ศาลฎีกาตัดสินคดี ทีพีไอ กรณีฟ้องนิติกรรม EPL พิพากษาแผนฟื้นฟูฯ ไม่โมฆะ เจ้าหนี้เกิน
75% แก้ไขสาระสำคัญของแผนฯได้ สกัด "ประชัย" สวมสิทธิเจ้าหนี้ค้าน เปิดช่องให้
5 อรหันต์ในฐานะผู้บริหารแผนฯ สามารถแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ TPI ได้เต็มที่ ขณะเดียวกันได้เลื่อนตัดสินคดีซื้อหนี้ในราคาส่วนลดของ
TPIPL ออกไปเป็นวันที่ 20 กันยายน เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เจรจานอกรอบเพื่อหาแนวทางบรรลุข้อตกลง
นายกมล ธีระเวชพลกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลล้มละลายกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
คดีที่บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ส อดีตผู้บริหารแผนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน)(TPI) ที่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางในประเด็นเรื่องการแก้ไขการลงคะแนนเสียงเพื่อแก้ไขสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ
จากเดิมที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าการแก้ไขแผนฯจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า
75% ของมูลหนี้และไม่มีเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งคัดค้านนั้น
ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งเห็นชอบตามคำร้องของ EPL โดยให้มีการแก้ไขการออกเสียงลงคะแนนของเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมแผนปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงินเพื่อแก้ไขสาระสำคัญของแผนฯ ว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า
75% ของมูลหนี้เท่านั้น เนื่องจากผู้บริหารแผนมีสิทธิในการแก้ไขแผนฯเพื่อให้แผนดำเนินการต่อไปได้
ที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารลูกหนี้ TPI ได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของ
EPL ในฐานะผู้บริหารแผนฯ ไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นบริษัทต่างด้าวและไม่มีใบอนุญาตในการประกอบการบริหาร
สินทรัพย์ของ TPI เนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล้มละลายกลางได้เพิกถอน EPL ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฯแล้ว
ส่วนคดีที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ได้ยื่นคำร้อง เกี่ยวกับคุณสมบัติของ EPL เนื่องจากไม่มีความเหมาะสมเพราะเป็นบริษัทต่างด้าว
และมีคุณสมบัติเพียงจัดทำบัญชีเท่านั้น ดังนั้นขอให้ตัดสินการดำเนินการทางนิติกรรมทุกอย่างที่
EPLในฐานะอดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI ทำไว้เป็นโมฆะทั้งหมดไม่มีผลตามกฎหมาย
แต่ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว ตัดสินให้การทำนิติกรรมทั้งหมดของ EPL ไม่เป็นโมฆะ เนื่องจากบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) และได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว
แหล่งข่าววงใน กล่าวว่า ตามศาลฎีกามีคำสั่งเห็นชอบตามคำอุทธรณ์ของ EPL ประเด็นการลงคะแนนเสียงเพื่อแก้ไขสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูฯ นั้น
ถือเป็นการปิดโอกาสให้เจ้าหนี้รายเล็กที่ไม่เห็นชอบกับแผนฯวีโต้ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเอื้อให้กับคณะผู้บริหารแผนฯ
TPI ที่มีพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธาน ที่ได้เตรียมเสนอร่างแผนฟื้นฟูกิจการฉบับสมบูรณ์ให้กระทรวงการคลังพิจารณาในสัปดาห์นี้
ทำการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯได้ง่ายขึ้น จากเดิมหากมีเจ้าหนี้ทางการเงินเพียงรายเดียวคัดค้านก็เท่ากับร่างแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวตกไป เหมือนสมัยที่ EPLพยายามแก้ไขแผนฯแต่ก็ทำไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ นายประชัย คาดหวังสูงว่าศาลฎีกา จะมีคำสั่งเห็นชอบตามคำร้องที่ขอให้แผนฟื้นฟูฯ ที่ EPL
เป็นผู้ทำแผนฯ ต้องเป็นโมฆะ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารลูกหนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูฯฉบับใหม่
เพราะธุรกรรมต่างๆ ที่ทำมาสมัย EPL เป็นผู้บริหารแผนฯต้องเป็นโมฆะด้วยแต่เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้แผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวไม่เป็น
โมฆะ ทำให้นายประชัยต้องหาแนวทางที่จะคัดค้านร่างแผนฟื้นฟูฯฉบับตัวแทนกระทรวงการคลังใหม่
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง
การเข้าไปถือหุ้นในTPI ตามนโยบายของกระทรวงการคลังนั้น ปตท.จะใช้เวลาศึกษาไม่เกิน
2 เดือนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยจะต้องคำนึงถึงความคุ้ม ทุนและอนาคตในการทำรายได้และผลตอบแทนของ
ผู้ถือหุ้น ปตท.ด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญ หาก ปตท.เข้าไปถือหุ้นในทีพีไอแล้ว
ต้องไปร่วมรับผิดชอบหนี้ของทีพีไอ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 70,000 ล้านบาทด้วย
ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม
เลื่อนชี้ขาดซื้อลดหนี้ TPIPL 20 ก.ย.
