"แบงก์กรุงไทย" เผยเซ็นเอ็มโอยูร่วมทุนกับแบงก์ BDB จีนเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษารายละเอียดและรอทางการจีนอนุมัติ
หวังใช้เครือข่ายเพื่อขยายธุรกรรมทางการเงินทางภาคตะวันออกของจีน ด้านแนวทางการลงทุนในต่างประเทศจะเปิดสาขาควบคู่กับการร่วมทุนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละประเทศ
พร้อมเล็งเปิด Contact Point ให้บริการลูกค้า เฉพาะด้านตามเมืองท่องเที่ยวและศูนย์กลางการค้า
ส่วนสาขาพม่ากำลังศึกษา ความคุ้มค่า เชื่อมั่นสามารถเปิดบริการฉลุย
นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ
KTB เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่ธนาคารกรุงไทยเข้าร่วมลงทุนกับเครือซีพี เพื่อลงทุนในธุรกิจธนาคาร
Business Development Bank หรือ BDB ซึ่งเป็นธนาคารในประเทศจีนจำนวนไม่เกิน 10
ล้านหุ้น คิดเป็น 12.55% ของทุนจดทะเบียนภายหลังเพิ่มทุนว่า ขณะนี้ธนาคารได้ลงนามในบันทึกตกลงความเข้าใจ
(MOU) เรียบร้อยแล้วและกำลังศึกษารายละเอียดและกลุ่มธุรกิจที่จะดำเนินการในประเทศจีน
โดยขั้นตอนการซื้อขายหุ้นในธนาคารบีดีบีกำลังดำเนินการขออนุญาตจากทางการจีน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ
นี้ ธนาคารเห็นว่าธุรกิจที่มีความเหมาะสมจะดำเนินการในประเทศจีนคือ การให้สินเชื่อด้านการส่งออกและการนำเข้าแก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวจีน โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่จีนมีความต้องการซื้อสูง
"ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยเองได้เปิดสาขาที่คุนหมิงประมาณ 8 ปีมาแล้ว ซึ่งที่คุนหมิง
จะเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางภาคตะวันตกของจีน ส่วนทางภาคตะวันออกธนาคารจะลง ทุนในรูปแบบของการร่วมทุนกับธนาคารบีดีบีที่นครเซี่ยงไฮ้เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าของจีนในฝั่งตะวันออก และการร่วมทุนครั้งนี้จะสอดคล้องกับนโยบายทางการจีนที่ไม่ต้องการให้ธนาคารต่างประเทศไปเปิดสาขาเพิ่ม
แต่สนับสนุนให้ไปลงทุนในธนาคารท้องถิ่น" นายสุวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคาร BDB เป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ 90 ล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนจดทะเบียน
66 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นระดับสากลมีผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ประมาณ
50% ธนาคาร KfW เยอรมัน 15% ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 6.87% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย
นายสุวิทย์กล่าวว่า แนวทางการลงทุนในต่างประเทศของธนาคารกรุงไทยจะดำเนินการใน
2 รูปแบบควบคู่กัน คือหนึ่งรูปแบบการลงทุนโดยการเปิดสาขา ซึ่งจะส่งผลให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน
และสองเป็นการร่วมทุนกับธนาคารในต่างประเทศ เนื่องจากในบางประเทศ เช่น จีน มีข้อจำกัดและขั้นตอนในการเปิดสาขามาก
การใช้วิธีร่วมทุนจึงน่าจะขยายช่อง ทางการทำธุรกิจได้ง่ายกว่า ทั้งนี้การลงทุนในต่างประเทศของธนาคารจะเป็นรูปแบบใดต้องดูความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ
"การขยายสาขาในต่างประเทศของธนาคารกรุงไทยในอนาคต บางแห่งไม่จำเป็นต้องเปิดเป็นสาขาเต็มรูปแบบ
แต่จะเปิดเป็น Contact Point ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ที่ธนาคารจะเข้าไปลงทุน
เป็นการให้บริการเฉพาะด้าน เช่น การเปิดจุดให้บริการของธนาคารตามเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา
หรือเปิดจุดบริการตามเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้บริการสินเชื่อเพื่อส่งออกและนำเข้า"
นายสุวิทย์ กล่าว
นางสาวพรรณิภา อภิชาตบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การลงทุนในประเทศสหภาพเมียนมาร์ตามแนวทางที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางให้ธนาคารนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาด้านความคุ้มค่าในการลงทุนโดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดเป็นสาขาเต็มรูปแบบโดยจะให้บริการทางการเงินทุกประเภท
สำหรับนักธุรกิจชาวไทยและพม่า ซึ่งจะเปิดที่กรุงย่างกุ้งเป็นสาขาแรก
ทั้งนี้ปริมาณการค้าขายโดยทั่วไปตามแนวชายแดนไทย-พม่าถือว่ามีปริมาณที่น่าพอใจ
แต่อย่างไรก็ตามพม่ายังมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากทางการสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรทางการค้ากับพม่าในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องประชาธิปไตยอยู่
แต่คาดว่าการเข้าไปลงทุนในครั้งนี้คงเป็นไปอย่างราบรื่น