Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2542
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เทวดาตกสวรรค์             
 

   
related stories

2 ปีใต้เงาไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจไทย ยังมีระเบิดเวลารออีกหลายลูก!!

   
search resources

ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ




หลายปีก่อน ชื่อของศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ดังกระฉ่อนในฐานะนักลงทุนอิสระที่นั่งตามห้องค้าหลักทรัพย์ทั่วไป ใครจะเชื่อว่าหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจชีวิตของเขากลับพบเจอแต่ความตกต่ำ ปัจจุบันเขาต้องขายแซนด์วิชหาเลี้ยงชีพตัวเอง ครอบครัวและลูกน้องไปวันๆ ภาพของศิริวัฒน์ ทุกวันนี้ต้องตื่นเช้ามืดเพื่อมาทำแซนด์วิชแล้วนำออกไปขายตามเคาน์เตอร์ฟุตบาทข้างถนน หน้าออฟฟิศ และหน้าโรงเรียนทั่วเมืองกรุง แตกต่างจากอดีตลิบลับที่เคยนั่งคิดคำนวณ คาดการณ์ ว่าวันนี้หุ้นในพอร์ตตัวเองจะขึ้นหรือลงและสามารถทำกำไรได้กี่มากน้อย

ผลพวงของความตกต่ำ ศิริวัฒน์ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ฟองสบู่เศรษฐกิจประเทศไทยโต และเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ฟองสบู่นั้นแตกกระจายจนได้รับบาดเจ็บ

ทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ต่างพากันทำข่าวเรื่องราวต่างๆ ของคนธรรมดาที่น่าสนใจ เช่น ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตนายหน้าค้าหุ้น ที่ต้องผันตัวเองมาทำแซนด์วิชเร่ขาย เพื่อให้อยู่รอดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ "สำหรับบุคคลภายนอกแล้ว ศิริวัฒน์ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและความร่วงโรยของประเทศไทย และอาจแสดงถึงการอยู่รอดอย่างหนึ่ง ก็ได้" (Surviving the slump, Asiaweek, 28 November 1997)

อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติที่มีความปราดเปรียวอย่างศิริวัฒน์นั้นเป็น เพียงข้อยกเว้น คนทั่วไปรู้สึกช็อก ไม่ยอมเชื่อว่าอะไรเกิดขึ้น และท้ายที่สุดมีอาการหดหู่ คำบอกกล่าวของอดีตนายหน้าค้าหุ้นคนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ต้องมาเข้าคิวรอสัมภาษณ์งานกับองค์กรพัฒนาเอกชน ชี้ให้เห็นถึงอาการช็อกจนทำอะไรไม่ถูก ที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ของพวกที่เคยมีอภิสิทธิ์ เขากล่าวว่า "เราไม่ได้รับสัญญาณใดๆ เลยว่าเรากำลังเดือดร้อน ไม่เคยเลยจริงๆ ผมยุ่งยากมากต้องดูแลลูกค้าหลายราย แล้ววันหนึ่งธนาคารแห่งประเทศ ไทยก็บอกพวกเราว่า เราล้มละลายแล้วและต้องปิดกิจการ" (โศกนาฏ กรรมสยาม : การพัฒนาและการแตกสลายของสังคมไทยสมัยใหม่, วอล เดน เบลโล, เชียร์ คันนิงแฮม, ลี เค็ง ปอห์)

"ก่อนวิกฤติ สร้างคอนโดขาย แต่ขายไม่ได้จึงเป็นหนี้ ไม่มีเงินจ่ายพนักงานพวกเขาจึงลาออก 20 คน เหลือ 20 คน ก็ต้องหาอะไรให้เขาทำและส่วนตัวเครดิตหมดไปแล้ว ไม่มีใครให้กู้ จึงมีความคิดว่าจะทำอะไรเพื่อให้ได้ "เงินสด" ซึ่งหนีไม่พ้น "อาหาร" ครั้นจะไปเปิดภัตตาคารก็ไม่อยู่ในความคิด และไม่มีเงินทุน จึงตัดสินใจทำแซนด์วิชขาย" ศิริวัฒน์ เล่าถึงการดำเนินชีวิตในช่วงแรกๆ ที่เศรษฐ กิจเริ่มตกต่ำ

