อีริค บี บู๊ทซ์ ลูกชายคนเดียววัย 29 ปี ของวิลเลียม เอ็ม บู๊ทซ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทจิม
ทอมป์สัน กำลังถูกจับตามองอย่างมากๆ ว่าการทำตลาดในยุคใหม่ของเขาจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับที่ผู้เป็นพ่อประสบความสำเร็จหรือไม่
อีริค หรือ "ภวพันธ์" ชื่อภาษาไทยที่ไม่ค่อยมีใครคุ้นนักเป็นลูกชายคนแรกของบู๊ทซ์
ที่เกิดจากพัฒศรี บุนนาค ภรรยาคนแรก อีริคจึงมีส่วนผสมของความเป็นตะวันตกและตะวันออกที่ลงตัวอย่างน่าทึ่ง
ท่ามกลางความอ่อนน้อมแบบไทยๆ อีริคมองว่าตัวเองยังเป็นเด็กที่ไม่ต้องการทำอะไรที่เป็นการ
"ล้ำหน้า" ผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ในบริษัท เขาเลยไม่ต้องการเปิดตัวกับสื่อมวลชนนัก
แต่ดูเหมือนว่าบู๊ทซ์เองกำลังส่งเสริมให้เขาเปิดตัวมากขึ้น
"อีริค เป็นคนหนุ่มที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจและเต็มไปด้วยไฟแห่งการสร้างสรรค์เช่นเดียวกับ
ผู้ที่รับการศึกษาจากสังคมตะวันตกโดยทั่วไปและที่สำคัญเมื่อมีโอกาสก็พร้อมที่จะลงมือทำทันที
เขาโชคดีมากที่ยังมีนายคอยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทมาตั้งแต่เล็กๆ
" กรรมการท่านหนึ่งในจิม ทอมป์สัน พูดถึงอีริคให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
ดังนั้นแม้มาเริ่มงานที่จิม ทอมป์สัน เพียง 2 ปี แต่จะว่าไปแล้วเขาก็รู้เรื่องราวความเป็นไปของบริษัทมาเกือบตลอดชีวิต
อีริค เกิดที่เมืองไทยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 เป็นเวลาหลังจากที่นายห้างจิมหายไปประมาณ
2 ปี โรงงานทอผ้าที่อำเภอปักธงชัย เป็นสถานที่วิ่งเล่นของเขามาตั้งแต่เล็กๆ
แม้เขาจะจากไปเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แต่ก็จะกลับมาคลุกคลีอยู่กับผู้เป็นพ่อทุกซัมเมอร์
และเกือบทุกวันหยุดช่วงคริสต์มาสจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าหนุ่มลูกครึ่งอเมริ-กัน-ไทย
คนนี้พูดไทยได้ค่อนข้างชัดทีเดียว
เมื่อจบไฮสคูลจากโรงเรียนที่ฝรั่งเศส อีริคได้เดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา
เขาจบปริญญาตรีทางด้านประวัติศาสตร์ ที่ George Town University หลังจากนั้นก็เดินทางกลับมายังเมืองไทย
เริ่มแรกเขาได้ไปหาประสบการณ์การทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ซิมิโก้ ซึ่งตอนนั้นบริษัทกำลังต้องการฝ่ายการตลาดที่สามารถพูดภาษาอังกฤษและไทยอย่างคล่องแคล่ว
โดยไม่จำเป็นต้องจบมาทางด้านการเงิน เขาทำงานอยู่ที่ซิมิโก้เพียง 2 ปี ก็ลาออกไปทำงานในหน้าที่เดียวกันที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์
อีก 2 ปี
ช่วงระยะเวลา 4 ปี จากปี 2535 ถึง 2539 นั้นนับเป็นโชคดีอย่างมากที่มีโอกาสได้ไปทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์
และความรู้ทางด้านการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองสุดขีดและถดถอยอย่างรวดเร็ว
แต่... ณ เวลานั้นเขาก็รู้ตัวดีแล้วว่า สักวันหนึ่งเขาต้องกลับมาทำงานที่บริษัทจิม
ทอมป์สัน อย่างแน่นอน ความผูกพันในงานศิลปะของผ้าไหม และความหลงใหลในเรื่องศิลปวัตถุโบราณ
เป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของเขาไปแล้ว
อีริค เริ่มมาทำงานที่จิม ทอมป์สัน เต็มตัวเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยรับหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ
ซึ่งหน้าที่นี้เดิมก็คืองานหลักของบู๊ทซ์ที่ต้องเดินทางไปเมืองนอกเพื่อดูตลาดและปรึกษางานร่วมกับ
เอเยนต์ปีละประมาณ 7-8 ครั้ง แต่เมื่อปีที่แล้วบทบาทนี้ได้ตกเป็นของอีริคแทน
"ทุกวันนี้คุณพ่อพยายามให้ผมเดินทางไปต่างประเทศแทนท่าน คุณพ่อทำงานมามากแล้วหากไม่ไปต่างประเทศคุณพ่อก็ไม่ไปไหนอยู่ในแต่ออฟฟิศ
วันละประมาณ 18 ชั่วโมง แต่จะไปโรงงานที่ปักธงชัย อาทิตย์ละครั้ง" การเปิดตลาดใหม่ในเมืองไทยในเรื่องแฟชั่น
และการคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ จิม ทอมป์สัน ไลฟ์สไตล์ เป็นผลงานที่เขารับผิดชอบโดยตรง
จะว่าไปแล้ว อีริคมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เหมือนกับนายห้างจิม คือในเรื่องชื่นชอบศิลปวัตถุโบราณ
เมื่อมีวันว่างเขาชอบเดินทางท่องเที่ยวไปยังดินแดนที่นายห้างจิมเคยไปมาแล้วทั้งสิ้น
เช่น เขาพระวิหาร ปราสาทพนมรุ้ง รวมทั้งจังหวัดต่างๆ แถบภาคอีสาน
เมืองชายแดน เช่น เขมร ลาว ถ้ามีเวลาอีริคก็ไปดูเกี่ยวกับเรื่องทอผ้าที่เขาบอกว่าชาวบ้านของเขาทอผ้าเก่งมาก
แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีการสานต่อในงานหัตถกรรมเหล่านี้ แต่ปัจจุบัน
มีอาจารย์ไทยที่เห็นคุณค่าในงานตรงจุดนี้ที่ไปตั้งโรงเรียนที่โน่นไปสอนเด็กเขมร
สอนวิธีการทอผ้าซึ่งเขาก็เคยได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยม
และเป็นพราะความหลงใหลในเรื่องศิลปะแบบไทยๆ นี้เองทำให้อีริค ได้เข้าไปรับดูแล
"บ้านจิม" หรือพิพิธภัณฑ์ของจิม ทอมป์สัน ด้วยความรู้สึกที่ผูกพันเป็นพิเศษ
ภายใต้การทำงานของมูลนิธิ James H.W. Thompson สถานที่นี้เป็นบ้านของนายห้างจิมที่สร้างขึ้นเมื่อปี
2501 หรือเมื่อ 41 ปีมาแล้ว และจิมเป็นผู้ออกแบบดูแลตกแต่งรวมทั้งเลือกสิ่งของเข้ามาไว้ทั้งหมด
ไม้ที่เอามาสร้างบ้านก็ได้ไปเลือกมาจากจังหวัดอยุธยา และอ่างทอง ของเก่าหลายชิ้นเป็นสิ่งที่เขาเก็บสะสมไว้จากการเดินทางไปดูงานทอผ้าตามภาคอีสานของไทย
เสียดายที่จิมมีโอกาสพำนักอยู่ที่นี่เพียง 7-8 ปีเท่านั้น
และเมื่อเร็วๆ นี้ในงานประมูลของบริษัทคริสตี้ส์ ประเทศไทย อีริคก็คือผู้หนึ่งที่เข้าไปประมูลหนังสือโบราณส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บไว้เป็นสมบัติในบ้านจิมด้วย
มูลนิธิ เจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน นี้ ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย
รายได้เลี้ยงตัวเองของบ้านจิมก็คือการมีร้านค้าขายสิ่งของที่ระลึก รวมทั้งรายได้จากการเข้าไปชม
ซึ่งทุกวันนี้จะมีผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมประมาณ 300 คนต่อวัน
และเมื่อเร็วๆ นี้มูลนิธิได้จัดประชุมทางด้านวิชาการครั้งใหญ่ขึ้นมาครั้งแรก
ในหัวข้อ "ผ้าทอแห่งเอเชียบูรพา สายใยแห่งกาลเวลา" ขึ้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา
รูปแบบของการประชุมประกอบด้วยนักวิชาการชั้นนำ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทอผ้าทั่วโลกมาฟังประมาณ
200 กว่าคน
อีริคเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า จุดประสงค์ของมูลนิธิฯ คือต้องการให้คนไทยได้รับความรู้ทางด้านนี้
เพราะเมืองนอกอย่างเช่นที่นิวยอร์ก ปารีส ซิดนีย์ จะมีงานประเภทนี้บ่อยมาก
"การที่ผู้บรรยายมาที่นี่โดยนักเรียนและคนไทยของเรามาฟังได้ฟรีเพื่อที่จะได้รับความรู้ด้วย
เพราะโอกาสที่ไปฟังที่เมืองนอกอาจจะเป็นเรื่องยากเราต้องการให้ความรู้กับนักเรียนไทย
และถ้าเขาต้องการทำรีเสิร์ชเขาก็จะทำได้" และเขาย้ำว่า ทางมูลนิธิฯ
จะร่วมกับจิม ทอมป์สัน จัดงานอย่างนี้ประมาณ 2 ปีครั้ง
ในวันนี้บู๊ทซ์อายุ 61 ปีแล้ว อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่ดูแลหลักเรื่องการตลาดของบริษัทมาตลอดเวลา
26 ปี มากกว่าวัน เวลา ที่นายห้างจิม เคยบริหารอยู่ด้วยซ้ำไป จึงเป็นไปได้มากๆ
ว่าวันนี้ บู๊ทซ์ จึงอาจจะต้องการรีไทร์ตัวเอง เพื่อพักผ่อนให้สมกับการทำงานหนักมาโดยตลอดของเขา
การปลดภาระที่หนักอึ้งบนบ่าของเขาให้กับอีริคลูกชายคนเดียวกับทีมงานบริหารคนอื่นๆ
จึงอาจจะเป็นสิ่งที่เขาอาจจำเป็นต้องทำในเวลาใกล้ๆ นี้
เมื่อ "ผู้จัดการ" ถามว่า คิดว่าเมื่อไหร่ที่อีริคจะมาช่วยคุณพ่อทำงานอย่างเต็มตัวเขาบอกว่า
"ผมยังไม่คิดเรื่องนี้แต่ก็หวังว่าวันหนึ่งคงพร้อม"