การปรับตัวของ SAP
เจ้าของธุรกิจที่นำไอทีมาเป็นเครื่องมือในการธุรกิจ ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยดีกับระบบ
R3 ของ SAP บริษัทผลิตซอฟต์แวร์สัญชาติเยอรมัน ที่สามารถฝ่าด่านอรหันต์ ชิงธงนำหน้าซอฟต์แวร์จากค่ายอเมริกันมาอยู่แถวหน้าของซอฟต์แวร์ประเภท
ERP (Enterprise Resorce Planning)
เอสเอพีเอาตัวเลขจากไอดีซี มายืนยันว่า ส่วนแบ่งตลาดในเอเชีย ของระบบ
R3 ที่อยู่ในตลาดของ ERP คิดเป็นสัดส่วนถึง 40.8% นำหน้าคู่แข่งอย่าง ออราเคิล
เอสเอเอ เจดีอี บาน คิวเอดี
ส่วนในไทย sap ก็คุ้นเคยดีอยู่ในแวดวงธุรกิจธนาคาร โทรคม- นาคม ธุรกิจน้ำมัน
บริษัทรถยนต์ ค้าส่ง หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ก็ล้วนแต่คุ้นเคยดีกับระบบ
sap R3
และถึงแม้ว่ายังคงมีความสุขอยู่กับการเก็บเกี่ยวรายได้จาก R3 ที่กินเวลามานานถึง
10 ปีเต็ม และยังมีแนวโน้มที่จะทอดเวลาไปได้อีกพักใหญ่ แต่การที่โลกทั้งโลกกำลังหมุนเข้าหาอินเตอร์เน็ต
การค้าขายที่ว่าด้วยระบบ
e-commerce ก็ทำให้ sap ต้องหันมามองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ไม่ว่า sap หรือผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีทั้งหลาย ต่างก็รู้ดีว่าความต้องการใช้ไอทีของลูกค้าไม่ได้จำกัดอยู่แต่ภายในองค์กรเท่านั้น
แต่ยังต้องเชื่อมโยงกับภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกับซัปพลายเออร์ หรือบรรดา business
partner ทั้งหลาย รวมถึงลูกค้า พนักงาน และการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น และทีมผู้บริหารระดับสูง
ทั้งหมดนี้ต้องผูกโยงกันทั้งหมด
นั่นก็หมายความว่า ระบบ R3 ที่ sap จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แค่ส่วนเดี่ยวเพราะ
R3 ก็คือระบบbackbone ภายในองค์กร ที่จะรองรับในเรื่องของระบบบัญชีและการเงินระบบ
human resource management หรือแม้แต่ระบบ logistics แต่ความต้องการในอนาคตของลูกค้าไม่ใช่แค่นั้น
อนาคตข้างหน้า คือ การที่จะต้องเชื่อมโยงกับ network ภายนอกองค์กร
และนั่นก็คือ การไปสู่การเกิดคอนเซ็ปต์ ที่เรียกว่า my sap.com ก็คือ
การนำเสนอแอพพลิเคชั่นที่เกิดขึ้นให้สอดรับกับโฉมหน้าใหม่ของการประกอบธุรกิจ
ที่ทุกอย่างจะถูกเชื่อมโยงถึงกันหมดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบปัจจุบันทันด่วนเช่นว่า
แอพพลิเคชั่นการบริหารลูกค้า หรือระบบที่จะรองรับกับอี-คอมเมิร์ซ แบบบิสซิเนสทูบิสซิเนส
ตัวอย่างที่จะเกิดขึ้นจากแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ก็คือ ต่อจากนี้โรงงานจะรู้ทันทีว่าซัปพลายเออร์จะมีชิ้นส่วนพร้อมที่จะป้อนให้กับการผลิตมากน้อยเพียงใด
ฝ่ายบริหารจะรู้ทันทีว่า พนักงานที่มีอยู่มีความพร้อมเพียงใด ต้นทุนการผลิตสินค้าจะคุ้มค่าหรือไม่
คำติเตียนของลูกค้าที่มาจากฝ่ายเทเล มาร์เก็ตติ้ง จะถูกส่งไปยังฝ่ายผลิตทันทีที่ลูกค้าวางหูโทรศัพท์
และการแก้ไขจะเกิดขึ้นทันที ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นแบบ Realtime online integration
Sun Whye Mun ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดภาคพื้นของ sap Asia ประจำอยู่ที่สิงคโปร์
ยกตัวอย่างให้เห็นถึงว่า การทำธุรกิจในลักษณะนี้ไม่ต่างไปจากการทำธุรกิจในแบบ
built to order ของ dell computer ที่ทำให้ dell computer เติบโตมาได้ทุกวันนี้
กับการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแบบทันที
พูดง่ายๆ ก็คือ sap กำลังขยายยุทธศาสตร์ของตัวเองที่เคยตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในองค์กร
R3 ที่เป็นเพียงแค่การจัดการภายในองค์กรเดี่ยวๆ มาสู่การตอบสนองการทำธุรกิจแนวใหม่
ที่จะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
"ถ้าถามว่าทำงานยากขึ้นมั้ย แน่นอนเลยเพราะ my sap.com ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ตัวใหม่
แต่เป็นแอพพลิเคชั่นที่จะมาให้ลูกค้า เราไม่ได้เสนอเป็น module แต่เราให้ลูกค้าเลือกว่า
เขาจะนำไปใช้งานอะไร ประเภทไหน และเราจะจัดให้เหมาะสมเอง" ปนัดดา พรหมวงศ์ภักดี
ผู้จัดการฝ่ายภาคพื้น บริษัท sap ประเทศไทย บอกถึงสิ่งที่ sap แตกต่างไปจากคนอื่น
เธอบอกด้วยว่า my sap.com ไม่ได้ปิดกั้นลูกค้าใหม่ ที่มีระบบอื่นก็ยังเลือกใช้แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้
แต่จะเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับลูกค้าที่ใช้ sap R3 อยู่แล้ว เพราะนี่คือการต่อยอดของสินค้า
ไม่ใช่การสร้างฐานลูกค้าใหม่หมดจด
การเปิดตัว my sap.com จึงเท่ากับเป็นการสะท้อนภาพการปรับตัวของ sap
ที่ไม่อาจเก็บเกี่ยวผลกำไรจากระบบ R3 ได้อย่างเดียวอีกต่อไป เมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนวิถีใหม่ของการค้าขายบนอิน-
เตอร์เน็ต พลิกโฉมหน้าของการทำธุรกิจชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
แต่สำหรับเมืองไทยคงต้องอาศัยเวลาอีกไม่น้อย เพราะอี-คอมเมิร์ซของไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น
ยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกหลายอย่าง กฎหมาย ที่จะรองรับกับธุรกรรมในลักษณะนี้ก็ยังไม่คลอดออกมา
ความต้องการ my sap.com จึงยังคงเป็นจุดเริ่มที่จะตอบสนองได้บางส่วน
และนี่ก็คือข้อเสนอใหม่ของผู้ซื้อ และเป็นการปรับตัวของผู้ขายภายใต้วิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น