"เราสร้าง Culture ใหม่ คุณเดินมาตึกปิโตรเคมีจะไม่เหมือนสำนักงานใหญ่ คนละ
Culture เด็กที่นี่ทำงานลุยกัน เพราะเราเป็น Young Culture เด็กที่นี่อายุเฉลี่ย
25-26 ปี" อภิพร ภาษวัธน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
(มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย เปิดฉากอรรถาธิบายกับ
"ผู้จัดการ" ถึงบุคลิกของธุรกิจปิโตรเคมีของเครือซิเมนต์ไทย อย่างไม่เกรงใจใคร
ด้วยความภาคภูมิและบุคลิกความมั่นใจตัวเองสูง
ธุรกิจที่ใช้เวลาในการเติบโตเพียง 10 ปี มีสินทรัพย์ 8 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายเครือซิเมนต์ไทยในการปรับโครงสร้าง
วันนี้ธุรกิจปิโตรเคมีเป็น Core Business และไม่จำเป็นต้องเดินแผนปรับโครงสร้าง
ตามแผนการปรับโครงสร้างเครือซิเมนต์ไทย ที่ประกาศไปเมื่อปลายปี 2541 แต่อย่างใด
ธุรกิจปิโตรเคมี มีบุคลิกที่ชัดเจนเป็นตัวของตัวเอง และน่าสนใจทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ธุรกิจและผู้บริหาร
ซึ่งมีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ของเครือซิเมนต์ไทย
คำว่า New Culture มีความหมายกว้างทีเดียว
อภิพร ภาษวัธน์ อายุ 51 ปี เป็นคนพูดจาโผงผาง เปิดเผย ถึงลูกถึงคนผิดแผกจากบุคลิกของผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทยทั่วไป บางคนบอกว่าบุคลิกของเขาหลายอย่างคล้ายๆ
ชุมพล ณ ลำเลียง ขณะเดียวกัน ก็แสดงตวามเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด แม้ว่าเขาจะบอกว่าเวลาเกือบทั้งหมด
ใช้ไปในการทำงาน แต่เขาก็ยังแสดงให้คนทั่วไปรู้ถึงการชอบสะสมช้าง สะสมแผนที่เก่า
เปิดบ้านให้หนังสือแนวบ้านและสวนชม ทั้งในกรุงเทพฯ หัวหิน และเชียงใหม่ รวมทั้งเปิดโรงงานที่มาบตาพุด
ให้ดูการจัดสวนด้วย
เขาอยู่กับธุรกิจปิโตรเคมีมาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจนี้ ตั้งแต่ปี 2526 จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ย้านย้ายไปไหนเลย
อาจจะเรียกว่าเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่คนแรกของเครือที่ฝังตัวเช่นนี้ จนกลายเป็นภาพสะท้อนของบุคลิกธุรกิจปิโตรเคมีไปแล้ว
"ผมหิ้วกระเป๋ามาทำงาน เริ่มต้นมีลูกน้องเพียง 4-5 คน" เขาบอกเขาทำงานกับเครือซิเมนต์ไทยมาแล้ว
24 ปี ในช่วงแรกทำงานเป็น Industrial Engineer ทั้งๆ ที่จบ Chemical Engineer
"จับนาฬิกา วัด Standard Time อยู่ 2 ปี ดูเหมือนไม่มีงานทำ เกือบจะลาออกไปแล้ว"
เขาพูดถึงขั้นตอนการฝึกอบรมคนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจดาวรุ่งที่เจ๊งไปแล้วส่วนใหญ่
จากนั้นเมื่อเขามาทำงานอยู่ฝ่ายวางแผน ที่มี ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นหัวหน้า
เขาได้ทำงานโครงการใหม่โดยมีส่วนร่วมในการก่อตั้งโรงงานกระดาษ ในช่วงที่เครือซิเมนต์ไทยกำลังขยายธุรกิจนี้
ภายหลังเทกโอเวอร์สยามคราฟท์มาไม่นาน
เมื่อเครือซิเมนต์ไทยเริ่มคิดจะขยายเข้าธุรกิจปิโตรเคมีตั้งแต่ปี 2526 ในยุค
จรัส ชูโต เป็นผู้จัดการใหญ่ เขาก็เป็นคนแรกที่ได้จับงานนี้ ด้วยการเดินทางไปทั่วโลกศึกษาข้อมูลอุตสาหกรรมนี้ทั้งเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์
การศึกษาเพื่อทำข้อมูลให้ผู้ใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทย ในการ "วิ่งเต้น" เพื่อเข้าร่วมโครงการ
