือ FAS จากนั้นประมาณ 2 ปี ก็ย้ายกลับมาที่ S-ONE อีก เพื่อเตรียมรับผิดชอบการจัดการบริหารกิจการในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ FAS และ S-ONE รวมกิจการกันแล้ว และหลังจากนั้นไม่นาน S-ONE ก็ตัดสินใจขาย FAS และ ASIA EQUITY ทิ้ง

ชีวิต "มือปืนรับจ้าง" ที่มีมานานนับ 10 ปีของกิตติรัตน์เป็นอันยุติลง พร้อมผันตัวเองสู่การเป็น "เถ้าแก่" ซึ่งมี "ลูกค้า" เป็นนายเพียงคนเดียว

"ผมไม่อาจเอื้อมที่จะบอกว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผมเคยทำมานั้น ทำให้ผมพร้อมที่จะทำหน้าที่ในปัจจุบัน ผมยังคงต้องเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ" กิตติรัตน์กล่าว แต่ประสบการณ์อย่างเขาก็ไม่ใช่แค่ "หมออินเทิร์น" อย่างแน่นอน

"เล็กในวันนี้เพื่อใหญ่ในวันหน้า"

กิตติรัตน์เริ่มต้น "ค่าเธ่ย์ แอสเซท แมนเนจเม้นท์" ด้วยเงินทุนเพียง 10 ล้านบาท จากนั้นก็ขยายเป็น 18 ล้านบาท และเป็น 25 ล้านบาทในปัจจุบัน เป็นการเริ่มต้นจากบริษัทเล็กๆ ที่เขามีนโยบายการบริหารที่มั่นคง เน้นความโปร่งใส แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ใหญ่ในวันข้างหน้า

"ผมว่าที่คนไทยพลาดกันทุกวันนี้คือ เน้นแต่ที่ความใหญ่ ไม่ได้เน้นที่ความมั่นคงแข็งแรงของธุรกิจ" เป็นความเห็นของเถ้าแก่ใหม่ ซึ่งหากผู้ประกอบการทุกรายคิดเช่นเดียวกับเขา คงไม่ต้องประสบกับชะตากรรมอย่างเช่นในวันนี้

จากการทำงานตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เขาพบว่า ปัญหาของลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการที่ปรึกษาของเขาเกิดจากการจัดโครงสร้างของธุรกิจในกลุ่ม หรือในเครือที่ขาดความรอบคอบระมัดระวัง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาเพียงนิดเดียว ก็สามารถส่งผลกระทบให้พังไปทั้งกลุ่มได้

เขายกตัวอย่างถึงรูปแบบการจัดโครงสร้างที่พบบ่อยที่สุดคือ การค้ำประกันเงินกู้ข้ามกันไปข้ามกันมาระหว่างบริษัทในกลุ่ม ดังนั้นพอบริษัทหนึ่งมีปัญหาก็ฉุดบริษัทที่เหลือให้เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ ปัญหานี้เรียกได้ว่าเป็นปัญหาหลักของธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งหลังจากเศรษฐกิจล่มสลายปัญหาเหล่านี้ก็พร้อมใจกันโผล่ออกมาโชว์ผลงานที่เคยทำกันไว้สมัยเฟื่องฟู ตกเป็นหน้าที่ของบรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายที่จะต้องช่วยลูกค้าในการปรับและจัดโครงสร้างของบริษัทใหม่ ซึ่งลูกค้าของคาเธ่ย์ฯมีทุกอุตสาหกรรม เขาไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่เสมอไป ไม่ว่าจะเป็นก้อนใหญ่ก้อนเล็กเขาและทีมงานจัดการให้ได้หมด ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมก็ไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งหากลูกค้าเป็นต่างชาติเขาจะคิดแพงกว่าคนไทยอย่างแน่นอน

"ลูกค้าเรามีทุกอุตสาหกรรม แต่เราตั้งใจว่าจะไม่รับทำอุตสาหกรรมที่ซ้ำกัน เพราะเกรงว่าจะกลายเป็น Conflict of Interest ยกเว้นลูกค้ากลุ่มอสังหาฯ เนื่องจากมีปัญหาเยอะมาก และพรรคพวกที่รู้จักกันในอุตสาห-กรรมนี้ก็เยอะ ก็ต้องช่วยกันไป"

