"เกษร พลาซ่า" ศูนย์การค้าเล็กใจกลางเมือง ที่มีภาพลักษณ์ของความเป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัย
และเน้นแบรนด์เนมดังๆ จากต่างประเทศได้ปรับปรุงพื้นที่ชั้น 2 ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่
เป็นแหล่งรวมหัตถ กรรมพื้นบ้านดีเด่นมาเกือบ 2 ปีเต็ม และขณะนี้ได้ขยายโครงการต่อเนื่อง
ปรับปรุงพื้นที่ชั้น 3 ทำเป็นโครงการร้านพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมไทย และศูนย์แสดงสินค้าหัตถกรรมต้น
แบบ เพื่อเป็นแหล่งรวมผลงานที่มีชื่อจากทุกแขนง
สุรภีร์ โรจนวงศ์ ผู้เป็นประ-ธานกรรมการบริษัทในเครือเกษรกรุ๊ป ผู้เป็นมารดาของ
ชาย, ชาญ และกรกฎ ศรีวิกรม์ กรรมการบริหารของบริษัท จีเอส พร็อพเพอร์ตี้
บริษัทที่รับผิดชอบศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวความคิดนี้ตัวจริง
สุรภีร์ เป็นพี่สะใภ้ของเฉลิมพันธ์ เป็นภรรยาของสิทธิพงศ์ เป็นศรีวิกรม์คนหนึ่งที่ชอบใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ
ไม่ค่อยชอบออกงานสังคมทางด้านธุรกิจนัก ชีวิตส่วนใหญ่ของเธอจะหมดไปกับงานที่เกี่ยวกับงานฝีมือของชาวบ้านในต่างจังหวัดมากกว่า
หากเหตุผลของการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์พื้นที่ขายบนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นเพียงเพราะว่า
เป็นคุณแม่ของกรรมการ และเป็นประธานบริษัท เรื่อง นี้ก็คงไม่ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทไปง่ายๆ
แน่นอน
แต่บังเอิญในช่วงเศรษฐกิจดิ่งลงเหวเช่นนี้ เกษรพลาซ่าเองก็ต้องพยายามหาจุดขายใหม่ๆ
เพื่อดึงคนเข้ามาให้ได้ แข่งกับศูนย์การค้าอื่นๆ เหมือนกัน
ในยุคที่คนไทยเริ่มหันมาใช้ของไทยมากขึ้นและภูมิปัญญาไทยกำลังได้รับการส่งเสริมให้ขายแข่งกับสินค้าต่างชาติ
ในขณะเดียวกันทำเลที่ตั้งศูนย์การค้าแห่งนี้ก็แวดล้อมไปด้วยโรงแรม และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาจับจ่ายใช้สอยกันมาก
สิ่งที่สุรภีร์คิดก็เลยกลายเป็น จุดขายที่สำคัญของเกษรพลาซ่าเอง ที่คณะกรรมการเองก็ฟันธงเห็นด้วยทันที
จุดเด่นของโครงการที่พยายาม ให้ต่างจากที่อื่นมีเด่นๆ 3 เรื่องคือ 1. มีการดีไซน์ร้านค้าอย่างสวยงามด้วย
บรรยากาศของศิลปวัฒนธรรมของความรุ่งเรืองของสยามประเทศ โดยฝีมือของ อาจารย์
ดุลย์พิชัย โกมลวานิช ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีอารมณ์ศิลปิน อย่างมากและไม่ยอมรับงานใครง่ายๆ
2. มีการคัดเลือกสินค้าที่จะเอามาขายจากทุกภาคของประเทศไทยและ 3. การให้ความรู้ในเรื่องที่มาของ
ตัวสินค้า ประวัติต่างๆ ที่น่าสนใจ
ในปีแรกได้เริ่มชิมลางด้วยพื้นที่เพียง 1,200 ตารางเมตร ที่ชั้น 2 พอมาปีนี้ก็ได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มบนชั้น
3 รวมพื้นที่ทั้งหมดเป็น 2,600 ตารางเมตร สุรภีร์บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า
เธอดีใจที่ได้ช่วยงานของลูกในการติดต่อร้านค้าเองในระยะเริ่มต้น และคัดเลือกสินค้าเองทั้งหมดในฐานะผู้มีประสบการณ
์และคลุกคลีกับงานประเภทนี้ มากกว่ากรรมการบริษัทคนอื่นๆ ขณะเดียวกันก็นับว่าลูกๆ
ก็ช่วยให้ความฝันเรื่องหนึ่งของเธอเป็นความจริงขึ้นมา
สุรภีร์ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมงานฝีมือชาวบ้าน
ปัจจุบันเธอมีตำแหน่งทางสังคมมากมายเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เช่น เป็นนายกสมาคมส่งเสริมหัตถกรรมไทย
เป็นกรรมการหอการค้าไทย เป็นนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรม
อาเซียน เป็นกรรมการช่างหัตถศิลป์ กระทรวงอุตสาหกรรม
งานหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่เธอชื่นชอบเป็นพิเศษคือเรื่องของผ้าพื้นเมืองซึ่งมีการสะสมมานาน
เธอบอกว่าหากนับกันจริงๆ ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่าหมื่นชิ้น
"เคยคิดว่าจะทำเป็นพิพิธ ภัณฑ์ เมื่อมีจังหวะ มีโอกาส แต่มันเป็นเรื่องใหญ่มากต้องใช้เงินมาก
