กว่า 6 เดือนเต็มของเนชั่นชาแนล 8 ท่ามกลางมรสุมรอบด้าน อาจทำให้เนชั่น
และยูบีซี ต้องหันมาทบทวนบทบาทของตัวเอง
เนชั่นกรุ๊ป เป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์เดียว ที่ยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางความซวนเซของกลุ่มสิ่งพิมพ์ด้วยกัน
เนชั่นกรุ๊ปอาศัยความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยกัน วางตัวเองเป็น
content provider ที่มีสื่อทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวี ที่มีทั้ง ภาษาไทย และอังกฤษ
มาสร้างความโดดเด่นในเรื่องของอินเทอร์เน็ต
เนชั่นไม่ได้มองอินเทอร์เน็ตเป็นแค่ "สื่อ" ใหม่ ที่จะเป็นช่องทางเผยแพร่
content เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ต้องการเป็น ผู้เล่นคนสำคัญในธุรกิจนี้แบบครบวงจร
บริษัทเนชั่น ดิจิตอล มีเดีย ที่ถือหุ้นโดย เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ถูกตั้งขึ้นหลังผ่าน
พ้นปี 2000 มาไม่กี่สัปดาห์ ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ซึ่งเนชั่นประมาณการไว้ว่า
จะต้องใช้เงินสำหรับธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท สำหรับเว็บไซต์
thailand.com และธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซแบบครบวงจร
อีกด้านหนึ่ง เนชั่นก็ยังคงรักษาพื้นที่ในสื่อ "ทีวี" ถึงแม้ว่าการมาของ
ชินคอร์ปอเรชั่น ในการซื้อหุ้นต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ จะทำให้เนชั่นต้องหลุดจากขั้วอำนาจในไอทีวี
แต่พลังของเนชั่น ก็หา ที่ลงได้ไม่ยากนัก และการไปร่วมผลิตช่องข่าวเนชั่นชาแนล
8 ให้กับยูบีซี ก็เป็นสูตร ที่ลงตัวมากที่สุดในเวลานั้น เพราะยูบีซีเองก็ต้องการแสวงหา
content ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ที่สามารถต่อยอดไปถึงธุรกิจด้านอื่นๆ
แต่สื่อทั้ง 2 ประเภท เป็นธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เมื่อเทียบภาวะต่างๆ
ที่ไม่เป็นใจ ทั้งสภาพเศรษฐกิจโดย รวม ที่ยังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจอินเทอร์เน็ตเวลานี้ก็ไม่สดใสเท่า ที่ควร
หลังการตกต่ำของตลาดแนสแดค ก็ทำให้กระแสดอทคอมลดดีกรีลงไปไม่น้อย ต้องหันกลับสู่พื้นฐานของธุรกิจ ที่แท้จริง
ทุ่มแต่เพียงเงินทุน เพื่อสร้างชื่อ และการตลาดอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ผู้ประกอบการของเมืองไทยเวลานี้
อยู่ในสภาพไม่ดีนัก การจะให้มาลงทุนทำอี-คอมเมิร์ซ การแข่งขันของเว็บไซต์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก
และทุกฝ่ายต่างก็พยายามลดค่าบริการให้ต่ำที่สุด
ขณะที่เนชั่นชาแนล 8 เอง ไม่เพียงแต่ถูกจำกัดด้วยจำนวนผู้ชมของการเป็นเคเบิลทีวี
เนชั่นยังต้องตกเป็นเป้าโจมตีในเรื่องของโฆษณาแฝง ที่มาในรูปแบบของป้ายโฆษณาในรายการ
ซึ่งทั้งเนชั่น และยูบีซีเองก็คาดหวังไว้ว่าจะมีรายได้จากส่วนนี้มาช่วยเกื้อกูลรายได้
ลำพังรายได้จากส่วนแบ่งจากค่าเช่าในการผลิตรายการ ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการทีวี ที่มีต้นทุนมหาศาล
