วิกฤติการณ์สังคมไทยครั้งนี้ มิได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญเท่านั้น
ยังรวมไปถึงแนวคิดในการอรรถาธิบายพัฒนากลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ของไทยที่นักวิชาการเรียกกันว่า
"กลุ่มทุน" ด้วย
วิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของ สังคมธุรกิจไทย ดูเหมือนทำให้กลุ่มตระกูลธุรกิจใหญ่ๆ
พลิกโฉมหน้าจากเดิมไปอย่างฉับพลัน แต่ในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ
ได้เกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
"วิถีชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว เป็นเรื่องของแต่ละคน" บัณฑูร ล่ำซำ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย
ในฐานะทายาทสำคัญของตระกูลล่ำซำในรุ่นนี้ เคยกล่าวกับผมเมื่อปีที่แล้วเมื่อถามถึงความเป็นไปของธุรกิจตระกูล
"คุณสุกิจ หวั่งหลี ก็คือผู้นำตระกูลยุคปัจจุบัน ในเวลาที่ทุกคนในตระกูลไม่พูดเรื่องธุรกิจ"
หวั่งหลี รุ่นหลังเล่าให้ฟัง
ความเปลี่ยนแปลง มันเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ด้วยเหตุการณ์อย่างน้อย 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเดียวกัน
และส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของ กลุ่มธุรกิจตระกูลเก่าแก่
เหตุการณ์แรก การเติบโตของตลาดทุน มาพร้อมกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงของธุรกิจต่างๆ
ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความจำเป็นในการเพิ่มทุน ขยายธุรกิจในกลุ่มเดิม เพื่อเข้าสู่เกมการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
บ่อยขึ้น ย่อมทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของตระกูลลดลงไป เพราะพวกเขายังคงใช้วิธีการเพิ่มทุนจากเงินปันผลมาตลอดอย่างไรก็อย่าง
นั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สามารถรักษาสัด ส่วนถือหุ้นจำนวนมากไว้ได้แล้ว
โมเดลในการสร้างอาณาจักรโดยใช้ธนาคารเป็นแกน ตามแนวทางของตระกูลโสภณพนิชในแบงก์กรุงเทพ
หรือตระกูลเตชะไพบูลย์แห่งธนาคารศรีนคร ได้สร้างปัญหาแก่ธนาคารเป็นระยะๆ
จากปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการ ภายใต้สถานการณ์ที่ผันแปร และแข่งขันอย่างรุนแรงมากขึ้น
ทำให้เครือข่ายธุรกิจธนาคารแทนที่จะสร้าง ความมั่งคั่งของตระกูล กลับเป็นภาระ
มากขึ้น ขณะเดียวกันกฎเกณฑ์ใหม่ ของทางการในการควบคุมธนาคาร ทำให้มีความยากลำบากมากขึ้น
ในการนำเงินจากธนาคารมาจุนเจือธุรกิจ ของครอบครัว
ในยุคของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ โอกาสเกิดขึ้นมากมาย แต่ละคนมองโอกาสต่างกัน
มีความสนใจต่างกัน และไม่มีเวลาหารือกัน พันธมิตรธุรกิจใหม่มีบทบาทมากขึ้น
ขณะที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวในทางธุรกิจลดลง
เหตุการณ์ที่สอง ผู้นำตระกูล ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำธุรกิจของตระกูลด้วยได้เสียชีวิตในช่วงนั้น
