Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2542
จิม ทอมป์สัน ยุคใหม่ ยุคธุรกิจ "ครบวงจร"             
 

   
related stories

อีริค บี บู๊ทซ์ ผู้นำจิม ทอมป์สัน รุ่นที่ 3
ดีไซเนอร์ ผู้สั่งสมมรดกภูมิปัญญาของ จิม ทอมป์สัน
ฟาร์มหม่อนไหม ปัญหา-ความเสี่ยง-โอกาส และอนาคต

   
search resources

อุตสาหกรรมไหมไทย, บจก
จิม ทอมป์สัน
วิลเลียม เอ็ม บู๊ทซ์




เส้นทางเดินบนถนนสายไหมของผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน นั้นเริ่มจากศิลปหัตถกรรมในชุมชนแห่งหนึ่งของเมืองไทยที่ค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นอุตสาหกรรมไหมอย่างครบวงจร ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก การสะสมประสบการณ์ของงานด้านออกแบบ การผลิตที่มีคุณภาพ และการจัดการทางด้านการตลาดอย่างเป็นระบบนานเกือบ 50 ปีคือบทเรียนการทำธุรกิจที่มีค่ายิ่ง

จิม ทอมป์สันใช้เวลากว่า 20 ปี พัฒนาการทอผ้าด้วยกี่ทอมือ จนเป็นโรงงานทอผ้าด้วยมือที่ใหญ่ในโลก พร้อมๆ กับ การทุ่มเงินซื้อเครื่องจักรทอผ้าที่ทันสมัยประสิทธิภาพสูง มาเพิ่มผลผลิตจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นและกำลังทยอยสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เกิดเป็นคำถามขึ้นมาทันทีว่าจุดขายของผ้าไหม จิม ทอมป์สัน ซึ่งเป็นผ้าทอมือที่แทบจะไม่เหมือนใครในโลกนั้น กำลังจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรหรือไม่? เพราะอะไร?

การหว่านเม็ดเงินมหาศาลเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้าไหมตั้งแต่ต้นด้วยการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และวิจัยสายพันธุ์ไหมเอง จนยากที่จะมีผู้ค้าไหมรายอื่นเรียนรู้และตามได้ทันนั้น กลับเป็นปัญหาสำคัญในการเพิ่มต้นทุนของเขาหรือไม่?

ความสำเร็จของกระบวนการผลิตเป็นเรื่องความภาคภูมิใจ ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ของวันวาน แต่ ...จิม ทอมป์สัน จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าท่ามกลางเม็ดเงินลงทุนมหาศาลนั้น พรุ่งนี้จะขยายตลาดอย่างไร? และจะขายของให้กับใคร !?

วิลเลียม เอ็ม บู๊ทซ์ กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันเคยเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้กับผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน ด้วยการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมไหมที่ครบวงจร และบุกตลาดโลกอย่างแท้จริง

อีริค บี บู๊ทซ์ หรือภวพันธ์ บุนนาค ลูกชายคนเดียว (จากภรรยาคนไทย) ของบู๊ทซ์ คือผู้ซึ่งกำลังจะเข้ามามีบทบาท ในการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง ด้วยแนวรบต่างๆ ด้านการตลาด ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


ภาคแรก

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2488 จิม ทอมป์สัน ซึ่งเป็นนายทหารอเมริกันผู้หนึ่งได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อทำงานให้กับรัฐบาลอเมริกัน หลังจากที่พำนักในเมืองไทยได้ประมาณ 3 ปีกว่า จิมได้ทำในสิ่งที่เขาไม่คาดคิดมาก่อนคือตัดสินใจลาออกจากราชการ แล้วยึดเอาประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 นับแต่นั้นมา

จุดหักเหครั้งสำคัญของชาวอเมริ-กันวัย 40 ปีคนนี้เป็นเพราะว่าเขาได้มาพบการทอผ้าไหมไทยและหลงใหลมันเป็นอย่างมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา จิม ทอมป์สันเป็นคนที่สนใจในเรื่องงานศิลปะแม้จะเป็นทหารแต่ก็เรียนจบมาทางด้าน อาคิเต็ค ดีไซน์ ที่มหาวิทยา-ลัยบอสตัน

ณ เวลานั้นจิมไม่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ในการผลิตผ้าไหมไทยแม้แต่น้อย มีเพียงความรู้พื้นฐานและคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญ 3 ประการคือ ความปราดเปรื่องในเรื่องการใช้สี การมีพรรคพวกเพื่อนฝูงคนดังผู้มีอิทธิ พล อยู่ในวงการแฟชั่นของมหานครนิวยอร์ก และความหลงใหลติดใจเสน่ห์ ของผ้าไทย

เพียงคุณสมบัติทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมานั่นเองที่ทำให้เขานำบริษัทผลิต และค้าไหมไทยให้ประสบความสำเร็จที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้ในกาลต่อมา และ ตัวเขาเองกลายเป็น King Of Thai Silk และเป็นซูเปอร์เซลส์แมนแห่งเอเชียที่หาคนเทียบได้ยากแม้ปัจจุบัน

จิมพบการทอผ้าไหมครั้งแรกที่ ชุมชนบ้านครัวในกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวอิสลามที่ทอผ้าไหมเป็นงานอดิเรก เขาได้เข้าไปส่งเสริมเรื่องการทอและรับซื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนบ้านครัวเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมให้กับจิม ทอมป์สันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และตัวของจิมเองได้เป็นดีไซเนอร์คนแรกของบริษัท โดยเป็นผู้กำหนดสี กำหนดลาย ให้ชาวบ้านทอตาม (อ่านประกอบในเรื่องดีไซ- เนอร์ อิทธิพลสำคัญของความสำเร็จ)

การสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างชุมชนกับการทำธุรกิจที่ดี และการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามาถือหุ้นในบริษัทด้วย คือปัจจัยสำคัญของความ สำเร็จในช่วงแรกของจิม ทอมป์สัน (วิรัตน์ แสงทองคำ เขียนไว้ในเรื่อง "จิม ทอมป์สัน บทเรียนอันมีค่าของธุรกิจไทย" ผู้จัดการรายวัน)

การทำตลาดในยุคแรกนั้นจิมยึด ตลาดในเมืองไทยเป็นหลัก ด้วยความ ที่เป็นนายทหารที่มาจากครอบครัวชั้นสูงของอเมริกา การเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ของเขา ก็เลยได้มีโอกาสรู้จักและเข้าสังคมกับบรรดาชาวต่างชาติอยู่แล้ว และ คนกลุ่มนี้เองที่ได้ซื้อผ้าไหมของจิม ทอมป์สัน กลับไปเผยแพร่ในซีกโลกตะวันตก ส่วนการเดินทางไปทำตลาดต่างประเทศจริงๆ ในช่วงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายนัก เพราะต้องใช้เวลานาน กว่าสมัยนี้ และเครื่องบินที่ใช้ก็มีขนาดเล็กและด้อยประสิทธิภาพ ว่ากันว่าวันไหน นายห้างกลับไปอเมริกา เพื่อนำผ้าไหมติดตัวไปขายด้วยนั้น จะมีพนักงาน มาส่งเป็นเรื่องใหญ่กันเลยทีเดียว

แต่ในการเดินทางเที่ยวหนึ่งของเขา ไหมไทยอันงดงามจากดินแดนลี้ลับ จากโลกตะวันออก ได้มีโอกาสเปิดเผย ตัวเองให้เป็นที่รู้จักกับชาวโลกมากขึ้นเมื่อบรรณาธิการนิตยสาร "โวค" นิตยสาร แฟชั่นอันลือชื่อและทรงอิทธิพลได้รับซื้อไว้สำหรับออกแบบเสื้อผ้าให้นางแบบของเขาถ่ายแฟชั่นขึ้นปก

เมื่อชื่อเสียงของไหมไทยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็ได้สร้างความมั่นใจให้กับจิม ในการขยายกิจการประจวบกับช่วงนั้นเองเพื่อนเก่าคนหนึ่งของจิม คือ จอร์จ แบรี่ ซึ่งเป็นนักธุรกิจการเงินและนักค้าที่ดิน ชาวแคลิฟอร์เนียได้ เข้าร่วมถือหุ้นในการลงทุนด้วย บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย ซึ่งผลิตผ้าไหม จิมทอมป์สันจึงได้เกิดขึ้น ดำเนินธุรกิจอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2494 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท แบ่งออกเป็น 500 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท และเปิดร้านเป็นรูปเป็นร่างจริงจังขึ้นครั้งแรกบนถนน เจริญกรุง ถัดมาอีก 5 ปี จึงได้ขยายกิจการเช่าตึกแถว 2 คูหาตรงข้ามฝั่งร้านเดิม

กรรมการผู้จัดการบริษัทคนแรกคือ มจ.สนิธ รังสิต สมัยต่อมาเป็นท้าวแพง ชนะนิกร และจิม ทอมป์สันเอง (สุปราณี คงนิรันดรสุข เขียนไว้ในนิตย สารผู้จัดการ ปี 2533)

แต่แล้ววันหนึ่งในปี 2510 โศก นาฏกรรมอันน่าสลดใจก็เกิดขึ้น เมื่อจิมและเพื่อนๆ ที่สนิท ได้เดินทางไปพักผ่อนที่ในป่า บริเวณคาเมรอน ไฮแลนด์ ทางตอนเหนือของประเทศมา-เลเซีย ในบ่ายของวันที่ 3 แห่งการพักผ่อน ในขณะที่ทุกคนกำลังนอนพักอยู่ที่บ้านพัก จิม ทอมป์สัน ได้ออกไปเดินเล่นคนเดียว และ...หายไป โดยปราศจากร่องรอยใดๆ ถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว

นั่นคือจุดจบแห่งชีวิตของราชาไหมไทย แต่ธุรกิจของเขายังดำเนินต่อเนื่องมาอีกยาวนานและมั่นคงบนรากฐาน ที่เขาปูวางไว้ให้อย่างไม่น่าเชื่อ

( เรื่องราวชีวิตของจิม ทอมป์สัน หาอ่านได้จากหนังสือ ของ WILLIAM WARREN ที่พิมพ์โดย Jim Thompson Thai Silk., ปี 2526)


ภาคสอง

หลังจากการหายตัวไปของจิม ทอมป์สัน กิจการของของบริษัทกลับรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จากยอดขายปีละ ไม่กี่สิบล้านในปี 2510 ทะยานขึ้นเป็น 455 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2529 และทะลุยอดขาย 1,000 ล้านบาทไปแล้วหลายปี ในปี 2541 ที่ผ่านมายอดขายของจิม ทอมป์สันอยู่ที่ 1,450 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัว เลขที่สูงที่สุดนับจากตั้งบริษัทมา 48 ปี

จากงานหัตถกรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชนบ้านครัวชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองไทย ได้แปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมไหม ที่มีการลงทุนอย่างครบวงจร และกำลังถูก จับตามองจากตลาดโลก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทเกิดขึ้นเมื่อปี 2521 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทได้เปิดโรงงานทอผ้าขึ้นมาเองเป็นครั้งแรก จากกี่ทอมือเพียง 20 กว่ากี่ใน โรงงานขยายเป็นพันกว่ากี่ในวันนี้ จนกล่าวได้ว่าเป็นโรงงานทอผ้าไหมด้วยมือ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมื่อประมาณปี 2532 ก็มีการลงทุนอย่างมหาศาล อีกครั้งในการซื้อพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อป้อนโรงงานที่ต้องใช้รังไหมถึง 400 ตันต่อปี

พร้อมกันนั้นก็ได้สั่งทยอยซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย มาจากประเทศ เยอรมนีจำนวนกว่า 30 เครื่องและเมื่อปี 2539 ได้สั่งซื้อเครื่องจักรอิเล็กทรอ นิกส์ที่มีระบบควบคุมด้วยเครื่องคอม พิวเตอร์ทั้งหมด และในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ไปจิม ทอมป์สัน ยังมีแผน การสั่งเครื่องจักรมาจากต่างประเทศเพิ่ม ขึ้นอีกประมาณ 50 เครื่อง

ภาพการเร่งรีบสร้างอาคารหลังใหม่ในโรงงานที่อำเภอปักธงชัยในวันนี้ เพื่อให้เป็นที่ตั้งเครื่องจักรที่กำลังสั่งซื้อเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าจิม ทอมป์สัน ยัง ไม่ยอมหยุดนิ่งในเรื่องการลงทุน

โครงสร้างการจัดการทางด้านธุรกิจของจิม ทอมป์สัน และบุคลากร ที่สานต่อเจตนารมณ์ของเขาจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ทีเดียว