ต้องมีทั้งภาพ เสียง ข้อมูล การยกกล้อง ไปถ่ายทำรายการแต่ละครั้งใช้จ่ายกันไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท
ยังไม่รวมค่าจ้างเงินเดือนของทีมงาน อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งตามข้อตกลง ที่ทำกับยูบีซี
เนชั่นจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทีมงาน และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ
ตัวเลขเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
การตกเป็นเป้าโจมตีของเนชั่นในเรื่องโฆษณาแฝง ยังส่งผลกระทบไปยังช่องอื่นๆ
ของยูบีซี ไม่ว่าจะเป็นช่องข่าวยูบีซี 7 ชาแนลวีไทยแลนด์ ซุปเปอร์ สปอร์ต
ที่ต้องเดือดร้อนไปตามๆ กันกับการที่ อ.ส.ม.ท.สั่งห้ามไม่ให้โฆษณาแฝงไปด้วย
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีรายได้
ถึงแม้ว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ อยากจะมีเนชั่นไว้เป็นพันธมิตรในด้าน content
มากเพียงใดก็ตาม แต่ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ งานนี้ธนินท์เองก็อาจต้องถอดใจ หรืออย่างน้อยก็อาจต้องทบทวนแผนธุรกิจใหม่
ซึ่งอาจต้องหันมา ทำเป็นช่องพิเศษ ที่ต้องเก็บเงินค่าสมาชิกเพิ่มเติม แต่ก็เป็นข้อจำกัดในเรื่องของยอดผู้ชม
เนชั่นเวลานี้ จึงต้องวิ่งหาทางออกให้กับตัวเอง ทางที่ดีที่สุด ก็คือ การกลับมายังฐาน ที่มั่นเดิมในไอทีวี
งานนี้ธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป
ต้องหันมาเปิดโต๊ะเจรจากับชินคอร์ปอเรชั่น หลังจาก ที่เคยตัดญาติขาดมิตรกันไปพักใหญ่
โดยอาศัยจังหวะ ที่ชินคอร์ปเองกำลังวิ่งหาคนใหม่ ที่จะมาแทน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
ที่เพิ่งลาออกจากไอทีวีไป แต่ยังไม่รู้ว่าเงื่อนไข ที่ธนาชัยเสนอไปยังบุญคลี
ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร ชินคอร์ปอเรชั่น จะได้รับไฟเขียวหรือไม่
ในอีกด้านหนึ่ง เนชั่นเองก็เข้าไปเชื่อมต่อสานสัมพันธ์กับสถานีโทรทัศน์ช่อง
5 เพื่อเข้าร่วมในโครงการทีวีไฟว์โกบอลเน็ทเวิร์ค ที่เป็น การถ่ายทอดรายการผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก
เพื่อสร้างช่องทางใหม่ๆให้กับเนชั่นชาแนล 8 ในตลาดต่างประเทศ
สถานการณ์ภายในธุรกิจสิ่งพิมพ์ในกลุ่มเนชั่น ก็ต้องหันกลับมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดกันอีกระลอก
สุทธิชัย หยุ่น นอกจากจะควบคุมค่าใช้จ่ายกันอย่างเข้มงวดแล้ว พนักงานใหม่ๆ
ของเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ และ เนชั่นชาแนล 8 ที่รับเข้ามาช่วง ที่กำลังขยายธุรกิจ
และทำงานกันจนครบทดลอง ก็ถูกเลื่อนบรรจุเป็นพนักงานประจำออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ผู้สื่อ ข่าวฝ่ายไหนลาออกไป ก็ไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม สำหรับสิ่งพิมพ์อื่นๆ
อาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับกลุ่มเนชั่น ที่ฟื้นตัวก่อนคนอื่น เหตุการณ์นี้ย่อมไม่ธรรมดา
ไม่เช่นนั้น แล้วเนชั่นอาจต้องเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์แรกๆ ที่ต้องเจ็บตัว กับวิกฤติเศรษฐกิจระลอก
2 ก่อนรายอื่นๆ