ไม่ว่ากรณี ตระกูลล่ำซำ (บัญชา ล่ำซำ เสียชีวิตในปี 2535) หรือตระกูลหวั่งหลี
(สุวิทย์ หวั่งหลี เสียชีวิตในปี 2537) เมื่อผู้นำเหล่านี้เสียชีวิตไป ความคิด
ทิศทาง การปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดค่อยๆ ห่างกันไป แต่ละคนก็มีครอบครัวที่ขยายขึ้น
ความคิดเห็นต่างๆ ในรุ่นใหม่หลากหลายมากขึ้น
"เราไม่เคยปรึกษากันเลย ในเรื่องการขายหุ้นธนาคารนครธน" หวั่งหลีคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความเป็นจริงของธุรกิจตระกูลที่เปลี่ยนแปลง
เรื่องการขายหุ้นธนาคารนครธนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น เมื่อทางการเข้ายึดธนาคารแห่งนี้
ด้วยการตีความ จากตรรกะง่ายๆ โดยไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานทางธุรกิจของนักข่าวบางคน
ย่อมให้เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา และกระทบต่อความรู้สึกของคนในตระกูลหวั่งหลีอย่างมาก
การสูญเสียธนาคารนครธนของตระกูลหวั่งหลี มีความหมายสำคัญอย่างมาก เป็นเหตุการณ์สุดท้าย
ในความผูกพันของตระกูลและธุรกิจตระกูลที่มีสัญลักษณ์อยู่รวมกัน เพียงแต่ว่า
ตระกูลหวั่งหลี เสียธนาคารไปด้วยการถูกทางการยึด เนื่องจากมีปัญหาอย่างหนัก
ขณะเดียวกันที่ตระกูลล่ำซำเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อยไปแล้ว ในธนาคารกสิกรไทย
ด้วยความจำเป็นในการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ แต่คนตระกูลล่ำซำ ยังมีบทบาทบริหารอยู่เช่นเดิม
ธนาคารนครธน ก่อตั้งมาเมื่อ ปี 2476 ก็จริง แต่ในความเป็นจริงก็ มีเพียงใบอนุญาตธนาคารเท่านั้นที่มี
ค่า ธนาคารเริ่มมีคุณค่าจริงทางธุรกิจ หลังจากนั้นกว่า 40 ปี เมื่อปี 2516
เป็น ต้นมา โดยหวั่งหลี 3 คน ภายใต้การนำของสุวิทย์ หวั่งหลี ( ที่เหลือคือ
วรวีร์ และทำนุ) พวกเขาพัฒนาธนาคารยุคใหม่ด้วยการนำ CITI-BANK เข้ามาถือหุ้นและช่วยบริหาร
โดยใช้เวลา 7 ปีในการเรียนรู้และรอคอยโอกาสทางธุรกิจ เมื่อธนาคารต่างชาติถอนไป
กิจการนี้ก็เข้าตลาดหุ้น คนในตระกูลหวั่งหลี ซึ่งลงเงินกันไม่มากเลยในการพัฒนาธนาคารช่วงแรก
ก็ได้รับผลตอบแทนกันอย่างมากมาย และทั่วถึง การรวมตัวของตัวแทนหวั่งหลี 3
คนในการฟื้นฟูธนาคารซึ่งแต่ละคนมาจากหวั่งหลีสายต่างๆ เป็นความ จงใจของ สุวิทย์
หวั่งหลี ที่จะทำให้ตระกูลมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้นในยุคของเขา ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าตระกูลนี้ก็ค่อนข้างต่างคนต่างอยู่
คนตระกูลหวั่งหลี เริ่มเข้าใจว่าธนาคารเป็นมรดกของบรรพบุรุษ ที่มีค่ามากขึ้น
แล้วก็ถูกสร้างด้วยผลประโยชน์ให้มีค่ามากขึ้น ด้วยผลตอบแทนจากการประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารนครธนจึงกลายเป็นศูนย์รวมของตระกูลหวั่งหลีมากที่สุด ที่ถือหุ้นไม่ว่าที่เมืองไทยหรือฮ่องกง
ทั้งๆ ที่พวกเขาต่างก็มีธุรกิจแตกต่างกันไป ตั้งแต่ธนาคารยังเป็นเพียงใบอนุญาตใบหนึ่งเท่านั้น
ความสูญเสียธนาคารนครธน ครั้งนี้ ย่อมทำให้คนตระกูลหวั่งหลี สะเทือนใจ
บางคนในตระกูลเชื่อว่า คงไม่มีเหตุผลที่เกี่ยวกับเรื่องการสูญเสียความเป็นปึกแผ่นของตระกูล
