ในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2540 ธนาคารกสิกรไทยประกาศเข้าถือหุ้น
49% ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ในสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างยิ่งนั้น
ประกอบด้วย บรรยงค์ ล่ำซำ (ประธานธนาคารกสิกรไทย) โพธิพงษ์ ล่ำซำ (ประธานกรรมการภัทรธนกิจ)
และวิโรจน์ นวลแข (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภัทรธนกิจ) โดยปราศจากเงาของบัณฑูร
ล่ำซำ (กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย)นั้น มีความหมายที่ชัดเจนเป็นที่รู้ๆ
กัน 2 ประการ
หนึ่ง-บัณฑูร ล่ำซำ ไม่เห็นด้วยหรือไม่ยินดียินร้ายในการเข้าอุ้มภัทรธนกิจ
เขามีความเชื่ออย่างหนักแน่นแต่ไหนแต่ไรมา ซึ่งต่อมาเขาก็แสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้ชัดเจน
เขามองไม่เห็นประโยชน์อันใดต่อธนาคารกสิกรไทย ที่จะมีธุรกิจไฟแนนซ์แวดล้อมเช่นที่ผ่านๆ
มา
สอง-ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์ของตระกูลล่ำซำ ซึ่งขณะนั้นผู้อาวุโสของตระกูลหลายคนยังคิดว่าธนาคารกสิกรไทย
เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธุรกิจตระกูลล่ำซำ เช่นเดียวกับภัทรธนกิจ เนื่องจากต้องการรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาในภัทรธนกิจ
ความเข้าใจเดิมเช่นว่านี้ยังเป็นแรงเฉื่อยต่อเนื่องมาอีกครั้งในปี 2541
กสิกรไทยและตระกูลล่ำซำ มีภูมิหลังที่ลึกซึ้งในการก่อตั้งภัทรธนกิจ ในปี
2515 ในช่วงที่ธุรกิจข้างเคียงธนาคารประเภทนี้ เกิดขึ้นเป็นระลอกแรกในช่วงนั้นถึง
54 แห่ง โดยโพธิพงษ์ ล่ำซำ ทายาทของจุลินทร์ ล่ำซำ (ซึ่งมีบทบาทในการสร้างอาณาจักรธุรกิจ
โดยเฉพาะมีบทบาทอย่างสูงในวงการราชการและการเมือง ในช่วงกลุ่มราชครูและสี่เสาเทเวศร์มีอำนาจ)
และยุตติ ล่ำซำ น้องชายคนสุดท้ายของ บัญชา ล่ำซำ เข้ามาดูแลกิจการนี้ตั้งแต่ต้นจนตราบเท่าทุกวันนี้
สถานการณ์ตอนนั้นมาจากแรงบีบคั้นอย่างรุนแรงให้เปิดธุรกิจการเงิน เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นๆ
มาจากการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ระบบธนาคารเดิมยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับเครือข่ายและธุรกิจครอบครัวเป็นหลัก
การเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดของกิจการบริษัทเงินทุน มี 2 ระลอกในก่อนช่วงปี
2515 จนถึงปี 2519 มีกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกิดขึ้นถึง 130 แห่ง
ในจำนวนผู้มาใหม่ในธุรกิจนี้ ธุรกิจเครือข่ายเดิมโดยเฉพาะธนาคาร ก็ขออนุญาตเปิดกิจการทำนองนี้เช่นกัน
เพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจ ให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งกสิกรไทย
จากการนั้นสถาบันการเงินแบบไทยๆ ก็ถูกผนวกเข้ากับปรัชญา "สถาบันการเงินล้มไม่ได้"
ของทางการ ได้สร้างภาระกับสังคมต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี
ในช่วงปี 2519-2524 ถือเป็นช่วงวิกฤตการณ์การเงิน อันเนื่องมาจากวิกฤตราชาเงินทุน
ภัทรธนกิจเองในช่วงนั้นก็ยังในช่วง "ลองผิดลองถูก" จึงประสบปัญหาไม่น้อยทีเดียว
ธนาคารกสิกรไทยและล่ำซำก็เข้าอุ้มอย่างเต็มที่
ภัทรธนกิจ ในปี 2521 ผู้ถือหุ้นชำระมูลค่าเต็มจำนวน เงินทุน 40 ล้านบาทจากเดิมมีเพียง
