เผยเครือสหพัฒน์ขู่ถอนยวงออกจากตลาดหลักทรัพย์ หลังเกณฑ์เกี่ยวโยงทำอึดอัดไม่คล่องตัว
ด้าน "กิตติรัตน์" ปฏิเสธไม่เคยได้ยินใครขู่แต่ยอมรับสำรวจพบเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอุปสรรคบริษัทจดทะเบียนมากและตลท.กำลังปรับปรุง
ขณะที่ "ธีระชัย" เลขาฯ ก.ล.ต.รอหารือกับตลท.หลังได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมแก้ไขเพื่อให้ผู้ที่ทำสุจริตมีความคล่องตัวได้
แต่ต้องไม่ทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียประโยชน์และถูกเอาเปรียบ
แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในเครือสหพัฒน์และสหยูเนี่ยน
มีแผนที่จะนำบริษัทในเครือทั้งหมดเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมีข้อจำกัดการทำธุรกิจในส่วนของการทำรายการเกี่ยวโยงกัน
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์มีเกณฑ์ใหม่ที่ค่อนข้างเข้มงวดมากขึ้น
อย่างเช่น การทำรายการกับบริษัทในเครือที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท ต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น
ทำให้เกิดความยุ่งยากและต้องใช้เวลานาน
รวมทั้งจะก่อให้เกิดการเสียโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งหากบริษัททั้ง 2 กลุ่มนี้มีการถอนตัวออกไปจะทำให้มูลค่าตามราคาตลาดหรือมาร์เกตแคปลดลงค่อนข้างมาก
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.)
กล่าวว่า ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เกี่ยวกับเกณฑ์รายการเกี่ยวโยงกัน
ซึ่งมีหลายบริษัทที่ได้รับความเดือดร้อน ทำให้ดำเนินธุรกิจไม่สะดวก ดังนั้นจึงได้มีการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในประเด็นของรายการ
เกี่ยวโยงประมาณ 3-4 ประเด็น ที่จะทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น
อย่างไรก็ตามการแก้ไขดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์
รวมทั้งต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ให้ความเห็นชอบด้วย ซึ่งคาดว่าการดำเนินการแก้เกณฑ์ดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือน
ก.ค. 2547 นี้
"ผมยังไม่ได้ยินว่ามีใครขู่จะออกจากตลาด แต่ก็มีการสำรวจความเห็นของ บจ.ซึ่งพบว่าเป็นอุปสรรคค่อนข้างมากและควรที่จะมีการปรับปรุง"
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.เปิดเผยว่า หากเกณฑ์ที่ออกมาเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนก็ควรจะมีการแก้ไขเพื่อให้ผู้ที่ทำสุจริตมีความคล่องตัว
แต่ก็ต้องไม่ทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียประโยชน์และถูกเอาเปรียบ ซึ่งขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียน จากนั้นจะมีการหารือกับสำนักงาน
ก.ล.ต. ซึ่งการแก้เกณฑ์ดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการของทั้ง 2 องค์กร
ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ก.ล.ต.ได้เคยออกประกาศของสำนักงานฯเกี่ยวกับการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินของบริษัทจดทะเบียน
(ไซฟ่อน) ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับรายการเกี่ยวโยงกันด้วย หากมีการแก้ไขในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องแก้ไขในส่วนของประกาศก.ล.ต.ด้วย
นายธีระชัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต.ได้หันมาทำงานในเชิงรุกมากขึ้น
มีการปรับปรุงวิธีการทำงานเสริมขึ้นมา โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามและวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนเป็นประจำ
ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามี 5 บริษัทที่งบการเงินมีปัญหา ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน
แต่เมื่อ ก.ล.ต.มีการทักท้วงไปบางบริษัทก็ยกเลิกรายการดังกล่าว
"ก.ล.ต.พยายามที่จะมองในแง่มุมต่างๆมากขึ้น และดูว่าเกณฑ์ที่ออกมาส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
ซึ่งจะมีผลทำให้เกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาไม่เป็น การเหวี่ยงแหจนเกินไป เพราะจะมีอีกหน่วยงานที่คอยดูแลว่าเกณฑ์มีอุปสรรคอะไรหรือไม่เหมือนกับเรามีตาข่าย
2 ชั้น ชั้นแรกเราก็ไม่ต้องถี่นักเพราะยังมีชั้นที่ 2 คอยกรองอีกทีหนึ่ง"
นายมนตรี ฐิรโฆไท นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า จากการที่สมาคมฯได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดจำนวน
125 แห่ง พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 15 บริษัทที่ผู้ถือหุ้นไม่อนุมัติให้แก้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำรายการเกี่ยวโยงกันตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์
เนื่องจากเห็นว่าจะก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำธุรกิจซึ่งขณะนี้เข้าใจว่าสมาคมบริษัทจดทะเบียนกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับตลาดหลักทรัพย์ถึงปัญหาดังกล่าว
"บางบริษัทที่อยู่ในตลาดมีการดำเนินการเป็นกลุ่ม ซึ่งต้องมีการทำธุรกรรมระหว่างกันค่อนข้างมาก
ซึ่งเป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจ จากการไปประชุมผู้ถือหุ้นก็มี 15 บริษัทที่ไม่อนุมัติการแก้ข้อบังคับเกี่ยวกับรายการเกี่ยวโยง
ซึ่งบางครั้งก็ต้องเห็นใจหากเป็นข้อจำกัดทางธุรกิจจริงๆ"