ชาร์ล ยู เจฟฟิลด์ คือผู้บริหาร คนหนึ่งในยุคต้นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้เป็นผู้ดูแลรักษาการบริษัทแทนนายห้างจิมชั่วคราว เพราะในช่วงเวลานั้น ทุกคนก็ยังคาดหวังว่าจิมจะกลับมา เจฟฟิลด์อยู่ได้เพียง 3 ปี ก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในขณะที่ข่าวคราวจิม ทอมป์สัน เองก็ยังไม่มีร่องรอยใดๆ ทั้งสิ้นที่แสดงว่าเขามีชีวิตอยู่

วิลเลียม เอ็ม บู๊ทซ์คือกรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่ขึ้นมารับตำแหน่งแทน ที่เจฟฟิลด์ เมื่อประมาณปี 2516 เวลานั้นบู๊ทซ์มีอายุ 35 ปีและยังอยู่ในตำแหน่ง นานถึง 26 ปี เป็นเวลาที่มากกว่าจิม ทอมป์สันด้วยซ้ำไป จนถึงปัจจุบันเขาอายุประมาณ 61 ปี บู๊ทซ์หรือ "นาย" จึงเป็นผู้ที่สำคัญมากๆ ในการวางแผนงานทางด้านการตลาด และการบริหารงานทั้งหมดจนบริษัทประสบความสำเร็จและ มีความก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน

บู๊ทซ์คือผู้นำยุคสองที่ยาวนานและต่อเนื่องมากที่สุด รวมทั้งได้สร้างอาณาจักรไหมไทยอย่างเป็นระบบ มีวิธีคิดในลักษณะอุตสาหกรรมอย่างรากฐานซึ่งถือเป็นยุคต่อเนื่องที่สำคัญมาก

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าบู๊ทซ์จะเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากนัก เป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทอย่างเงียบเชียบ

อดีตของบู๊ทซ์เป็นทหารผ่านศึกสงครามเกาหลีเดินทางเข้ามาในประเทศ ไทยตั้งแต่ปีพ.ศ.2506 ขณะนั้นเขาอายุประมาณ 26 ปี เมื่อได้มาพบนายห้างจิม ก็ถูกชวนให้เข้าทำงานด้วยโดยเข้ามาช่วยดูทางด้านการตลาด เขาจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจจากอเมริกา บู๊ทซ์ มีภรรยาคนแรกเป็นคนไทยชื่อ พัฒศรี บุน-นาค มีลูกชาย 1 คนชื่อ อีริค หรือ ภวพันธ์เมื่อหย่าขาดกับภรรยาคนแรกได้แต่งงานอีกครั้งกับ ม.ร.ว.วิภานันท์ รังสิต และมีธิดา 1 คนคือ ปริศนา ดอรา รังสิต บู๊ทซ์

"บู๊ทซ์ เป็นคนที่ไปไหนมาไหน กับนายห้างจิมมาด้วยตลอด ไปติดต่อลูกค้าที่ไหนก็ไปด้วยกัน ตอนนี้แกเป็นคนไทยไปแล้ว เพราะอยู่เมืองไทยมีภรรยาเป็นคนไทยมากว่า 30 ปี" คนเก่าแก่คนหนึ่งของจิม ทอมป์สัน เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ปัญหาอย่างแรกที่เกิดขึ้นหลังจากการหายไปของนายห้างจิมก็คือ บรรดาชาวบ้านในชุมชนบ้านครัวที่เคยเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ เริ่มขาดความเชื่อมั่นในการที่จะทอผ้าส่งให้บริษัท ประกอบกับวัฒนธรรมใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ฐานสำคัญในการผลิตผ้าไหมเปลี่ยนไป

ฐานการผลิตแห่งใหม่ของจิม ทอมป์สัน ย้ายไปปักหลักที่อำเภอปัก ธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็น แหล่งที่บู๊ทซ์รู้จักดี เพราะเคยไปอยู่ตอนที่มีสงครามเกาหลี และเคยเข้าไปพบว่าเป็นแหล่งทอผ้าไหมแหล่งใหญ่ของเมืองไทย

บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงเวลานั้นคือสุรินทร์ ศุภสวัสดิพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ที่ดูแลหลักเรื่องการผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน

สุรินทร์ วัย 62 ปีคนนี้คือผู้บริหารที่สำคัญมากๆ ในการวางรากฐาน การผลิตให้กับบริษัท เป็นคนเก่าแก่ คนหนึ่งของบริษัทที่ทำงานมาตั้งแต่สมัยนายห้างจิมยังอยู่ และหน้าที่ส่วนหนึ่งของเขาตอนนั้นคล้ายๆ กับเป็นเลขาให้นายห้างจิมด้วยเพราะต้องคอยติดต่อประสานงานในเรื่องต่างๆ สุรินทร์ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ และได้เข้ามาสู่บริษัทในวัยหนุ่มแน่น และเขาได้ไต่เต้าจากเสมียนมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการผลิต จนเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลเรื่องการผลิตทั้งหมดซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องเหนื่อยมากในการเริ่มต้นทำงานในชน บทที่ห่างไกลและกันดารเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าพลังในการทำงานของเขาวันนี้ไม่ได้ถดถอยไปเลย

ทุกๆ อาทิตย์ในสมัยนั้นหลังจาก พวกทหารเข้ามาสร้างถนนสายมิตรภาพไว้ให้ สุรินทร์จะนั่งแท็กซี่ที่เข้ามารับพวกทหารจีไอจากโคราชเข้ากทม. เมื่อ รถแท็กซี่ถึงโคราชเขาก็จะนั่งรถกระบะขนของป่าของชาวบ้านมาที่ปักธงชัย ใช้เวลาเดินดูการทอผ้า เข้ามาสอนย้อมสี สอนลายทอผ้าให้กับชาวบ้าน พอตกกลางคืนก็นอนค้างกับพวกชาวบ้านนั่นเอง

สุรินทร์ใช้วิธีการเดียวกับนายห้างจิมที่เคยทำไว้ที่ชุมชนบ้านครัวคือการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน หลังจากนั้นก็ได้ชักชวนให้ชาวบ้านทอผ้าส่งให้กับบริษัทปีแรกๆ ก็สามารถรวบรวมชาวบ้านได้ประมาณ 40 หลัง โดยแต่ละ อาทิตย์จะมีใบสั่งว่าบ้านหลังไหนทอผ้าลายอะไร สีอะไร เป็นจำนวนเท่าไหร่ และเขาเองก็ใช้วิธีเดินจากบ้านนั้นออกบ้านนี้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพด้วยตาของตัวเอง

