ปริศนาที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย
หลังจากตกเป็นข่าวมาเป็นพักใหญ่ ในที่สุดชัยสิงห์ นฤหล้า ชาวอินเดียที่เกิดในเมืองไทย
ก็เปิดตัวบริษัท อีซีเน็ต ไอเอสพีรายล่าสุดอย่างเป็นทางการ เลือกเอาโรงแรมหรูกลางกรุงอย่างโรงแรมรีเจนท์มาเป็นสถานที่จัดงาน
การจัดแถลงข่าวนี้ก็มีขึ้นท่าม กลางความเคลือบแคลงของโครงการว่าจะมีความเป็นไปได้สักเพียงใด
และชัยสิงห์เป็นใครมาจากไหน
ข้อสงสัยที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเพราะชัยสิงห์เป็นชาวอินเดีย หรือเป็นพี่เขยของสุระจันทร์
จันทร์ศรีชวาลา แต่เพราะรูปแบบของโครงการที่ชัยสิงห์ใช้ชื่อว่า princess
1 ที่นอกจากจะแตกต่าง ไปจากไอเอสพีรายอื่นๆ ก็คือ โครงการนี้เป็นอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษา
กลุ่ม ผู้ใช้จะเป็นสถาบันการศึกษา ครู และนักเรียนเท่านั้น
การให้บริการจะผ่านสายสัญ-ญาณความเร็วสูง 45 Mbps ซึ่งเป็นท่อขนาดใหญ่ชนิดที่ไม่มีไอเอสพีรายไหนเคยทำมาก่อน
ค่าบริการแค่เดือนละ 90 บาทต่อเดือน หรือตก 3 ชั่วโมง 5 บาท ในขณะที่ค่าบริการที่ไอเอสพีรายอื่นถัวเฉลี่ยตกชั่วโมงละ
30 บาท
ถึงแม้ชัยสิงห์จะบอกว่า โครงการนี้ไม่ได้แสวงหากำไร เป็นเพื่อการศึกษาก็ตาม
แต่ในทางธุรกิจเป็นไปได้ยาก ยกเว้นชัยสิงห์จะได้มูลนิธิ หรือเม็ดเงินมาสนับสนุนจำนวนมหาศาล
เพราะที่แล้วมาไอเอสพีที่ให้บริการกันอยู่ด้วยสายสัญญาณความ เร็วที่ไม่ถึง
10 Mbps ก็แทบจะไปไม่รอดกันแล้ว และใช้ไม่เต็มวงจร ทุกวันนี้มีเพียงแค่ 1-2
ราย จากทั้งหมด 15 รายเท่านั้นที่มีรายได้พอเอาตัวรอดเพราะ อย่างที่รู้กันว่าเงื่อนไขต่างๆ
ของกสท. และค่าเช่าสายสัญญาณไปต่างประเทศคิดเป็นต้นทุนมากกว่า 50% ของเงินลงทุนแล้ว
เฉพาะแค่ค่าเช่าสายสัญญาณ 45 Mbps (เมกะบิทต่อวินาที) ที่อีซีเน็ต ต้องจ่ายให้กสท.
ตกเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 กว่าล้านบาท เงินทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ของอีซีเน็ต
ที่มีอยู่ก็แทบไม่พอจ่ายแล้ว ยังไม่รวมค่าดำเนินการอื่นๆ อีกมากมาย
การแถลงข่าวในวันนั้น นอกจาก สุวรรณ ดีสันเที๊ยะ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทแล้ว
ชัยสิงห์ยังพ่วงเอาลูกชายวัย 20 ปี ราม นฤหล้า ที่เขาภูมิอกภูมิใจอย่างมากกับความสามารถพิเศษหลายอย่างของลูกชายคนเดียวของเขาคนนี้
ที่จบจากอเมริกา มารับหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของอีซีเน็ต ส่วนเชิดชัย
เจียรวนนท์ ลูกพี่ลูกน้องของธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ชัยสิงห์ไปดึงมาเซ็นรับรองบริษัทอีซีเน็ตไม่ได้มา
ส่งแต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทไปร่วมในงานเท่านั้น
ก่อนหน้าเปิดแถลงข่าว ชัยสิงห์ ถูกเรียกจากกสท. เนคเทค รวมทั้งบรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต
(ไอเอสพี internet service providers) อีก 15 ราย ไปซักถามอีกรอบใหญ่ ก่อนจะได้ไฟเขียวมาเปิดตัวอย่างสบายใจ
คำตอบที่ชัยสิงห์ให้กับเจ้าหน้าที่ของกสท.ว่า มั่นใจเพียงใดกับการทำโครงการนี้
ก็คือ ลูกชายคนนี้ของเขาต้องการทำโครงการนี้ และตอนที่ภรรยา เขาท้องลูกชายคนนี้
เขาฝันว่าหากไม่เป็นนักบุญ จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง
และนี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียว เท่านั้น เพราะเมื่อเขาถูกเจ้าหน้าที่การสื่อสารซักถามมากๆ
เข้าว่า จะไปเอาเงินทุนมาจากไหน ชัยสิงห์ ตอบง่ายๆ ไปว่า เอามาจากพระเจ้า
!
ตลอดเวลาการแถลงข่าว ชัย-สิงห์ พยายามสร้างความมั่นใจให้กับผู้สื่อข่าว
ด้วยการเล่าถึงความเป็นผู้มีสาย สัมพันธ์ดีเยี่ยม มีเพื่อนฝูงอยู่หลายวงการ
ทั้งในแวดวงโทรคมนาคม ตั้งแต่สมัยเรียนอัสสัมชัญ จนมาเรียนวิศวฯ จุฬา และเคยเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ
เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งธุรกิจชื่อดังหลายอย่างในไทย ไม่ว่าจะพิซซ่าฮัท
ดังกิ้นโดนัท หัวนมยี่ห้อนุก ถุงยางอนามัยคิงส์เท็กซ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรี
2-3 คน แต่เขาไม่ยอมบอกว่าเป็นใคร ซึ่งสายสัมพันธ์เหล่านี้จะทำให้โครงการอีซีเน็ต
ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่จะได้รับการสนับ สนุนอย่างเต็มที่
ที่เขาต้องพยายามตอกย้ำสิ่งเหล่านี้ ชัยสิงห์ใช้วิธีการสร้างโครงการแบบไม่ต้องควักกระเป๋า
แต่ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีทั้งในและต่างประเทศ มาให้การสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นการให้ฟรีหรือขอลดราคา
ชัยสิงห์บอกว่า มีบริษัทตอบรับมาแล้ว 20 บริษัท เช่น แคนนอน ทีเอ เมลโก้
ซันไมโครซิสเต็ม นอร์เทล หนึ่งในนั้นก็คือ เอทีแอนด์ที ที่ให้การสนับ สนุนให้ใช้วงจรต่างประเทศ
45 Mbps ที่เชื่อมโยงไปจากกสท.ไปสหรัฐฯ ฟรี แต่ชัยสิงห์ก็ไม่ได้บอกถึงระยะเวลาว่าให้ฟรีถึงเมื่อไหร่
ส่วนเครือข่ายในประเทศที่เชื่อมโยงไปต่างจังหวัดจะขอความร่วมมือกับชินวัตรแซทเทิ่ลไลท์
และขอลดค่าเช่าวงจรกับทีเอ อุปกรณ์ใช้ติดตั้งเครือข่ายได้รับการสนับสนุนจากบริษัทนอร์เทล
พูดง่ายๆ ก็คือ อาศัยผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้มาช่วยลงขัน คนละไม้ละมือลงทุนให้
"โครงการนี้ไม่ใช่ของผม แต่เป็นของทุกคน เพื่อสนับสนุนการศึกษา ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน
เงินที่ได้ก็ไม่ใช่ของผม แต่เป็นของทุกคน เพราะบริษัทนี้จะไม่มีกำไร"
เหตุผลของชัยสิงห์ที่กล่าวในวันแถลงข่าว
แม้กระทั่งในการจัดแถลงข่าวเปิดตัวอีซีเน็ต เงินที่ใช้จัดงานแถลงข่าว
ก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแคนนอน ที่เป็นคนควักกระเป๋า 1 แสนบาทมาใช้จ่าย
ซึ่งแคนนอนจะมาจับมือขายเครื่องพรินเตอร์คู่กับเครื่องพีซีของอีซีเน็ต
นอกจากในงานวันนี้จะไม่ปรากฏ ผู้สนับสนุน 20 รายดังกล่าวมายืนยัน และจากการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม
ส่วนใหญ่ก็เคยได้รับการติดต่อจากชัยสิงห์ และปฏิเสธคำขอของชัยสิงห์ไปแล้วหลายราย
หนึ่งในนั้นก็คือ ลูเซนต์เทคโนโลยี
เมื่อถูกวางคอนเซ็ปต์ไว้ว่า เป็นอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษา ดังนั้นโรงเรียนทุกแห่งสามารถสมัครมาใช้บริการอีซีเน็ตได้ฟรี
โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ยกเว้น ค่าเช่าวงจร (lease line) ที่จะต้องเชื่อม โยงจากโรงเรียนไปที่
อีซีเน็ต ซึ่งโรงเรียนต้องเสียค่าเช่าวงจรจากทศท.เอง
แต่หากครู หรือนักเรียน อยากมีไว้ใช้ส่วนตัว อีซีเน็ตจะคิดค่าบริการเดือนละ
90 บาท หรือปีละ 1,950 บาทในกรุงเทพฯ หากเป็นต่างจังหวัดคิดในอัตรา 2,350
บาท เฉลี่ยวันละ 5-6 บาท ใช้ได้วันละ 3 ชั่วโมง และต้องเสียค่าแรกเข้ารายละ
400 บาท
สำหรับโรงเรียน ครู หรือเด็กนักเรียนที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ชัยสิงห์ไปติดต่อเอาเครื่องโออีเอ็มจากไต้หวันเข้ามาขายให้
โดยเสนอขายคู่กับเครื่องพรินเตอร์ของแคนนอน ในราคา 20,900 บาท มีทั้งให้ซื้อสดและผ่อน
แต่ผู้ซื้อจะ ต้องเสียค่าสั่งจอง 2,140 บาท (ทั้งสดและผ่อน)
กรณีนี้หมายความว่า ถึงแม้ว่า อีซีเน็ต จะไม่มีรายได้จากโรงเรียน แต่ก็สามารถหารายได้จากลูกค้าส่วนบุคคล
ที่เป็นครู และนักเรียนได้โดยตรง ซึ่งชัยสิงห์ วางเป้ายอดขายไว้ว่า จะมีลูกค้า
มาใช้บริการอีซีเน็ต 2 แสนราย ภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี
ดังนั้นเฉพาะแค่รายได้จากค่าจองสิทธิ์และลงทะเบียน รายละ 400 บาท ก็เป็นเงิน
80 ล้านบาท และค่าสมาชิกที่เก็บเป็นรายปีที่เก็บล่วงหน้า มาใช้ก่อนสบายๆ
ยังไม่รวมค่าเครื่องพีซี ที่เขาไปนำโออีเอ็มเข้ามาขาย และอุป-กรณ์ต่อพ่วงอีก
ที่จะมีรายได้จากค่าสั่งจองอีกหัวละ 2,140 บาทเป็นค่าแรกเข้า
และที่สำคัญรายได้ทั้งหมดเหล่านี้ จะเข้าไปที่บริษัทเอล-ปาล (ไทยแลนด์)
จำกัด ซึ่งชัยสิงห์ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ให้ผู้สนใจสมัคร ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาจ่ายเงินค่าสมาชิก
และค่าผ่อนส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ร้านขายผ้าเอทีเอ็ม หรือชำระผ่านธนาคาร
ไปที่บัญชีออมทรัพย์ 3 บัญชีของบริษัทเอล-ปาล (ไทยแลนด์)
ส่วนบริษัทอีซีเน็ต เป็นบริษัทรับสัมปทานอินเตอร์เน็ต ที่มีการสื่อสารแห่ง
ประเทศไทยถือหุ้น 35% จะเป็นบริษัทที่ไม่มีรายได้ เพราะตามข้อตกลงของการให้บริการนี้ก็คือ
จะให้บริการฟรีแก่โรงเรียน เป็นบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร
นอกจากนี้ อีซีเน็ตก็ยังมีวงจร 45 Mbps ในมือ ที่สามารถนำไปแบ่งให้เอกชน
รายอื่นๆ เช่าได้ เพราะอีซีเน็ต ได้ส่วนลดจากกสท. 25% ซึ่งสามารถไปแบ่งให้เอกชนรายอื่นๆ
มาเช่าได้เหลือเฟือ
แต่หากชัยสิงห์ตั้งใจทำอย่างที่เขาบอกไว้จริง โรงเรียน และเด็กนักเรียนจะมีอินเตอร์เน็ตราคาถูกไว้ใช้
และ ยังต่อผ่านอย่างสบายๆ ด้วยโทรศัพท์ 30,000 คู่สาย กับท่อขนาดใหญ่ 45
Mbps ที่ออกไปต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ชัยสิงห์ จะสามารถหาเงินรายได้ ที่เป็นผลพวงต่อเนื่องจากโครงการอีซีเน็ต
ทั้งเป็นไอเอสพี และเป็นผู้ค้าคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาเข้ากระเป๋าแบบสบายๆ
เรียกว่า งานนี้ได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง