ความเปลี่ยนแปลงในเทเลคอมเอเซีย เป็นเรื่องราวที่ไม่อาจเลี่ยงได้ วิกฤตเศรษฐกิจ
และปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่ครั้งสำคัญ การผ่องถ่ายอำนาจจากมืออาชีพสู่ทายาทของตระกูลเจียรวนนท์
จากเจนเนอเรชั่นที่สองสู่เจนเนอเรชั่นที่สาม เพราะนี่คือสิ่งที่ธนินท์ เจียรวนนท์
เชื่อว่า ความยากลำบากจะสร้างโอกาสให้กับทายาทใหม่ขึ้นสู่เก้าอี้ใหญ่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ศุภชัย เจียรวนนท์ เขาก็คือเดิมพันของเรื่องราวทั้งหมดนี้ กับอนาคตของทีเอ
ที่จะก้าวต่อไปในอนาคต
วันที่ 15 มีนาคม 2542 เป็นวันที่มีความหมายสำหรับศุภชัย เจียรวนนท์อย่างมาก
เพราะเป็นวันที่เขาได้รับแต่งตั้งให้ขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
และประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทเทเลคอมเอเซียคอร์ปอเรชั่น (ทีเอ)
ทีเอ เป็นหนึ่งในบิ๊กโฟร์ของธุรกิจสื่อสารในไทย ที่เป็นเจ้าของสัมปทานโทรศัพท์
2.6 ล้านเลขหมาย และไม่ใช่โทรศัพท์ธรรมดา แต่เป็นเจ้าของไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง
มูลค่านับแสนล้านบาท ที่จะนำไปสู่บริการเสริมต่างๆ อีกมากมาย
วัยเพียง 32 ปี กับการขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่เช่นนี้ ย่อมมีคำถามตามมาที่ว่าเร็วเกินหรือไม่
กับการที่ธนินท์ เจียรวนนท์ จะดันให้ทายาทขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่เช่นนี้
จะว่าไปแล้ววิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ครั้งนี้ ทำให้ธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ
หลายเรื่อง การต้องตัดอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต โดยยอมขายทิ้งบางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
เพื่อรักษาธุรกิจเกษตรกรรมและสื่อสารโทรคมนาคมเอาไว้
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในทีเอ ที่เป็นเสมือนหัวใจของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
หากเทียบสัดส่วนระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือ
ซีพี กับบริษัทเทเลคอมเอเซีย หรือทีเอแล้ว ขนาดของสินทรัพย์ และหนี้ของทีเอนั้นมาก
กว่าซีพีกรุ๊ปหลายเท่าตัวนัก
การมอบหมายให้คนอายุ 32 ปีที่เป็นคนดูแลธุรกิจที่มีทรัพย์สินขนาดนี้ ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่มาก
เมื่อเทียบกับสมัยที่ธนินท์ เจียรวนนท์ ขึ้นคุมกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ เวลานั้นเขาก็มีอายุเพียงแค่
27-28 ปี หากแต่ทรัพย์ สินของกลุ่มซีพีมีเพียงแค่ไม่กี่พันล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ได้กับทรัพย์สินของทีเอเวลานี้
จะว่าไปแล้ว การตัดสินใจของธนินท์ในครั้งนี้ ก็ต้องนับว่าอาศัยจังหวะที่เหมาะเอามากๆ
ทีเดียว และคนอย่างธนินท์ไม่ได้มองอะไรแค่ชั้นเดียว
ข้อแรก การตัดสินใจของธนินท์ ที่ไม่ได้เลือกเอาช่วงที่ธุรกิจกำลังหอมหวาน
มอบให้กับทายาท แต่กลับเลือกเอาช่วงที่บริษัทกำลังประสบวิกฤตกับความยากลำบากในการทำธุรกิจ
จากภาวะภายนอก และปัญหาการเงินของบริษัท ที่จัดการกับปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ 63,000
ล้านบาท
แต่หากมองลึกไปกว่านั้น ธนินท์กำลังอาศัยวิกฤต การณ์เหล่านี้ เป็นการส่งให้ทายาทในการขึ้นสู่เก้าอี้อย่างงดงาม
เพราะเขาจะอาศัยวิกฤตครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ฝีมือที่จะสร้างการยอมรับให้กับทายาท
ที่จะได้รับจากพนักงานและคนทั่วไป
ธนินท์ ยังรู้ด้วยว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะเป็นประสบการณ์ชั้นยอด ที่จะทำให้ทายาทเหล่านี้สามารถเข้าถึงปัญหาที่ดีสำหรับอนาคต
และระมัดระวังมากขึ้น ข้อสอง การขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่ของพวกเขาเหล่านี้ อยู่ในช่วงที่เจนเนอเรชั่นที่สองยังไม่ได้จากไปไหน
ซึ่งทั้งหมดนี้คือมืออาชีพที่ร่วมกันสร้างธุรกิจมาตั้งแต่เริ่มแรก และยังคงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เขาได้ต่อไป
โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หากเกิดผิดพลาด ก็ยังมีโอกาสแก้ไข โดยมีมืออาชีพเหล่านี้คอยช่วยเหลือ
นอกจากดร.อาชว์ เตาลานนท์ หนึ่งในมือขวาของธนินท์ ที่มีบทบาทกับทีเออย่างมากในช่วงเริ่มต้น
ที่มาช่วยกู้วิกฤตการติดตั้งเลขหมายให้ทันส่งมอบ จะขึ้นไปเป็นประธาน กรรมการบริหาร
และปลีกเวลาไปกับงานข้างนอกทีเอ ไปช่วยบริหารงานที่แบงก์ศรีนครมากขึ้นแล้ว
ทุกวันนี้ เจนเนอเรชั่นที่สองของทีเอก็ยังคงไม่ได้หนีหายไปไหน แต่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับทายาททั้งสาม
ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล มือการเงินก็ยังคงมีภาระหนักเรื่องประนอมหนี้ เขาคือพี่เลี้ยงให้กับศุภชัยสำหรับการบ้านข้อนี้
ส่วน ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ ส่งมอบเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้กับสุภกิต
เจียรวนนท์ นั่งควบตำแหน่งประธานคณะผู้บริหาร และมีชัชวาล เจียรวนนท์ ลูกชายของสุเมธ
เป็นประธานกรรมการบริหาร ก็นั่งเป็นประธานกรรมการ และ เป็นพี่เลี้ยงให้กับสุภกิตและชัชวาลกับการประนอมหนี้ของทีเอช
ศุภชัย ไม่ใช่ทายาทคนโตของธนินท์ เขาเป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องชายหญิง
5 คน ธรรมเนียมจีนทั่วไปใช้ไม่ได้กับซีพี ปกติแล้วตามธรรมเนียมดั้งเดิมเก้าอี้สูงสุดจะถูกเตรียมไว้ให้กับทายาทคนโต
แต่สำหรับธนินท์เขาเป็นลูกชายคนรองที่ได้ขึ้นกุมบังเหียนของกลุ่มซีพี และก็นำพาบริษัทไปจนเติบใหญ่
ผู้บริหารเก่าแก่ เล่าถึงเรื่องนี้ว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งของศุภชัย ไม่ใช่เรื่องที่ธนินท์กำหนดมาแต่ต้น
แต่เป็นจังหวะและความบังเอิญมากกว่า การไปดูแลธุรกิจเคเบิลทีวีของสุภกิต
ลูกชายคนโตของธนินท์ ก็เป็นเพราะช่วงเวลาที่ธุรกิจเคเบิลทีวีถูกตั้งขึ้นมาใหม่
เป็นบริการแรกที่เกิดจากสายไฟเบอร์ออพติก ในขณะที่โทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย
กำลังมีภาระใหญ่หลวงที่ต้องติดตั้งให้ทันกำหนดในสัมปทานจึงต้องพึ่งพามืออาชีพแบบเต็มๆ
จึงเป็นจังหวะที่ทำให้สุภกิตต้องเริ่มต้นด้วยธุรกิจเคเบิลทีวี และยังคงดูแลรับผิดชอบ
ในขณะที่ศุภชัย เรียนจบและฝึกงานมาพอดีกับที่ทีเอเองก็เริ่มติดตั้งไปได้พักใหญ่
และสามารถคลี่คลายปัญหาเรื่องเลขหมายที่ทำท่าว่าจะติดตั้งได้ไม่ทันกับที่ทศท.กำหนดไว้
ธนินท์ไม่ไ่ด้วางสูตรสำเร็จในการสร้างทายาทที่เข้มข้น และเคร่งครัด เหมือนกับตระกูลอื่นๆ
ศุภชัยเรียนจบระดับ ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ การเงิน จากบอสตัน ยูนิเวอร์ซิตี้
อันเป็นการศึกษาขั้นสูงสุด เช่นเดียวกับสุภกิต พี่ชายคนโตของเขา สาขาบริหารธุรกิจ
จากนิวยอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี้ รวมทั้งชัชวาล เจียรวนนท์ ที่พกดีกรีระดับปริญญาตรี
สาขาบริหารธุรกิจมาจาก University of Southern California U.S.A. หรือ UCLA
ซึ่งถือเป็นพื้นฐานความรู้ทั่วไป ที่จะแตก ต่างไปจากตระกูลธุรกิจอื่นๆ ที่มีโมเดลในการสร้างทายาทกันอย่างเข้มข้น
ก่อนจะมาทีเอ ศุภชัยเป็นพนักงานฝึกงานอยู่ในบริษัทในเครือของซีพีอยู่ 3
ปีเต็ม ก่อนจะมาเข้าทำงานในทีเอ
ศุภชัย ใช้เวลาหาประสบการณ์ในทีเอเกือบ 7 ปี ก่อนจะขึ้นนั่งเก้าอี้ใหญ่
งานแรกของเขาเริ่มต้นที่ห้องปฏิบัติการ หรือ Operation Room เป็นบทเรียนแรกที่มีความหมายมาก
เพราะในห้องปฏิบัติการ ที่จะเป็นแบบทดสอบของการเรียนรู้ทุกซอกทุกมุมของการติดตั้งเครือข่ายโทรศัพท์
2.6 ล้านเลขหมายไปทั่วกรุงเทพฯ จากนั้นจึงย้ายไปดูแลงานติดตั้งโทรศัพท์ ในเขตนครหลวงตะวันออก
และเพิ่มความรับผิดชอบดูแลงานในภาพกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ ตำแหน่งสุดท้ายของเขาก่อนได้รับโปรโมตก็คือ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส
เป็นเวลา 7 ปีเต็ม ที่ทำให้เขาได้ผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุด และที่ต่ำที่สุดมาแล้ว
และเหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่ห่างไกลกันนัก
ทีเอประมูลโทรศัพท์ได้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเมืองไทยกำลังขยายตัว การเกิดอุตสาหกรรมใหม่
ความต้องการเลขหมายโทรศัพท์เวลานั้นถูกประเมินออกมาด้วยตัวเลขที่สวยหรู แต่หลังจากติดตั้งเลขหมายเสร็จสิ้นลง
ทีเอมีเวลาชื่นชมกับยอดขายไม่นาน เศรษฐกิจเริ่มหยุดนิ่ง และจากนั้นก็เริ่มดิ่งลงไปเรื่อยๆ
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทีเอใช้เงินลงทุนไปอย่างมากมาย กับการสร้างธุรกิจบริการเสริมที่จะมาจากโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง
อย่างเคเบิลทีวี และบริการพีซีที (personal cordless telephone) ที่ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยว
กำไร
ทีเอ กลายเป็นหนึ่งในผลิตผลของเศรษฐกิจฟองสบู่
ภารกิจของศุภชัย ก็คือ การเจรจาประนอมหนี้ของ ทีเอที่ติดค้างไว้ 69,000
ล้านบาท ที่ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งการเจรจา ดำเนินมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้การค้า
15,000 ล้านบาท และเป็นเจ้าหนี้เงินกู้48,000 ล้านบาท
รวมถึงบริการเสริมพีซีที ที่ยังไม่สามารถเก็บเงินค่าใช้จากลูกค้าได้ ต้องปล่อยให้ใช้ฟรีไปเรื่อยๆ
เพราะปัญหาระบบยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และเรื่องเงินลงทุนที่ต้องชำระให้กับซัปพลายเออร์ที่ติดตั้งเปิดให้บริการเป็นสองโจทย์หิน
ที่ศุภชัยต้องตีให้แตก
และการเปิดเสรีโทรคมนาคมที่จะมีขี้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ภายใต้วิกฤตเหล่านี้ ทีเอก็กำลังรอการพลิกฟื้นเศรษฐ กิจรอบใหม่ กับเทคโนโลยีใหม่
ที่จะมาพร้อมกับอินเตอร์เน็ต และนั่นก็คือ บริการเสริมใหม่ ที่จะเป็นเดิมพันใหม่ที่จะทำให้ทีเอพลิกฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง
" ทำไมเราต้องปล่อยให้สิงคโปร์เทเลคอมมาซื้อธุรกิจโทรคมนาคมในบ้านเรา ในอนาคตข้างหน้า
ถ้าเรามี Position ที่ดี บริษัทไทยก็มีโอกาสเป็น Regional player"
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเทเลคอมเอเชีย
จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" (วิรัตน์ แสงทองคำ และไพเราะ
เลิศวิราม) ถึงแนวคิดในการบริหารกิจการที่มีสินทรัพย์กว่า 1 แสนล้านบาท นับเป็นการวาดภาพความคิดของเขาอย่างเป็นระบบครั้งแรก
ตั้งแต่เข้ามาแบกรับภารกิจสำคัญ
ผู้จัดการ งานที่ต้องทำ เรื่องปรับโครงสร้างหนี้ไปถึงไหนแล้ว
ศุภชัย ทำไปพอสมควร คิดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่รายละเอียดเปิดเผยไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ก็ตาม เพราะได้เซ็น Confidentlity กับเจ้าหนี้ ต้องถือว่าเป็นความลับ
การปรับโครงสร้างหนี้ มันรวมไปถึงบริการของพีซีที
จะเป็นเฉพาะทีเอ ส่วนพีซีทีจะไปผูกอยู่กับเทเลคอมโฮลดิ้ง ซึ่งก็ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน
การปรับโครงสร้างหนี้ของทั้งสองบริษัทหวังว่าจะเสร็จใกล้ๆ กัน ซึ่งเจ้าหนี้จะเป็นคนละกลุ่มกัน
หลังจากสิ้นปีไปแล้ว หลังจากปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ ทีเอจะเป็นอย่างไร
น่าจะอยู่ในภาวะแข็งแรงขึ้น เราก็มีโอกาสปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ
รวมถึงบริการใหม่ๆ ให้กับสังคม ซึ่งหมายถึงอยู่ในจุดยืนที่ดีขึ้นในการเปิดเสรีโทรคมนาคมภายในประเทศด้วย
โดยหลักแล้วการปรับโครงสร้างหนี้ก็คือ การยืดหนี้ออกไป ให้บริษัทอยู่ในภาวะที่สามารถดำเนินกิจการได้
และชำระหนี้ได้ด้วย ในขณะที่บริษัทที่อยู่ภาวะการปรับโครงสร้างหนี้ คือ บริษัทอยู่ในภาวะที่ชำระหนี้ไม่ได้
เมื่ออยู่ในภาวะเช่นนี้ การที่บริษัทจะไปพัฒนาอะไรใหม่ๆ จะไปปรับปรุงคุณภาพอะไรมันก็ติดขัด
เพราะเจ้าหนี้ต้องบอกว่า ก่อนที่คุณจะไปทำอะไร คุณเอาเงินมาคืนผมก่อน ฉะนั้นเราต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จ
เราจะได้มี flexibility มากขึ้น และมีเวลามองและวางแผนไปข้างหน้ามากขึ้น
การเปิดเสรีโทรคมนาคม คุณศุภชัยมองว่าทีเอต้องมียุทธ ศาสตร์อะไรบ้าง ในการรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ต้องเข้มแข็ง ทั้งการเงิน และบริหาร เพราะว่าตัวทรัพย์สินเรามีอยู่แล้ว
คือ network หรือโครงข่าย และเทคโนโลยีที่ก็อยู่ในระดับ เวิลด์คลาส (ระดับโลก)
ที่ดีมากอยู่ แล้ว เหนือกว่าคู่แข่ง
ทางด้านการบริหารยังต้องพัฒนาพอสมควร ทำอย่าง ไรจึงจะ computerlized มากขึ้น
ทำอย่างไรถึงจะมีระบบ มีมาตรการ การวัดผล การติดตามผลที่ดีขึ้น การบริหารคน
การสร้างระบบ และเรื่องการเงิน ก็คือการปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จ เพิ่มรายได้ให้บริษัท
ทางด้านการตลาด บริการเสริม การตอบสนองตลาดได้ดีขึ้น เราอยู่ในจุดยุทธศาสตร์
อยู่ในภาวะที่ดี และมีองค์ประกอบเกื้อหนุนในตัวอยู่แล้ว สำหรับการเตรียมพร้อมการเปิดเสรี
เรามองว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จังหวัดหนึ่งใน 76 จังหวัด แต่เราเทียบตัวเรากับสิงคโปร์
กับฮ่องกง ฉะนั้นคำว่ากรุงเทพฯ เราเกือบเรียกได้ว่า เป็นประเทศหนึ่ง ถ้าเรา
position ตัวเราดี เราทำได้ดี เราก็มีโอกาสในอนาคตที่จะผลักดันตัวเองเป็น
regional player ทำไมเราต้องปล่อยให้สิงคโปร์เทเลคอมมาซื้อธุรกิจโทรคมนาคมในบ้านเรา
อย่างในอนาคตข้างหน้า ถ้าเรามี position ที่ดี บริษัทไทยก็มีโอกาสเป็น regional
player
การเป็น regional player เป็นความตั้งใจของทีเอ
ตอนนี้เรามีความตั้งใจ แต่ก็ต้องดูบทเรียนของเราว่า การทำอะไรจะต้อง strong
financial backup ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม การลงทุนต้องระมัดระวัง
จากบทเรียนที่ผ่านมา อะไรที่เห็นว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
(นั่งคิดอยู่พักใหญ่) ที่ผ่านมา ผมคิดว่าการมองธุรกิจ และการมองเศรษฐกิจ
เรามองทางบวกอย่างเดียว เราไม่ได้มองด้านของอุบัติเหตุ มุมมองในการทำธุรกิจ
และมุมมองในภาพของเศรษฐกิจโดยรวมเราเปลี่ยนไป เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะมองได้ว่า
อันนี้เป็นธุรกิจที่ดีแล้วมันจะสำเร็จ แต่เราต้องมองด้วยว่า อันนี้เป็นธุรกิจที่ดี
ในภาวะตลาดที่เหมาะสม และในสภาวะของระบบเศรษฐกิจของโลกที่เหมาะสม เพราะเราไม่ได้เป็นเถ้าแก่ทำงาน
ห้างร้านเล็กๆ เรากำลังทำธุรกิจที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศเราก็คือบริษัทประเทศไทย
เราเป็นบริษัทหนึ่งของโลก เกี่ยวข้องกับเศรษฐ กิจของโลกด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเรื่อง
ของ political movement ในต่างประเทศ เรื่องของนักลงทุน และการหมุนของเงินในโลกนี้
เรื่องของเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ยิ่งเราอยู่ในอุตสาหกรรมสื่อสาร ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็ว
เราต้องมองละเอียดขึ้นกว้างขึ้น ไม่ใช่มองแค่ในประเทศแต่เราต้องมององค์ประกอบของ
Globalization อื่นๆ ด้วย
คุณศุภชัยคิดว่า ความสามารถของผู้บริหารคงต้องมีระบบการคิด ระบบข้อมูล การวางแผน
และ strategy ที่ดี หรือเกิดจาก instinct เหมือนคุณพ่อ (ธนินท์ เจียรวนนท์)
จริงๆ แล้วไปด้วยกัน ผมคิดว่ามันเป็นของคู่กัน แน่นอนว่า เราต้องจัดเตรียมองค์กรด้วยระบบ
บุคลากร หน่วยงานที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงหน่วยงานที่วางแผน
และกลยุทธ์ ตัวนี้เราต้องจัดเตรียมองค์กร แต่เราจะบอกว่าเรามีหน่วยงานเหล่านี้หมดแล้ว
วางแผนได้ถูกต้องหมดก็ไม่ใช่ มันอยู่ที่ vision ของผู้นำด้วย เพราะว่าคนจะขึ้นมาเป็นผู้นำ
อย่างท่านประธาน (คุณพ่อ) เขามี Gift (พรสวรรค์) บางอย่าง ซึ่ง Gift นี้ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์
ส่วนหนึ่งมาจากตัวของเราเอง ไม่ได้หมายความว่าเรามีหน่วยงาน หน่วยงานหนึ่ง
มีคนอยู่ 20 คน แล้วจะสามารถวางแผนและมีวิสัยทัศน์เทียบ เท่ากับคนที่มีประสบการณ์เป็นเวลานาน
รวมทั้งถ้าเขาเกิดมาพร้อมกับ Gift บางอย่าง ก็ยิ่งทำให้ตรงนั้นเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำหรับองค์กรมากเลย
คิดว่าตัวเองมี Gift เหมือนคุณพ่อไหม
มีบ้าง แต่คงไม่เท่า
ผมคิดว่า คนเรานี่ อยู่ที่มุมมอง ไม่ได้อยู่ที่พื้นฐานความรู้คนบางคนมีมุมมองที่เปิดกว้าง
ตรงนี้บางคนมีพื้นฐานและ Back ground ที่ทำให้ตัวเองจับจดอยู่กับบางเรื่อง
ไม่สามารถที่จะเปิดรับเรื่องอื่นๆ ได้ แต่บางคนจะโดยพื้นฐานก็ดี หรือตัวเขาเองรวมๆแล้ว
ไม่สามารถเปิดรับ เปิดวิสัยทัศน์ การรับรู้ของเขาได้โดยมีข้อจำกัดน้อยกว่าคนทั่วไป
ผมคิดว่าตัวนี้ก็ฝึกกันได้
วิธีฝึกก็คือ คล้ายๆ กับศาสนาพุทธ ความเชื่อของผม ส่วนตัวอาจไม่ถูกก็ได้
คือศาสนาพุทธสอนให้เราคิดถึงตัวเราเองน้อยลง คิดถึงคนอื่นมากขึ้น เอาภาพของบริษัทมากขึ้น
ลดคำว่าตัวเราน้อยลง เพราะถ้าอะไรก็ผมก่อน เราก่อน เราดีกว่า จะทำให้เราจำกัดการเรียนรู้ของเรา
เราจะมองเห็นจุดดีของคนอื่นไม่ได้ ไม่สามารถมองเห็นโอกาสที่คนอื่นทั่วไปไม่เห็น
อะไรจะทำให้เราได้ดี ได้เหนือคนอื่นตลอด ตรงนี้ผมว่าเป็นข้อจำกัด ถ้าลดตรงนี้ลงไปได้
ถ้าศาสนาพุทธก็เรียกว่า เกิดปัญญา หรืออย่างน้อยก็ทำให้เรามีความเป็นกลาง
และมองภาพเป็นกลางมากขึ้น เราก็เกิดรายละเอียดได้มากขึ้น เราจะรู้ว่า อะไรคือความสำคัญมากกว่าอันไหน
ขอย้อนไปที่ regional player ตอนนี้สิงคโปร์เทเลคอม เทเลคอมมาเลเซีย กำลังขยายการลงทุนเข้ามา
ทีเอจะต้องทำอย่างไรให้ทัดเทียม และต้องใช้เวลานานไหม
ทีเอ บริษัทเดียวทำไม่ได้ ต้องทั้งอุตสาหกรรม ผมอาจมี vision ตรงนั้น และอยากจะไปถึงตรงนั้น
แต่ถ้ากรอบกติกาไม่เอื้ออำนวย เราก็คงทำไม่ได้ ประเทศอื่น รัฐบาลสนับสนุนให้ออกไปพิสูจน์ตัวเองในต่างประเทศ