ห้วงแรกก่อนจะมาลงเอยที่

แซนด์วิช ศิริวัฒน์ได้ทดลองด้วยการนำเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวงมาคั่ว และต้มกาแฟขายโดยมีลูกน้องเก่าเป็นแรงงานหลัก โดยได้ยึดพื้นที่โรงพยาบาลกรุงเทพเป็นทำเลเริ่มต้นธุรกิจใหม่ "ขายวันแรกรู้สึกอายและขายไม่ได้เลย แต่ก็อดทน เมื่อเริ่มมีลูกค้าพวกเขาก็ถามถึงอาหารประเภทอื่นทั้งน้ำส้มและแซนด์วิชแทน สุด ท้ายลงเอยที่แซนด์วิช" ศิริวัฒน์ กล่าว

เมษายน 2540 เป็นเดือนแรกที่ศิริวัฒน์เริ่มทำแซนด์วิชขาย มีกำไรและจ่ายเงินเดือนคืนพนักงานได้ 40% "วันแรกขายแซนด์วิชได้ 20 ชิ้น ใช้เวลา 6 ชั่วโมงครึ่ง นั่นคือชีวิตที่ลำ-บากแต่ไม่มีทางเลือก" เป็นบรรยากาศ ที่ศิริวัฒน์ไม่เคยลืม และด้วยความคิดว่าระดับรายได้เพียงแค่นี้ไม่รอดแน่นอน จึงมองหาลู่ทางกระจายแหล่งขายแซนด์วิช ในที่สุดทางออกของเขา คือ ขายตามฟุตบาท แต่อุปสรรค คือพระราชบัญญัติห้ามขายของบนทางเท้า ศิริวัฒน์จึงแก้ปัญหาด้วยการ ทำกระเป๋าแซนด์วิชแล้วแขวนคอขาย

"อย่างไรก็ดีเทศกิจยังไล่จับอยู่ดีด้วยความไม่ยอมแพ้ เพราะคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ผิดจึงมีความเคลือบแคลงใจ จึงได้ไปพบผู้ว่าฯ กทม. ดร.พิจิตต รัตตกุล ซึ่งก็ได้รับการผ่อนผันในการทำมาหากิน"

จากวันนั้นถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนรอบข้างสนใจศิริวัฒน์อย่างมาก เนื่องจากเขาเป็นคนที่ครั้งหนึ่งเคยมีรายได้ต่อวันต่อเดือนหลักล้านบาท แต่ทุกวันนี้เขาเป็นเพียงคนขายแซนด์วิชตามท้องถนน ที่วันหนึ่งทำขาย 700-800 ชิ้น และได้มาร์จินประมาณ 30% ต่อชิ้น ที่เพียงพอเลี้ยง ชีวิตตนเองและลูกน้องเท่านั้น

"ยอมรับว่ามีคนรู้จักมากมายมาจากตลาดหุ้นด้วย ซึ่งช่วงนั้นดังมากแต่ตอนนี้หันหลังให้ตลาดหุ้นแล้ว หลายคนกล่าวว่าไม่น่าจะทำใจได้ ซึ่ง 24 เดือนที่แล้วก็นอนไม่หลับและหาทางออกไม่เจอ"

จากความไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ปัจจุบันศิริวัฒน์มีเคาน์เตอร์วางขายแซนด์วิชที่โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลรามคำแหง อัมรินทร์ พลาซา และแขวนคอขายข้างถนนทั่วไปและพนักงานของเขาจาก 20 คน ขณะนี้มีจำนวน 28 คน สถานะความเป็นอยู่ทุกคน "รอดหมด" เป็นสิ่งที่ ศิริวัฒน์ภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวของศิริวัฒน์ ปัจจุบันเขายังต้องนอนผวากับสิ่งที่ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น นั่นคือ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้กำลังฟ้องเขาอยู่ "ไม่รู้จะทำอย่างไรและจะไม่หนีไปไหน เพราะถ้าคิดผมหนีไปนานแล้วแต่ลึกๆ แล้วรู้สึกท้อ ถอยมาก จากที่เคยทำธุรกิจมาขายของ ปัจจุบันไม่สามารถทำงานใหญ่ได ้เพราะไม่มีเครดิต และยังไม่รู้ว่าจะโดนฟ้องล้มละลายหรือไม่" ศิริวัฒน์ กล่าวถึงความไม่แน่นอนของตัวเอง

โรคผวาดังกล่าว เกิดขึ้นจากสิ่งที่ศิริวัฒน์ก่อขึ้นมาเองจาก โรคคลั่งการก่อสร้างของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหลายทำให้สิ่งปลูกสร้างมีมากเกินความจำเป็น รวมทั้งเป็นตัวจุดชนวนทำให้เกิดวิกฤติด้วย อานิสงส์ที่ได้รับจากความเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ โศกนาฏกรรม รวมทั้งศิริวัฒน์ด้วย

