แบงก์ชาติเตรียมออกบอนด์อีก 8 หมื่นล้านบาท ตามเงื่อนไขชดเชยความเสียหายของกองทุนฯ
ระบุเรียกนายแบงก์เข้าหารือเกี่ยวกับการขายบอนด์ออมทรัพย์วันที่ 17 มิ.ย.นี้ ดอกเบี้ยน่าจะสูงจูงใจผู้ลงทุน
เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้น ด้านนายแบงก์ชี้ไม่กระทบเงินฝาก เหตุสภาพคล่องล้นระบบ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าในปีนี้
ธปท.ได้ตั้งเป้าหมายกับกระทรวงการคลังว่า จะออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความเสียหายทั้งสิ้น
200,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นออกพันธบัตรเพื่อการลงทุน (อินเวสเตอร์ บอนด์) ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้ทยอยออกไปบ้างแล้ว และอีกส่วนหนึ่งจะออกเป็นพันธบัตรขายในสมาชิกกองทุน
พันธบัตรเอเชีย (เอเชีย บอนด์) ทั้งสองตัวออกรวมกัน 120,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ อีกส่วนจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้กับประชาชน 80,000 ล้านบาท โดยคาดว่า
จะออกพันธบัตรดังกล่าวได้ภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งทางกระทรวงการคลังรับในส่วนของดอกเบี้ย ขณะที่ ธปท.จะรับภาระจ่ายเงินต้น อย่างไรก็ตาม ทางธปท.จะเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดมาประชุมในสัปดาห์หน้า
"ในสัปดาห์หน้าจะเรียกผู้บริหารแบงก์พาณิชย์มาหารือเกี่ยวกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะขายให้ประชาชนว่า
จะขายโดยใช้วิธีใด และใช้เวลาการขายมากน้อยเพียงใดถึงจะเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งทางแบงก์ชาติเองได้ตกลงว่าจะให้ธนาคารพาณิชย์เป็นคนกลางในการขายพันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 80,000 ล้านบาท ให้กับประชาชน ซึ่งการออกพันธบัตรครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการมาช่วยลดสภาพคล่อง เพราะเรื่องสภาพคล่อง ก็คงให้เป็นไปตามกลไก
แต่การออกพันธบัตรครั้งนี้ทำตามคิวที่จะออก และมั่นใจว่าพันธบัตรที่ออกมาจำหน่ายครั้งนี้จะขายหมดเหมือนครั้งที่ผ่านมา" ผู้ว่าการธปท.กล่าว
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะออกนั้น ในช่วงนี้ดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยโลกที่กำลังจะเพิ่มขึ้น
ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะออกมาในเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้ต้องสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรที่ออกในปี
2546 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำ แต่หากเทียบเฉพาะพันธบัตรออมทรัพย์ด้วยกัน
ซึ่งล่าสุด ได้ออกไปเมื่อ 30 สิงหาคม 2545 จำนวน 305,000 ล้านบาทแล้ว คาดว่าดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะออกในครั้งนี้จะต่ำกว่าดอกเบี้ยครั้งที่แล้ว
ส่วนการกำหนดอายุของพันธบัตรออมทรัพย์นั้น ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่คำนวณอยู่ว่า
เงินที่อยู่ในบัญชีผลประโยชน์ของทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเงินที่จะใช้จ่ายคืนเงินต้นว่าการเพิ่มขึ้นจะเป็นอย่างไร
จะต้องใช้เวลากี่ปีเงินในบัญชีจะเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินต้นจำนวน 80,000
ล้านบาทนี้ได้ อายุของพันธบัตรที่จะออกจะอยู่ในช่วงเวลานั้น โดยในส่วนของพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นปี
2545 มีภาระเดิมอยู่แล้ว 305,000 ล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรอายุ 5 ปี 7 ปี และ 10
ปี ดังนั้น จะต้องศึกษา และประมาณการเงินที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อบริหารเวลาการออกพันธบัตร
ให้จ่ายเงินต้นของงวดเก่า และงวดใหม่ได้ โดยใช้เงินที่งอกเงย จากบัญชีผลประโยชน์นี้ได้ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกในปี
2545 นั้น อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.15% อายุ 7 ปีดอกเบี้ย 5.25% และอายุ 10 ปีอัตราดอกเบี้ย
6.10% ส่วนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงพันธบัตรรัฐบาลในวันที่ 11 มิ.ย. 2547 อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล
อายุ 5 ปีอยู่ที่ 3.62% อายุ 7 ปีอยู่ที่ 4.41% และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10
ปีอยู่ที่ 5.15%
นอกจากนี้แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า การออกพันธบัตรออมทรัพย์ของแบงก์ชาตินั้น
จะไม่มีผลกระทบกับยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยขณะนี้สภาพคล่องในระบบยังคงล้นระบบกว่า
7 แสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะดึงเงินฝากระยะยาวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยขณะนี้ฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์จะได้อัตราดอกเบี้ยไม่ถึง
3% ซึ่งเชื่อว่าผลตอบแทนของพันธบัตรออมทรัพย์น่าจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงและจูงใจผู้ออมเงินกว่า