สุรินทร์ใช้วิธีนี้ในการทำงานอยู่เกือบสิบปี จนถึงปี 2521 แล้วบริษัท จึงได้ขยายเป็นโรงงานทอผ้าขึ้น เพื่อความสะดวกในการผลิต และการควบ คุมคุณภาพเพราะจำนวนผ้าที่ต้องการ เริ่มมีมากขึ้น

จากโรงงานเล็กๆ ในตึกแถวของ ตลาดปักธงชัยที่มีกี่ทอผ้าในโรงงานเมื่อ แรกเริ่มเพียง 20 ปี ที่สุรินทร์ได้เอาคนจากแผนกทอผ้าในกรุงเทพฯ มาประจำที่นี่ทั้งหมด เพื่อหาประสบการณจากชาวบ้านรวมทั้งฝึกการทอผ้าให้กับพนักงานใหม่ๆ จนกระทั่งเมื่อปี 2523 จึงได้ย้ายมาเปิดโรงงานบนที่ดินในปัจจุบันเป็นครั้งแรก

กี่ทอมือจากใต้ถุนบ้านของชาวบ้านถูกพัฒนาให้ทอได้ดีขึ้น และถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในโรงงานเช่นเดียวกับเจ้าของกี่ ซึ่งกลายมาเป็นลูกจ้างของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

และในปีนั้นเองที่คอลเลกชั่น จิม ทอมป์สัน ได้เริ่มต้นอย่างจริงจังขึ้น ผ้าทุกเมตรถูกประทับตราด้วยคำว่าจิม ทอมป์สัน เพราะก่อนหน้านี้บางครั้งการเอาสินค้าไปขายได้อาศัยชื่อลูกค้าที่เอาไปฝากขาย หรือการไปเปิดบริษัทที่อเมริกา ก็ใช้ชื่อผ้าไหม "ไทยบล็อค" เพราะคำว่าจิม ทอมป์สัน ยังไม่แพร่ หลายมากมายนัก

ในปี 2521 เช่นกันก็ได้ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหม และพิมพ์ผ้าขึ้น โดย ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ที่ถนนเทพารักษ์ สมุทรปราการ ต่อมาในปี 2538 ได้ขยาย กำลังการผลิต และย้ายโรงงานไปอยู่รวมกันที่อำเภอปักธงชัย การเปลี่ยน แปลงครั้งนี้ทำให้มีการพัฒนาการพิมพ์ ที่ทันสมัยขึ้นจริงๆ แล้วการพิมพ์ผ้าสมัย นายห้างจิมมีชีวิตอยู่ก็มีการเริ่มต้นบ้างแล้ว แต่คุณภาพยังไม่ดีพอพิมพ์แล้วเปื่อย ทำให้มีผ้าส่งคืนมาเป็นจำนวนมาก แต่คราวนี้บริษัทได้ซื้อกิจการต่อมาจาก หจก.ชูพันธ์อุตสาหกรรม และร่วมลงทุนกับบริษัท ทาวนุส ซึ่งมีเทคนิค ในเรื่องเครื่องจักร ย้อมผ้า พิมพ์ผ้า และอาบน้ำยา ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีหลากหลายยิ่งขึ้น

และเมื่อเร็วๆ นี้ทางบริษัทได้สั่งซื้อเครื่องฟอกย้อมที่มีประสิทธิภาพสูงจากประเทศอิตาลี การพัฒนาเรื่องเทค นิคใหม่ๆ ในการฟอกย้อม เทคนิคการผสมสีให้สวยงามและมีความคงทนเป็น เรื่องที่กำลังพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับการสั่งเครื่องพิมพ์ผ้าที่คุณภาพดีมาจากอิตาลีอีกเครื่องหนึ่ง ซึ่งสามารถพิมพ์ได้แนบเนียนและคมชัด ซึ่งเครื่องพิมพ์ตัวนี้นอกจากใช้พิมพ์ผ้าไหมของบริษัทเองแล้ว เสื้อผ้าแบรนด์
เนมดังอื่นๆ ก็ได้มาว่าจ้างพิมพ์ที่นี่ด้วย เช่น ยี่ห้อไนกี้ และกีลาโรช

จิม ทอมป์สัน ได้เพิ่มทุนครั้งที่ 2 ในปี 2528 เป็น 20 ล้านบาท

จากยอดขายตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในปี 2531 บริษัทอุตสาหกรรมไหม ไทยได้ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้งโดยการซื้อพื้นที่ปลูกหม่อนประมาณ 600 ไร่ ถัดมาอีก 1 ปีได้ขยายฟาร์มหม่อนไหมขึ้นอีกแห่งหนึ่งพื้นที่ 2,400 ไร่เพื่อให้การทำอุตสาหกรรมครั้งนี้ครบวงจรสมบูรณ์แบบมากขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ทำให้จิม ทอมป์ สัน ต้องลงทุนในการสร้างฟาร์มหม่อนไหม ลงทุนทางด้านการวิจัยพันธุ์ไหม และสร้างโรงสาวไหมเอง เพราะว่าต้อง การควบคุมคุณภาพ ของผ้าไหมตั้งแต่ต้น และเพื่อความมั่นใจว่าจะมีแหล่งของไหมมากพอที่จะป้อนโรงงานที่ต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี

ปัจจุบันบริษัทต้องการรังไหมดิบถึง 400 ตันต่อปี แต่ทางฟาร์มหม่อน ไหมเพิ่งผลิตได้จริงเพียง 5% เท่านั้น ทางออกก็คือต้องขายพันธุ์ไหมให้กับชาวบ้านไปเลี้ยง และรับซื้อรังไหมสด ป้อนสู่โรงงานทอผ้าอีกครั้งหนึ่งซึ่งด้วยวิธีการรับซื้อรังไหมจากชาวบ้านนี้ทำให้บริษัทควบคุมราคาไม่ได้ และเมื่อเอารังไหมที่ชาวบ้านนำมาขายมาสาวในโรงงานที่ลงทุนสร้างอย่างทันสมัยกลับพบว่า เป็นไหมที่ดีจริงแต่สาวได้สั้นบ้าง เส้นขาดบ้าง ปัญหาทั้งหมดนี้ มีผลให้ต้นทุนส่วนหนึ่งของการผลิตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน (อ่านเรื่องประกอบ-ฟาร์มหม่อนไหมการลงทุนราคาแพง)

