บุญคลี เป็นคนแปดริ้ว ครอบครัวคนจีน พ่อเกิดที่เมืองจีนแต่มาตั้งรกรากในไทยเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว
ใครจะรู้ว่าชื่อที่ฟังดูเป็นไทยแท้อย่างคำว่าบุญคลี ที่จริงแล้วดัดแปลงมาจากภาษาจีนที่อ่านว่า
"บ่งคี๊" เช่นเดียวกับนามสกุล ปลั่งศิริ ก็มาจากแซ่ ่"ปัง" ชื่อจริงๆ
ของเขาก็คือ "ปังบ่งคี๊"
ด้วยความที่ครอบครัวค้าขาย พ่อเปิดร้านขายของประเภทซูเปอร์สโตร์ ที่แปดริ้ว
พ่อจึงมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางธุรกิจของบุญคลีอย่างช่วยไม่ได้ และต่อมาเขาก็พบว่า
วิธีการทางธุรกิจที่พ่อใช้อยู่เวลานั้น เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีที่เขียนถึงในปัจจุบัน
บุญคลีเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน และเป็นคนเดียวที่ได้เรียนหนังสือมากที่สุด
พี่อีก 3 คน จบแค่ชั้นมัธยมปีที่ 6 บ้าง จบปวช.บ้างก็ต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของ
บุญคลีถูกส่งไปโรงเรียนจีนตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล แต่ก็เรียนไปได้ 4
ปี เกิดเหตุการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ขึ้นในไทย ที่คนจีนถูกเพ่งเล็ง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวเขาเปลี่ยนชื่อนามสกุลมาเป็นไทย
"พอถึงตอนนั้นพ่อผมไปเป็นลูกเสือชาวบ้าน ผมมานั่งคิดว่าพ่อผมเก่ง เพราะเวลานั้นคนจีนถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์
พ่อก็ไม่มีปัญหา เพราะไปเปลี่ยนชื่อนามสกุล หลายครั้งที่ผมทำธุรกิจมันถึงได้ย้อนกลับไปถึงการทำธุรกิจของพ่อผมมาตลอด"
ด้วยเหตุการณ์ในครั้งนั้น โรงเรียนจีนที่บุญคลีเรียนอยู่ต้องปิดตัวลงไป
คราวนี้เขาถูกส่งไปเข้าโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ที่แปดริ้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานในเรื่องภาษาอังกฤษที่เป็นประโยชน์มากในเวลาต่อมา
การมาจากครอบครัวค้าขาย เมื่อมีเวลาว่างจากเรียนหนังสือ เขาก็ต้องกลับมาช่วยที่บ้านค้าขาย
ต้องขึ้นรถตู้ไปส่งของกับพ่อตามจังหวัดใกล้เคียงอย่างอรัญประเทศ กบินทร์บุรี
สระแก้ว จันทคาม และประสบการณ์เหล่านี้เอง ทำให้เขาได้ซึมซับเอาความรู้ในเรื่องธุรกิจที่กลายเป็นรากฐานของการเรียนรู้ธุรกิจอย่างคาดไม่ถึงในเวลาต่อมา
"เวลาไปขายของ สิ่งแรกที่พ่อทำก็คือจะต้องเก็บเงินของเก่าที่ขายครั้งที่แล้วมาก่อน
และถ้าได้เงินไม่ครบ ออร์เดอร์ของลูกค้ารายนั้นสั่งไว้ไม่ได้ครบตามสั่ง เช่นว่า
ติดหนี้ 100 บาท จ่ายมา 50 บาท ของที่สั่งก็ให้ไม่ครบ "สิ่งที่บุญคลีได้จากประสบการณ์ครั้งนั้นก็คือ
ทฤษฎีว่าด้วยการบริหารหนี้
วิธีทางธุรกิจบุญคลีพบได้จากการทำการค้าของพ่ออีกทฤษฎีหนึ่ง ก็คือ การหมุนเงินสด
ในแต่ละเดือนพ่อจะหักเงินออกมาจากรายได้ของทุกเดือนเดือนละ 10% เอามาตั้งเป็นกองทุนเอาไว้ให้รับแลกเช็ค
วิธีนี้เป็นสิ่งที่บุญคลีพบก็คือ เป็นวิธีการทำธุรกิจสมัยใหม่ 2 วงจร
ข้อแรก การชักเงินออกไป 10% ทุกเดือน และธุรกิจยังไปได้ เท่ากับว่า
มีกำไร 10% ซึ่งธุรกิจการขายของแบบโชวห่วยนั้น การคำนวณต้นทุนทำได้ยากมาก
เพราะต้องหมุนเงินตลอด
ข้อสอง การนำเงินส่วนที่ได้มา 10% ไปหาประโยชน์เพิ่ม
แต่แล้วประสบการณ์ค้าขายของบุญคลีก็หมดลง พร้อมกับการสอบเข้าเตรียมอุดม
เขาก็ต้องจากบ้านมาอยู่หอพัก และจากนั้นเขาก็ต้องห่างบ้านไปใช้ชีวิตชาวหออีกหลายปี
จนถึงเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ชิงทุนไปเรียนระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
University of Illinois สหรัฐอเมริกา
บุญคลีเล่าว่าพ่อของเขาอยากให้เรียนหมอ แต่ด้วยความไม่ชอบเรื่องเห็นคนเจ็บ
บุญคลีจึงเลือกวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า และสอบได้คะแนนเป็นที่ 3 ของคณะ
ซึ่งช่วงนั้นยังถือว่าเป็นสาขาวิชาที่ใหม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะเลือกเรียนวิศวะโยธา
จากการเรียนในโรงเรียนเตรียมที่ต้องอยู่ในกฎระเบียบเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย
จึงหมดไปกับกิจกรรมและการหาความสนุกสนานตามประสาเด็กวัยรุ่นในสมัยนั้น
"ผมใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยแบบสุดๆ ทั้งเล่นกีฬา เป็นนักดนตรี ทั้งกินเหล้า
บางวิชาแทบไม่ได้เข้าเรียนเลย แต่ผมก็ประคองตัวมาได้ ไม่เคยต้องสอบซ่อมเลย"
ที่สำคัญคือบุญคลีจบมาได้ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 สิ่งที่เป็นเคล็ดลับของบุญคลีก็คือ
อ่านหนังสือในขณะที่คนอื่นหลับ นั่นก็หมายความว่า แม้ว่าเขาจะไม่เข้าห้องเรียนหรือไปทำกิจกรรม
แต่สิ่งที่เขาทำเสมอคือ การอ่านหนังสือก่อนทุกครั้ง ซึ่งเป็นปรัชญาที่เขายังคงใช้ได้ดีจนถึงทุกวันนี้
นี่จึงเป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ในอดีตในวัยเยาว์เป็นเวลา 16 ปีเต็มที่หล่อหลอมบุญคลีก่อนจะมาร่วมงานที่ชินคอร์ป