หากด้วยเหตุผลเพียง 2 ประการหนึ่ง-ในฐานะตระกูลเก่าแก่ มีเกียรติประวัติและศักดิ์ศรี
ในสังคมธุรกิจ สอง-ผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กับธนาคาร ซึ่งพวกเขาได้รับผลตอบแทนในช่วง
10 กว่าปีที่ผ่านมาหายไป ในมุมมองที่ต่าง กันไป ส่วนใหญ่ที่ถือว่าเป็นนักลงทุนก็ยังรู้สึกดีกว่าบางคนที่ดำเนินธุรกิจ
ด้วยความผูกพันกับธนาคารค่อนข้างมาก
คนที่เสียใจมากที่สุดคนหนึ่งก็หนีไม่พ้น วรวีร์ หวั่งหลี ในฐานะประธานกรรมการบริหารธนาคาร
ซึ่งดูเหมือนเขาจะคิดว่า เขาต้องรับผิดชอบโดยตรง
อีกคนหนึ่ง สุจินต์ หวั่งหลี ประธานกลุ่มสาธรธานี เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่
ธุรกิจของเขาแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารโดยตรงมากนัก แต่ความผูกพันทางอ้อมที่ว่าด้วย
"เครดิต" และ "ความมั่นคง" ซึ่งจำเป็นอย่างมากในธุรกิจของเขาไม่ เพียงเวลานี้
หรือเวลาไหน
ดังนั้นเขาทั้งสองจึงกลายเป็นคนที่ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ในการรักษาธนาคารแห่งนี้เอาไว้ตราบจนนาทีสุดท้าย
พวกตระกูลหวั่งหลี มีวิถีของตนเองที่แตกต่างกันออกไปมานานแล้ว
ส่วนใหญ่พวกเขามีที่ดิน กระจัดกระจายทั้งในเมืองและชานเมือง กลุ่มที่มิใช่พูลผล
ก็ดำเนินธุรกิจอย่างเงียบๆ เกี่ยวกับที่ดินและการลงทุนในกิจการต่างๆ โดยที่ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ได้เข้ามาบริหารโดยตรง
ปัจจุบันพวกเขาก็ยังรักษาที่ดินอันเป็นมรดกเก่าแก่นี้ไว้ได้เป็นส่วนใหญ่
นอกจากความคิดดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในเรื่องไม่ยอมขายที่ดินนั้นแล้ว ก็ยังมาจากสาเหตุว่าในยามยากลำบากจริงๆ
ในช่วงที่ผ่านมา ที่ดินก็ไม่สามารถจะขายได้เช่นกัน
กลุ่มพูลผลเป็นกลุ่มที่สร้างขึ้นจากทองพูล ภรรยาม่ายของตันซิวเม้ง ซึ่งเสียชีวิต
(เรื่องราวนี้ผมเคยเขียนมาหลายครั้ง แต่ข้อมูลครั้งแรกมาจาก "ผู้จัดการ"
ฉบับเดือนธันวาคม 2529) มีธุรกิจที่ลงหลักปักฐานแล้ว ได้แก่ กิจการอุตสาหกรรมเกษตร
เช่นน้ำมันพืช แป้งมันสำปะหลัง วุ้นเส้น เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ก็พอจะดำเนินไปได้ในยามเศรษฐกิจ
เช่นนี้ ธุรกิจเหล่านี้สร้างขึ้นมาก่อนหน้าการฟื้นฟูธนาคารนครธนด้วยซ้ำ การมีหรือไม่มีธนาคารนครธน
ก็ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจเหล่านี้
กลุ่มพูลผลได้รับผลกระทบโดยตรง ก็คือการปิดกิจการอย่างถาวรของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พูลพิพัฒน์
เมื่อปลายปี 2540 แม้ว่าไม่ได้สูญเสียเงินมากมายนัก แต่ก็นำมาซึ่งการสูญเสียความมั่นใจไประดับหนึ่ง
ดังนั้นเมื่อกิจการพูลผลมีปัญหาทางการเงิน พวกเขาก็พร้อมจะขายหุ้นธนาคารนครธนบางส่วนในนามบริษัทออกไปได้เช่นกัน
ซึ่งไม่เพียงหุ้นธนาคารนครธนเท่านั้น หุ้นในกิจการอื่นๆ พวกเขาก็ขายไปด้วย
แม้แต่หุ้นธนาคารกสิกรไทย และความจริงอีกข้อหนึ่ง ก็คือคนในตระกูลบางคนไม่มีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นฟู
และแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนั้นการขายหุ้นที่พวกเขาถือกันมานานในธนาคารเก่าแก่ของเขา
ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครห้ามได้ ซึ่งมันคนละเรื่องกับการ ขายหุ้นด้วยข้อมูลภายใน
(ปกติมีหลักฐานบางอย่างจากการสอบสวน บ่งชี้ถึงการขายหุ้นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายระดับใดระดับหนึ่ง
แล้วจึงเป็นข่าว มิใช่การทึกทัก มีข่าวออกไปก่อนว่ามีการขายหุ้นแล้ว สงสัยอาจจะเป็นการใช้ข้อมูลภายใน
จึงเริ่มต้นกระบวนการสอบสวน ซึ่งเป็นตรรกะที่ไม่เอาไหน ของวงการข่าวสารของไทยเสมอมา)
โมเดลการสร้างอาณาจักรธุร กิจ ยึดถือธนาคารเป็นแกนกลางในการขยายธุรกิจออกไป
เช่น โสภณ- พ นิช และเตชะไพบูลย์ ไม่ได้เกิดกับ หวั่งหลี เพราะธนาคารแห่งนี้ดำเนินกิจการธนาคารอย่างมืออาชีพ
และเติบโตอย่างช้าๆ เสมอมา โมเดลที่ว่านั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 2500-2520 โดยตระกูลธุรกิจเหล่านั้น
ขยายฐานจากธนาคารสู่ธุรกิจอื่นๆ ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน ทั้งเงินกู้ และถือหุ้นในกิจการที่พวกเขาเป็นเจ้าของ
การขยายตัวทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งมีการแข่งขันน้อย จึงได้รับผลตอบแทนคืนมาอย่างดีทีเดียว
ทั้งสองส่วน ส่วนของตระกูลเองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งของกิจการธนาคารและ เครือข่าย
สุดท้ายผลสะท้อนกลับมาสู่ธนาคารด้วยการขยายตัวของสินทรัพย์ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
ช่วงเวลานั้นธนาคารนครธน เพิ่งเริ่มตื่นและอยู่ภายใต้การบริหารของ CITIBANK
ธนาคารนครธน จึงกลายเป็นธนาคารขนาดเล็ก เมื่อเข้ามีส่วนร่วมSyndicate Loans
ในกิจการใหญ่ไม่กี่แห่งในช่วงหลังๆ ก็ทำให้สัดส่วนหนี้สิน มีน้ำหนักอย่างมาก
ยิ่งการจัดการโครงสร้างก็จะเริ่มจากเจ้าหนี้สัดส่วนมาก ธนาคารนครธนจึงกลาย
เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับความสนใจน้อยลง กลายเป็นจุดอ่อนเปราะของธนาคารเล็ก
ในขณะลูกหนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น
"หากเราไม่เก่ง เราก็ไม่ต้องบริหาร การทำธนาคารยุคใหม่ยากมากปล่อยให้มืออาชีพคนเก่งๆ
เขาดูจะดีกว่า เราอยู่เฉยๆ ในฐานะนักลงทุนดีกว่า" นี่คือความเห็นล่าสุดของตระกูลธุรกิจ
ซึ่งล่ำซำอาวุโสคนหนึ่งกล่าวไว้ในวงใน อันเป็นความเข้าใจที่มองการณ์ไปข้างหน้า
ก่อนวิกฤติ การณ์นี้บ้างแล้ว สำหรับบางคนในตระกูลธุรกิจ คนในตระกูลหวั่งหลี
ยอมรับว่าการบริหารธนาคารนครธน ที่มีวรวีร์ เป็นประธานกรรมการบริหาร และทำนุ
เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไม่ใช่โครงสร้างบริหารองค์กรที่ดี เช่น ในช่วงสุวิทย์ยังเป็นหัวหน้าทีม
ซึ่งสามารถประสานความสามารถที่แตกต่างเป็นพลังงานการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งวรวีร์ และทำนุ มีประสบการณ์ต่างกันและที่สำคัญมีความคิดเห็นไม่ค่อยจะลงรอยกันเสมอๆ
แม้คนในตระกูลจะไม่ได้ประเมินว่า นี่คือสาเหตุของความล่มสลายของธนาคารเอกชนเแห่งนี้