สำหรับหลักการในการปรับโครงสร้างหนี้ กิตติรัตน์อธิบายว่ามีสิ่งที่จะต้องทำด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ การลดหนี้ด้วยการขายทรัพย์สินที่ไม่กระทบกระเทือนต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อนำเงินที่ได้ไปลดหนี้

เรื่องที่ 2 คือ การลดหนี้ด้วยการหาผู้ร่วมทุนใหม่ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน

และเรื่องสุดท้ายคือ การพยากรณ์ Cash Flow ในอนาคต เพื่อกำหนดตารางในการชำระหนี้

เขาเล่าถึงการทำงานในหน้าที่ของที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างหนี้ว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และการใช้เวลาของเขาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการล๊อบบี้ ซึ่งบางดีลอาจจะมีเพียง 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายลูกหนี้กับเจ้าหนี้ หรือบางรายอาจจะมีมากกว่า 2 ฝ่ายคือ มีฝ่ายผู้ร่วมทุนใหม่ เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งราย

"บ่อยครั้งที่การทำงานของเราต้องรบกับศึก 3 ด้าน เช่น บางดีลลูกหนี้เจ้าหนี้ตกลงกันได้แล้ว แต่พอมีอีกปาร์ตี้หนึ่ง ก็จะเกิดปัญหาว่า มาบอกให้เราทำดีลให้จบตามใจเขา ซึ่งบ่อยครั้งเราก็เสี่ยงจากการถูกมองว่า ไม่เป็นกลางบ้างในบางกรณี แต่การเอนเอียงของเรามีเหตุผลเพื่อจะประสานให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกันให้ได้ แต่มีบางดีลทำถึงขนาดนี้ก็ยังไม่จบ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ดีลไม่จบได้ เช่น ลูกหนี้ยอมแล้ว แต่เจ้าหนี้มาขัดใจกันเอง หรือเจ้าหนี้เข้าใจกันหมดแล้ว แต่ลูกหนี้เกิดทำใจไม่ได้ หรือฝั่งลูกหนี้เจ้าหนี้เข้าใจกันหมดแล้ว แต่ฝั่งนักลงทุนไม่ยอม บอกว่าเข้าไปแบบนี้กำไรน้อย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ฝ่ายที่ 3 ยิ่งถูกหมั่นไส้ใหญ่ เพราะคนอื่นพูดกันเรื่องเสียหาย แต่กลุ่มนี้มาพูดเรื่องกำไร ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคนเข้ามาใหม่เขาก็หวังกำไร ซึ่งปัจจุบันคนที่จะเอาเงินมาลงทุนที่เป็นคนไทยเองก็แทบจะหมดแล้ว จึงต้องเป็นฝรั่งเข้ามาแทน แต่พอเราดึงฝรั่งเข้ามาก็หาว่าเราขายชาติอีก" กิตติรัตน์เล่าถึงลักษณะการทำงานที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เนื่องจากเกี่ยว ข้องกับความคิดและความรู้สึกของคน ซึ่งเขาคิดว่ามุมมองของที่ปรึกษามีหน้าที่มองความต่างให้เป็นความเหมือน และเอาความเหมือนมาเป็นข้อหารือข้อปรึกษากันและกัน

"การทำงานในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องมีความเข้าใจทั้งเรื่องของการเงิน เรื่องการทำธุรกิจ และเรื่องกฎหมาย เรียกว่าทุกฝ่ายต้องมาสุมหัวกันทำงาน และสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ ผมคิดว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทาย ซึ่งถ้าเราท้าทายเองก็เป็นเรื่องดี แต่นี่เป็นความท้าทายที่ลูกค้าต้องเผชิญ ซึ่งการเจรจาแต่ละครั้งมีแต่ยอมกับไม่ยอม ถ้าไม่ยอมแล้วจะเป็นอย่างไร หรือถ้ายอมแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เราต้องชี้แจงเหตุผลและตอบคำถามเหล่านี้กับลูกค้าให้ได้" กิตติรัตน์กล่าว