ปี 2537 เขาลงทุนทำโครงการคอนโดมิเนียมระดับหรู "ทองกวีน วิลล่า" ใจกลางสนามกอล์ฟมิชชั่นฮิลล์ เขาใหญ่ โดยเงินลงทุนหลายร้อยล้าน บาทมาจากเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยมี บงล.ภัทรธนกิจ ในขณะนั้นเป็นผู้สนับสนุนหลัก

หลังก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยไม่นานนัก ปัญหาธุรกิจอสังหาริม ทรัพย์เริ่มออกอาการซวนเซจน "ทอง กวีนวิลล่า" ของศิริวัฒน์ขายไม่ได้ขณะที่ต้องแบกต้นทุนและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งในช่วงต้นปี 2538 คือ ช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเขาเริ่มสั่นคลอนเด่นชัด แต่เขาก็ยังมองโลกในแง่ดีถึงความหวัง แต่เขา "คิดผิด" เพราะนับแต่ต้นปี 2538 เป็นต้นมาถึงต้นปี 2540 เขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่าธุรกิจเขาเริ่มไปไม่ไหว รายได้ไม่มีเข้ามาไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงานสุดท้าย ตัดสินใจลดพนักงานลงจาก 40 คน เหลือ 20 คน อย่างไรก็ตาม รายได้ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวให้อยู่รอดได้จึงหาหนทางนำรายได้ทางอื่นเข้ามาหล่อเลี้ยงพนักงาน ในที่สุดการตัดสินใจในวันนั้นของศิริวัฒน์ส่งผลต่อเนื่องมาทุกวันนี้จากนักธุรกิจอสังหาริม ทรัพย์กลายมาเป็นเสี่ยขายแซนด์วิช

คิดถูกหรือผิด?

จากแนวคิดการบริหารงานที่ยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องการเดินสายกลางว่า "จะทำอะไรก็ตามจะไม่ทำเกินตัว ถ้าเหนื่อยก็หยุดและไม่ใช้จ่ายเกินกว่าที่หามาได้" คำสอนที่เขายึดมั่นบ่งบอกถึงการละทิ้งไปในช่วงเศรษฐกิจกำลังเบ่งบาน จากเสี้ยววินาทีนั้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเขาเป็นคนที่ชอบเป็นนายของตัวเองซึ่งถูกพร่ำสอนมาจากอัสสัมชัญ ศรีราชา สมัยที่เขาศึกษาในระดับมัธยม

หลังจากนั้นได้เบนเข็มชีวิตการศึกษาเข้ามายังสายอาชีพที่อัสสัม-ชัญพาณิชย์ เรียนได้ 2 ปี ศิริวัฒน์สามารถสอบชิงทุน AFS ได้จึงได้ไปใช้ชีวิตกับครอบครัวชาวอเมริกันในรัฐเท็กซัสแล้วก็กลับมาศึกษาที่เดิมต่ออีก 2 เทอมจนจบการศึกษา และชีวิตการทำงานแห่งแรกของเขาเริ่มต้นที่องค์การอิคาเฟ่ ทำงานได้ 2 ปี ตัดสินใจไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและสำเร็จปริญญาตรีเมื่อปี 2516 เขาใช้ชีวิตในอเมริกาพร้อมๆ กับฝึกงานในธนาคารกรุงเทพ สาขานิวยอร์ก จากนั้นเดินทางกลับมาเมือง ไทยและเข้าทำงานที่ บล.กรุงเทพ-

ธนาทร (BFIT) ในตำแหน่ง Executive Trainee ซึ่งจุดนี้เองที่ศิริวัฒน์ได้เรียนรู้ธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องด้าน หลักทรัพย์

ไฟชีวิตใน BFIT เริ่มหมดลงหลัง 2 ปีผ่านไป ศิริวัฒน์จึงมองหาสถานที่ทำงานแห่งใหม่ โดยเข้าไปจับงานด้านการตลาดที่บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการผลิต ภัณฑ์น้ำหอมยี่ห้อหนึ่ง แต่ทำได้เพียง 6 เดือน เขารู้สึกว่าไม่ใช่แนวทางการทำงานของตัวเองจึงลาออก ขณะเดียวกันซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของเขาเมื่อ บล.เอเชีย กำลังมองหาผู้บริหารไฟแรงเข้ามาทำงานในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ในที่สุดศิริวัฒน์คือตัวเลือกดีที่สุดในขณะนั้น

