ตลท.สั่งย้ายหุ้น SRI ไปอยู่ในหมวดฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ 10 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป
เหตุส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ พร้อมให้ชี้แจงว่าบริษัทต้องการฟื้นฟูกิจการหรือเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์
ภายในวันที่ 8 กรกฎาคม เพื่อให้บริษัทตัดสินใจ "อนันต์" แจงเหตุที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินไตรมาสแรกปีนี้
เพราะยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันยอดจากสถาบันการเงิน 13 แห่ง จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
และไม่สามารถหาวิธีการตรวจสอบอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เพียงพอ
วานนี้ (9 มิ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้สั่งห้ามซื้อขายชั่วคราวหุ้นของบริษัท
ศรีไทยฟู้ด แอนด์เบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) (SRI) เนื่องจาก SRI เข้าข่ายต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้ผู้ลงทุนได้ทราบ
พร้อมกับขึ้นเครื่องหมาย Sp (Suspension) ในวันที่ 9 มิถุนายน 2547
ดังนั้น ตลท. จึงย้ายหลักทรัพย์ SRI ไปอยู่ภายใต้หมวดฟื้นฟูกิจการ (REHABCO)
ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2547 โดยยังคงห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนครบ
30 วันนับจากวันประกาศเข้าข่ายอาจ ถูกเพิกถอน หรือจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริหาร
ของบริษัทมีเวลาที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ดีที่สุดแก่บริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัท
พร้อมกันนี้ SRI ต้องแจ้งต่อตลท.ภายในวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ลงทุนทั่วไปถึงทางเลือกว่า
บริษัทจะทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอผู้ถือหุ้นหรือจะเพิกถอนโดยสมัครใจ หรือเลือกยื่นคำร้องขอต่อศาลเสนอแผนฟื้นฟูตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
หรือทางเลือกอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ตลอดจนกำหนดเวลาดำเนินการในทางเลือกดังกล่าว
ในกรณีที่บริษัทประสงค์ที่จะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอผู้ถือหุ้น บริษัทจะต้องดำเนินการดังนี้คือ
แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระร่วมจัดทำแผนดำเนินการเพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัท
และต้องร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินอิสระจัดประชุมชี้แจงแผนดำเนินการ ต่อนักวิเคราะห์และขออนุมัติแผนดำเนินการต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท
นอกจากนี้ SRI ต้องร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินอิสระรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการตาม
แผนฯ ให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบทุก 6 เดือน จนกว่าจะพ้นเหตุแห่งการเพิกถอน และในกรณีที่บริษัทจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
ตลาดหลักทรัพย์อนุโลมให้ใช้แผนฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้และศาลล้มละลาย เห็นชอบแทนแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติ
โดยบริษัทยังคงมีหน้าที่รายงานความคืบหน้าตามข้อ 4.3 ข้างต้น
ทั้งนี้ ตลท.จะอนุญาตให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ SRI ในตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้หมวด
REHABCO ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ภายหลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าบริษัทมีทางเลือกใด
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้มีโอกาสซื้อหรือขายหลักทรัพย์ได้อีกระยะหนึ่งก่อนที่จะสั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension)ห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ
SRI ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป
การที่ SRI ถูกย้ายหมวดเนื่องจากผลการดำเนิน กิจการของบริษัทเป็นไปตามเกณฑ์ของตลท.
เนื่องจากพิจารณาเห็นแล้วว่า มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ต่ำกว่าศูนย์
ทั้งนี้ ในการพิจารณาส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าว ตลท.จะพิจารณาปรับปรุงบวกกลับด้วยผลขาดทุนจาก
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง และ/หรือปรับปรุง หักลบด้วยรายการที่ผู้สอบบัญชีได้ระบุถึงในรายงานผู้สอบบัญชีประเภท
แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
ในกรณีที่ส่วนของผู้ถือหุ้นหลังปรับปรุงมีค่าต่ำกว่าศูนย์ก็ให้นำมาพิจารณาตามเกณฑ์เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนด้วย
จากการพิจารณางบการเงินไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 ที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่
SRI นำส่งมายังตลาดหลักทรัพย์ปรากฏว่าส่วนของผู้ถือหุ้นของ SRI มีค่าต่ำกว่าศูนย์
เข้าข่ายต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเพื่อให้เป็นไปตามความในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 ตลท.จึงต้องดำเนินการตามที่กล่าวมา
นายอนันต์ จันทรานุกูล กรรมการผู้จัดการ SRI ชี้แจงเหตุที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินเฉพาะบริษัท
และงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย ประจำไตรมาสที่ 1/2547 เนื่องจากการที่ผู้สอบบัญชียังไม่ได้รับหนังสือยืนยันยอดจากสถาบันการเงิน
13 แห่ง จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้, ลูกหนี้การค้า และเจ้าหนี้การค้า และไม่สามารถหาวิธีการตรวจสอบอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เพียงพอ
การที่งบการเงินเฉพาะบริษัท และงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูง
กว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม และมีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจากการที่บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งที่สองกับกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินภายใต้กรอบของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(คปน.) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้สอบบัญชีเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อ
ทำให้ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท และงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย
ประจำไตรมาสที่ 1/2547 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2547 ซึ่งบริษัทได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวโดยละเอียดไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินแล้ว
สำหรับเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดใน
สัตว์ปีกอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เหมือนปกติ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนในหลายด้านเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง ผลการดำเนินงานของ SRI ไตรมาสแรกปีนี้แจ้งว่า บริษัทมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นโดยขาดทุน
348.99 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 11.11 ล้านบาท ส่งผลให้จากที่ขาดทุนต่อหุ้นอยู่
39 สตางค์เป็นขาดทุนต่อหุ้น11.63 บาท