เธอเป็นลูกสาวคนกลางของวิทย์ วิริยะประไพกิจ มีป้าคือ คุณหญิงประภา วิริยะประไพกิจ
เจ้าของอาณาจักรสหวิริยาที่เคยยิ่งยงในอดีต
หลังเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
กนกวิภาบินกลับมาเริ่มงานที่สหวิริยาโอเอ เริ่มตั้งแต่เป็นเซลส์ แมนขายอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์
เรื่อยมา แต่มาลงตัวที่ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ หรือที่เรียกกันว่า System
Integration หรือเอสไอ ด้วยลักษณะของธุรกิจเอสไอ ที่ต่างไปจากประสบการณ์เดิมของสหวิริยาโอเอ
ที่ต้องการความเชี่ยว ชาญมากขึ้น ระบบงานที่ใหญ่ขึ้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นระดับธนาคาร
อุตสาห-กรรม หรือบริษัทโทรคมนาคมระดับใหญ่
ด้วยความแตกต่างเหล่านี้ กนกวิภาจึงสามารถสร้างต้นแบบของกลุ่มเอสไอขึ้นมาได้เองภายในสหวิริยาโอเอ
ทั้งตัวทีมงานและสไตล์การทำงานขึ้นมาเป็นเอกเทศ
และดูเหมือนว่า ความตั้งใจของเธอจะประสบความสำเร็จไม่น้อยกับลูกค้าที่มีเข้ามาต่อเนื่อง
ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย เทเลคอมเอเซีย
ธนาคารกรุงเทพ แม้ยอดขายจะไม่สามารถเลี้ยงทั้งบริษัท แต่ก็มีกำไรที่ไม่ได้มาจากตัวเครื่องอย่างเดียว
เหมือนกับการขายพีซี
ความมั่นใจนี้ทำให้เธอตัดสินใจโบกมือลาจากสหวิริยาโอเอ ออกมาสร้างดาวดวงใหม่เอง
ร่วมกับทีมเอสไอเดิม ที่หอบหิ้วกันมาตั้งบริษัทใหม่พร้อมกับลูกค้ากลุ่มใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว
ซึ่งเป็นช่วงที่สหวิริยาโอเอกำลังเจอวิกฤตพอดี ช่วงแรกกนกวิภา ยังไม่ได้มาร่วมงานใน
สตรีม.ไอที.คอนซัลติ้ง ซึ่งเธอและลูกน้องเก่าของเอสไอร่วมกันลงขันตั้งขึ้นมา
เพราะต้องหยุดพักลาคลอด จนกระทั่งกลางปีนี้ เธอก็เข้ามานั่งเป็นกรรมการอำนวยการ
และให้วิชชุ จารุจันทร อดีตลูกหม้อ และหนึ่งในทีมงานเอสไอยุคแรกๆ เข้ามาทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการไปพลางๆ
ก่อน แต่ครั้งนี้กนกวิภา ไม่ต้องการเป็นแค่เอสไอแบบเดิมๆ ที่ซื้อเครื่อง
ซื้อระบบมาประกอบใส่โซลูชั่นให้ลูกค้า แต่ครั้งนี้เธอต้องการกระโดดไปอีกขั้นหนึ่ง
เธอวางสตรีมเป็น "คอนซัลติ้ง" ในรูปแบบของที่ปรึกษา ที่หากจะว่าไปแล้วก็เป็นแบบฉบับเดียวกับ
แอนเดอร์ซัน คอนซัลติ้ง หรือ ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ แต่เธอจะทำให้สตรีม เป็นไพรซ์
วอเตอร์เฮาส์ หรือแอนเดอร์สัน ฉบับภาษาไทย ที่เธอเชื่อ ว่าความเป็นบริษัทท้องถิ่นจะเข้าถึง
และเข้าอกเข้าใจลูกค้า ได้ดีกว่า
กนกวิภา มองว่าเมืองไทยเพิ่งผ่านวิกฤตมา และกำลังเริ่มฟื้นตัว หลายบริษัทต้องเตรียมตัววางกลยุทธ์
สำหรับการแข่งขันรอบใหม่ ที่จะต้องมีความพร้อมมากกว่าเดิม และสิ่งเหล่านี้จะเป็นช่องว่างสำหรับคนทำธุรกิจไอที
จะเข้าไปช่วยในเรื่องเหล่านี้
เธอยกตัวอย่างว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจ มีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเช่น แมคเคนซีมาช่วยเป็นที่ปรึกษามาวางระบบมาช่วยให้ธนาคารอยู่รอด
หรืออย่างโทรคมนาคมจะเปิดเสรี ก็จะมีบริษัทเหล่านี้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา
"สิ่งที่สตรีมจะทำก็คือ การวางกลยุทธ์ให้กับลูกค้า เช่น ธนาคารต้องการมี
Customer Service ต้องมีระบบ Call center ที่ดี เราจะเข้าไปทำเรื่องเหล่านี้
ไม่ใช่แค่วางระบบคอมพิวเตอร์ หรือไปหาอุปกรณ์มาให้ แต่ยังต้องลงลึกไปถึงเรื่องของการวางกรอบทางธุรกิจ
โอเปอเรเตอร์ควรจะรับสายยังไง คนข้างในแบงก์เองใครจะเป็นคนตอบคำถามให้ลูกค้า
นี่คือ หน้าที่ของที่ปรึกษา"
กนกวิภา เชื่อว่า ลูกค้าเองก็คาดหวังที่จะให้บริษัทเอสไอเหล่านี้มีบทบาทมากไปกว่าเก่า
ไม่ใช่แค่วางระบบให้แล้วก็จบกันไป แต่ต้องมีส่วนร่วมเดินคู่ไปกับลูกค้า
และนั่นก็หมายความว่า การที่ต้องปรับตัว ปรับมุมมองใหม่ ไม่ใช่มองแบบคนติดตั้งระบบ
แต่ต้องมองในมุมของลูกค้า เข้าถึงกลไก และขั้นตอนของธุรกิจรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของแต่ละอุตสาหกรรมว่าต้องการอะไร
ซึ่งกนกวิภาบอกว่า เธออาศัยการเรียนรู้จากพาร์ตเนอร์ ที่เป็นซัปพลายเออร์ของสตรีมที่มีอยู่กว่า
10 ราย เช่น ซัน ไอบีเอ็ม รวมกับ ประสบการณ์ที่ได้จากลูกค้าเหล่านี้ มาเป็นแบบฝึกหัดของ
การเรียนรู้ให้กับทีมงานของเธอ มาบวกผสมกับการเป็นบริษัท ท้องถิ่น ทำให้เธอเชื่อมั่นว่าจะเข้าไปอุดช่องว่างความต้อง
การปรับตัวของลูกค้าได้ไม่ต่างจากบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอื่น ก้าวใหม่ที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นของเธอกับสตรีม.
ไอที. คอนซัลติ้งจะประสบความสำเร็จเพียงใด เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์