จิม ทอมป์สัน อาจจะประสบความสำเร็จในเรื่องพัฒนาการด้านต่างๆ ของการผลิตที่เก็บเกี่ยวต่อเนื่องมานับ 10 ปีแต่ในขณะเดียวกันมันหมาย ถึงเม็ดเงินที่หว่านไปแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท แต่บทสรุปกลับอยู่ตรงที่ว่าวันนี้เขายังมีปัญหาเรื่องการต้นทุน ที่สูงเช่นเดียวกับต้นทุนของแรงงานคนที่จำเป็นต้องใช้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลูกหม่อน เลี้ยงไหม หรือการทอผ้า

"การลดต้นทุนการผลิตเป็นเรื่อง ที่ต้องแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามเรายังพัฒนา ในเรื่องนี้ต่อไป และหวังว่าสักวันหนึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงได้ จิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญเราทำงานกับชาวบ้านมานาน เขากับเราผูกพันกันจนแยกแทบไม่ออก " สุรินทร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทก็เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องเครื่องจักรทอผ้าที่ทันสมัยมากขึ้นด้วย

เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพเหล่า นี้สามารถทำงานทั้งวันทั้งคืนโดยทอผ้าได้ประมาณ 40,000 เมตรต่อเดือน ในขณะที่แรงงานคนทอทั้งวันได้คนละประมาณ 4-5 เมตร หรือเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 100 เมตรต่อคนเท่านั้น ถึงแม้ผู้บริหารของจิมฯ จะยืนยันว่าเครื่อง จักรเหล่านั้นเอามาใช้ทอในงานที่ต้อง การลายที่มีความละเอียดเพื่อจะได้สร้าง งานที่หลากหลายขึ้นโดยสินค้าส่วนใหญ่ของจิมฯ จะคงความเป็นไหมที่ทอมืออยู่เช่นเดิม และการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรทั้งหมด เป็นไปได้ยากเพราะ ระบบเทคโนโลยีทางด้านการทอผ้าด้วยเครื่องจักรนั้นต่างประเทศพัฒนาการ ได้รวดเร็วมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ศักยภาพที่น่ากลัวของเจ้าเครื่องมือที่ทันสมัย และความกดดันในเรื่องต้นทุนกำลังเป็นคำถามว่า จุดขายของความเป็นศิลปะในงานหัตถกรรมของผ้าไหมไทยจิม ทอมป์ สัน ที่เป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิมนั้นกำลังจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรเฉกเช่นเดียวกับผ้าไหมของผู้ค้ารายอื่นๆ หรือไม่ในสหัสวรรษหน้า

ความสำเร็จทั้งหมดของการผลิต คือประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจของวันวาน แต่พรุ่งนี้จิม ทอมป์สัน จะต้องตอบให้ได้ว่าจะต้องทำตลาดอย่างไรให้ขายได้มากขึ้น เพราะนั่นคือหัวใจที่สำคัญที่สุด

พร้อมๆ กับการสร้างงานอย่างมีประสิทธิภาพ จิม ทอมป์สันก็มุ่งในเรื่องสร้างคนด้วย ในโรงงานทั้งที่ปักธงชัย ระดับหัวหน้าคนงานส่วนหนึ่งคือพนักงานรุ่นแรก ที่เข้ามาดูกี่ทอผ้า 20 ตัวแรก

จริยา มีชื่น ผู้จัดการดูแลฟาร์มหม่อนไหม จบจากมหาวิทยาลัยเกษตร แม่โจ้ ก็ได้เข้ามาร่วมงานกับบริษัทตั้งแต่เริ่มต้นทำฟาร์มใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2531 ธำรง สวัสดิ์วราห์กุล ผู้จัดการผู้ดูแลงานทั้งหมดที่โรงงานปักธงชัย มือขวาคนสำคัญของสุรินทร์ในการดูแลเรื่องกำลังการผลิต ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทั้ง สุรินทร์และบู๊ทซ์ไปคัดเลือกมาด้วยตัวเองจากเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ แล้ว ส่งไปเรียนต่อเรื่องพิมพ์ผ้า ย้อมสีที่เมืองนอกอีก 3 ปี ก่อนกลับมาช่วยงานที่บริษัทที่ปักธงชัย

นอกจากนั้น ยังมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อีกหลายคนที่กำลังเรียนรู้งานจากผู้มีประสบการณ์เก่าๆ อย่างต่อเนื่อง

"ที่นี่จะมีคนเก่าเยอะทำงานกันนานๆ หลายคน เขารักษาและเลี้ยงคนโดยใช้ทั้งพระเดช และพระคุณ" พนัก งานคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง พร้อม ทั้งย้ำให้เห็นภาพว่าเกือบ 50 ปีของโรงงานนี้ไม่มีการสไตรก์หรือหยุดงานใดๆ ทั้งสิน มีบ้างก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่งานนั้น ผู้ที่มีบทบาทในการระงับปัญหา และเป็นที่เกรงใจของพนักงานมากก็คือคุณสุรินทร์

ส่วนกรรมการบริหารปัจจุบันของบริษัทที่สำคัญนอกจากบู๊ทซ์ และสุรินทร์แล้ว ยังมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีก 2 คนคือ อรศรี วังวิวัฒน์ ที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร และพิเชฐ บูรณสถิตย์พร ผู้ช่วยผู้จัดการคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ที่ดูแลเรื่องบัญชี และการบริหารทั่วไป

อรศรี เรียนตัดเย็บเสื้อผ้ามาจากฝรั่งเศส เดิมมีบริษัทที่รับตัดเสื้อผ้าไหมให้กับจิม ทอมป์สัน แต่ต่อมาทางจิมฯ ต้องการที่จะมีบริษัทเองเลยตั้งบริษัทซิลโก้การ์เม้นท์ขึ้นมา โดยดึงอร-ศรีเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นและดูแลบริษัท ส่วนพิเชฐ มีฐานะเป็นลูกเขยของอรศรี แต่เข้ามาร่วมงานกับจิม ทอมป์สัน มาประมาณ 20 กว่าปีแล้วเช่นกัน

บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย เพิ่มทุนอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2540 จาก 20 ล้าน เป็น 200 ล้านบาทเพื่อรอง รับการขยายตัวครั้งใหม่ ข้อมูลของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ระบุไว้ว่าปัจจุบันบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท (หรือ 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชำระเต็มมูลค่าแล้ว มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 2 ล้านหุ้น มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 123 ราย เป็นคนไทย 109 คน จำนวน 1,038,190 หุ้น เป็นต่างด้าว 14 ราย จำนวน 961,810 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท

หุ้นส่วนก็คือสัดส่วนเดิมกันไว้ โดยมีห้างโตกิวแห่งญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ที่สุด จากการรับซื้อจากตระกูลแบรี่ ซึ่งร่วมก่อตั้งจิม ทอมป์สัน แต่แรก ซึ่งต่อมามีความขัดแย้งถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาล ใน ที่สุดตระกูลแบรี่ จึงขายหุ้นประมาณ 24% ให้กับห้างโตกิว ซึ่งยังคงสัดส่วนนี้อยู่ อีกกลุ่มหนึ่งทริสตี้ของตระกูล
ทอมป์สันถือไว้ประมาณ 16% นอกจาก เป็นหุ้นในลักษณะ "เบี้ยหัวแตก" ส่วนใหญ่เป็นคนไทย โดยที่บู๊ทซ์และครอบ ครัวถือหุ้นในบริษัทน้อยมาก แต่เขาก็ยังมีบทบาทอย่างสูงในการบริหาร ที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุด และกำลังส่งผ่านให้ทายาทของเขาต่ออีกด้วย เป็นเรื่องที่น่าสนใจในเรื่องมืออาชีพยุคใหม่มากทีเดียว

ภาคสาม

ปี 2542 จิม ทอมป์สัน จัดทัพทุกอย่างเสร็จสรรพ และพร้อมที่จะเปิดฉากรบอย่างเต็มที่ เริ่มแรกด้วยการขยายตัวครั้งใหญ่ทางด้านการตลาดปีนี้ เป็นปีที่บริษัทหันกลับมามองตลาดคนไทยมากขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่จับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมาตลอด มีการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งเตรียมบุกตลาดต่างประเทศ ด้วยสินค้าใหม่ "จิม ทอมป์สัน ไลฟ์สไตล์" ด้วย

ในขณะที่สุรินทร์กำลังลุยงานด้านการผลิต วิลเลียม เอ็ม บู๊ทซ์ เป็นกำลังหลักในเรื่องการตลาด ซึ่งในช่วงแรกๆ ของการลุยงานด้านการตลาดนั้นบู๊ทซ์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับตลาดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นซึ่งมีนิสัยประจำตัวที่น่าสนใจก็คือ คนกลุ่มนี้เมื่อไปเที่ยว ประเทศไหน ต้องมีของฝากที่เป็น สัญลักษณ์ของประเทศนั้นเป็นของฝากลูกหลานและญาติพี่น้องเป็นจำนวน มาก ดังนั้นสินค้าที่ขายดีและเป็นการพัฒนาจากผลิตภัณฑ์ของผ้าไหมคือ พวกเสื้อเชิ้ต เนกไท ของขวัญ และของกระจุกกระจิกที่เรียกกันว่า ที่เรียกกันว่า "นิคแน็ค"

ตลาดของนิคแน็คนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ตลาดของผ้าไหม จิม ทอมป์สัน เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อๆ มาและปัจจุบันรายได้ของสินค้าประเภทนี้สูงถึง 75% จากสินค้าทั้งหมด

ปัจจุบันตลาดนิคแน็ค ของจิม ทอมป์สัน มีที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งจะตกแต่งร้านค้าเหมือนที่กรุงเทพฯ

สินค้าอันดับ 2 คือผ้าตกแต่งบ้าน ที่บู๊ทซ์ใช้เวลาที่ผ่านมาทั้งหมดโดยเฉพาะในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาสานต่อตลาดระดับโลก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และอิตาลี จนทุกวันนี้มีเอเยนต์ 30 แห่งทั่วโลก โดยทุกแห่งจะมีโชว์รูมที่จัดไว้เหมือนกับร้านค้าของจิม ทอมป์สัน บนถนนสุริวงศ์

ประสบการณ์ทั้งหมดของบู๊ทซ์ ในการทำตลาดผ้าไหมไทยให้เลื่องลือในตลาดโลก กำลังถูกถ่ายทอดให้กับ Eric B.Booth ลูกชายของเขา ซึ่งเข้ามาทำงานในตำแหน่ง Inter-national Marketing Manager คนคนนี้จึงเป็นผู้ที่กำลังก้าวมามีบทบาทสำคัญในบริษัทจิม ทอมป์สัน (อ่านประวัติ และเรื่องราวของเขาในล้อมกรอบ)

การเติบโตทางด้านการตลาดของจิม ทอมป์สัน นั้น บู๊ทซ์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากๆ จิมเป็นผู้เริ่มต้นบุกเบิกทำสินค้า และการตลาดในช่วงที่เขามีอายุได้เพียง 16 ปี แต่บู๊ทซ์ได้มาสานต่อพร้อมกับขยายงานเพิ่มเป็นอุตสาหกรรมจนครบวงจร ถึงวันนี้เขาอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการมาแล้วถึง 26 ปี และอาจจะถึงเวลาที่จะรีไทร์ตัวเองเพื่อให้บุตรชายของเขามารับตำแหน่งแทน โดยที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่น่ามีปัญหา เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายใหญ่จริงๆ ก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานอยู่แล้ว

ในยุคการเข้ามาทำตลาดของอีริคเองเป็นปีที่ประวัติ ศาสตร์ของบริษัทจะต้องบันทึกไว้เช่นกัน เพราะเป็นยุคที่หันกลับมาให้ความสำคัญกับคนไทยอย่างมาก เห็นได้ชัดๆ จากเมื่อก่อนบริษัทนี้จะทำงานกันอย่างเงียบๆ สื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์หรือทีวีต่างประเทศอาจจะมีโอกาสมากกว่า นักข่าวเมืองไทยในการเข้าไปเก็บภาพ หรือสัมภาษณ์ผู้บริหารไปเผยแพร่ในต่างชาติ

แต่วันนี้มีการจัดงานแถลงข่าวมีการลงโฆษณาประชา สัมพันธ์ในหนังสือไทยมากขึ้น ดูเหมือนว่าจิม ทอมป์สันยุคใหม่พยายามทุกวิถีทางที่จะให้คนคุ้นเคยกับสินค้าของจิม ทอมป์สัน มากขึ้นแทนที่จะมองว่าแบรนด์เนมนี้เหมาะสำหรับให้ทัวริสต์ต่างชาติเข้ามาซื้อหาจับจ่ายเท่านั้น

"เราพยายามที่จะให้คนไทยรู้ว่า นี่คือสินค้าไทยที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักไปทั่วโลก ดังนั้นคนไทยเองก็น่าจะเข้ามาดู"

เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานดังกล่าวปีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้พัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และมีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันเพื่อขยายให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จากสินค้าหลักซึ่งเคยมีเพียงผ้าไหม สำหรับตัดเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนกไท ผ้าพันคอ ปลอกหมอน สิ่งทอสำหรับตกแต่งบ้านและของขวัญกระจุกกระจิก (นิคแน็ค) เช่น กรอบรูป กระเป๋าสตางค์ ปลอกแว่นตา กล่องใส่เครื่องประดับแล้ว
ขณะนี้จิม ทอมป์สัน มีเสื้อยืด และชุดว่ายน้ำ กางเกงขาสั้นชายหาด กระเป๋าชายหาดที่ทำจากผ้าใบทั้งชนิดบางและหนา มีของเล่นที่เป็นตุ๊กตาหมีที่ทำจากกำมะหยี่และผ้าไหมผสมฝ้ายจากสิ่งทอตกแต่งบ้าน ช้างทำจากผ้าไหม และผ้าฝ้ายผสมอันมีชื่อของจังหวัดระนอง มีกระเป๋าถือที่ทำจากสิ่งทอเพื่อการตกแต่งบ้านและทำจากหนัง ผลิตภัณฑ์นี้ของบริษัทผลิตขึ้นเพื่อสนองตอบรสนิยมของลูกค้าโดยเฉพาะ เช่น หนังวัวจากสเปน หนังแกะและแพะ มาจากโรงฟอกหนังทางตอนใต้ของฝรั่งเศส

แม้แต่สินค้าที่มีผลพลอยได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากปักธงชัย บริษัทก็ยังนำมาเป็นรายได้เข้ากระเป๋าใน รูปของคุกกี้และชาใบหม่อน ซึ่งมีขายใน จิม ทอมป์สัน คาเฟ่ มุมกาแฟบนชั้น 3 ของร้านจิม ทอมป์สัน มุมถนนสุริวงศ์

เช่นเดียวกับเรื่องการปรับตัวในเรื่องราคาหากใครไม่ได้แวะเวียนเข้าไปในร้านของ จิม ทอมป์สัน เองมานานแล้วล่ะก็จะไม่รู้ว่าทุกวันนี้เสื้อผ้าแบรนด์ เนมชื่อดังนี้ มีตั้งแต่ราคาเริ่มต้นที่ 500 กว่าบาทขึ้นไป

ไม่ได้หมายความว่าราคาของ จิม ทอมป์สัน ลดลง เพียงแต่สินค้าของเขาจับกลุ่มลูกค้าหลายระดับมากขึ้น แทนที่จะเป็นระดับกลางค่อนข้างสูงขึ้นไปอย่างที่เคยเป็นมา

ไม้เด็ดครั้งล่าสุดที่ใช้รุกสังคมชั้นสูงในเมืองไทยซึ่งอีริคได้เข้ามาจัดการ คือเรื่องแฟชั่นโชว์ดึงเอาดีไซเนอร์ชื่อดัง "นคร สัมพันธารักษ์" เจ้าของร้าน "นาการ่า" ซึ่งมีชื่อเสียงมากในการออกแบบเสื้อผ้า ที่ทำด้วยผ้าไหมของจีนมาทำโครงการ "NAGARA FOR JIM THOMPSON" โดยมีการออกแบบชุดลำลอง และชุดราตรีสำหรับสุภาพบุรุษและสตรี ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และใช้ได้หลายโอกาสใน เนื้อผ้าไหมของจิม

กลยุทธ์ครั้งนี้ของจิมฯ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้นครทำตลาดได้กว้างขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่เมื่อก่อนลูกค้าต้อง การเสื้อเขาก็ต้องไปสั่งตัดที่ร้าน หรืออาจจะมีเสื้อผ้าที่ตัดไว้ขายแล้วจำนวนไม่มากนัก มีขนาดมาตรฐานประมาณ 5 ขนาด และตัดไว้เป็นจำนวนไม่มากเพราะหากขายไม่ได้เสื้อผ้าก็จะเหลือเก็บเยอะ รวมทั้งดูแลบริหารจัดการด้วย ตัวเองใหม่หมดเมื่อมาร่วมงานกัน ทางอีริคได้ขอให้เขาทำเสื้อผ้าในราคาถูกลงมีขนาดหลากหลายขึ้น มีแบบมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน จัดการเรื่องการตลาดให้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ด้วย

เช่นเดียวกับที่อีริคได้มีโอกาสผูก ความสัมพันธ์กับเจริญ สิริวัฒนภักดีเพื่อให้สินค้า เบียร์ช้าง ของเจริญ สิริ-วัฒนภักดี เข้ามาร่วมเป็นสปอนเซอร์ ในการจัดงานแฟชั่นโชว์ด้วย เจริญให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะแน่นอนว่างานครั้งนั้น เป็นการยกระดับของเบียร์ช้างให้เป็นที่รู้จักในวงสังคมชั้นสูงด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดคือแผนการด้านการตลาดในประเทศ แต่ในตลาดต่างประเทศในปี 2000 นั้น จิม ทอมป์สันจะบุกตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของจิม ทอมป์สัน โดยเน้นไปที่สินค้าหลายอย่างในการตกแต่งบ้าน ทั้งสินค้าในเมืองไทยและเอเชีย

อีริคมั่นใจว่าในสหัสวรรษใหม่ที่จะถึงนี้ ไลฟ์สไตล์ของคนเอเชียจะเป็นที่สนใจและยอมรับของคนทั่วโลกมากขึ้น เขาเล่าว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิด ในเรื่องสินค้าใหม่ ก็คือตัวของนายห้างจิมเอง ที่เป็นฝรั่งแต่มาหลงรักวัฒน ธรรมของคนเอเชีย โดยที่สิ่งของเครื่องใช้บางอย่างนั้นสามารถเอามาปรับปรุงเพื่อใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่มีความเป็นฝรั่ง หรือไทยอย่างใดอย่างหนึ่งมากไป

ตัวอย่างที่อีริคชี้ให้เห็นชัดๆ ก็คือ บ้านไทยที่พิพิธภัณฑ์ของจิม ทอมป์สัน ที่หลายอย่างเอามาปรับปรุงใหม่เพื่อให้ฝรั่งอย่างเขาสามารถใช้อยู่อาศัยได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

"อย่างเช่นหากเราจะทำเก้าอี้ เก้าอี่ตัวนั้นจะวางได้หมด ไม่ว่าบ้านในไทย ญี่ปุ่น หรืออเมริกา อย่างหมอนสามเหลี่ยมซึ่งเป็นไทยมากไปเราก็ไม่ใช้ แต่เป็นหมอนแบบฝรั่ง ทำด้วยผ้าไทย ดีไซน์หน้าตาแบบไทยๆ" อีริค อธิบาย

สินค้าในช่วงเริ่มต้นนั้น จะเน้นไปยังเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น ผ้าปู โต๊ะ ผ้าเช็ดมือ ถ้วยชาม ช้อน รวมไปถึงเครื่องใช้ในห้องนอน ผ้าปูเตียง ผ้าคลุม รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ด้วยซึ่งหมายถึงว่าเมื่อก้าวเข้าไปในร้านจิม ทอมป์สัน ไลฟ์สไตล์แล้วสามารถเลือกซื้อสินค้าไปตกแต่งห้องได้ทันที

ก้าวใหม่ของจิม ทอมป์สัน กำลังเดินตามรอยสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังบางตัวเช่น "แอร์เมส" สินค้าชื่อดังของโลกที่มีที่มาจากร้านเล็กๆ บนถนน Faubourg-Sain-Honore" ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1837 เริ่มแรกนั้นแอร์ เมสเป็นร้านผลิตอานม้า และเครื่องใช้สำหรับขี่ม้าโดยเฉพาะ ปี 1879 เริ่มผลิตกระเป๋าเดินทางและเครื่องใช้ในการเดินทาง เช่น เตียงสำหรับแคมปิ้ง รวมทั้งสินค้าที่ผลิตด้วยหนังโมร็อคโค

ปี 1947 ผ้าไหมของแอร์เมสเริ่มวางตลาด และได้รับความนิยมอย่างมาก นับแต่นั้นมาสินค้าของแอร์เมสก็เริ่มหลากหลายขึ้น เช่น นาฬิกาตั้งโต๊ะ นาฬิกาข้อมือ และได้ขยายกิจการไปที่น้ำหอม และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร

เพื่อพัฒนาสินค้า 2 ตัวคือน้ำหอม และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร แอร์เมสซื้อหุ้นของบริษัท POCHET ซึ่งผลิต คริสตัลของ Saint-Louis รวมทั้งหุ้นของ Puiforcat ซึ่งผลิตเครื่องเงิน แอร์เมสกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททั้งสองและสามารถทำตลาดใหม่ได้รวดเร็วขึ้น และใช้กฎเกณฑ์เดียวกันเพื่อให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐานสูง ควบคุมการจำหน่าย และความคิดสร้างสรรค์ ส่วนการตกแต่งร้านในเรื่องงานสถาปัตยกรรม และการอบรมพนักงานทั้งหมดควบคุมโดยบริษัทแม่

ความสำเร็จจุดหนึ่งของแอร์เมส คือการควบคุมสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์ใหม่ของจิม ทอมป์สัน ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นบริษัทไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าเองทั้งหมด ชิ้นไหนที่เป็นผ้า เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง ม่าน ก็คือผ้าไหมที่มีอยู่แล้วแต่เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารนั้นก็ใช้วิธีคัดเลือกสินค้าที่ดีจากโรงงาน รวมถึงการดีไซน์สินค้าใหม่ แล้วประทับคำว่าจิม ทอมป์สัน ประกัน คุณภาพ

ในเบื้องต้นบริษัทยังไม่ลงทุนสร้างโรงงานเอง แต่หากเมื่อไหร่ยอดขายเพิ่มขึ้นวิธีการที่ดีที่สุดในการควบ คุมคุณภาพสินค้าจำนวนมากนั้นเชื่อได้เลยว่าจิม ทอมป์สัน ต้องหาโรงงานใหม่ เพื่อผลิตสินค้าตัวใหม่นี้ หรืออาจจะใช้วิธีเข้าไปเป็นหุ้นใหญ่ในบริษัทผลิต ภัณฑ์ดังๆ ดังที่มีอยู่ก่อนแล้วเช่นเดียวกับวิธีการของแอร์เมส

แผนการของสินค้าใหม่ ไลฟ์สไตล์จิม ทอมป์สัน

ขณะนี้กำลังเดินหน้าและคาดว่าทุกอย่างจะลงในปลายปีหน้า โดยจะเปิดตัวในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ รวมทั้งเปิดแสดงสินค้าในดีพาร์ตเมนต์สโตร์ทั่วไปในต่างประ เทศด้วย และหลังจากนั้นก็จะมีการเปิดร้านจิม ทอมป์สัน ไลฟ์สไตล์ ที่เมืองนอกเช่นกัน

สินค้าใหม่ทั้งหมดจะมีกลุ่มเป้าหมายคือตลาดต่างประเทศ โดยใช้ฐานของเอเยนต์ที่มีอยู่แล้ว ตลาดต่างประ เทศเป็นตลาดที่สำคัญทที่อีริคกำลังให้ความสำคัญอย่างมากๆ

ณ วันสิ้นปี 2541 มีจำนวนพนักงานทั้งหมดรวมบริษัทในเครือที่ถือหุ้นเต็ม 1,830 คน โดยเป็นพนักงานที่บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยที่กรุงเทพฯ 466 คน เป็นคนงานที่โรงงานทอผ้า ที่อำเภอปักธงชัย 355 คน โรงสาว 121 คน และที่ฟาร์มเลี้ยงไข่ไหมอีก 52 คน

บริษัทในเครือที่ถือหุ้นเต็ม 2 บริษัทคือบริษัทอุตสาหกรรมไหมและพิมพ์ผ้า จำกัด ที่อำเภอปักธงชัย ซึ่งที่นี่ มีทั้งการย้อมผ้า พิมพ์ผ้า และอาบน้ำยาผ้า ซึ่งต้องใช้คนงาน 220 คน

และบริษัทเอสเคเค แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเนกไท เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋าถือ และของชำร่วย โรงงานตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิทซอย 93 ซึ่งมีคนงานถึง 616 คน

มีสาขาทั้งหมดในกรุงเทพฯ 9 สาขา ส่วนต่างจังหวัดมีที่จังหวัดภูเก็ต 3 สาขา และบนเกาะสมุย อีก 2 สาขา ส่วนในต่างประเทศมีทั้งหมด 27 แห่ง

ภูมิปัญญาไทยในเรื่องสินค้าหัตถ กรรม เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่หลายบริษัทกำลังเรียนรู้และไต่เต้า โดยที่จุดหมายนั้นต้องการให้ประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับ ผ้าไหมไทยจิม ทอมป์ สัน ได้รับมาแล้ว

แต่ในอนาคตจิม ทอมป์สัน จะประสบความสำเร็จอย่างเช่นที่เป็นมา อีกหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us