ไปสร้างประโยชน์กลับมาสู่ประเทศ บ้านเรายังไม่ได้มีการเปิดเสรีในประเทศ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
ไม่ได้มีการแข่งขันกันจริงๆ เราก็ยังไม่ได้มีการวางแผนที่ดีพอที่จะบอกได้ว่า
อุต-สาหกรรมนี้ของเราจะเทียบเท่า และแข่งขันได้ในระดับสากล คือ เราไม่มีองค์กรกลางที่ไปวางแผน
ทีเอก็ทำไม่ได้ เพราะเราเป็นรายเดียว
ผมคิดว่าแนวทางของการแปรรูป และการเปิดเสรี เป็นขั้นแรกของการเตรียมตัวเพื่อไปแข่งขันว่า
เราเข้มแข็งจริงหรือไม่ เราเก่งพอจริงหรือไม่ บุคลากรที่เรามีเก่งเพียงพอจะไปแข่งกับต่างประเทศจริงหรือเปล่า
Standard บางเรื่องยังต้องร่วมกัน และยังมีความพยายามอยู่
อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง มีองค์กรเอกชนหลายแห่งที่ทำได้ แต่เป็นเพราะกรอบ และการวางแผนของอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับ
การจะไปถึงจุดที่เป็น regional player ได้ ประเทศต้องร่วมกันสร้างให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
แข่งขันกัน และฝึกฝนกัน เก่งจริงแล้วเราจึงออกไปแข่งนอกประเทศ
หมายความว่าต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่แข่งขันกัน
ต้องร่วมมือกัน จะต้องเป็นพันธมิตรกัน ต่างคนต่างไปก็อาจเละได้ บริษัทต่างประเทศเขามีแต่รวมตัวกัน
ที่ใหญ่แล้วแข็งแล้วก็ยังให้ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้นเพื่อเขาจะบุกออกไป แต่ของเรายังเป็นเบี้ยหัวแตกอยู่
เคยมีความพยายามที่จะร่วมมือกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
ก่อนอื่นที่จะทำอย่างนั้นได้ จะต้องเปิดเสรีโทรคมนาคม ในประเทศก่อน เราถึงจะรู้ว่า
มันได้หรือไม่ได้ยังไง เพราะเวลานี้มันถูกจำกัดโดยรัฐบาล
เปิดเสรีก็จะรู้ว่าใครจะอยู่จะไป
จริงๆ มันไม่ถึงกับว่า ใครจะอยู่หรือใครจะไป แต่เป็นสิ่งที่เราจะ Synergy
กันยังไงมากกว่า จะร่วมมือกันยังไง แต่แน่นอนว่าธุรกิจนี้มันเป็น Regulated
Industry อุตสาห-กรรมที่มีองค์กรมากำกับ ถามว่าการแข่งขันจริงๆ มันเกิดหรือไม่
ในแง่ของราคาไม่เกิด แต่การแข่งขันเกิดในด้านบริการ แต่การเป็น Regulated
Industry โดยหลักแล้วถ้ามีองค์กร ประชาชนจะได้รับการปกป้องผลประโยชน์อยู่แล้ว
ทำยังไงให้มีการแข่งขันในการบริการให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่ามาแข่งห้ำหั่นราคากัน
ไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้น
แต่ถ้าจะแข่งราคากันจริงๆ ในปี ค.ศ.2006 ที่เราเปิดประเทศ บริษัทโทรคมนาคมต่างชาติ
ถ้าเขามาหั่นราคาแข่งกับเรา เราก็ตายก่อนเขาแน่นอน เพราะเขาใหญ่กว่าเราเป็นร้อยเท่า
มีทุนมหาศาล เราอาจจะใหญ่กว่าในประเทศนี้ แต่เราเล็กกว่าเขาเยอะ แทนที่เราจะบอกเราต้องรักษาธุรกิจของตัวเองให้เป็นเบี้ยหัวแตก
ในประเทศเราก็แข่งกันไปในเรื่องบริการ ถึงวันหนึ่งเราอาจต้องรวมตัวกันเพื่อไปลุยต่างประเทศ
จุดยืนของเราคืออะไร ในเมื่อเงินทุนเรากสู้เขาไม่ได้ ไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง
ต้องซื้อจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ จริงๆ แล้ว Barrier of entry (ขอบเขตจำกัด)
ของธุรกิจนี้สูง มันก็ไม่ใช่ว่าจะเข้ามาได้ง่ายๆ เขายังต้องลงทุนเยอะ และยังมีความเสี่ยงว่าเขาจะชนะหรือแพ้
ที่ผมบอกว่า ต่างประเทศเข้ามา เขาไม่ได้มาลงทุนสร้างเอง แต่อาจจะใช้วิธีเทกโอเวอร์ผู้ให้บริการและก็แข่ง
ถ้าอย่างนี้ธุรกิจจะแข่งขันกันรุนแรง แต่ถ้าเกิดผู้ให้บริการจับมือกันได้ไม่ให้ถูกเทกโอเวอร์ไป
การที่ต่างประเทศเข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างมากก็เข้ามาแค่ ถือหุ้นเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของแต่ละบริษัทเท่านั้นการจะเข้า
มาควบคุมทั้งหมดมาแข่งกับโอเปอเรเตอร์คนไทยก็เป็นไปไม่ได้
ถามว่าจุดแข็งเราคืออะไร จริงๆ จุดแข็งเราก็ไม่มีอะไร เพียงแต่เรารู้ตลาดท้องถิ่นดีกว่าเขา
เทคโนโลยีก็ไม่ใช่ของเรา แต่ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องของระบบสาธารณูปโภค
ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ และเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนโดยรวม
เป็นพื้นฐานที่ทุกประเทศต้องมี ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่า จะให้อุตสาหกรรมนี้อยู่ในมือของต่างชาติหรือไม่
เป็นเรื่องที่เราต้องเปิดเสรีโทรคมนาคมตามข้อตกลง
