มืออาชีพยุคนี้ จุลกร สิงหโกวินทร์ และพรสนอง ตู้จินดา ทั้งสองเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารขนาดเล็กในเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีมานี้ ความคิดและประสบการณ์ของเขากับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในอุตสาหกรรมการเงินไทยของทั้งสอง
จึงเป็นเรื่องร่วมสมัยที่น่าสนใจไม่น้อย ทีมงานบรรณาธิการ "ผู้จัดการ"
กำลังทำงาน สนทนา ค้นคว้า และเขียนเรื่องของเขาทั้งสองเพื่อเตรียมนำมาเสนอในฉบับต่อไป
Management
สังคมธุรกิจไทยถูกบังคับปรับโครงสร้างครั้งใหญ่จากแรงบีบคั้นจากโลกตะวันตก
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ ซึ่ง "ผู้จัดการ" ยุคใหม่ พยายามอรรถาธิบายมาเป็นฉากๆ
แล้วนั้น
ฉบับนี้ก็นำเสนอเรื่องราวเรื่องหนึ่ง ที่สะท้อนความคิด ความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
บุญคลี ปลั่งศิริ เป็นผู้นำในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าสนใจมากของธุรกิจที่ต้องปรับตัวมากเป็นพิเศษ
เขาเป็นเด็กบ้านนอก ลูกพ่อค้ารายย่อย แต่หัวดี ผ่านการศึกษาธรรมดาจากเมืองไทยและไปต่อต่างประเทศ
ผ่านประสบการณ์ในรัฐวิสาหกิจเกือบ 20 ปี เข้าทำงานในภาคธุรกิจเพียง 6 ปี
เขาเข้าใจธุรกิจที่เกิดจากระบบอุปถัมภ์ กลุ่มชิน (ก่อนหน้าเป็นชินวัตร)
ก่อร่างสร้างกิจการมาจากระบบสัมปทานการ สื่อสาร แต่กลุ่มธุรกิจนี้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงจากสังคมธุรกิจระดับโลกได้
บุญคลี ปลั่งศิริ เขาเข้ามาเป็นผู้นำองค์กรนี้จากความเข้าใจในข้อจำกัดของประวัติศาสตร์
ขณะเดียวกันก็สามารถมองไปข้างหน้าอย่างชัดเจน เขาจึงพยายามปรับองค์กร ปรับความคิดให้ก้าวผ่านจากองค์กรธุรกิจ
จากระบบสัมปทานไปสู่ธุรกิจที่เป็นจริง และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค
เขาก้าวผ่านจากธุรกิจที่อาศัยความสัมพันธ์จากระบบเดิม ไปสู่การพัฒนาโครงสร้างองค์กร
ให้มีการจัดการสมัยใหม่ ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นว่าการจัดการสมัยใหม่มีพลังและประสิทธิภาพ
จึงทำให้องค์กรธุรกิจของเขาผ่านความยากลำบากในช่วงวิกฤตการณ์มาได้
เรื่องจากปกคราวนี้จับจากเรื่องธรรมดาๆ ขององค์กรธุรกิจหนึ่งมาอรรถาธิบายในเชิงลึกว่าด้วยแนวความคิด
การปรับตัวของผู้นำองค์กรที่มีความเชื่อในเรื่องความสามารถในการจัดการอย่างมาก
มีความเชื่อในประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจที่เป็นจริง
นี่คืออีกความคิดหนึ่งซึ่งปลูกฝังมาตั้งแต่เศรษฐกิจการค้าอุบัติขึ้นในเมืองไทยเมื่อประมาณ
100 ปีมานี้ ว่าด้วยสายสัมพันธ์ กำลังจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปตามกาลเวลา
ความคิดนี้กำลังถูกบั่นทอนอย่างรากฐานจากนี้ไป
มันเป็นสิ่งที่ท้าทายความเชื่อของผู้ประกอบการรุ่นเก่า และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของไทยมากทีเดียว