อดีตผู้บริหาร บล.ไอบี "ชาญชัย กุลถาวรากร" ควงแขน "สิปปกรณ์ ขาวสอาด" ประมูล
บล.เอชเอสบีซีได้ในราคา 360 ล้านบาท เผยกลุ่มผู้บริหารทราฟฟิก คอร์นเนอร์, มาสเตอร์
แอด และอาร์เคมีเดีย สนับสนุนเงินทุน วางแผนลุยธุรกิจนายหน้าค้าหุ้นเจาะกลุ่มรายย่อย
คาดเริ่มดำเนินการได้ไม่เกินสิ้นเดือนก.ค. พร้อมเล็งขอใบอนุญาต ที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่ม
หวังให้บริการครบวงจร
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประมูลขายกิจการบริษัทหลักทรัพย์เอชเอสบีซี
(ประเทศไทย) โบรกเกอร์หมายเลข 18 ซึ่งมีผู้ที่สนใจยื่นประมูลประมาณ 20 ราย มีทั้งนักลงทุนสถาบันในประเทศและ
ต่างประเทศ ปรากฏว่าผู้ที่ชนะการประมูล ได้แก่ นายชาญชัย กุลถาวรากร อดีตประธานกรรมการบริหาร
บริษัทหลักทรัพย์ไอบี ซึ่งเสนอเงินจำนวน 360 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินทุนที่นายชาญชัยนำมาประมูลนั้น มาจากอดีตผู้บริหารของ บล.ไอบี เช่น
นายสิปปกรณ์ ขาวสอาด ซึ่งได้ทำงานร่วมกับนายชาญชัยมาตลอด เข้ามาถือหุ้นและจะเป็นกรรมการบริษัทด้วย
รวมทั้งยังได้ดึงทุนจากบริษัทที่นายชาญชัยและนายสิปปกรณ์นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ในสมัยที่เป็นผู้บริหารบล.ไอบี
เช่น กลุ่มบริษัท ทราฟฟิก คอนเนอร์ส,บริษัทมาร์เตอร์แอดและบริษัทอาร์เคมีเดียกรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม การลงทุนนั้นจะใช้เงินลงทุนของผู้บริหารของบริษัททั้ง 3 บริษัทดังกล่าวซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเงินทุนของบริษัท
จดทะเบียนทั้ง 3 แห่งแต่อย่างใด โดยคาดว่านายชาญชัยจะสามารถจ่ายเงินได้ภายในสัปดาห์หน้า
"สำหรับจำนวนเงินที่ประมูลจำนวน 360 ล้านบาทถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม เพราะนอกจากได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แล้วยังได้ใบอนุญาตการเป็นบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์
(โบรกเกอร์) ด้วย ถึงแม้ว่าการประมูลครั้งนี้ จะสูงกว่าครั้งที่บล.แอ๊ดคินซันเข้าซื้อบล.ไอบี
ซึ่งการซื้อบล.ไอบีนั้นเป็นการตกลงกันและไม่ได้มีการประมูลแข่งขันเหมือนในครั้งนี้
นอกจากนี้สภาพตลาดหุ้นในปัจจุบันนี้มีมูลค่าการซื้อขายที่มากกว่าช่วงอดีต ที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงทำให้มีผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น"
แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์เอชเอสบีซีที่นาย ชาญชัยประมูลมาได้นั้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ซึ่งจะต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ให้ความเห็นชอบในส่วนของโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่และผู้บริหารเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีความพร้อมในหลายๆ ด้านแล้ว ทั้งเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้ง
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพนักงานที่ออกจากบล.ไอบีก่อนหน้านี้รวมถึงลูกค้าซึ่งเป็นลูกค้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายชาญชัยและนายสิปปกรณ์
และบริษัทยังมีแผนที่จะมุ่งเน้นทางด้านอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งอีกด้วย โดยบริษัทจะมุ่งเน้นนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก
ดังนั้น จะสร้างทีมงานฝ่ายวิเคราะห์เพื่อมีงานวิเคราะห์ให้แก่ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนรวมถึงการให้ความรู้แก่นักลงทุน
แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าการดำเนินงานของกลุ่มนายชาญชัยนั้นมีโอกาสที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เพราะกลุ่มนายชาญชัยถือได้ว่ามีประสบการณ์ในธุรกิจหลักทรัพย์มานาน และบริษัทยังมีแผนที่จะยื่นขอใบอนุญาตการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ซึ่งขณะนี้บริษัทยังไม่มีใบอนุญาตดังกล่าวหากบริษัทได้รับใบอนุญาตมีแนว โน้มที่จะขยายตัวได้ส่วนหนึ่งเนื่องจากนายชาญชัยมีความสัมพันธ์กับบริษัทต่างๆ
จำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทที่มีแผนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI)
นอกจากนี้ที่ผ่านมานาย สิปปกรณ์ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสภาอุตสาหกรรมอยู่
ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนได้อีกด้าน
ด้านนางสาวทิพาพร พานิชพงษ์ กรรมการ บล.เอชเอสบีซีฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประมูลดังกล่าวได้
เนื่องจากยังไม่มีการเซ็นสัญญา จึงถือว่าดีลยังไม่จบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการของบริษัทก่อน
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เอชเอสบีซี (ประเทศไทย) มีใบอนุญาต 2 ใบ คือการเป็นนายหน้าซื้อขาย
หลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546)
คือ HSBC INVESTMENT BANK ASIA HOLDINGS LIMITED ที่ถือหุ้น 100%