ทศทเตรียมรื้อสัญญาสามารถ กรณีให้บริการบิลลิ่งคอลเซ็นเตอร์กับไทยโมบาย อ้างสัญญาไม่เป็นธรรม
หลังพบอาการไทยโมบายโคม่าเลือดไหลไม่หยุด รายได้ติดลบไม่พอจ่ายสามารถ เตรียมประชุมบอร์ดปลายเดือนแปลงหนี้เป็นทุนลดหุ้น
กสทเหลือต่ำกว่า 25% เพื่ออำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ
นายวาสุกรี กล้าไพรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น และผู้จัดการกิจการร่วมค้าไทยโมบาย
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ กล่าวว่าทศทอยู่ระหว่างการทบทวนสัญญาบริการต่างๆ ที่ทำไว้กับบริษัท สามารถ อี-เทรดดิ้ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนขายและให้บริการโทรศัพท์มือถือไทยโมบาย
รวมทั้งให้บริการด้านบิลลิ่งและคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากการทำธุรกิจในความเป็นจริงตามสัญญาที่เคยทำกันไว้นั้นไม่เป็นธรรมกับไทยโมบายในการดำเนินธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้
"ผมกำลังให้ฝ่ายกฎหมายและการเงินของไทยโมบายรวบรวมตัวเลขอยู่ เนื่องจากปัจจุบันฐานะการเงินของกิจการร่วมทุนนี้ถือว่าเลือดไหลไม่หยุด
จำเป็นต้องห้ามเลือดก่อน"
ไทยโมบาย ดำเนินงานด้วยการร่วมทุนระหว่าง ทศท ถือหุ้น 58% และบริษัท กสท โทรคมนาคม
ถือหุ้น 42% จากการได้รับอนุมัติคลื่นความถี่ร่วมกันระหว่างทศทกับกสท อย่างไรก็ตาม
การดำเนินงานที่ผ่านมามีปัญหาในการดำเนินงานมากเพราะขาดเอกภาพหรือสิทธิ์ขาดในการบริหาร
เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานต้องการที่จะได้บริการนี้ไว้เนื่องจากสามารถพัฒนาไปสู่โทรศัพท์มือถือในยุค
3G ได้
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามให้ กสท ลดหุ้นให้เหลือเพียงส่วนน้อยเพื่อเก็บสิทธิ์ขาดในการบริหารงานให้ทศทแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ราบรื่น
เพราะกสทยื้อที่จะขายหุ้นเพื่อลดสัดส่วนลง
ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการของไทยโมบายมีอยู่ในราวเพียง 150,000 รายเท่านั้น
จากตัวเลขกระแสเงินสดหมุนเวียนในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ไทยโมบายมีรายได้เพียง 40
ล้านบาท ในขณะที่มีรายจ่ายรวม 68 ล้านบาท โดยรายจ่ายสำคัญประมาณเดือนละกว่า 50 ล้านบาทมาจากการใช้บริการบิลลิ่งและคอลเซ็นเตอร์ของสามารถ โดยเฉพาะคอลเซ็นเตอร์ลูกค้าจะใช้บริการหรือไม่ ก็ต้องจ่ายคงที่ขั้นต่ำให้สามารถ
ทั้งนี้รายจ่ายดังกล่าวยังไม่รวมค่าเช่าโครงข่ายจากเอซีที โมบายล์ เดือนละประมาณ
87 ล้านบาท และเงินเดือนพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ฐานะการเงินปัจจุบันไทยโมบายขาดทุนสะสมกว่า
900 ล้านบาท
การทบทวนสัญญาบริการครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายวาสุกรีได้รับมอบหมายให้มารับผิดชอบ