แต่เจตนาก็คืออยากได้ลายผ้าให้คนรุ่นหลังไว้ศึกษา เพราะทราบว่าต่างประเทศมากว้านซื้อไว้เยอะมากญี่ปุ่น
และทางยุโรป แล้วก็เริ่มมีการทำเลียนแบบอาจจะไม่เหมือนเสียทีเดียวแต่เรารู้ว่านี่มัดหมี่นะ
ลายมัดหมี่ เป็นห่วงเรื่องนี้มาก"
เมื่อยังไม่สบโอกาสที่จะทำพิพิธภัณฑ์ สุรภีร์ ก็ยังทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับงานที่เธอรักต่อไป
และบอกว่าสิ่งเหล่านั้น มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอไปแล้ว จากการเดินทางท่องเที่ยวไปตามท้องที่ชนบทต่างๆ
ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้า เพื่อซื้อมาเก็บไว้เองหรือซื้อไว้เป็นของฝากของขวัญ
ก็เริ่มอยากหาตลาดให้ชาวบ้านส่งขายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น รวมทั้งเริ่มเข้าไปมีบทบาทในหน่วยงานราชการควบคู่กันไปด้วย
เช่น ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก และหอการค้า เพื่อประชุมประสานงานกับคนทางภาครัฐ
และหาคนเข้าไปพัฒนาฝีมือให้ชาวบ้าน อบรมงานหัตถกรรม อื่นๆ ด้วย
ในตอนนั้นเองสุรภีร์ก็เริ่มเห็นปัญหาแล้วว่า เมืองไทยน่าจะมีสถานที่ที่จำหน่ายสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง
เพราะเท่าที่เป็นอยู่ก็คือเมื่อมีการวางแผนว่าจะจัดงานก็ค่อยหาสถานที่ คนที่ต้องการซื้อสินค้าก็ต้องรอภาครัฐจัดงาน
คนที่ต้องการเอาของมาขายก็ไม่รู้จะขายที่ไหนจะรอให้ลูกค้าไปซื้อเองถึงอำเภอถึงจังหวัดก็เป็นเรื่องยาก
หลายรายที่มีฝีมือเลยเลิกทำ เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับภาครัฐบาลหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
ก็เลยเป็นเรื่องฝังใจของเธออยู่ตลอดว่าต้องหาที่ให้คนกลุ่มนี้ขายของให้ได้!
โอกาสเป็นของสุรภีร์เมื่อโครงการศูนย์การค้าเกษร พลาซ่า ซึ่งถูกสร้างในที่ดินกองมรดกของกลุ่มศรี-วิกรม์ซึ่งเธอและลูกๆ
เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่เมื่อคอนเซ็ปต์ของเกษร เน้นหนักในเรื่องสินค้าที่ทันสมัย
สินค้าไทยก็อาจจะไม่ผสมผสานกลมกลืนกัน ความคิดของเธอในช่วงแรกๆ ก็เลยไม่ได้รับการสานต่อ
"การหาที่ก็เป็นเรื่องยากเพราะ ทุกแห่งก็จะมองไปแต่เรื่องของธุรกิจและแม้แต่ของเราเองก็เถอะ
เขาก็ต้องพูดในเชิงธุรกิจ เพราะเราก็ยังเป็นหนี้แบงก์อยู่เหมือนกัน มันก็มีค่าใช้จ่าย"
สุรภีร์ยอมรับ
ปัจจุบันบนเกษรพลาซ่า ในส่วนร้านค้าพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมไทยนั้น มีร้านค้าทั้งหมดประมาณ
80 กว่า ร้านซึ่งจะเป็นงานผ้า เซรามิก และงานไม้ เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสินค้าอื่นๆ
ก็จะมีเครื่องจักสาน เครื่องประดับ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารผลิต ภัณฑ์ที่ทำจากเปลือกมุก
และน้ำมันหอมระเหย
บางคนเป็นเจ้าของโรงงาน หรือผู้ที่มีร้านอยู่แล้วในต่างจังหวัด ทั้งภาคเหนือ
ภาคอีสาน และภาคใต้ คนกลุ่มนี้สุรภีร์มีโอกาสได้รู้จักในช่วงที่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปเลือกหาซื้อของสะสม
ซึ่งบางคนก็ได้เลิกทำไปแล้ว เพราะขายไม่ดีและไม่มีตลาด ซึ่งเธอก็ได้ไปตามมาและบอกให้ทำต่อเพราะเสียดายในงานฝีมือ
แม้วันนี้คนเหล่านั้นจะได้สถานที่อย่างที่เธอต้องการแล้ว แต่เธอก็บอกว่าธุรกิจก็ยังเป็นธุรกิจ
ค่าเช่าบนเกษรพลาซ่าจะพยายามให้ถูกกว่าที่อื่นแต่ต้องอยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่ายเช่นกัน
และสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงก็คือลูกๆ จะ ต้องเดินหน้าสานต่อเรื่องแผนการโปร
โมตนักท่องเที่ยวให้รู้จักเกษรพลาซ่าให้มากขึ้น รวมทั้งการจัดกิจกรรม ต่างๆ
อย่างต่อเนื่องทั้งปีด้วย
เพราะเมื่อไหร่ที่โครงการร้านพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมไทยเป็นที่รู้จัก สามารถดึงคนให้ขึ้นไปจับจ่ายใช้สอยได้สำเร็จ
จนต้องขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในราคาค่าเช่าที่ไม่ได้แพงกว่าศูนย์ การค้าอื่นๆ
ความฝันของสุรภีร์ ที่จะช่วยคนก็คงสมบูรณ์ลง