แต่ก็คงมีส่วนไม่มากก็น้อย
สาธรธานี กลุ่มธุรกิจที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับตระกูลหวั่งหลี แม้ว่า
ปัจจุบันจะมีหนี้สินมากมาย และไม่อาจจะถือว่าเป็นธุรกิจของตระกูลโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าจุดเริ่มต้นมาจากธนาคาร
นครธนและหวั่งหลี
สุจินต์ หวั่งหลี เป็นเจ้าของไอเดียเริ่มแรกในการสร้างอาคารสูงเป็นที่รวมของกิจการตระกูลหวั่งหลี
โดยที่ตั้งของโครงการสาธรธานี เดิมเป็นบ้านของสุวิทย์ สุกิจ ศุภชัย พี่น้องหวั่งหลีรุ่นโต
รวมเนื้อที่ 6 ไร่เศษ ที่ดินตรงนี้ในขณะนั้นราคาตารางวาละเกือบแสนบาท คิดเป็นเงินลงทุน
บริษัทสาธรธานีก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2525 ด้วยทุนจดทะเบียน
40 ล้านบาท ตระกูลหวั่งหลีถือหุ้นมากที่สุดซึ่งไม่ต้องลงเงิน ที่เหลือเป็นธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารนครธน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ และกลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นโครงสร้าง
ผู้ถือหุ้นแบบใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น
โครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้จึงประสบความสำเร็จตั้งแต่อยู่ในพิมพ์เขียวเลยทีเดียว
อีกเกือบ 10 ปีถัดมา สาธร ธานี จึงโลดแล่นด้วยวิธีการดำเนินงานแบบใหม่
ภายใต้การเติบโตและโอกาสจากตลาดทุน ด้วยการเข้าตลาดหุ้นทางลัด การสร้างพันธมิตรใหม่ที่กว้างออกไป
โดยเฉพาะกลุ่มที่โลดโผนในตลาดทุนไทย ไม่ว่าจะเป็น เอกธนกิจ ยูนิเวสต์ ฯลฯ
ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ การเพิ่มทุนหลายครั้ง สัดส่วนของตระกูลหวั่งหลี จึงลดลงไปด้วย
สาธรธานีจึงกลายเป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายหนึ่งของเมืองไทย
แต่ความใหญ่กับการเติบโตอย่างเร่งรีบในช่วง 5 ปีมานี้ ทำให้แรงต้านทานวิกฤติการณ์ไม่เข้มแข็งนัก
วันนี้สาธรธานีกำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการฟื้นฟูกิจการ แต่ภาระดังกล่าวนั้นมิได้เป็นของตระกูลหวั่งหลี
หากเป็นของสุจินต์ หวั่งหลี เพียงคนเดียวในฐานะผู้บริหารสูงสุด
ขณะเดียวกัน วิกฤติการณ์สาธรธานี ก็ถือว่าไม่ใช่แรงเสริมซ้ำเติมวิกฤติการณ์ตระกูลหวั่งหลีให้มากขึ้นเท่าใดนัก
เพราะสาธรธานีวันนี้เป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นมากมาย มีพันธมิตรธุรกิจมากมาย
มีบุคลิกเฉพาะที่แตกต่างกันไป แม้ว่าจะเป็นกิจการที่เริ่มต้นจากตระกูลหวั่งหลีก็ตาม
โมเดลสาธรธานี กำลังจะกลายเป็นโมเดลใหม่ของการพัฒนาธุรกิจไปอีกขั้น จากธุรกิจครอบครัว
จากนี้ไป ธุรกิจตระกูลหวั่งหลี อย่างเข้มข้นไม่มีแล้ว มีแต่ธุรกิจของผู้ประกอบการนามสกุลหวั่งหลีแยกย้ายไปทำตามเป้าหมายของแต่ละคน
ตามความสามารถของแต่ละคน แต่ ละกลุ่ม อย่างอิสระ เรื่องราวของธุรกิจตระกูลหวั่งหลีในวันนี้
ก็คล้ายๆ กับตระกูลธุรกิจเก่าแก่โดยทั่วไป และนี่คือพัฒนาการล่าสุดของ "กลุ่มทุน"
ไทย หลังวิกฤติการณ์สังคมไทยครั้งใหญ่ครั้งนี้