รัฐบาลเองก็รู้และนั่นคือเหตุผลที่รัฐบาลเปิดเสรีในประเทศก่อน เพื่อให้คนไทยเข้มแข็งเพียงพอที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้
เข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกเทกโอเวอร์ นั่นคือเหตุผลทำไมเราถึงต้องพยายามดึงเวลาการเปิดเสรีให้ต่างประเทศเข้ามาไปถึงปีค.ศ.2006
แต่ที่เราล่าช้าเอง ก็คือ เรายังไม่ได้ปรับปรุงตัวเองให้เข้มแข็งจริงๆ แน่นอนว่า
นโยบายรัฐบาลต้องการให้อุตสาหกรรมหลักๆ เป็นของคนไทย แต่ก็มีแรงกดดันจากข้างนอกที่จะเข้ามา
และเขาไม่ต้องการอุตสาหกรรม เล็กๆ เขาต้องเอาอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ซึ่งการจะสู้หรือแข่งขันต้องฝึกอุตสาหกรรมในประเทศ
ให้เข้มแข็งพอที่ต่างประเทศจะบอกว่าเขาจะเข้ามาแข่ง มาขอเป็นพันธมิตรดีกว่า
แต่ถ้าเราอ่อนแอ เขาตีเรา 2 ปีเราก็ยับแล้ว
ในภูมิภาคนี้สิงคโปร์เทเลคอม เทเลคอมมาเลเซีย เขาก็พัฒนาไปไกลแล้ว
ใช่ เรายังเป็นระบบค่าต๋งอยู่ ภาระด้านการเงินเรายังสูงอยู่ นอกจากหนี้สินที่สูงแล้ว
เราก็ยังต้องจ่ายค่าต๋งด้วย ซึ่งต่างประเทศเขาไม่มี
ที่มีคนพูดว่า ระบบไทม์มิเตอริ่ง ถ้าไม่นำมาใช้ ทีเอตายแน่ แล้วจริงๆ คิดอย่างนี้หรือเปล่า
จริงๆ แล้วไทม์มิเตอริ่งไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่ มีคนเข้าใจผิวเผินว่า ไทม์มิเตอริ่งนับตามเวลาต้องจ่ายเงินเยอะ
แต่จริงๆ แล้วเป็นการสร้างโครงสร้างอัตราค่าบริการที่เหมาะสมกับต้นทุน อันนี้คือตัวหลัก
บังเอิญในระบบโทรคมนาคม ไทม์มิเตอริ่ง เป็นโครงสร้างอัตราค่าบริการที่เหมาะสมกับต้นทุน
เช่น ที่แล้วมาเราจ่าย 3 บาท โทรได้ 24 ชั่วโมง ถามว่า network ที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้ได้หรือไม่
มันต้องติดขัดทันที ก็ต้องขยาย ขยาย พอขยายก็ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ว่ารายได้เก็บได้เท่าเดิม
ถามว่าสิ่งเหล่านี้คือวิธีดำเนินธุรกิจในระบบทุนนิยมที่เราใช้กันทั่วโลกไม่..ไม่ครับ
เพราะราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่มีธุรกิจไหนอยู่ได้ถ้าราคาไม่สะท้อนต้นทุน
คนใช้มากต้องจ่ายมากคนใช้น้อยต้องจ่ายน้อย นี่คือหลักการ แต่ที่ผ่านมา ที่เราอยู่กันมาในลักษณะนี้มาสิบกว่าปี
เพราะธุรกิจนี้มันเป็น Highly Regulated และ Very Politic Influence คือทางด้านการเมืองมีบทบาทมาก
ไม่มีการสื่อสารที่ดีกับประชาชน เป็นสิ่งที่เราไม่ได้บอกว่าจะอยู่ได้หรือไม่
แต่อัตราค่าบริการไม่สะท้อนต้นทุน แต่ต่อไปการใช้โครงข่ายระบบสื่อสารจะมากขึ้น
เพราะจะเป็นเรื่องของอินเตอร์เน็ต การส่งข้อมูลมากขึ้นแทนที่จะเป็นเสียงอย่างเดียว
ถ้าเป็นเสียงอย่างเดียวคนโทรแค่ 3-5 นาทีก็วาง แต่อินเเตอร์เน็ตส่งผ่านข้อมูล
ต้องดาวน์โหลดข้อมูลทั้งวัน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น Information flow จะเกิดขึ้น
เป็นสิ่งที่ดีกับสังคมโลก และเมื่อเราต้องการมีการสื่อสารมีการถ่ายเทข้อมูล
มากขึ้น เราก็ต้องใหญ่ขึ้น ต้องลงทุนมากขึ้น
Information flow ทั่วโลกจะดียังไง
ดีมาก คือ ภูมิปัญญาของโลกจะถ่ายเทถึงกันและกัน ข้อจำกัดจะอยู่ที่ระบบ
และวัฒนธรรมของประเทศ แต่ภูมิปัญญาทุกคนจะมีโอกาสรู้เท่ากัน อาจจะไม่เท่ากันเพราะบางอย่างอเมริกาอาจจะเก็บใส่โต๊ะไว้
แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า 80-90% ของภูมิปัญญาที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ในยุโรป
ทุกคนจะเข้าถึง หรือแม้แต่การได้นำข้อมูลมาใช้วางแผนและตัดสินใจก็จะดีขึ้น
คนที่ต้องการเรียนรู้เฉพาะเรื่องในแนวดิ่งจะสามารถเก็บข้อมูลได้เร็วขึ้น
ที่เขาพูดว่าสมองไหล ต้องเอาคนที่มีประสบการณ์มีความรู้ความสามารถนั่งเครื่องบินไปอีกประเทศหนึ่ง
แต่นี่ไม่ต้องคุณ login เข้าอินเตอร์เน็ต นี่เป็นสิ่งที่ดีของสังคมโลก
มองบริการเสริมอย่างไร ต่อจากนี้ไปจะมีขั้นตอนในการสร้างบริการเสริมในสายโทรศัพท์อย่างไร
มหาศาล คือ เดิมสายโทรศัพท์ เอาไว้ใช้สื่อสารทางเสียงอย่างเดียว จำกัดเฉพาะเรื่องที่คุยกัน
Transaction ที่เราเรียกว่า Electronic commerce มันเกิดขึ้นไม่ไ่ด้เพราะมันเสียงอย่างเดียว
มันต้องมีข้อมูลอย่างอื่น เพื่อจะทำให้เกิดTransaction ซึ่งตรงนี้มหาศาลเลยไม่ว่าจะเป็นกี่รูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ เป็นการซื้อของขายของ แลกเปลี่ยนข้อ มูล (คิดพักใหญ่)
เป็นการดึงข้อมูลทางบันเทิง application หลายอย่างจะเกิดขึ้นจากโครงข่าย
แต่ที่แล้วมายังไม่มีอะไรที่ออกมาเป็นรูปธรรม ยกเว้นยูบีซี