29 ปี คือ อายุของศิริวัฒน์ในตำแหน่งสำคัญที่สุดใน บล.เอเชีย ซึ่งถือว่าเขาเติบโตเร็วที่สุดคนหนึ่งในวงการไฟแนนซ์ ในขณะนั้นจากการได้รับความไว้วางใจจากชาตรี โสภณพณิช ซึ่งเป็นเจ้าของ บล.เอเชีย ยิ่งเป็นที่จับตามองอย่างเห็นได้ชัด และด้วยชีวิตกำลังเจริญรุ่งเรืองผลงานอันโดดเด่นที่ฝากไว้กับ บล.เอเชีย คือ เมื่อปี 2530 ภูมิภาคเอเชียเกิด "ตุลาอาถรรพ์" ซึ่งทำให้หลายๆ สถาบันพากันขาดทุน แต่ศิริวัฒน์กลับสามารถทำกำไรให้บริษัท 150 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2531 บล. เอเชีย ขาดทุนในพอร์ตตัวเองจำนวน 80 ล้านบาท และจากความรับผิดชอบของศิริวัฒน์เขาจำต้องประกาศลาออก และเหตุผลที่เขาให้ไว้ไม่ใช่เรื่องการขาดทุนแต่ "เพียงพอแล้วที่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้น ต่อจากนั้นจะทำเพื่อตัวเองบ้าง"

ความหมายของศิริวัฒน์ คือ การเลือกที่จะเป็นนักลงทุนอย่างเต็มตัวโดยใช้ห้องค้าทั่วไปเป็นสถานที่ทำงาน ลักษณะการลงทุนคือการที่นักลงทุน เพื่อนฝูงที่ไว้วางใจจะนำเงินเข้ามาให้เขาบริหารพอร์ตการลงทุนให้ โดยการลงทุนเป็นไปในลักษณะ "ไม่มีสังกัด"

ศิริวัฒน์ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับอาชีพใหม่ในตลาดหุ้น ภาพของเขาโดดเด่นอย่างมากในช่วงตลาดหุ้นกำลังทะยานขึ้นสู่ปลายฟ้า และตัวเขาเองถือว่าเป็นตัวหลักในการต่อสู้กับบรรดาสถาบันการเงินในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ในยุคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู ศิริวัฒน์เริ่มมองหาทำเลดีๆ สักแห่งเพื่อเข้าไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ความคิดของเขาในตอนนั้นไม่ผิดเพราะการกู้เงินมาลงทุนอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินยินดีอ้าแขนรับ โดยไม่คำนึงถึงสภาวะ over supply และความหายนะที่จะตามมา เนื่อง จากภาพเศรษฐกิจไทยช่วงนั้นลวงตากันทั้งประเทศ

บริษัท ทองกวีน จำกัด ของศิริวัฒน์จึงเกิดขึ้นเพื่อบริหารโครงการคอนโดมิเนียม "ทองกวีนวิลล่า" ที่เขาใหญ่ แนวความคิดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากน้องชายของเขาที่ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกา โดยจับลูกค้าระดับเศรษฐี ในที่สุดความตกต่ำของเศรษฐกิจเข้ามาเยือนทำให้ธุรกิจของศิริวัฒน์ทั้งในตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ขาดทุนย่อยยับ

"นั่นคือภาพลวงตาของชีวิตในช่วงก่อนวิกฤติ และปัจจุบันคือภาพจริงของชีวิต และตอนนี้ต้องสอนลูกหลานแล้วว่า "cash is king""

ธุรกิจขายแซนด์วิชของเขากำลังไปได้ด้วยดี แต่อีกด้านหนึ่งในชีวิตเขากำลังลุ้นตัวโก่งว่าบรรดาเจ้าหนี้ จะไม่ฟ้องให้เขาเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ทั้งชีวิตมืดมนแน่นอน แม้ชีวิตจะยังดำเนินต่อไป ศิริวัฒน์ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นแน่ เพราะความคิดของเขาเวลานี้อยากกลับเข้าไปในตลาดหุ้นอีกครั้ง และที่สำคัญการเมืองในระดับประเทศเป็น สิ่งที่เขาใฝ่ฝันมานานอยากจะเข้าไปสัมผัส และปัจจุบันโอกาสของเขาเปิดกว้างอย่างมาก เนื่องจากภาพที่เขาเดินตามท้องถนนในฐานะคนขายแซนด์วิชเรียกคะแนนความเห็นใจ ได้อย่างท่วมท้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us