ปัจจุบัน คาเธ่ย์ฯ ปิดดีลไปแล้วนับ 10 ดีล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดีลที่เจรจากับเจ้าหนี้อย่างเดียว โดยไม่ต้องมีผู้ร่วมทุน และในส่วนของดีลที่ต้องมีผู้ร่วมทุนใหม่ สำเร็จไปแล้ว 3 ดีล รวมดีลของแสนสิริด้วย ซึ่งรายละเอียดของดีลนี้ สามารถอ่านได้จาก "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 187 ประจำเดือนเมษายน 2542

นอกจากนั้นยังมีดีลล่าสุด ที่คาเธ่ย์ฯไม่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษา แต่เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัทเลย คือ ดีลการเพิ่มทุนของ UV หรือบริษัท ยูนิเวนเจอร์ ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตสังกะสีออกไซด์ ซึ่งมีกลุ่มสิริภิญโญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับแสนสิริด้วย แม้ว่ากิตติรัตน์จะปฏิเสธว่า UV ไม่ใช่ลูกค้าของคาเธ่ย์ เป็นเพียงการลงทุนส่วนตัวของคาเธ่ย์เอง แต่หากพิจารณาจากเงื่อนไขการเพิ่มทุน โดยเจาะจงออกหุ้นใหม่จำนวน 40 ล้านหุ้นให้แก่ คาเธ่ย์ฯหรือบุคคลใดก็ตามที่คาเธ่ย์ฯเสนอชื่อ โดยแบ่งเป็นล็อตๆ ล็อตแรกเป็นการออกหุ้นจำนวน 3 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละไม่ต่ำกว่า 10 บาท ภายใน 90 วัน นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้นที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ก.ค.นี้ ล็อตที่ 2 ออกหุ้นสามัญจำนวน 17 ล้านหุ้น ให้คาเธ่ย์ฯ ทันทีทีคาเธ่ย์ตกลงจะซื้อหุ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค.43 และล็อตที่ 3 ออกหุ้นสามัญจำนวน 20 ล้านหุ้น ทั้ง หมดในคราวเดียวกันหรือทยอยออก ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 45

จากรายละเอียดการเพิ่มทุนดังกล่าว น่าจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า ดีลนี้เป็นลักษณะดีลของการจัดการโครงสร้างของบริษัทที่แข็งแรงอยู่แล้วให้แข็งแรงยิ่งขึ้นในอนาคต และสิ่งที่เขากำลังทำอยู่อาจจะเป็นการเข้าไปถือหุ้นแทน "ไอ้โม่ง" ที่จะไม่มีวันเปิดเผยตัวเลย หรือไม่ก็ถือหุ้นแทน "ไอ้โม่ง" ที่ยังไม่ถึงเวลาเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงว่าจะเป็นใครในเวลานี้!!!

ฝันไกล ต้องใช้เวลาเพื่อไปให้ถึง

หากถามถึงความพอใจกับชีวิตในวันนี้ของกิตติรัตน์ เขาจะตอบทันทีว่า ความพอใจของเขาไม่เหมือนกับคนอื่น บางคนอาจจะพอใจกับเงินทอง ชื่อเสียง หรือมีกิจการที่เป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน แต่ความพอใจของชายหนุ่มคนนี้คือ "การได้ทำงานกับคนดีๆ" ซึ่งเขาตอบว่า วันนี้เขาพอใจแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเขายังมีความฝันที่จะสร้างคาเธ่ย์ฯให้กลายเป็น "บริษัทบริหารเงิน" !!!

