21 กันยายน 2542 รัฐบาลไทยร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับที่ 8 (LOI 8) เสนอต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF) เป็นส่วนหนึ่งของการขอรับความช่วยเหลือภายในกรอบวงเงิน 17.2 พันล้านดอลลาร์
ที่ไทยเบิกกู้แล้ว 13.47 พันล้านดอลลาร์
ใน LOI 8 แสดงให้เห็นว่า รัฐ-บาลเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
หลังจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวกว่า 10% ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาและการส่งออกสดใสขึ้น
ดังนั้น จึงประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้น 3-4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว
1% ขณะที่เงินเฟ้อถูกปรับลดลงเป็น 0.5% จากเดิม 2.5%
นโยบายการคลัง รัฐบาลคาดว่าปีงบประมาณ 2542 ภาครัฐจะขาดดุลประมาณ 5.5%
ของ GDP ส่วนปีงบประมาณ 2543 กำหนดเป้าหมายให้ขาดดุล 5% ของ GDP อีกทั้ง
ยังระบุในกรณีรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัว รายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นจะถูกเก็บไว้เพื่อลดการขาดดุล
ด้านกรอบนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ต่างไปจากฉบับก่อนๆ ที่ยังคงเน้นรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่ต่ำต่อไป
ส่วนนโยบายปรับโครงสร้างการเงิน ยังกำหนดแผนการเดิมโดยเน้นแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(NPLs) ของสถาบันการเงิน โดยสนับสนุนการจัดตั้งองค์กร บริหารสินทรัพย์ (AMC)
แม้ตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2542 มีทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ LOI 8 โดยเฉพาะการไม่ได้ขอเบิกเงินกู้เพิ่มจาก
IMF บ่งบอกถึงฐานะทุนสำรองของประเทศที่มั่นคงขึ้น และแสดงถึงความมั่นใจต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในอนาคต
อีกทั้ง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ขณะที่ยอดหนี้ต่างประเทศระยะสั้นปรับตัวลดลง
ดังนั้น ความจำเป็นที่จะกู้เงินเพิ่มจึงลดลงไปด้วย ส่วนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลนั้น
เป็นนโยบายเชิงรับอันเกิดจากการปรับลดของรายได้มากกว่ามาจากการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐ
ทั้งนี้รัฐยังคงให้ภาระการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตกเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนค่อนข้างมาก
ส่วนมาตรการส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้สถาบันการเงินที่ชัดเจนขึ้น แต่การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินยังคงเป็นภาระหนักเพื่อที่จะสามารถทำสำรองครบ
100% ดังนั้น อาจจะต้องเพิ่มทุนกว่า 3.5 แสนล้านบาท นอกเหนือไปจากแผนเพิ่มทุนภายในปีนี้
แต่การเพิ่มทุนยังเป็นภาระหนักอยู่กับสถาบันการเงินที่รัฐเข้าไปแทรกแซง ถ้าไม่สำเร็จอาจจะกลายเป็นตัวแปรฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าได้
อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลเลือกรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เพราะหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้ปัญหา NPLs และความไม่เพียงพอของเงินกองทุนรุนแรงขึ้น
อีกทั้ง ยังมีปัจจัยด้านการออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อชดเชยให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ
การชำระหนี้คืนของ 58 ไฟแนนซ์ การออกพันธบัตรเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล รวมทั้งนโยบายที่มีต่อค่าเงินบาทของทางการ
อาจจะเป็นเหตุให้เกิดการหยุดชะงักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้