แล้วก็มาถึง 2542 เรื่องราวของเครือซิเมนต์ไทยใน "ผู้จัดการ" มีสีสันต่อเนื่องมาเกือบ
20 ปี เท่าๆ กับอายุของนิตยสารรายเดือนเล่มนี้เลยทีเดียว
เท่าที่รวบรวมได้ มีเรื่องราวที่เขียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องจากปก เรื่องขนาดสั้นในแง่มุมต่างๆ
หลายสิบชิ้นในช่วงในเวลาที่ผ่านมา
"เรื่องจากปก" ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในแต่ละฉบับ ก็นำเรื่องเครือซิเมนต์ไทยมาขึ้นแล้วหลายครั้ง
ในช่วงสำคัญๆ ของการพัฒนาธุรกิจของคนไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และตัวแทนของสังคมธุรกิจไทย
เริ่มเปิดฉากสำคัญใน ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 มกราคม 2527 ในหัวข้อเรื่อง "70
ปีของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัทชั้นนำโดยคนไทยของประเทศไทย : จากบุญมาฯ
สู่สมหมายฯ ถึงจรัสฯ และก็......" เป็นครั้งที่เรื่องราวขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่แห่งนี้ถูกเขียนถึง
"ความจริงแล้ว ฉบับเดือนมกราคม เป็นฉบับที่เรากำลังเตรียมจะลงเรื่องหนึ่งซึ่งเราแอบทำมานานพอสมควร
แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในเดือนธันวาคม ซึ่งทำให้เราต้องเปลี่ยนความตั้งใจเอาเรื่องใหม่มาลงแทน
และเรื่องนั้นคือเรื่อง 70 ปี ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
เราจะเสียดายมาก ถ้าเราไม่ได้มีโอกาสนำเอาเรื่องปูนซิเมนต์ไทยมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่านได้อ่านกัน
ทั้งนี้เพราะบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นับได้ว่าเป็นสถาบันหนึ่งในวงการอุตสาหกรรมของไทย
นอกจากจะเป็นสถาบันหลักที่สร้างผลผลิตไปทางด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว ปูนซิเมนต์ไทยยังเป็นตัวอย่างของการจัดการและการบริหารที่ทันสมัยโดยคนไทยทั้งสิ้น"
บรรณาธิการสมัยยุคก่อตั้ง "ผู้จัดการ" " เขียนหมายเหตุเอาไว้
เรื่องราวความเป็นมาของเครือซิเมนต์ไทยจากหนังสือ "ปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526"
มาลงนับสิบหน้าหนังสือเล่มนั้นจัดทำอย่างพิถีพิถัน โดยทีมประชาสัมพันธ์บริษัทค้นคว้าข้อมูลเก่าจากแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งข้อมูลของบริษัทเองในขณะนี้ทำเป็นรูปเล่มอย่างสวยงามแข็งแรง
นับเป็นหนังสือประวัติบริษัทเล่มแรกๆ ของไทย ที่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
น่าเชื่อถือ
เรื่องราวที่เขียนขึ้นโดย สนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง "ผู้จัดการ"
ครั้งนั้นให้ความสำคัญความเป็นมาของผู้จัดการใหญ่คนไทย ที่เริ่มต้นจากบุญมา
วงค์สวรรค์ สมหมาย ฮุนตระกูล จนถึง จรัส ชูโต โดยพยายามคาดหมายว่าต่อจากนั้นจะเป็นใคร
อันเป็นช่วงต่อที่สำคัญในปลายปี 2526 เป็นช่วงที่ จรัส ชูโต ผู้จัดการใหญ่ขณะนั้นเกษียณอายุ
แต่กรรมการมีมติต่ออายุถึงสิ้นปี 2527 การคาดหมายครั้งนั้น "ฟันธง" ไปที่
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งในเวลาต่อมาก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง
อีกเพียง 3 ปีเศษ "ผู้จัดการ" ก็ต้องนำเรื่องเครือซิเมนต์ไทยขึ้นปกอีกครั้ง
ปีที่ 4 ฉบับที่ 46 เดือนกรกฎาคม 2530 "ปูนใหญ่.. หยุดไม่ได้" โดย วิรัตน์
แสงทองคำ
สถานการณ์ในขณะนั้นเครือซิเมนต์ไทยกำลังขยายตัวทางธุรกิจอย่างขนานใหญ่
ในยุคพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้จัดการใหญ่ โดยการเข้าครอบงำกิจการต่างๆ
อย่างมาก ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาอย่างมากในช่วงหลังวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี
2527 เป็นต้นมา ในเวลาเดียวกันก็ขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่แตกแขนงอย่างมาก
เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ธุรกิจอุปกรณ์นั่นคือยุคใหม่ของการร่วมทุนกับต่างประเทศ
การซื้อเทคโนโลยีจำนวนมากจากต่างประเทศ จนผู้เขียนเรื่องนี้เสนอว่าเครือซิเมนต์ไทยควรให้ความสำคัญเรื่อง
R&D มากขึ้น จากนั้นไม่นาน (ปี 2531) เครือซิเมนต์ไทยก็ตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นและการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงประยุกต์นี่เอง
คงเป็นพื้นฐานที่ทำให้การผลิตของเครือซิเมนต์ไทยพัฒนามีประสิทธิภาพมากขึ้น
จนทัดเทียมกับองค์กรธุรกิจระดับโลกได้ในปัจจุบัน
ขณะนั้น พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ให้สัมภาษณ์แสดงความกังวลในเรื่องความใหญ่ที่เป็นอันตรายของเครือซิเมนต์ไทยไว้แล้ว
ในเวลาเดียวกัน แรงปะทะความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจไทยที่เริ่มระลอกใหม่ นำมาซึ่ง
"มันสมองไหล" ปรากฏขึ้นครั้งแรกในเครือซิเมนต์ไทย
ปี 2530 ก็คือจุดเริ่มต้นของการขยายตัวแตกแขนงมากเกินไป จากนั้นอีกกว่า
10 ปี จึงเกิดการทบทวนครั้งใหญ่