"ผมขอยืนยันว่าผมไม่เคยคิดที่จะ ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเพราะบริษัทนี้เป็น การบริหารเงินให้แก่ผองเพื่อนของผมเอง ไม่ได้ไปจัดการให้สาธารณะ และไม่มีการรับเงินฝากจากประชาชน มีแต่การระดมเงินจากหุ้นส่วนพาร์ตเนอร์ของเราเองหรือไม่ก็จากเงินกู้ของเราเอง และเวลาที่ผมตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ผมจะไม่เปลี่ยนใจง่ายๆ และวันนี้ก็ได้ทำงานกับเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น ก็ลองดูกันสักตั้ง ผมเชื่อว่า เรื่องที่เราจะก้าวไปเป็น "บริษัทบริหารเงิน" สำหรับพรรคพวกกันเอง เป็นเป้าหมายในอนาคตที่เราพยายามจะไปให้ถึง" เป็นความฝันของเถ้าแก่คนนี้ ซึ่งเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) จากทางการ แต่เขาหวังจะเป็นบริษัทจำกัดเล็กๆ ที่ ดูแลเงินของเพื่อนฝูงกันเอง โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

สำหรับที่มาของแนวคิดนี้ สืบเนื่องจากเขาเห็นว่า ภาวการณ์ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ถูกบังคับให้ปล่อยกู้ แต่เมื่อมานั่งพิจารณาโครงการแล้ว ไม่รู้ว่าจะปล่อยให้ใคร เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่บริษัทที่อ่อนแอประสบปัญหาทั้งนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีองค์กรที่ยืดหยุ่นกว่าธนาคารพาณิชย์มาช่วยเหลือคนที่ต้องการเงินไปทำธุรกิจให้ดีขึ้น องค์กรดังกล่าวต้องมีเงินทุนหนาพอที่จะรองรับความเสียหายเองได้ พร้อมกับมีผู้เชี่ยวชาญที่จะเจาะดูธุรกิจในกลุ่มแคบอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่ก่อนอื่น คาเธ่ย์ฯ จะต้องเป็นบริษัทที่แข็งแรงมั่นคงก่อน เพื่อที่ธนาคารพาณิชย์จะยอมปล่อยกู้ให้แก่เขา เพื่อเขาจะได้เอา เงินทุนดังกล่าวไปปล่อยกู้ต่อไป

"ปัจจุบันบริษัทในประเทศต้องทำให้แข็งแรงเสียก่อน แบงก์จึงจะปล่อยกู้ แล้วใครล่ะจะเป็นคนทำให้แข็งแรง ในเมื่อก็แย่กันหมด ต่างชาติจะเข้ามาช่วยก็ว่าเขา ซึ่งคนไทยไม่มีความสามารถทำเองได้ แบงก์ก็ยังปล่อยกู้ไม่ได้ ดังนั้นถ้าผมมีเงินสัก 10 ล้าน ผมจะลงหนังสือพิมพ์เลยว่า บริษัทไหนที่คิดว่าใช้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาท แล้วจะแข็งแรงขึ้น ขอให้ติดต่อมา เราก็พิจารณาและใส่เงินให้เขา แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องจ้างเพื่อนผมที่ตกงานอยู่บริษัทละ 3 คนนะ จากนั้นก็ให้เขาไปกู้แบงก์เพิ่มอีก 2 ล้าน บริษัทนั้นก็น่าจะอยู่รอด แต่ถ้าไม่มีคนยอมปล่อยกู้ใน 2 ล้านแรก แล้ว 2 ล้านหลังจะได้มาจากแบงก์ได้อย่างไร และคนอีก 3 คนจะมีงานทำได้อย่างไร และจะมีเงินไปซื้อสินค้าของอีกคนได้อย่างไร คนไทยต้องช่วยกันเองก่อน แม้ว่าผมจะต้องไปกู้ฝรั่งมาก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้คนได้อยู่รอดกันได้บ้าง" กิตติ รัตน์เร่ขายฝัน พร้อมกับยืนยันว่า "บริษัทเช่นนี้ต้องเกิดแน่นอน ผมไม่ตั้งคนอื่นก็ตั้ง"

แม้ว่าฝันเขาจะเป็นเพียงจุดเล็กๆในสังคม แต่หากฝันเขาเป็นจริงได้ ก็เป็นการช่วยต่อชีวิตให้สังคมดำเนินต่อไปได้อีก อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง

นิทานเรื่องนี้เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น จึงยังไม่มีสุภาษิตสอนใจในตอนท้ายของเรื่อง...ในอนาคต อาจจะกลายเป็นตำนานที่ต้องเล่าขานกันต่อไปในแวดวงคนทำธุรกิจ...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us