หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มีอะไรอยู่ในหัวหยุ่น เป็นคำถามที่ใครต่อใคร ก็อยากรู้
นั่นเพราะว่าศึกระหว่างสุทธิชัย หยุ่น และฝ่ายบริหารของไอทีวี มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เป็นที่แน่ชัดแล้วสำหรับฝ่ายแบงก์ไทยพาณิชย์ แสดงเจตนารมณ์ในฐานะของการเป็นทั้งเจ้าหนี้
ผู้ถือหุ้น และเป็นลูกหนี้พร้อมกันในเวลาเดียวกันว่า เป้าหมายของการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานมีเป้าหมายอยู่ที่รายได้
และผลกำไร เพราะแบงก์เองก็มีหนี้เสีย NPL ที่ไปลงทุนไว้ในยามที่ฟองสบู่ยังฟูฟ่องไม่น้อย
แต่สำหรับสุทธิชัย หยุ่นแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเขาคิดอะไรกับการเปิดศึกสงครามในครั้งนี้
มากไปกว่า คำ ว่าอิสรภาพของฝ่ายข่าว ที่จะต้องไม่ถูกคุกคามจากฝ่ายบริหาร
นอกเหนือจากการมองต่างมุมกันแล้ว การขยับขยายธุรกิจของเนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป
ของสุทธิชัย หยุ่น ก็น่าสนใจไม่น้อย
หากจะพลิกย้อนดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสุทธิชัย หยุ่น ที่กว่าจะมาเป็นเดอะเนชั่นมัลติมีเดีย
กรุ๊ปในวันนี้ เขาต้องผ่านการต่อสู้ ฝ่าฟัน ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อยกับการสร้างเนชั่นให้ประสบความสำเร็จ
สุทธิชัย พูดเสมอถึงอุดมการณ์ของคนทำหนังสือพิมพ์ ที่ต้องรักษาความเป็นกลาง
ความเป็นอิสระ นโยบายหลักของเขาคือ กองบรรณาธิการต้องเป็นผู้กำหนด และควบคุมนโยบายของหนังสือ
การมีนายทุน สนับสนุนด้านการเงิน จะทำให้อำนาจต่อรองต้องสูญเสียไป นี่คือ
คำพูดของสุทธิชัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เนชั่นกำลังโซซัดโซเซกับปัญหาขาดเงินทุน
ชัก หน้าไม่ถึงหลัง
มาถึงวันนี้ ความรู้สึกของสุทธิชัยก็ยังไม่เจือจางลง และเป็นสิ่งที่เขากำลังนำมาตอกย้ำมากขึ้นกับปัญหาที่เกิดขึ้นในไอทีวี
หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี เดอะเนชั่น ก็มาลงตัว ด้วยการแบ่งแยกบทบาทกันชัดเจน
สุทธิชัย รับผิดชอบเรื่องของข่าวไปอย่างเดียว ส่วนหน้าที่การหาเงิน การขาย
และการตลาด เป็นของ ธนาชัย ธีรพัฒน-วงศ์ เพื่อนรุ่นน้องโรงเรียนอัสสัมชัญ
ที่เข้ามาช่วยกอบ กู้สถานการณ์ในช่วงที่เนชั่นกำลังเจอวิกฤติการเงินมาแล้วหลายระลอก
ธนาชัยได้นำเอาระบบการบริหาร และการตลาดมาใช้กับธุรกิจหนังสือพิมพ์ จนกลายเป็นสมการที่ลงตัว
หากเปรียบสุทธิชัยเป็นฝ่ายบู๊แล้วธนาชัย ก็คือฝ่ายบุ๋นที่เข้าคู่กันได้ดี
เนชั่นในวันนี้ ได้กลายเป็นเจ้าของ "สื่อ" ครบทุกด้าน จากชื่อบริษัท "เนชั่น
พับลิชิ่งกรุ๊ป ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป เมื่อวันที่
9 สิงหาคม 2539 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของเนชั่น ที่จะไม่ได้เป็นแค่เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียวอีกต่อไป
จากสื่อสิ่งพิมพ์ ที่แตกขยายออกเป็นกรุงเทพธุรกิจ มีอาคารสำนักงานใหญ่
เนื้อที่ 9 ไร่ ริมถนนบางนา มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ที่มากไปกว่านั้นก็คือ
เนชั่นก็เริ่มขยับไปยัง "สื่อ" อื่นๆ ผลิตรายการวิทยุ ผลิตรายการข่าว แต่ไม่มีสถานีเป็นของตัวเอง
ใช้วิธีเช่าเวลาจากเจ้าของสัมปทานคนอื่นอีกที ประสบการณ์สอน สุทธิชัยว่า
การเป็นเจ้าของสถานีวิทยุ นอกจากต้องใช้เงินมหาศาลกับการที่ต้อง "จ่าย" ทั้งบนโต๊ะใต้โต๊ะแล้ว
ความไม่แน่นอนของความเป็นเจ้าของก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ และเนชั่นก็ทำได้ดีในฐานะของการเป็นผู้ผลิตรายการ
ส่วนธุรกิจโทรทัศน์ เริ่มขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว การไปร่วมทำข่าวเลือกตั้งกับสถานีโทรทัศน์ช่อง
3 จากนั้นไปร่วมกับช่อง 7 ผลิตรายการเกี่ยวกับหุ้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้ผู้สื่อข่าวของเนชั่น
อัญชลี ไพรีรักษ์ แจ้งเกิดในฐานะผู้ประกาศข่าว แต่การลงทุนในช่วงนั้นยังไม่ได้ลงทุนจริงจัง
อุปกรณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นของสถานีโทรทัศน์ เนชั่นอาศัยเพียงบุคลากร และฐานข้อมูลที่มีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์
สุทธิชัย หยุ่น และเนชั่นมาแจ้งเกิดบนจอโทรทัศน์อย่างเป็นรูปเป็นร่าง ในช่วงเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย
ที่เขาไปร่วมกับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ วิเคราะห์เหตุการณ์อิรักกับอิหร่าน
ซึ่งได้รับการตอบรับ จากผู้ชม และสปอนเซอร์โฆษณาเป็นอย่างดี ผลความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้สุทธิชัยมองเห็นลู่ทางและโอกาสในการขยายไปสู่สื่อ
"โทรทัศน์" อย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่สำคัญเขาเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นจากการนำข้อมูลข่าวสาร
ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่าง "สื่อ" ที่ต่างกัน ซึ่งเป็นความภูมิใจที่เขามักเล่าให้กับพนักงานเนชั่นฟังอยู่เสมอๆ
จากนั้นเนชั่น ก็เริ่มมีรายการประจำบนจอโทรทัศน์ ผลิตรายการเนชั่นนิวส์ทอล์กป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง
9 ซึ่งเป็นรายการประเภทสัมภาษณ์ วิเคราะห์ เจาะลึก ซึ่งจะให้น้ำหนักกับเรื่องการเมืองเป็นหลัก
ช่วงนั้นเนชั่นก็ไปผลิตรายการข่าวป้อนให้กับรถไมโครบัสอยู่พักใหญ่ และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะไปร่วมกับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ
รายงานข่าว รวมถึงไทยสกายทีวี ที่เคยคิดจะร่วมผลิตข่าวให้ แต่ดีลในครั้งนั้นก็ต้องล้มไป
เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ไม่คุ้มกับค่าสมาชิกที่ยังมีน้อยราย
เมื่อรัฐบาลเปิดให้มีการประมูลทีวีเสรี สุทธิชัย หยุ่น จึงไม่รีรอที่จะนำเนชั่นกระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์
แม้จะพลาดหวังกับการร่วมประมูลไอทีวี แต่เนชั่นก็มาสมหวังในภายหลังกับการเข้าถือหุ้นในไอทีวี
เมื่อปี 2538 จากการชักชวนของบรรณวิทย์ บุญญรัตน์
"ตอนแรกเนชั่นรับทำข่าวให้อย่างเดียว แต่ตอนหลังก็กลายมาเป็นว่า เปิดโอกาสให้เข้ามาถือหุ้นด้วยทางสยามทีวีก็รับปากไปเกลี่ยหุ้นจากเจ้าอื่นมาให้เนชั่น
เพื่อให้เข้ามาถือหุ้น" สุภาพ คลี่ขจาย ผู้อำนวยการสถานีบริษัทไอทีวี กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ถึงเหตุการณ์ ในครั้งอดีต
การเข้าร่วมกับไอทีวีนับเป็นการต่อยอดความฝันของสุทธิชัยไปอีกขั้นหนึ่ง
หลังจากร่วมหุ้นกับไอทีวีได้ปีเดียว ชื่อบริษัทเนชั่น พับลิชิ่งกรุ๊ป ถูกเปลี่ยนเป็น
"เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป" เพื่อให้สอดรับกับทิศทางใหม่ที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์เท่านั้น
จากนั้น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2539 ชื่อของเนชั่น บริษัทเนชั่น เทเลวิชั่น
ที่เพิ่งเปลี่ยนจากเอ็นพีจี เทเลวิชั่น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น
เนชั่นบรอดแคสติ้ง คอร์ปอ เรชั่น ทำธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ช่อง 9 และไอทีวี
แม้ว่า วันนี้สุทธิชัย หยุ่น จะพูดปรัชญาการทำงานข่าวได้เหมือนเดิม แต่ประสบการณ์ในช่วงหลายสิบปีมานี้
ก็อาจทำให้เรียนรู้ภาพใหม่ของการเป็นนักธุรกิจ และการเป็นเจ้าของเครือข่ายสิ่งพิมพ์