10 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2516 ในปี 2522 ก็เพิ่มทุนรวดเดียว โดยชำระเต็มเป็น
90 ล้านบาท
เหตุการณ์ครั้งนั้น ดูเหมือนจะเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับในปี
2540 และปี 2541 แท้ที่จริง ไม่ใช่
ปี 2522 บัณฑูร ล่ำซำ เข้าทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยนั้น มีปรากฏการณ์ 2 มิติที่เป็นโจทก์และภาระต่อเขาในเวลาต่อมา
หนึ่ง-ธุรกิจการเงินไทยกำลังเผชิญมรสุมครั้งสำคัญครั้งแรก หลังสงครามโลกครั้งที่
2 เนื่องมาจากการแง้มประตูรับอิทธิพลเศรษฐกิจโลก ด้วยความด้อยประสิทธิภาพในการบริหาร
ทำให้ภาวะตลาดหุ้นตกต่ำ สถาบันการเงินล้มลง แม้ธนาคารกสิกรไทยในยุคที่บิดาของเขากุมบังเหียนอยู่
ไม่ได้รับผลกระทบเทือนเท่าใดนัก แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยของอิทธิพลการเงินโลก
ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้น
สอง-ไม่เพียงเท่านั้น จากช่วงนั้นเครือข่ายทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย
(ดัชนีความยิ่งใหญ่ ในความเชื่อของคนยุคนั้น) ดูเหมือนขยายตัวไปมากในช่วงนั้น
จากการที่ทางการกำหนดให้เพดานถือหุ้นของต่างชาติลดลงในกิจการสถาบันการเงิน
สถาบันการเงินหลายแห่งที่ดี ธนาคาร กสิกรไทย ก็เข้าไปมีบทบาทและถือหุ้นมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น ทิสโก้ ศรีมิตร บางกอกเงินทุน รวมทั้งการเกิดขึ้นของกลุ่มเอกธนกิจ
ก็ได้รับการสนับสนุนจากกสิกรไทยไม่น้อย จากนั้นมาเครือข่ายทางการเงินของกสิกรไทยยิ่งกว้างขวางและเข้มแข็งยิ่งนัก
เมื่อเขาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เมื่อปลายปี 2534 ในช่วงเศรษฐกิจไทยดีที่สุดช่วงหนึ่ง
เครื่อข่ายกสิกรไทยเข้มแข็งมากเหลือเกิน คำถามจึงมีในใจผู้คนว่า บัณฑูรจะสานต่องานของบิดาอย่างไร
งานที่เขาจะสร้างสรรค์ต่อจากฐานที่เข้มแข็งนี้ ยากยิ่งกว่าการสร้างจากไม่มีอะไรเลยในรุ่นที่ผ่านๆ
มา
บางคนบอกว่านี่เป็นจุดอ่อนของเขา ที่ไม่สามารถสร้างบารมี สร้างกลไก สายสัมพันธ์เกื้อกูลทางธุรกิจในเครือข่ายได้
แต่จากนั้นไม่นาน ความเชื่อเหล่านี้ถูกทำลายไป จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF) เข้ามาคุมเศรษฐกิจไทย และเปิดฉากทำลายฐานความสัมพันธ์สังคมธุรกิจไทยดั้งเดิม
เริ่มด้วยผลงานชิ้นสำคัญ คือการปิดกิจการไฟแนนซ์ 56 แห่ง ซึ่งถือเป็นการทำลายโครงสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบเดิมไปอย่าง
มากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ความหมายที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือการจัดระบบการเงินใหม่จากไอเอ็มเอฟนั้น
ธุรกิจไฟแนนซ์ที่เหลืออยู่จากความบังเอิญทางประวัติศาสตร์การเงินไทย ต้องแสวงหาโมเดลธุรกิจของตนเองครั้งใหญ่
บัณฑูร ล่ำซำ ให้ความสำคัญในประสิทธิภาพของกิจการเชิงลึก เชิงโครงสร้างการบริหาร
ตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลกอย่างเป็นจริงเป็นจังที่สุดคนหนึ่ง
ซึ่งพิสูจน์ว่าเป็นโมเดลของการจัดการธุรกิจที่เข้มแข็งของไทยจากนี้ไป
การเปลี่ยนแปลงในธนาคารกสิกรไทยในช่วง 2 ปีมานี้ นอกจากจะเป็นผลมาจากความสามารถของเขาในการเพิ่มทุนธนาคารรูปแบบต่างๆ
จนกล่าวได้ว่าเป็นธนาคารเอกชนไทยที่ดำรงความสามารถในการแข่งขันได้ แต่สิ่งที่เกิดระดับโครงสร้างของธุรกิจก็คือ
ธนาคารกสิกรไทยวันนี้ มิใช่กิจการของตระกูลล่ำซำ และก็ไม่มีเครือข่ายการเงินของกสิกรไทยในความหมายในยุคบิดาของเขาอีกต่อไป
การตัดสินใจใดๆ ของธนาคารกสิกรไทย ต้องอยู่บนเหตุผลของผลประโยชน์ธุรกิจโดยรวมของธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น
แท้ที่จริงบัณฑูร ล่ำซำ ก็คือ ผู้บริหารธุรกิจของคนไทยคนแรกที่พยายามก้าวผ่านจากความเป็น
"ผู้ประกอบการ" ไปสู่ "มืออาชีพ"
การตัดสินใจของเขาครั้งล่าสุด มาจากเหตุผลทางธุรกิจ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากผู้อาวุโสล่ำซำ
ซึ่งเราเข้าใจและยอมรับความจริงว่า โครงสร้างความสัมพันธ์เดิมของธุรกิจไทย
เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามบัณฑูร ล่ำซำ และธนาคารกสิกรไทยก็ไม่อาจจะทิ้งประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์เดิมไปได้ทั้งหมด
สูตรที่ "ลงตัว" ในการแก้ปัญหาภัทรธนกิจ จึงต้องออกมา "คาบลูกคาบดอก"
เช่นนี้
บทเรียนจากภัทรฯ ความล่มสลายของเครือข่ายการเงินธนาคาร โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
ความสั่นคลอนอย่างรุนแรงของบง.ภัทรธนกิจ หลังจากที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยประกาศ
"ลอยแพ" ไม่ยอมใส่เม็ดเงินช่วยเหลือใดๆ อีกต่อไป เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
เป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถาบันการเงินไทยอีกครั้งหนึ่ง
และยังลามไปถึงความกังขาต่อวิธีปฏิบัติของทางการ
รวมทั้งได้รับความสนใจจากสังคมการเงินตะวันตกด้วย (ASIAN WALLSTREET JOURNAL
ซึ่งเป็นปากเสียงและสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนที่ MANHATTAN ได้ดี ลงข่าวหน้า
1 ติดต่ออย่างน้อย 2 วัน ในขณะที่ข่าวธนาคารกรุงไทย ไม่ได้รับความสนใจเลย)
ภัทรธนกิจ (ก่อนที่จะแยกธุรกิจบง.และบล.ออกจากกัน) ได้ชื่อว่าเป็นไฟแนนซ์และโบรกเกอร์ท้องถิ่นชั้นนำ
ที่ได้รับความเชื่อถือในการทำธุรกิจจากลูกค้าชั้นนำทั้งในและต่างประเทศตลอดมา
เป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองเด่นชัด มีการบริหารองค์กรด้วยทีมจัดการมืออาชีพ
หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตค่าเงินบาทซึ่งมาปะทุเมื่อ 2 ก.ค. 2540 ตามมาด้วยการประกาศปิดกิจการไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น
56 แห่งนั้น ปรากฏว่าบงล.ภัทรธนกิจไม่ใช่หนึ่งในกิจการที่ถูกสั่งปิด และในปลายปี
2540 บริษัทฯ ก็จัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตได้ระดับหนึ่ง
ทีมผู้บริหารบงล.ภัทรธนกิจให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" โดยมีข้อสรุปว่า
"จัดบ้านเสร็จรายแรก ภัทรธนกิจเตรียมเดินหน้า รุกธุรกรรมแก้ปัญหาตลาดทุนไทย"
ผู้สนใจสามารถอ่านได้ใน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมกราคม 2541
แต่แล้วในกลางปี 2541 ธนาคารกสิกรไทยก็ประกาศ "อุ้ม" บง.ภัทรธนกิจ
นี่ถือเป็นข่าวที่สวนกระแสกับการที่อีกหลายแบงก์ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือไฟแนนซ์ในเครือ
แต่ก็เป็นข่าวที่สร้างความตกใจแก่สาธารณะไม่น้อย และแน่นอนมันทำให้สถานการณ์ความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินในยามนั้นตกต่ำสุดขีด
ในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองนั้น ไฟแนนซ์ทำมาหากินได้คล่องแคล่วกว่าธนาคารพาณิชย์มาก
ไฟแนนซ์ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งธนาคารพาณิชย์ คือปล่อยกู้ให้กิจการต่างๆ มากและปล่อยให้ง่ายกว่าระบบของธนาคารพาณิชย์
ไฟแนนซ์ส่วนมากที่ถูกทางการสั่งปิดกิจการไปแล้วและก็รวมถึงบง.ภัทรธนกิจด้วยนั้น
มีสาเหตุของการเจ๊งที่เหมือนกัน และก็เป็นสาเหตุเดียวกันกับที่ธนาคารพาณิชย์เจ๊ง
นั่นคือ ถูกลูกค้าถอนเงินฝากออกมากจนไม่มีเงินสดมาจ่ายให้ทัน ต้องไปกู้จากตลาดเงิน
ซึ่งแหล่งกู้สุดท้ายก็คือ FIDF
บง.ภัทรธนกิจก็ถูกลูกค้าถอนเงินออกมากเช่นกัน ในช่วงก่อนที่ธนาคารกสิกรไทยจะประกาศเข้าอุ้ม
เดิมธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นในภัทรธนกิจ 8.16% ในปี 2540 คิดเป็นมูลค่า 1,091.4
ล้านบาท และเพิ่มเป็น 49% ตอนปลายปี 2540 ครั้นในปี 2541 เมื่อแยกกิจการบง.-บล.
ธนาคารเข้าให้ความช่วยเหลือโดยรับซื้อหุ้นในบง.ภัทรธนกิจทั้งหมด ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น
94.43% คิดเป็นเงิน 6,949.2 ล้านบาท
เมื่อธนาคารเข้าซื้อหุ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้วนั้น ธนาคารก็ได้จัดทำแผนการดำเนินการกับภัทรธนกิจ
มีแนวทางที่จะแยกสินทรัพย์ดีออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ หาผู้ร่วมทุนซื้อหุ้นในสถาบันการเงินใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น
สร้างฐานเงินฝากใหม่ ชำระหนี้ และอาจขออนุญาตทำธุรกิจ Super Finance ส่วนสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ก็จะมีการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้มูลค่าสูงสุด
เรียกว่าแนวทางใหม่ก็ยังยึดติดกับการประกอบการที่ใกล้เคียงกับกิจการธนาคารพาณิชย์อยู่นั่นเอง
แต่ดูเหมือนแนวทางที่ว่าถูกตั้งคำถามตลอดมา ในเมื่อข้อเท็จจริงในช่วงที่ผ่านมาก็คือ
บริษัทมีเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ที่ระงับการรับรู้รายได้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นจำนวนเงินประมาณ
12,322.5 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 ซึ่งบริษัทอ้างว่าเงินให้กู้ยืมและลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่มีหลักประกัน
และได้นำไปพิจารณาในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้แล้ว ซึ่งมีการตั้งไว้
6,648.42 ล้านบาท
ครั้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2541 บริษัทได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเป็น
8,769.8 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 59,622.5 ล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นวงเงินให้กู้และลูกหนี้ที่ระงับการรับรู้รายได้ตามประกาศของธปท.
(ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญและลูกหนี้จัดชั้นสูญ) 32,760.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น
55% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทยังมีลูกหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษและลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐานรวมเป็น
13,150.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด ลูกหนี้ปกติมี
13,940.5 ล้านบาทหรือคิดเป็น 24.5% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดเท่านั้น
นี่คือตัวอย่างไฟแนนซ์ชั้นดี ที่ต้องล่มสลายเพราะการทำธุรกิจตามแบบฉบับธนาคารพาณิชย์