Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2542
งานดีไซน์ 6 ชิ้นโปรดของ สุมาลี สระตันติ์             
 


   
search resources

แพรนด้า จิวเวลรี่, บจก.
สุมาลี สระตันติ์
Crafts and Design




ใครจะไปคิดว่าดีไซเนอร์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้เครื่องประดับของบริษัทแพรนด้า จิวเวลรี ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในตลาด เมืองไทยและต่างประเทศ จนต้องขยายสาขาเพิ่มขึ้นเเป็น 51 สาขาในวันนี้ และสามารถทำยอดขายรวมประมาณ 500 ล้านบาทในปีที่แล้วจะเรียนจบมาทางด้านอินทีเรียดีไซน์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

งานตกแต่งภายในกับงานดีไซน์เครื่องประดับซึ่งไม่น่าจะมีอะไร เกี่ยวข้องกันเลย

สุมาลี สระตันติ์ ผู้จัดการส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์คนนี้ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าจุดหักเหครั้งสำคัญของการเปลี่ยนอาชีพ เริ่มมาจากความเบื่อหน่ายงานตกแต่งภายในซึ่งเป็นงานชิ้นใหญ่ กว่าจะสำเร็จลงได้ต้องใช้เวลานานมาก และที่สำคัญ ตนเองมีความรู้สึกว่าขาดอิสระทางความคิดอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองทำให้เกิดเศรษฐีใหม่ขึ้นมามากมายและเป็นกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างเอาใจยาก เลยยิ่งเพิ่มความเบื่อในการทำงาน และเริ่มพบว่าจริงๆ แล้ว ต้องการทำงานออกแบบที่เล็กลง และสนใจงานออกแบบทางด้านจิวเวลรี

ความคิดแรกหลังการลาออกจากงานบริษัทตกแต่งภายใน สุมาลีวางแผนจะไปเรียนทางด้านออกแบบเครื่องประดับแต่เมื่อในเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มี เมืองนอกก็ยังไม่มีโอกาสไป แต่โชคดีอย่างมากที่ได้มีโอกาสไปทำงานในบริษัททำเครื่องประดับเล็กๆ บริษัทหนึ่ง ซึ่งที่นั่นทำให้เธอมีโอกาสในการเรียนรู้การทำงาน ได้ออกแบบเครื่องประดับ ตามความคิดของเธอเองเป็นครั้งแรก และที่สำคัญเมื่อเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ทำให้ดีไซเนอร์เองมีโอกาสได้ไปสัมผัส และคลุกคลีกับพวกช่างทำทอง ช่างทำเพชร ไม่ยากนัก

"ตอนนั้นก็ไม่ได้นั่งออกแบบอย่างเดียว ชอบไปดูพวกช่างทำงานด้วย เพราะเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน ไม่รู้ว่าออกไปแล้วช่างทำได้หรือเปล่า เขาจะมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง หรือ เรามีส่วนได้ออกความเห็นกับช่าง อย่างไรบ้าง"

ฝึกงานอยู่ที่บริษัทดังกล่าวนี้ประมาณ 1 ปี เธอจึงได้มาร่วมงานกับ ทางบริษัท แพรนด้าฯ เมื่อประมาณปี 2531 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นบริษัทเล็กๆ มีดีไซเนอร์เพียง 2 คนออกแบบสินค้าทั้งกลุ่ม โดยมี ปราณี คุณประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดปัจจุบัน เป็นผู้คอยดูแลแนะนำ

ที่นี่เป็นสำนักตักศิลา ที่สำคัญ ของเธอ เพราะบริษัทเริ่มขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีงานออกแบบมากมายมาให้ทำ รวมทั้งการขยายสาขาไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ครั้งใหญ่ของเธอ งานแสดงสินค้าทางด้านเครื่องประดับตามประเทศต่างๆ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญซึ่งเธอต้องไปดูและเรียนรู้

ถึงวันนี้ เธอผ่านงานออกแบบมาแล้วกว่าหมื่นชิ้น "ผู้จัดการ" ขอให้เธอเลือกงานชิ้นโปรดของ "พรีม่าโกลด์" สินค้าตัวหนึ่งของบริษัทแพรนด้าฯ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ออกมาให้ดูเพียง 6 ชิ้น มาดูกันซิว่าดีไซเนอร์ผู้ประสบความสำเร็จอย่างเธอ ชอบเครื่องประดับรูปแบบไหนเพราะอะไร