ยูบีซีเป็นแค่ส่วนเดียว แต่ต่อไปจะมีอินเตอร์เน็ต และการพัฒนาทางด้านดิจิตอลเทคโนโลยี
ที่แล้วมาคนเขามองว่า ทีเอเป็นภาพความยิ่งใหญ่ แต่บทเรียนของยูบีซีเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าภาพความยิ่งใหญ่เพราะ
ต้องเจ็บตัวมาเยอะ ฉะนั้นแล้ว Application ที่ว่านี้คืออะไร
อะไรที่เป็นจริง ไม่ใช่ความฝัน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เคเบิลทีวีก็เหมือนกัน
เคเบิลทีวีเป็นการให้บริการข้อมูลทางด้านบันเทิง แต่ที่ผมบอก คือ บริการทุกอย่าง
ทุกอุตสาห-กรรม ทำไมทุกบริษัทต้องมีโฮมเพจ ต่อไปมีโฮมเพจไม่พอ ต้องมีแอพพลิเคชั่นในการซื้อของขายของ
แอพพลิเคชั่นในการสมัครงานผ่านอินเตอร์เน็ต คือ แอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่จะตามมาอีกไม่ใช่แค่ประชาสัมพันธ์
แต่ต่อไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย แต่ทำไมเรายังไม่เกิดบริการเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว
ข้อจำกัดก็คือ เทคโนโลยี ซึ่งวันนี้เริ่ม Break through อย่าง เช่น บริการเคเบิลโมเด็ม
มันก็เป็น High speed data communication
ที่ผ่านมาเทคโนโลยีมันจะแบ่งออกมาเป็น 2 สาย สายหนึ่งจะเป็นเคเบิลทีวี
อีกสายเป็นเรื่องของโทรศัพท์ ที่เกิดเช่นนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีกฎหมายว่า
สองธุรกิจนี้รวมกันไม่ได้ต้องไปวิ่งกันคนละทาง ทางหนึ่งคือ ถ่ายทอดภาพให้ถูกที่สุด
อีกทางคือ ถ่ายทอดเสียงให้ถูกที่สุด ที่จริงแล้วเป็นเทคโนโลยีเดียวกันในการ
convert สัญญาณภาพ และเสียง จะ roaming เข้าหากัน ซึ่งเวลานี้อเมริกาก็ยกเลิกกฎหมายนี้
อนุญาตให้สองธุรกิจนี้รวมกันได้ จะเห็นว่ามันก็เริ่มวิ่งเข้ามา บริษัทยักษ์ใหญ่สื่อสารไปเทกโอเวอร์กิจการทีวี
แต่การวิ่งเข้ามาก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี
แต่ในฟากของโทรศัพท์เทคโนโลยีก็ไปไกลแล้ว ทั้งระบบ ISDN หรือ ADSL คือ
การเพิ่มความสามารถของการใช้สายโทรศัพท์เดิม ที่เป็นสายทองแดง แต่ตัวสวิทชิ่งมีความสามารถในการส่งสัญญาณได้เร็วขึ้นสูงขึ้น
ก็ทำให้เกิดบริการไฮสปีดอินเตอร์เน็ต ผ่านโครงข่าย
เคเบิลทีวีก็ไปทางเคเบิลโมเด็ม เป็นบริการไฮสปีดเหมือนกัน ในสหรัฐอเมริกาเวลานี้
ASDL ก็มีแล้ว และ Commercial launch ไปแล้วทั้งสองบริการ แต่ถามว่า แล้วบ้านเราจะเอาเลยหรือไม่
ถ้าทำเลยก็ยังเหนื่อย เพราะกำลังทรัพย์เราน้อย เทคโนโลยีทั้งสองตัวนี้ยังแพง
ต้องลงทุนในพื้นที่เล็กๆ ทดลองดูก่อน ดูว่าผลตอบรับกับตลาดเป็นยังไง ถ้าไปได้ก็ขยายต่อ
ข้อจำกัดของเทคโนโลยี ก็เป็นตัวที่ทำให้ตลาดขยายได้ด้วย การถ่ายทอดภาพ
เสียงและข้อมูลในปัจจุบันจะช้ามาก มันก็ไม่ practical ถ้าช้า ตลาดก็ไม่ขยายตัว
แต่ถ้ามันเร็วขึ้น เช่น download หนังภายใน 2 วินาที ตลาดจะจับต้องได้มาก
ขึ้น คนก็สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ทันใจมากขึ้น แพร่หลายมากขึ้น
อันนี้จะเป็น break through แต่มันจะเป็นวัฏจักรที่จะต้องขึ้นอยู่กับตลาดกับต้นทุน
วันนี้มัน available แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะตอบสนองเพียงใด และเร็วแค่ไหนอาจใช้เวลา
3 ปี 5 ปี 10 ปีก็ยังไม่แน่
แต่ถ้าดูแนวโน้มแล้ว การสื่อสารด้วยเสียงจะอยู่เท่าเดิม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการสื่อสารระหว่างภาพ
และข้อมูลจะขยายตัวมากขึ้น เพราะเทคโนโลยี break through จะทำให้เกิดบริการมากมาย
เพราะเมื่อ capacity สูงขึ้น ทำให้บริการหลากหลายมากขึ้น
ถ้ามองในเรื่องบริการเสริม เพราะว่าบริการเขาได้บริการที่ดีขึ้น ความเร็วสูงขึ้น
เช่น ซื้อขายของ สั่งซื้อของ สมัครงาน จองตั๋วหนัง จองร้านอาหาร การทำการค้าผ่านโครงข่ายสื่อสาร
เป็น e-commerce คือ ข้อมูลกับบริการเสริม ซึ่งข้อมูล (content) จากต่างประเทศมีมากแล้ว
แต่ข้อมูลภายในประเทศยังไม่มี ต้องพัฒนาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
เรามีโครงข่ายแล้ว มีความสามารถแล้ว ความเร็วก็ดีขึ้นแล้ว แต่ที่ขาดคือข้อมูลที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน
เขาก็ไม่ใช้อยู่ดี หรือถ้าใช้ก็ใช้อย่างจำกัด เมืองไทยหลายคนก็ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
sanook.com
content ต้องเน้นไปที่ใช้ทำมาหากินได้
ต้องใช้เวลา ทีเอทำให้มันเกิดหรือไม่เกิด ทีเอทำได้ในแง่การสนับสนุนเทคโนโลยี
มีแนวคิดอย่างไรกับการปรับระบบให้เป็น e-corporate อะไรจะคือโมเดล ตามที่คุณธนินท์พูดเอาไว้ว่า
กลุ่มซีพีจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทำไปแล้ว แต่คนทั่วไปยังเชื่อมโยงไม่ออกว่า
จากคนเลี้ยงไก่จะมาเชื่อมโยงกับทีเอได้อย่างไร
ซีพีคิดมากในเรื่องนี้ เราคงไม่ได้พูดว่าเลี้ยงไก่แล้วจะไม่ใช้คอมพิวเตอร์
เพราะเราต้องจัดการ ต้องบริหาร มีข้อมูล มี transaction ทุกธุรกิจต้องใช้ระบบการจัดการ
และการบริหาร ที่ผ่านมาเราใช้คนและเอกสารเป็นหลัก ถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น
ถ่ายทอดประสบการณ์ของคนลงไปในคอมพิวเตอร์ เป็นแอพพลิเคชั่นเป็นซอฟต์แวร์
เราจะอาศัยคนน้อยลง ซึ่งหมายความว่าข้อผิดพลาดจะน้อยลง การใช้เอกสารที่เป็นกระดาษจะน้อยลง
ใช้คนน้อยลง สิ่งเหล่านี้ คือแค่ระบบการจัดการ การบริหาร
แต่การพัฒนาของสื่อสารโทรคมนาคมมันไปไกลกว่านั้น นอกจากนำมาจัดการบริหารภายในองค์กร
คุณสามารถต่อเชื่อมระบบการบริหาร การจัดการองค์กรไปสู่ลูกค้า ไปสู่บริษัท
คู่ค้า โดยผ่านระบบสื่อสารโทรคมนาคม มันจะ integrate (รวม) เข้ากันหมด เราต้องเตรียมพร้อมในส่วนนี้
แต่ไม่ได้หมาย ความว่าทำได้ในพริบตาเดียวต้องเตรียมคนให้พร้อมเอาประสบการณ์ถ่ายทอดลงไปเป็นแอพพลิเคชั่น
อาจจะเป็นเรื่องยากที่หลงจู๊จะเข้าใจ
บังเอิญหลงจู๊คนนี้มี vision และค่อนข้างเปิดกว้าง จึง adapt ได้เร็ว ตรงนี้ก็ต้องมีพัฒนา
2 ระดับ คือ ภายในบริษัท และ interface กับคู่ค้า ซึ่งต้องใช้เวลา และใช้กำลังทุน
คนเดียวก็ทำได้ก็เกิดประสิทธิภาพ คุณภาพใช้ได้ แต่จะให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่จะต้องทำทั้งคู่ค้าและลูกค้า
ทันทีที่ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบเริ่มปรับตัวเอง จะทำให้เกิด efficiency สูงมาก
ถ้าบริษัทไหนที่อยู่ในจุดนั้นจะได้เปรียบ เพราะถือว่าพัฒนามาก่อน ก็ได้เปรียบ
เจอปัญหาก่อนแก้ปัญหาได้ก่อน ปรับปรุงก่อน คนที่มีชั่วโมงบินมากกว่า ย่อมได้เปรียบคนที่ชั่วโมงบินน้อยกว่า
เพราะเตรียมการได้ดีกว่า เร็วกว่า การเร็วกว่า 2-3 ปีเป็นผู้นำได้สบายเลย
มองการเปลี่ยนแปลงของชินวัตรอย่างไรบ้าง เป็นจุดที่แตกต่างจากโอเปอเรเตอร์อื่น
ผมคิดว่าเขาทำถูกในแง่ของบริษัทที่เป็นโฮลดิ้งคอมปานี และในตัวเขาเองก็เป็น
Investment arm การที่จะเข้าไป tap ศึกษาว่าธุรกิจอะไรน่าลงทุน และวางตัวเอง
เป็นผู้เชี่ยวชาญของตลาดในการจะ tap เงินจากต่างประเทศเข้ามา ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง
น่าชมเชย
การที่อายุยังน้อยแต่มีภาระที่ต้องเข้ามาแบกรับการบริหารงานในสถานการณ์ที่หนัก
มีความหนักใจหรือไม่
มาถึงจุดนี้หนักใจน้อยลง เพราะเราได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เราคิดว่าควรจะต้องทำ
ถามว่าภารกิจหนักหรือไม่ ก็ต้องหนัก ปรับโครงสร้างหนี้ เตรียมพร้อมกับการเปิดเสรี
ขายเลขหมายในสต็อกอีก 1.3 ล้านเลขหมายให้หมด แต่ถามว่าหนักกว่าก่อนรับตำแหน่งหรือเปล่า
ไม่หนัก เพราะเราทำงานเรามองถึงความสำเร็จของบริษัทโดยรวมอยู่แล้ว และจริงๆ
แล้วถ้าพนักงานทุกคนคิดแบบนี้ก็สามารถทำงานที่ผมทำอยู่ได้เหมือนกัน
คุณพ่อให้เหตุผลอย่างไรที่ให้มาทำงานที่นี่
คงเป็นเรื่องของจังหวะเวลาและโอกาสมากกว่า เพราะความเชื่อของท่าน คือว่า
ธุรกิจอะไรก็ตามต่อให้คุณตั้งใจทำ คุณทำได้ทุกอย่าง อันนี้เป็นความเชื่อของท่าน
และผมก็คิดว่าจริง ทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จแล้ว เราก็รู้ว่า มันสำเร็จอย่างไร
ล้มเหลวอย่างไร และความรู้เหล่านี้ก็ประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้
เคยทำอะไรสำเร็จบ้าง
ถ้าสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมายก็หลายอย่าง พลาดก็หลายอย่าง ถ้าถามว่าสำเร็จในแง่ของการที่เราเป็น
Successful businessman หรือยัง ผมยัง จนกว่าเราจะนำพาบริษัทนี้ให้อยู่ในภาวะที่มีกำไร
ทำเงินให้กับผู้ถือหุ้น ตอบสนองตลาด เป็นผู้นำในตลาด ตอบสนองลูกค้าได้เป็นที่น่าพอใจ
และทุกคนทำงานให้กับบริษัทเต็มที่ และสังคมยอมรับบริษัทนี้ และเป็น corporate
citizen ที่ดี ถึงจุดนั้นน่าจะเป็นจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จได้
"ซีพีคิดมากในเรื่องนี้ เราคงไม่ได้พูดว่าเลี้ยงไก่แล้วจะไม่ใช้คอมพิวเตอร์
เพราะเราต้องจัดการ ต้องบริหารมีข้อมูลมี transaction ทุกธุรกิจต้องใช้ระบบการจัดการ
และการบริหาร ... บังเอิญหลงจู๊คนนี้มี vision และค่อนข้าง เปิดกว้าง จึง
adapt ได้เร็ว"