"บิ๊กหมง" นำทีมผู้บริหารแผนฯทีพีไอ ยื่นร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูฯทีพีไอฉบับสมบูรณ์ให้รมว.คลังวันนี้
เพื่อพิจารณาอนุมัติ หลังจากนั้นจะเดินสายโรดโชว์ทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ในต่างประเทศก่อนประชุมเจ้าหนี้ทางการเงินเพื่อโหวตอนุมัติแผนฯ
ยืนยันเจ้าหนี้เห็นชอบในหลักการแล้ว เผยในแผนฯ เปิดช่องปลดค้ำประกันตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ด้วย
หากแผนฟื้นฟูฯผ่านการอนุมัติจากศาล
แหล่งข่าวจากทีมงานคณะกรรมการผู้บริหารแผนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด
(มหาชน) (TPI) ที่มีพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธาน เปิดเผยว่า ทางคณะผู้บริหารแผนฯทีพีไอจะยื่นร่างแผนฟื้นฟูกิจการฯแก้ไขฉบับสมบูรณ์ให้นายสมคิด
จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาในวันนี้ (14 มิ.ย.) ซึ่งร่างแผนฟื้นฟูฯ
ฉบับดังกล่าว ทางเจ้าหนี้ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว หากคลังเห็นชอบตามแผนฯ ก็จะดำเนินการเรียกประชุมเจ้าหนี้ทางการเงินเพื่อโหวตรับแผนฯ ในเดือนถัดไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เจ้าหนี้ทางการเงินรับทราบรายละเอียดของแผนฟื้นฟูฯ ฉบับแก้ไข
รวมทั้งซักถามรายละเอียดของร่างแผนฟื้นฯ ดังนั้นผู้บริหารแผนฯที่จะเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศให้ได้รับทราบข้อมูล
ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเห็นชอบแผนฯดังกล่าว หากเจ้าหนี้ทางการเงินลงคะแนนเสียงเกิน
75% ของมูลหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว ทางผู้บริหารแผนฯทีพีไอก็จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการเรียกประชุมเจ้าหนี้ทีพีไอทั้งหมดก่อน
ที่จะเสนอต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อพิจารณาอนุมัติแผนฯต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวถึงประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงของเจ้าหนี้บางรายที่ไม่เห็นชอบในร่างแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขนั้น
ขณะนี้คณะผู้บริหารแผนฯได้มีการหารือกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ในประเด็นการหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาซื้อหุ้นจากเจ้าหนี้
เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่สามารถเข้ามาบริหารจัดการได้ จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตรที่มีความรู้ความสามารถและเป็นบริษัทไทยเข้ามาบริหารจัดการแทน ซึ่งในหลักการเจ้าหนี้ยอมรับว่า
คงไม่สามารถระบุชื่อพันธมิตรทางธุรกิจ สัดส่วนการถือหุ้นและราคาหุ้นได้ เพราะต้องรอให้ร่างแผนฟื้นฟูฯผ่านความเห็นชอบจากศาลก่อน
ซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจก็จะเข้ามาทำดิวดิลิเจนท์ก่อน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่คณะผู้บริหารแผนฯไม่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของพันธมิตรทางธุรกิจ
"ทางผู้บริหารแผนฯจะหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาถือหุ้นทีพีไอก่อนที่จะออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ซึ่งเชื่อว่าหลังจากยื่นฯขอขยายเวลาแผนฟื้นฟูฯออกไปอีก 1 ปีที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้"
แหล่งข่าวจากทีมผู้บริหารแผนฯกล่าว
ในร่างแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ ได้กำหนดเรื่องการปลดภาระค้ำประกันของนายประชัย
เลี่ยวไพรัตน์และตระกูลไว้ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากศาลล้มละลายกลาง
เนื่องจากเห็นว่าเมื่อผู้บริหารลูกหนี้ไม่ได้เข้ามาบริหารจัดการในบริษัทฯแล้ว ก็ไม่ควรที่จะต้องรับผิดชอบจากความ
เสียหายที่จะเกิดขึ้นหลังมีพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
สำหรับร่างแผนฟื้นฟูฯทีพีไอฉบับแก้ไข จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ คือ ภาระหนี้ประมาณ
20,000 ล้านบาท (500 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 5 ปี
ส่วนภาระหนี้ประมาณ 34,000 ล้านบาท (850 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน
10 ปี เริ่มชำระคืนเงินต้นงวดแรกหลังจากชำระหนี้ 20,000 ล้านบาทข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว
ส่วนภาระหนี้ประมาณ 6,000 ล้านบาท (150 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อสิ้นปีที่
10 และมูลหนี้อีกประมาณ 12,000 ล้านบาท (300 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชำระคืนทั้งเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อสิ้นปีที่
12
ขณะที่มูลหนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท (250 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชำระด้วยหุ้นทีพีไอโพลีน
โดยวิธีการขายหุ้นและนำเงินมาชำระหนี้ หรือนำหุ้นโอนตีใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยมีหนี้ประมาณ
26,800 ล้านบาท (670 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน และภาระหนี้ดอกเบี้ยค้างจ่าย
9,000 ล้านบาท (225 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะดำเนินการปลดหนี้ (write off) ดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด
สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างทุนนั้น TPI ลดทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วลงจากเดิมหุ้นละ
10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท เพื่อล้างขาดทุนสะสม หลังจากนั้นจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน
โดยออกเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุนประมาณ 26,800 ล้านบาท
(670 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยราคาหุ้นที่ใช้ในการแปลงหนี้เป็นทุน จะมีราคาไม่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินไตรมาสล่าสุด
ซึ่งภายหลังจากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว จะมีผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของเจ้าหนี้เพิ่มขึ้นจาก
75% เป็น 90% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมทั้งจะมีการเชิญชวนให้ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาห-กรรมปิโตรเคมี
ปิโตรเลียม หรือการลงทุน ที่เป็นนิติบุคคลไทยซื้อหุ้นจากเจ้าหนี้(ทั้งหมดหรือบางส่วน)
เพื่อสร้างความมั่นคงในการบริหารกิจการบริษัท
โดยผลของการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างทุนดังกล่าว จะทำให้ภาระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ
117,800 ล้านบาท (2,945 ล้านเหรียญสหรัฐ) คงเหลือเป็นภาระหนี้ภายหลังการปรับโครงสร้างประมาณ
72,000 ล้านบาท (1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ) ผลขาดทุนสะสมของ TPI จะหมดไป และเมื่อบริษัทมีผลกำไร
ก็จะสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของทีพีไอ ได้คำนวณวงเงินหนี้ที่เจ้าหนี้จะได้รับคืนจากแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวประมาณ
80% ของเงินกู้ต้น ส่วนหุ้นที่เจ้าหนี้ถืออยู่ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ
ทำให้ราคาหุ้น TPI ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนมากน้อยแค่ไหนนั้น
ถือเป็น Capital Gain ที่เจ้าหนี้ได้รับ