ชิ้นแรกที่เธอหยิบออกมาให้ดู เป็นเครื่องประดับคอที่ใช้สวมเข้าไปในผ้าแพร "ชอบเพราะแปลกดี เป็นคอนเซ็ปต์ของพรีม่าโกลด์ แต่อยากให้มีแสงเพชรส่องประกายวูบวาบก็เลยมีพรีม่าไดมอนด์ประกอบเอาไว้ เป็นชิ้นหนึ่งที่ตั้งใจจะออกแบบให้เป็นไฮไลต์ในงานแสดงสินค้าของพรี ม่าโกลด์มื่อปีที่แล้ว ต้องการให้เป็นชิ้นที่มีสีสันในงาน"

ชิ้นที่ 2 เป็นสร้อยคอ และสร้อยข้อมือเป็นชุด งานชิ้นนี้เธอบอกว่าชอบมาก ดูสวย และคลาสสิกมาก แต่ราคาค่อนข้างสูง เพราะเป็นชิ้นใหญ่

"ชอบค่ะ แต่คิดว่าตัวเองใส่คงไม่สวย อาจจะเหมาะสำหรับนักธุรกิจ และต้องเป็นคนที่ตัวใหญ่คอโตนิดนึง ดูคนอื่นใส่แล้วชอบมาก"

ชิ้นนี้ขายดีมากในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อในต่างประเทศ ส่วนเมืองไทย ช่วงเวลานี้งานชิ้นใหญ่ๆ ก็คงต้องขายยากหน่อย

ชิ้นที่ 3 เป็นสร้อยข้อมือรูปหัวใจ "ที่จริงหัวใจก็ธรรมดานะ แต่แปลกดีตรงที่มีลายน้ำ ลายปลาอยู่ข้างใน ชอบงานฉลุดูมันกุ๊กกิ๊กดี มัน เป็นคอนเซ็ปต์ที่ดูเหมือนง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วมีอะไรซ่อนอยู่"

ชิ้นที่ 4 เป็นกำไล ซึ่งเธอบอก ว่าชิ้นนี้ ดูแข็งแรงดี คงทน จะได้ใช้ได้นานๆ แต่ลูกค้าทั่วไปอาจจะไม่ชอบเพราะมันหนักไป จุดเด่นของชิ้นนี้ อยู่ตรงลายช้างที่ฉลุบนเนื้อทอง เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่น่ารัก และหยิบมาใส่เป็นประจำ

ชิ้นที่ 5 เป็นจี้รูปทรงยาวๆ เป็นท่อน "ชอบ เพราะชอบของอะไรที่เล็กๆ และเป็นรูปทรงทางยาว แปลกดีด้วย ตอนแรกดีไซน์เป็นท่อนๆ ออกมาก่อน แต่ดูแข็งไปก็เลยฉลุเป็นลายดอกไม้เล็กๆ อยู่ข้างใน พอออกมาก็ถูกใจ แต่ลูกค้าอาจจะไม่ชอบ สั่งไปขายน้อย เพราะเป็นของใหม่ ที่ไม่แน่ใจตลาด" เธอเล่า และเผยความ ลับเล็กๆ ว่าผลปรากฏออกมาว่าเป็นชิ้นที่ขายหมดเร็วมาก จนอาจจะต้องขยายแบบต่อ เช่นดอกไม้อาจจะฝังเพชร อาจจะทำเป็นช่อใหญ่ ช่อเล็ก หรืออาจจะฉลุเป็นลายหนังสือต่างๆ

ชิ้นสุดท้าย เป็นชิ้นที่เธอใส่ติดข้อมือมาด้วยในวันนั้น เป็นกำไลชิ้นใหญ่ ซึ่งเดิมดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ของ พรีม่าโกลด์ชาวอิตาลีเป็นคนสเก็ตช์แบบมาแต่เป็นแบบที่ทื่อตรงไปแข็งมาก ต้องเอามาคิดแบบใหม่เกือบหมด ทำอยู่หลายครั้งแก้แล้วแก้อีกใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะลงตัว

งานชิ้นนี้เลยชอบเพราะประทับ ใจที่มันทำยาก แต่ก็ออกมาสวยจนได้ ชิ้นนี้น้ำหนักทองประมาณ 100 กรัม ราคาประมาณ 75,000 บาท

ก่อนจากกันในวันนั้น สุมาลีทิ้งท้ายกับ "ผู้จัดการ" ว่า จากประสบ การณ์การทำงานมาประมาณ 10 ปี นั้น จะรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ชอบสินค้าที่เป็นรูปหัวใจ รูปโบเสียเกือบ 70-80% ดังนั้นงานที่เธอชอบจึงอาจจะไม่ใช่งานชิ้นที่ขายดีนักก็ได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us