ศาลล้มละลายกลาง ยังได้มีคำสั่งให้เลื่อนการตัดสินคำร้องของเจ้าหนี้ที่คัดค้านการรับหนี้คืนโดยมีส่วนลดของบริษัท
ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) ออกไปเป็นวันที่ 20 กันยายน 2547 เวลา 13.30
น. เนื่องจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ขอนัดไกล่เกลี่ยนอกรอบเป็นการส่วนตัวโดยทั้งสองฝ่ายมั่นใจว่าจะสามารถเจรจากันได้ด้วยดี
นอกจากนี้ ผู้บริหารแผนฯTPIPL ได้ดำเนินการขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย (KTB)เพื่อนำมารีไฟแนนซ์หนี้จำนวน
700 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงประเด็นขอลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยจำนวน 4,800 ล้านบาท ซึ่งทั้ง
2 ฝ่ายยืนยันจะทำการเจรจากันนอกรอบ
โดย TPIPL ได้เสนอเงื่อนไขการชำระหนี้ TPIPL ใหม่ โดยจะชำระหนี้เงินต้นจำนวน 700
ล้านเหรียญสหรัฐ ครบทั้งจำนวน ทั้งเจ้าหนี้มีประกัน และเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระ
บริษัทขอผ่อนชำระเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ยังจะมีการซื้อหนี้คืนในราคาส่วนลดครั้งที่
2 ด้วย
ปัจจุบัน TPIPL มีหนี้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เป็นดอกเบี้ยค้างชำระราว 4.8 พันล้านบาท
ซึ่งบริษัทพยายามที่จะปรับโครงสร้างหนี้ที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นธันวาคม
นี้ เนื่องจากจะครบกำหนดระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการแล้ว
นายลือศักดิ์ กังวาลสกุล ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการเจ้าหนี้ TPIPLกล่าวว่า เรื่องการซื้อหนี้คืนครั้งที่ 2 นั้น คณะกรรมการเจ้าหนี้ ให้การสนับสนุน แต่กรณีของดอกเบี้ยค้างชำระ
คณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นว่า ตามแผนฟื้นฟูฯกำหนดว่าจะมีการแปลงเป็นทุน จึงยังไม่ตัดสินใจ
หรือรับเงื่อนไขของลูกหนี้หรือไม่
"ลูกหนี้ได้แจ้งกับศาลฯว่าขณะนี้ KTB อยู่ระหว่างการทำดิวดิลิเจนท์เชื่อว่าผลการตรวจสอบทรัพย์สินจะออกมาดี
โดยในเบื้องต้น KTB ได้แจ้งกับลูกหนี้ว่าฐานะการเงินของ TPI อยู่ในระดับที่น่าลงทุน
อย่างไรก็ดีลูกหนี้ได้แจ้งต่อศาลฯว่าส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นบวกมานานแล้วถึงแม้ยังมีขาดทุนสะสมอยู่ 2,000 ล้านบาทก็ตาม และบริษัทมีเงิน ฝากอยู่ในธนาคาร 8,000-9,000 ล้านบาท"
นายกมล กล่าว
ปัจจุบันมีเจ้าหนี้มารับหนี้คืนในราคาส่วนลดจำนวน 22 ราย คงเหลือเจ้าหนี้เพียง
8 รายที่ยื่นคัดค้านการรับหนี้คืนดังกล่าว ซึ่งสาเหตุที่เจ้าหนี้ปฏิเสธรับหนี้คืน
เนื่องจากลูกหนี้ผิดสัญญาในการชำระหนี้คืนในราคาส่วนลดจากมูลหนี้ 220 ล้านดอลลาร์เหลือ
180 ล้านดอลลาร์ทำให้เจ้าหนี้บางคนต้องการได้รับชำระหนี้คืนในราคาเต็ม