Meritus RCK Suites Bangkok ที่พักระดับเดอลักซ์ แห่งใหม่ บนตึกอาร์ซีเค
ทาวเวอร์ ถนนสีลม แต่งอย่างสวยงาม ด้วยเฟอร์นิเจอร์ของ "เรซอแนนซ์"
สินค้าไทยจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ถูกดีไซน์ด้วยสไตล์ผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตกอย่างลงตัว
ในที่สุดห้องพักบนอาคารขนาดใหญ่อีกตึกหนึ่งของเมืองไทย ที่สูงถึง 68 ชั้น
โดยมีราศรี บัวเลิศ ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม แชแรนท์กรุ๊ป ซื้อมาจาก รศ.รังสรรค์
ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังมาบริหารต่อตั้งแต่ปี 2536 นั้น จะได้ฤกษ์เปิดตัวจริงๆ
ประมาณไตรมาสแรกของปี 2544 เสียที ท่ามกลางการลุ้นระทึกว่าจะฝ่าวิกฤติรอบนี้ไปได้หรือไม่
นอกจากพื้นที่พลาซ่า ที่จะเปิดบริการแล้ว ก็ยังมีห้องพักจำนวน 573 ห้อง
บนชั้น 16-26 และ 51-60 เปิดบริการพร้อมๆ กันด้วย จุดแข็งอย่างหนึ่งของโครงการนี้คือ
การที่ราศรีตัดสินใจดึงเอากลุ่มของ "เมอริตัสโอเต็ล แอนด์ รีสอร์ท"
จากสิงคโปร์ ซึ่งมีผลงานบริหารโรงแรมต่างๆ หลายโรงแรมในเอเชีย มาเป็นผู้บริหารในส่วนของห้องพักนี้
การดีไซน์ และการตกแต่งห้องที่แตกต่างจากโรงแรมทั่วไปคือ จุดขาย ที่สำคัญเช่นกัน
ทางทีมงานก็ได้เลือกเอาเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งของตกแต่งห้องพักจากบริษัท "เรซอแนนซ์"
ที่มี Jacqueline และ Henri Boiffils สามีภรรยาสองนักออกแบบ และสถาปนิกตกแต่งภายในชาวฝรั่งเศส
เป็นผู้ออกแบบสินค้าทุกชิ้นของเรซอแนนซ์ให้มีความสวยงาม และโดดเด่นด้วยงานฝีมือ ที่มีเสน่ห์ของชาวบ้านในชนบท
ในขณะเดียวกันก็สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
ห้องพักขนาด 68 ตารางเมตรของ ที่นี่จึงมีเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งห้องที่เป็นวัสดุพื้นบ้านแบบไทยๆ
มีเอกลักษณ์ ที่สวยงาม แต่แลดูแปลกตาด้วยรูปทรงใหม่ๆ ของงานดีไซน์อยู่หลายชิ้นอย่างเช่นโซฟาไม้ตัวใหญ่
และเก้าอี้ ซึ่งบุด้วยผ้าฝ้ายสีขรึม ที่วางอยู่ในส่วนรับแขกนั้น ขนาดของมันจะใหญ่กว่าโซฟา และเก้าอี้ธรรมดาทั่วไป
โดยเฉพาะโซฟานั้น จะใช้ได้ทั้งนั่ง และนอนได้อย่างสบายเลยทีเดียว
บนโต๊ะเครื่องแป้ง ได้มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมช่องเล็กช่องน้อยไว้ให้วางของกระจุกกระจิก
มีฝาปิดเปิดได้ ตรงฝาก็จะมีกระจกเงาบานใหญ่ติดอยู่ แต่เมื่อเวลาปิดฝาก็กลายเป็นโต๊ะเครื่องแป้งธรรมดาทั่วไปทันที
สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่นักออกแบบ 2 คนนี้พยายามใส่ความเป็นไทยเข้าไปก็คือ
โต๊ะ ตู้ หรือชั้นวางของเล็กๆ ที่มีบานประตูปิดเปิด ที่จับจะไม่เป็นหูจับธรรมดา
แต่เป็นพู่ทองเหลืองห้อยลงมาให้จับดึงออกมาแทน
แม้แต่พื้นห้องที่ปูด้วยไม้สักเข้าลิ้น บางส่วน ที่ควรจะปูพรม ก็จะมีเสื่อ
ผักตบชวาปูไว้แทน ส่วนรูปแบบของผนังจะเป็นทรงสอบ ซึ่งเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ
ที่เห็นได้จากขอบผนังของโบสถ์ และประตูวัดทั่วไป สี ที่เลือกใช้จะเป็นสีครีม เพื่อให้ดูห้องสว่างขึ้นตัดกับขอบไม้สีดำ
เนื่องจากขนาดของห้องใหญ่กว่าห้องธรรมดาของโรงแรม จึงสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องรับแขก
ห้องน้ำ ห้องนอน และระเบียงเล็กๆ ซึ่งสามารถเปิดออกไปเห็นวิวของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ชัดเจน
ระหว่างห้องรับแขก และห้องนอน จะโล่งกว้างทะลุถึงกัน แต่เมื่อไร ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวก็สามารถดึงประตูไม้ ที่ซ่อนอยู่มาปิดได้
ในห้องรับแขกยังมีห้องครัวเล็กๆ ที่หากผู้พักไม่ต้องการให้คนเห็นก็สามารถ
ดึงประตูบานพับออกมาปิดได้สนิทจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของผนังห้องนี้ทันที
ดีไซเนอร์เน้นสีโทนอุ่น กับสีเอิร์ธโทนในการตกแต่งห้อง การใช้วัสดุธรรมชาติ
เช่น ไม้สักย้อมสี ไม้ไผ่ โลหะ กระจก เครื่องเคลือบ ผ้าไหม และผ้าฝ้ายเข้ามาตกแต่งทำให้บรรยากาศดูอบอุ่นสบายๆ
เหมือนบ้านมากกว่าห้องพักตามโรงแรมทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบ้าน ที่อยู่ในตึกสูง ที่มีความสะดวกสบายครบครันไว้รองรับ
เช่น ห้องอาหาร ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ห้องสัมมนา มุมอินเทอร์เน็ต มี Life
Style Club ที่ประกอบไปด้วยห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ในอัตราค่า ที่พักคืนละ
3,600-3,800 บาทต่อคืน