โทรทัศน์ วิทยุ อิเล็กทรอนิกส์ได้มากพอๆ กับการเป็นนักหนังสือพิมพ์
สุทธิชัย หยุ่น มักจะพูดกับกองบรรณาธิการของเดอะเนชั่น และกรุงเทพธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
ถึงการต้องการทำองค์กรให้สอดรับกับการสร้าง ใช้ประ-โยชน์จากข้อมูลข่าวสาร
ด้วยการที่ต้องมีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อิเล็กทรอนิกส์ เพราะมันคือการ
Maximize สื่อเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเชื่อมโยงสื่อจากฐานข้อมูลเดียวกัน
ทุกวันนี้เนชั่นมีบริษัทในเครือ 6 บริษัท เนชั่นบรอดคาสติ้งคอร์ปอเรชั่น
เนชั่นเรดิโอ เน็ทเวิร์ค เนชั่น อินเตอร์ เนชั่นแนล เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์
เนชั่นอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี เนชั่นเอ็กมอนท์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ ครอบ คลุมสื่อต่างๆ
ทุกประเภท กลายเป็น "มัลติมีเดียแพ็ก เกจ" ที่เสนอขายให้ลูกค้า
แม้รายได้จากสื่อต่างๆ ที่มาจากผลิตรายการโทรทัศน์ทำรายได้ปีละ 100 ล้าน
วิทยุ ปีละ 48 ล้านบาท และมีรายได้จากบริการข้อมูลข่าวสาร 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขไม่มาก
แต่ก็สร้างสีสันให้เนชั่นดูกระปรี้กระเปร่าได้เป็นระยะ
สุทธิชัย หยุ่น เองก็ยังไม่หยุดนิ่งกับการสร้างตำนานเร้าใจบทใหม่ใหักับเนชั่น
จิ๊กซอว์ตัวใหม่ของเขาที่กำลังใช้ต่อภาพ "เนชั่นมัลติมีเดีย" ก็คือ สื่ออิเล็ก-
ทรอนิกส์ ด้วยการเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ทุกวันนี้สุทธิชัยจะใช้เวลาส่วนหนึ่งขลุกอยู่กับเรียนรู้การใช้อินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง
ส่วนใหญ่จะศึกษา จากตำราในท้องตลาด สุทธิชัยก็เริ่มใช้โปรแกรมไอซีคิวพูดคุยกับเพื่อนๆ
และระยะนี้นักข่าวของเนชั่นและคนใกล้ชิด ก็เริ่มชินกับการที่สุทธิชัยพูดถึงเรื่องความสำคัญของอินเตอร์เน็ตอยู่บ่อยๆ
ภาพการขยายไปสู่การสร้าง "สื่อบนอินเตอร์เน็ต จึงคึกคักยิ่งนักสำหรับเนชั่น
และกรุงเทพธุรกิจในยามนี้ "nationmultimedia.com" คือ โฮมเพจของเนชั่น จะรวมข้อมูลจากรายการวิทยุ
ทีวี และเชื่อมข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลต่างประเทศ
สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ภาพระหว่างเนชั่น และบางกอกโพสต์ ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
บางกอกโพสต์ คู่แข่งคนสำคัญ กำลังกลายเป็นธุรกิจอนุรักษนิยม ที่ยึดมั่นกับสื่อสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว
สำหรับเนชั่นแล้ว เป็นภาพที่ให้ความหวือหวา ฟู่ฟ่าไปตามแรงเหวี่ยงของการขยายอาณาจักร
"สื่อ แม้ว่าในบางครั้งเนชั่นก็ต้องเจ็บตัวกับการขยายอาณาจักรสื่อไปไม่น้อยก็ตาม
แต่การขึ้นลงของหุ้นเนชั่นก็ดูน่าตื่นใจยิ่งกว่านัก
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอดไม่ได้ที่จะมีคนเปรียบเปรยสุทธิชัย หยุ่น กำลังเดินตามรอยรูเพิร์ต
เมอร์ดอก ที่ทำให้เจ้าตัวแสดงความหงุดหงิดผ่านคอลัมน์ของเขาในหน้า 3 ของเนชั่นสุดสัปดาห์ในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมว่า
"คนทำข่าวสารคนนี้ไม่มีความคิดหรือความสามารถ หรือต้องการเป็น รูเพิร์ต เมอร์ดอก
เมืองไทย เพราะมันเชย มันเหนื่อย มันวัตถุนิยม และมันไร้รสนิยมโดยสิ้นเชิง
พอจะเรียกว่า ผมเป็นเจ้าของก็เฉพาะในบริษัททำหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ เนชั่น
มัลติมีเดีย กรุ๊ป"
แต่การเคลื่อนไหวตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า คำว่า เนชั่น
มัลติมีเดีย กับ Media cross owner ship จะแตกต่างกันเพียงใด
และคนที่ตอบได้ดีที่สุด ก็คือ สุทธิชัย หยุ่น