บมจ.โรงแรมราชดำริ (RHC) หรือโรงแรมรีเจนท์ เนื้อหอมอย่างมากเนื่อง จากเป็นที่สนใจของนักลงทุนที่อยากเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในโรงแรมระหว่าง
บมจ.โรยัลการ์เด้น รีสอร์ท (RGR) และ บริษัท บางกอก โฮเต็ล โฮลดิ้ง จำกัด
(BHH) ที่ทั้งสองฝ่ายงัดข้อกันในการแย่งซื้อหุ้นสามัญจากนักลงทุน จนกลายเป็นดีลที่มีการแข่งขันกันในลักษณะที่ไม่เป็นมิตร
หรือ hostile ในที่สุดก็จะกลายเป็นดีลประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของธุรกิจโรงแรมไทยอีกแห่งหนึ่ง
จากสภาวะธุรกิจโรงแรมมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับภาวะการท่องเที่ยว คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศของไทยในช่วงปี
2542-2543 จะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวกว่าปี 2541 อยู่ที่ประมาณ 5% ต่อปี
โดยพยายามเจาะตลาด MICE (Meeting, Incentive, Convention และ Exhibution)
มากขึ้น สำหรับภาวะธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมชั้น 1 ช่วงปี 2541 อยู่ในเกณฑ์ดีแต่ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันรุนแรงจากจำนวนโรงแรมและห้องพักเพิ่มขึ้น
ทำให้การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาพักและใช้บริการให้มากที่สุด
และจากการที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาและค่าเงินที่ผันผวน ทำให้โรงแรมหลายแห่งต้องปรับค่าห้องพักเพิ่มขึ้นรวมถึงการคิดราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้รายได้ของโรงแรมชั้น
1 ในปี 2541 ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าปี 2542 ยังคงมีโรงแรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีก
3 แห่ง มีห้องพักเพิ่มขึ้นประมาณ 1,300 ห้อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวทำให้อัตราการเข้าพักในปีนี้อยู่ที่ประมาณ
66%
จากภาพรวมธุรกิจโรงแรม ทำให้นักลงทุนที่มีเงินหนาและพร้อมจะลงทุน จึงพยายามสอดส่องสายตาหาโรงแรมระดับ
5 ดาวดีๆ สักแห่งเข้ามาลงทุน แล้วโรงแรมรีเจนท์ก็เป็นแห่งหนึ่งที่เขาเหล่านั้นปรารถนาจะเข้าไปครอบครอง
ด้วยเหตุผลสั้นๆ "อนาคตดี"
จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจเกือบทุกประเภท แต่จะเป็นผลดีต่อธุรกิจโรงแรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมรีเจนท์ จะเห็นว่าในปี 2540 อัตราการเข้าพักของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก
56% ในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 65% มีผลทำให้ผลการดำเนินงานของโรงแรมรีเจนท์ในช่วงปี
2540 เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับบริษัทได้เปลี่ยนนโยบายการตั้งราคาห้องพักเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐและเรียกเก็บเป็นเงินบาท
ณ วันที่เข้าพัก ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันเงินรายได้และความเสี่ยงในระดับหนึ่ง
บริษัทจึงสามารถทำรายได้รวมได้ถึง 610.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2539 จำนวน
46.36 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น 355.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 34.84 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ย ส่วนแบ่งกำไรในบริษัทย่อยและบริษัทรวมและรายการพิเศษ
จำนวน 159.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2539 จำนวน 37.77 ล้านบาท จึงควรจะถือได้ว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดีที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ดี จากการที่บริษัทมีภาระเงินกู้ระยะยาวเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ
จึงได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และถึงแม้ว่าจะได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าเป็นระยะเวลา
3 เดือน ก็ยังขาดทุนสุทธิทางบัญชีในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนของหนี้สินที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระจำนวน
107.73 ล้านบาท อีกทั้ง บริษัทยังต้องรับรู้การขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมจำนวน
46.54 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนสุทธิในปี 2540 จำนวน 132.58 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2541 แม้ว่าสัดส่วนอัตราเข้าพักเพิ่มขึ้นจากปี
2540 เพียง 1.4% แต่จากการกำหนดราคาเข้าพักเป็นดอลลาร์สหรัฐทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก
610.97 ล้านบาท เป็น 688.47 ล้านบาท หรือ 12.69% และมีกำไรขั้นต้น 449.31
ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93.37% และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินการ 228.62 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปี 2540 จำนวน 69.17 ล้านบาท
จากการที่ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น ทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 87.28
ล้านบาท จากภาระหนี้สินที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ นอกจากนี้การดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
มีผลกำไรสุทธิ ทำให้บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนจำนวน 14.81 ล้านบาท
ส่งผลให้โรงแรมรีเจนท์สร้างกำไรสุทธิในปี 2541 จำนวน 180.93 ล้านบาท
ทางด้านฐานะทางการเงิน ปี 2541 พบว่า บริษัทมีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ มีหนี้สินหมุนเวียน
359.22 ล้านบาท แต่มีสินทรัพย์หมุนเวียนเพียง 80.65 ล้านบาท และมีเงินกู้ระยะยาวและหนี้สินตามสัญญาเช่าที่กำหนดชำระภายใน
1 ปี รวมถึง 223.61 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานกับหนี้สินหมุนเวียนพบว่ายังอยู่ในระดับที่ดี
คือ 0.75 เท่า แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นจากกระแสเงินสดที่มาจากการดำเนินงานโดยตรง
อัตราหนี้สินรวมต่อทุน 0.72 เท่า
จาก "อนาคตดี" ของโรงแรม รีเจนท์ สืบเนื่องจากในปี 2542 คาดว่าจะมีอัตราเข้าพักประมาณ
66.75% โดยประมาณการรายได้รวมประมาณ 742.36 ล้านบาท กำไรขั้นต้นประมาณ 493.42
ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 9.82% และจากภาระเงินกู้ระยะยาวลดลงทำให้ดอกเบี้ยจ่ายปี
2542 มีมูลค่าลดลงเหลือประมาณ 19.39 ล้านบาท และคาดว่าจะได้ส่วนแบ่งผลกำไรจากบริษัทย่อยและร่วมประมาณ
9.07 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิประมาณ 126.27 ล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวซึ่งมีความสดใสทั้งปัจจุบันและอนาคต คือ จุดเด่นของธุรกิจโรมแรมที่นักลงทุนสนใจและอยากเข้ามาลงทุน
ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการดีและมีกำไรอย่างต่อเนื่อง มูลค่าราคาตลาด (market
capitalization) ไม่สูง และไม่เพียงเฉพาะโรงแรมรีเจนท์เท่านั้นที่จะโดนเทกโอเวอร์
แต่หลายๆ แห่งก็อยู่ในสายตาบรรดานักลงทุนที่อยากเข้ามา shopping ให้สนุกมือ...จับตาดูให้ดี