"คัดเลือก" ของรัฐในการสร้าง Petrochemical Complex ในชั้นต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย
พิมพ์เขียวใหญ่ของชาติที่ว่า ถูกร่างขึ้นเกือบ 20 ปีมาแล้ว ดร.จิรายุ อิศรางกูร
ณ อยุธยา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
และเป็นประธานคณะอนุกรรมการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลักดันอย่างแข็งขัน แต่ขณะนี้ดร.จิรายุ
คือผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเป็นประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยยุคใหม่
ที่ประธานและกรรมการผู้จัดการ มีความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวมากที่สุด มีวัยใกล้เคียงกันมากที่สุด
เดือนมิถุนายนปี 2526 คณะอนุกรรมการนี้เสนอรายงานถึงความพร้อมของประเทศไทย
ในการดำเนินโครงการ และผลตอบแทนที่คุ้มค่าพร้อมเสนอรูปแบบการลงทุน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการลงทุนผลิตภัณฑ์ขั้นต้น
(Up Stream) และให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
คณะอนุกรรมการฯ ชุดเดียวกันนั้น ก็ได้คัดเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายเอกชนขึ้นมา
4 ราย บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526
อย่างเป็นรูปเป็นร่างด้วยการลงนามร่วมทุนฝ่ายรัฐและเอกชน และอีกประมาณ 2
เดือนต่อมา ซึ่งเข้ามาปี 2527 แล้วบริษัทดังกล่าวถึงจดทะเบียนเบื้องต้น 70
ล้านบาท
ในบรรดาผู้ร่วมทุนฝ่ายเอกชนนั้นล้วนทรงอิทธิพลในทางธุรกิจอย่างมาก อย่างน้อย
3 ราย ที่คลุกคลีเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้มา ในฐานะผู้บุกเบิกทางการค้าและการผลิตง่ายๆ
(บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ของตระกูลเอื้อชูเกียรติ กลุ่มศรีวัฒนา ในฐานะผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกโดยมีธนาคารกรุงเทพสนับสนุน
และกลุ่มที่พีไอ) มีเพียงรายเดียวนั้นที่เกิดใหม่ ในระยะเดียวกับบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ
ไม่ใช่ใครที่ไหน บริษัทไทยโพลิเอททิลีน ในเครือซิเมนต์ไทย มีกรรมการผู้จัดการชื่อ
อภิพร ภาษวัธน์ นี้เอง
การทำงานในช่วงนี้ถือว่าได้ทำงานภายใต้การดูแลของ ชุมพล ณ ลำเลียง ในฐานะผู้กำกับแผนการ
หรือโครงการใหม่ๆ ของเครือซิเมนต์ไทย จนได้ชื่อว่าอภิพรเป็นคนหนึ่งที่ทำงานร่วมกับชุมพลมายาวนานที่สุด
ธุรกิจปิโตรเคมีของเครือซิเมนต์ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง อภิพรบอกว่าทุกเดือนในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร
จะมีโครงการขยายพิจารณากันตลอด การขยายตัวเพื่อให้จิ๊กซอว์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น
"ผมคิดว่าปิโตรเคมีตลาดภายในไม่เพียงพอ เราต้องสู้กับข้างนอกได้ เราจะสร้างครั้งแรกให้ดี
มาวันหนึ่งเราก็ Complete นี่คือความคิดตั้งแต่ครั้งแรก เราก็สร้างอย่างเป็น
World Scale คำนึงต้นทุน Cost Competitive ทุกคนระวังเรื่องต้นทุนมาก สินค้าต้องมีคุณภาพส่งออกจะได้ไม่มีปัญหา
มี Impression ที่ดีต่อลูกค้าต่างประเทศ มี Service Mind ทำงานเร็ว แก้ปัญหาเร็ว
เราสร้างอยู่ใน Culture ตั้งแต่วันแรก ตอนนี้มันกลายเป็น Norm ของเราไปแล้ว"
อภิพร ภาษวัธน์ ขยายความ New Culture ในความหมายที่กว้างขึ้น
ธุรกิจปิโตรเคมีทั้งหมด 27 บริษัท มีเพียง 4-5 บริษัท ที่เครือซิเมนต์ไทยถือหุ้น
100% ที่เหลือเป็นการร่วมทุนทั้งหุ้นส่วนภายในและภายนอกประเทศ หุ้นส่วนใหญ่ต่างประเทศ
ก็มี MITSUICHEMICAL แห่งญี่ปุ่นกับ DOW CHEMICAL แห่งสหรัฐฯ
นี่คือบุคลิกสำคัญของธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ และความกลมกลืนกับ Strategic
Partner ซึ่งชุมพล ณ ลำเลียง ถือเอาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ แม้กระทั่งธุรกิจซีเมนต์
ซึ่งไม่เคยร่วมทุนกับใคร ก็ต้องเดินตามแนวทางใหม่เช่นกัน
"เราจะโตในภูมิภาค" สิ่งที่อภิพรกล่าวเช่นนี้ มิใช่เพิ่งเริ่มคิด หากทำมานานแล้วเพียงว่าสถานการณ์ขณะนี้จะเป็นจริงมากขึ้น
พื้นฐานของธุรกิจนี้ก็คือความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคซึ่งมีอยู่แล้ว
และนี่คือเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้กลายเป็น Core Business
โรงงานโพลีโอเลฟินส์ พีวีซี และเอททิลีน มีกำลังการผลิตในอันดับต้นๆ ของเอเชียแปซิฟิก
(อันดับ 6.6 และ 2 ตามลำดับ)
แผนสำคัญจากนี้ ก็คือการสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจอภิพรคิดว่าธุรกิจไทย
จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดมาร่วมมือกัน เพื่อแข่งขันในระดับภูมิภาค มิใช่แข่งกันตายภายในประเทศ
เช่นที่ผ่านมาโดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมี "เป็นธุรกิจช้าง เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง"
เขาว่า แนวคิดดังนี้ก็คือการรวมพลังธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยที่กระจาย
ไม่ว่าของ ปตท.หรือกลุ่มธนาคารกรุงเทพเข้าร่วมมมือกัน ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานอยู่ที่มาบตาพุดด้วยกันอยู่แล้ว
"แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วกรณีหนึ่ง นั่นคือการเป็นพันธมิตรอันแนบแน่นกับทีพีซีของกลุ่มเอื้อชูเกียรติ
ซึ่งคุณชุมพลร่วมมือกับคุณยศซึ่งเป็นเพื่อนด้วย
ส่วนกลุ่มทีพีไอนั้นคงร่วมกันไม่ได้ เนื่องจากมี Integration ที่ใหญ่และซ้อนกัน
ถือเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ โดยตรงกับเครือซิเมนต์ไทย
เคมี มันช่างสอดคล้องกับยุคใหม่ของเครือซิเมนต์ไทย ที่มีจิรายุเป็นประธานกรรมการ
ผู้ซึ่งบุกเบิกสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นในประเทศ ชุมพล ผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย
มีภูมิหลังคลุกคลีกับเม็ดพลาสติกมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะบิดาของเขาเคยเป็นผู้นำเข้าเม็ดพลาสติก
เมื่อ 30 ปีก่อน อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาบุกเบิกธุรกิจนี้ของเครือซิเมนต์ไทย
ในฐานะผู้พัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และ ยศ เอื้อชูเกียรติ เป็นกรรมการบริหารคนสำคัญที่มาจากภาคธุรกิจเอกชน
นอกจากจะเป็นเพื่อนสนิททั้งจิรายุ และชุมพล แล้วเขาก็มีธุรกิจปิโตรเคมีที่เกื้อกูลกับเครือซิเมนต์ไทยโดยตรง
ธุรกิจปิโตรเคมี ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับจากนี้ไป