เต็มตัว และกำลังดำเนินการตามนโยบายน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) ที่ต้องการให้กุมอำนาจ บริหารงานเบ็ดเสร็จ โดยในปลายเดือนนี้จะมีการประชุมซูเปอร์บอร์ดไทยโมบาย
ซึ่งแนวทางหนึ่งในการกุมอำนาจบริหารที่จะพิจารณาในซูเปอร์บอร์ดคือการเรียกชำระทุนเพิ่มขึ้น
หากกสทไม่ใส่เงินลงมาก็เท่ากับเป็นการลดหุ้นไปในตัวโดยสัดส่วนที่คิดไว้คือไม่เกิน
25% จากปัจจุบันที่กิจการร่วมค้าไทยโมบายมีทุนจดทะเบียนประมาณ 3,000 ล้านบาทแต่เรียกชำระประมาณ
1,000 ล้านบาท โดยยังไม่คิดรวมถึงการที่ทศทออกเงินล่วง หน้าในส่วนของโครงการแลกเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งทศทต้องส่งให้ลูกค้าที่ต้องการแลกเงินประกันเป็นเครื่องไทยโมบายอีกเกือบ 1,000
ล้านบาทจำนวนทั้งหมดเกือบ 300,000 เครื่อง ซึ่งกสทยังไม่ใส่เงินลงมาก็เท่ากับถือเป็นการลดหุ้นลงไปแล้ว
นายวาสุกรี กล่าวว่า ไทยโมบายจะต้องมีการปรับโครงสร้างบริหารใหม่ เลิกการมีรองผู้จัดการ
2 คน ลดขั้นตอนสายการบังคับบัญชา ทำให้แบนราบมากขึ้นเพื่อให้เป้าหมายหรือนโยบายส่งตรงถึงระดับปฏิบัติการโดยเร็ว
รวมทั้งเรื่องรูปแบบการรายงานต่างๆ ซึ่งต่อไปจะยึดแนวทางทศทเป็นหลัก ส่วนแนวทางพัฒนา
3G ของไทยโมบายอาจต้องดูแนวทางประเทศจีนมาพิจารณาประกอบกัน เนื่องจากมีขนาดของตลาดที่ใหญ่จะทำให้ต้นทุนเรื่องโครงข่ายและโทรศัพท์มือถือมีราคาไม่สูงนัก
แต่ในขณะที่ยังให้บริการ 2G อยู่จำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้งานของลูกค้าเป็นหลัก
ในตึกไหนใช้ไม่ได้จำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์ก็ต้องทำ แต่ทำด้วยจำนวนที่พอเหมาะพอสม
ไม่ใช่ขยายด้วยการใช้เงินจำนวนมาก
"ที่ผ่านมาทำอะไรก็จะแบ่ง 58/42 ซึ่งไม่เวิร์ก ในเมื่อผมมารับผิดชอบต้อง 100%
หมด"
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดทศท กล่าวว่าทศท จะเดินหน้าบริหารไทยโมบาย
โดยไม่รอข้อสรุปเรื่องมูลค่าหุ้นที่ทศท ต้องจ่ายให้กับกสทหลังจากที่กสท ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก
42% เหลือเพียง 5% โดยทศทยอมจ่ายที่ราคา 2,500 ล้านบาท ตามนโยบายของน.พ.สุรพงษ์
แต่กสทยังไม่ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนเสียที
ขณะที่ทศทมีแผนชัดเจนว่าต้องการจะปรับภาพไทยโมบายให้มีตำแหน่งการตลาดที่ชัดเจนโดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแผนธุรกิจใหม่โดยจะจ้างงาน
(Outsource) ให้เอกชนมากขึ้น เช่น การติดตามหนี้สินเพราะปัจจุบันถือเป็นปัญหาสำคัญของไทยโมบายเห็นได้จากบิลจากรอบปีที่ผ่านมามีมูลค่า
800 ล้านบาท จากฐานผู้ใช้บริการที่มีกว่า 1.5 แสนราย แต่ไทยโมบายสามารถเรียกเก็บได้เพียง
30% เท่านั้น
"ผมให้แนวทางไปว่าอะไรที่เราทำได้ดีกว่าเอกชนก็ทำ หรือมีเอกชนรายอื่นทำได้ดีกว่าเอกชนรายเดิมที่เราจ้างก็ต้องเปลี่ยน"