บ้านหลังที่ 3 ของยนตรกิจ กรุ๊ป บรรดาบริษัทรถยนต์ที่ทำธุรกิจร่วมกับยนตรกิจ
กรุ๊ป อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ค่ายโฟล์กสวาเก้น กรุ๊ป จาก
เยอรมนี ภายใต้แบรนด์โฟล์ก เอาดี้ เซียท และค่ายพีเอสเอ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส
ภายใต้แบรนด์เปอโยต์ และซีตรอง ซึ่งมาจากยุโรปทั้ง 2 ค่ายและน้องใหม่รายล่าสุดคือ
เกีย มอเตอร์ เจ้า ของแบรนด์เกีย จากเกาหลี ซึ่งน้องใหม่รายล่านี้แตกต่างจากรายอื่นโดยสิ้นเชิง
สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมของ ยนตรกิจ กรุ๊ป ที่มีความหลากหลายมากขึ้น จากที่นิยมแต่ของหรูระดับเฟิร์สคลาสเพียงอย่างเดียว
ได้เพิ่มระดับอีโคโนมิกคลาสอีก เพื่อให้สอดรับกับความเป็นไปของเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน...
เกีย มอเตอร์ เป็นความหวังสุดท้ายแล้วหรือที่ยนตรกิจฯ หวังจะให้เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ของบริษัท???
เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน แต่เท่าที่พิจารณาถึงความจำเป็นจากตัวเลขรายได้ที่นิ่งๆ
สวนทางกับรายจ่ายที่พุ่งขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยนตรกิจฯต้องคิดหนัก
มิใช่ว่าบริษัทจะไม่เห็นความสำคัญของรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ แต่ยนตรกิจฯ
จำเป็นต้องหาธงนำที่จะเข้ามาสร้าง "ปริมาณ" รายได้ให้แก่บริษัทในภาวะเช่นนี้
นอกจากนี้อาจจะกล่าวได้ว่ารถยนต์เกียที่ยนตรกิจฯ จะนำเข้ามาทำตลาดในช่วงแรกนี้
เป็นคนละประเภทกับรถยี่ห้ออื่นๆ ที่ยนตรกิจทำตลาดให้อยู่ เพราะรถยนต์เกียที่นำเข้ามาจะเป็นรถสำหรับครอบครัวมากกว่า
(รถซีดาน รถอเนกประสงค์ และรถแวกอน) ซึ่งเป็นประเภทรถที่กำลังได้รับความนิยมพอสมควร
แม้ตลาดจะมีซ้อนทับกับรถโฟล์กอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกให้แก่ลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง
ดังนั้น 26 สิงหาคม 2542 ยนตร กิจฯ จึงสยบข่าวลือ "ยนตรกิจฯ ซุ่มเงียบ
เจรจาหลังบ้านเกีย" ที่มีมาตั้งแต่กลางปี ด้วยการประกาศเซ็นสัญญาเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์เกียในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว
โดยตั้งเป้าครองส่วนแบ่งการตลาดในระยะแรก 10% ของตลาดรวมให้ได้ภายใน 2-3
ปี
"ผมคิดว่า เกียจะเข้ามาเสริมสินค้าและช่วยขยายฐานลูกค้าของเราได้มาก
ในอดีตเราก็เคยขายรถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานเกียแล้วคือ Ford Aspire ซึ่งประสบความสำเร็จดีมาก"
ฐิติกร ลีนุตพงษ์ กล่าวในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลบริษัทยนตรกิจ เกีย
มอเตอร์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ การนี้โดยเฉพาะ โดยทางยนตรกิจ กรุ๊ป
จะใช้สำนักงานสาขายนตรกิจ กรุ๊ป ที่สุขุมวิท 87 เป็นสำนักงานใหญ่ และเป็นโชว์รูมรถยนต์เกียแห่งแรกของบริษัทฯ
สำหรับดีลเลอร์และศูนย์บริการ ทางบริษัทฯ ได้วางแผนเริ่มต้นที่สาขาของยนตรกิจในกรุงเทพฯ
5 แห่งคือ ยนตรกิจบรรทัดทอง ยนตรกิจหัวลำโพง ยนตรกิจคลองตัน ยนตรกิจบางแค
และยนตรกิจสุขุมวิท 87 โดยจะเปิดตัวพร้อมกัน 2 สาขาแรกในเดือน ตุลาคมนี้คือ
ยนตรกิจบรรทัดทอง และ ยนตรกิจสุขุมวิท 87
ส่วนในต่างจังหวัด ทางบริษัทได้ เลือกสาขาของยนตรกิจกรุ๊ปที่เชียงใหม่
อุดรธานี โคราช และชลบุรี ปรับปรุงเป็นโชว์รูม เพื่อจำหน่ายและให้บริการลูกค้าของยนตรกิจ
เกีย มอเตอร์ โดยคาดว่าจะเปิดได้ในต้นปีหน้า ขณะเดียวกันก็มีดีลเลอร์ของพรีเมียร์
เกีย มอเตอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย รถยนต์เกียในประเทศไทยรายเดิม ได้ติดต่อเจรจาขอเข้าร่วมเป็นดีลเลอร์ให้แก่ยนตรกิจ
เกีย มอเตอร์ ในกรุงเทพฯ อีกประมาณ 2-3 ราย แต่ยังไม่มีข้อสรุป ที่ชัดเจน
ทั้งนี้ รถยนต์เกียรุ่นแรกที่บริษัทฯ จะนำเข้ามาทำตลาดในไทยมีด้วยกัน
3 รุ่นคือ รถซีดาน รุ่น Shu-ma รถอเนกประสงค์ หรือ MPV รุ่น Carnival และรถ
Off Road ในรุ่น Sportage Wagon โดยรถยนต์ทั้ง 3 รุ่นนี้จะนำเข้าใหม่จากเกาหลีโดยตรงทั้งสิ้น
ส่วน Sportage Wagon สต็อกเก่าที่นำเข้าโดยพรีเมีย เกีย มอเตอร์ ทางบริษัทฯ
จะไม่มีส่วนในการรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี ฐิติกรกล่าวว่า ลูกค้า เก่าของพรีเมีย เกีย มอเตอร์ สามารถ
เข้ามาใช้ศูนย์บริการของยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ ได้อย่างไม่มีปัญหา และยังถือว่าจะเข้ามาเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญอีกด้วย
"เราพยายามที่จะขยายฐานลูกค้า ของเราให้กว้างมากขึ้น ด้วยการสนับ สนุนจากเกีย
มอเตอร์ ทั้งในส่วนของสินค้าและ Know How ที่จะช่วยสร้างโอกาสและความสำเร็จในเชิงธุรกิจและประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้มากที่สุด"
บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์ กล่าวอย่างมุ่งมั่น ในฐานะของผู้จัดการทั่วไปของยนตรกิจ
เกีย มอเตอร์ พร้อมกันนั้น เขายังได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในการทำตลาด รถยนต์เกียด้วยว่า
"พยายามที่จะชูในเรื่องของคุณภาพของรถที่มีความแข็ง แกร่งและทนทาน คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไป
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า รถยนต์เกียเป็นรถราคาถูกที่สุดในตลาด แต่เราต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเกียเป็นรถที่ลูกค้าพอใจว่าคุ้มค่าที่สุด
เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ต้องจ่ายออกไป"
อนาคตของยนตรกิจ กรุ๊ป จะเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับว่า ยนตรกิจฯ ต้องหายุทธวิธีที่จะจัดการกับบ้านเล็กบ้านน้อยให้สามารถปรองดองและร่วมกันทำมาหากินให้เจริญยิ่งๆ
ขึ้น ซึ่งหากไม่สามารถจัดการได้ นั่นหมาย ความว่า ยนตรกิจฯ จะโดดเดี่ยวเพียงลำพังเพราะบ้านเล็กบ้านน้อยเหล่านี้กำลังรอโอกาสที่จะเป็นบ้านใหญ่เพียงบ้านเดียว
หรือมิฉะนั้นก็แยกออกไปเป็นบ้านเดี่ยวของตัวเอง ชนิดที่ไม่ต้องมาง้อกันอีกต่อไป
เฉกเช่นบ้านใหญ่ บีเอ็มดับเบิลยู ที่เคยทำมาแล้ว...