เพียง 2 ปีขนเงินมาลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญฯชื่อเสียงของกลุ่มจีอีคุ้นหูคนไทย
มากในช่วง 2 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งที่รุนแรงที่สุดของไทย แม้นักลงทุนกลุ่มนี้จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นเวลานานมากแล้ว
แต่ก็เพิ่งจะขยับขยายเพิ่มเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี่เอง
โดยเฉพาะการลงทุนในด้านที่เป็นบริการทางการเงิน(financial services)
มร.แจ๊ค เวลซ์ หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือมร.จอห์น เอฟ.เวลซ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เจเนอรัล อิเลคทริค จำกัด ได้เดินทางมาแวะประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ
แต่ประเทศไทยในตอนนี้มีความหมายสำหรับจีอีอย่างยิ่ง ด้วยยอดขายที่จีอีทำได้ปีละหลายร้อยล้านเหรียญฯ
มร.มาร์ค นอร์บอม ผู้บริหารสูงสุด บริษัท เจเนอรัล อิเลคทริค (ประเทศไทย)
จำกัด และประธาน บริษัท จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว ว่าในช่วง
10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำการ บริหารของแจ๊ค จีอีมีการขยายธุรกิจครอบคลุมไปทั่วโลกอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านั้นบริษัทมีรายได้จากธุรกิจนอกสหรัฐฯ ไม่ถึง 10,000 ล้านเหรียญฯ
แต่ปัจจุบันจีอีมีรายได้จากกิจการนอกสหรัฐฯ มากกว่า 42,000 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นกว่า
40% ของยอดขาย
มร.นอร์บอมแนะนำว่าแจ๊คเป็นผู้บริหารและทำงานกับจีอีมานานถึง 19 ปี
ในช่วงที่เขาเข้ามาดำเนินงานนั้น จีอีมียอดขายเพียง 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภายใต้การนำของมร.เวลซ์ ปัจจุบันนี้จีอี มียอดขายมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญ
สหรัฐแล้ว บริษัทได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ได้รับความชื่นชมมากที่สุดในโลกจากนิตยสารฟอร์จูน
โดยได้ อันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน มร.เวลซ์เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์องค์กรให้เป็น
องค์กรที่ได้รับความชื่นชมเป็นพิเศษในด้านความสามารถในการเลือกสรร และพัฒนาผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
"เป้าหมายของเราอยู่ที่การสร้างธุรกิจของจีอี ประเทศไทย ให้เป็นธุรกิจ
ระดับโลก ให้เป็นบริษัทที่มีฐานะเทียบเท่าหรือเหนือกว่าบริษัทที่ดีที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก เราจะไปให้ถึงจุดหมายดังกล่าว ด้วยการสรรหาบุคลากรที่ดีที่สุดมาร่วมงาน
เราจะเพิ่มคุณค่าให้แก่บุคลากรด้วยเทคโนโลยีและการฝึกอบรมระดับโลก พร้อมนำบุคลากรเหล่า
นั้นมาร่วมงานกับเราด้วยทรัพยากรระดับโลกที่เรามีอยู่ "มร.นอร์บอมกล่าว
มร.แจ๊คและผู้บริหารระดับสูงของจีอี เดินทางมายังประเทศไทยทุกปี เพื่อพบผู้บริหารและพนักงานที่นี่
เขากล่าวว่าแนวทางที่จีอีใช้ในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก ก็คือคำกล่าวที่คุ้นหูกันดีที่ว่า
ให้คิดในขอบข่ายโลก และ กระทำในชุมชนท้องถิ่น (think glo-bally, act locally)
และในสถาน การณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ มร.แจ๊คกล่าวว่า
"ผมปรารถนาที่จะให้พวกท่านมองเห็นผมเป็นชาวอเมริกัน ที่อยากจะเป็นหุ้นส่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย"
มร.แจ๊คอธิบายลักษณะหุ้นส่วนนี้ในเชิงที่ว่า จีอีมีการจ้างงานคนไทยถึง
2,500 คนในช่วงที่ไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ และวิสาหกิจไทย ต่างใช้นโยบายปลดคนงานและลดขนาดของกิจการลง
จีอีทำในทางตรงข้าม พนักงานบริษัทมีการบริจาคและการช่วยเหลือ สังคมเท่าที่ทำได้
การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคมธุรกิจไทยถือเป็นความมุ่งหมายของจีอี
เขากล่าวเรื่องการลงทุนในด้านไฟแนนซ์ว่าจีอีมีการทำธุรกิจด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มาหลายปี
และก็พัฒนาไปสู่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (commercial loan) นอกจากนี้เขายังคิดพัฒนาฐานธุรกิจในไทยไปสู่การทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ
e-commerce ด้วย เขาเชื่อมั่นว่าโอกาสการทำธุรกิจและการลงทุนในเมืองไทยมีอยู่อย่างมากมหาศาล
ด้านนโยบายการลงทุนซื้อกิจการ ธนาคารที่มีการประกาศขายนั้น มร. นอร์บอมกล่าวว่าจีอีมีความสามารถและประสบการณ์ในเรื่องการบริหารหนี้เสีย
แต่ในตอนนี้ยังไม่มีการเตรียมตัวเข้าซื้อกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด จีอีสนใจในเรื่องนี้
และมองหาโอกาสอยู่ แต่เงื่อนไขของทางการที่ให้ซื้อสินทรัพย์ดีและเสียควบคู่กันไปนั้นทำให้จีอียังไม่พิจารณาเรื่องนี้
"จีอีมองหาโอกาสที่จะลงทุนในเรื่องการบริหารหนี้เสียอยู่ตลอด เวลา โดยเฉพาะในธนาคารดังกล่าว"
มร.แจ๊คไม่อยากให้ภาพของจีอีออกมาสู่สาธารณะในเชิงที่ว่าตอนนี้จีอีมีการขยายกิจการไปกี่บริษัทแล้ว
แต่น่าจะออกมาในลักษณะที่ว่าตอนนี้จีอีมีการจ้างงานคนไทยถึง 2,500 ตำแหน่ง
แล้วจะจ้างเพิ่มขึ้นอีกได้อย่างไร จีอีได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร "หากจีอีเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ
เราก็คงไม่สามารถคิดถึงประเด็นเหล่านี้ได้ เราคงไม่มีความสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ
เหล่านี้ได้ ตอนนี้เราพยายามที่จะดูว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะผลักดันเราให้ก้าวต่อไปได้"
ต่อข้อกล่าวหาที่ว่า กลุ่มจีอีได้มีการนำเม็ดเงินที่ได้จากดอกผลในการทำธุรกิจที่เมืองไทย
ส่งกลับคืนบริษัทแม่แล้วนั้น มร.เวลซ์ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง พร้อมกับยืนยันว่า
"เม็ดเงินทั้งหมดถูกนำกลับมาลงทุนใหม่ (re-invest) ในไทยขอให้ทุกท่านโปรดเข้าใจตามนี้
และเรายังจะรักษาการลงทุนของเราในไทยต่อไปอย่างต่อเนื่อง"
อย่างไรก็ดี จีอีจะมีการออกตราสารหุ้นกู้สกุลเงินบาทในเร็วๆ นี้ มร.นอร์บอมกล่าวว่า
"เรามีการพูดคุยประเด็นนี้อยู่ จุดมุ่งหมายก็เพื่อนำมาใช้ลงทุนในไทย เช่น
ในธุรกิจการเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น ไม่มีจุดประสงค์เพื่อการนำเงินออกนอกประเทศแต่อย่างใด"
ขนาดของหุ้นกู้สกุลเงินบาทที่จะออกนั้น ได้มีการเปิดเผยในภายหลังว่าจะออกประมาณ
1,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นการชิมลางตลาดก่อน อย่างไรก็ดี โครงการออกบาทบอนด์ของ
จีอีไม่ใคร่คืบหน้านัก เพราะบริษัทยังไม่ส่งข้อมูลรายละเอียดการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน
ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยจนเป็นที่พอใจของเจ้าหน้าที่ได้
แนวทางการลงทุนอย่างหนึ่งของจีอีคือการร่วมทุนกับหุ้นส่วน มร. นอร์บอมกล่าวว่า
"เรากำลังมองหาหุ้นส่วนไทยที่จะมาร่วมลงทุนกับเราและสามารถเติบโตไปด้วยกันได้
อย่างเช่น กลุ่มเซ็นทรัลที่เราทำเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายจากบัตรเซ็นทรัล
หรือกลุ่มนิสสัน กลุ่มมิตซูบิชิ กลุ่มบีเอ็มดับเบิลยู ที่เรามีการลงทุนในรูปแบบหุ้นส่วน
เป็นต้น"
ส่วนมร.เวลซ์กล่าวว่า "จีอีเป็นบริษัทที่เติบโตมาอย่างมั่นคงแล้ว ซึ่งถือเป็นฐานรากหรือพื้นดินที่สมบูรณ์
(sound & solid foundation) ที่จะลง พืชพันธุ์นานาประเภทให้งอกงามได้"
มร.เวลซ์ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดด้านการบริหารกิจการ เขาให้ความสำคัญกับ
เรื่องการพัฒนาบุคลากรและกระบวนการจัดการอย่างมาก เขากล่าวถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในไทยซึ่งเหมือนกับการทำในที่อื่นๆ
ทั่วโลกว่า "การจ้างงาน การสร้างขนาดให้แก่องค์กร การฝึกหรือให้ความรู้แก่คนท้องถิ่นเพื่อที่จะทำตัวให้เป็นเหมือนบริษัทไทย
แนวทางนี้ทำเหมือนกันในทุกที่ทั่วโลก การฝึกให้คนไทยขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กรได
้เป็นเป้าหมายของจีอี ผู้บริหารคนไทยเหล่านี้จะเป็นหัวใจในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต
เพราะด้านเงินทุนนั้นจีอีมีอยู่มากแล้ว"
จีอีเน้นเรื่องคน/บุคลากร ก็เพราะความคิดและแนวทางทำธุรกิจนั้นเกิดมาจากไอเดียของคน
โดยเฉพาะการ ทำธุรกิจในแต่ละท้องถิ่นนั้น คนท้องถิ่นจะรู้ดีที่สุด "ความแตกต่างของจีอีกับบริษัทอื่นคือเวลาที่เราเรียนในโรงเรียนธุรกิจนั้น
เขาบอกว่าเราต้องมีแผน การและดำเนินการ แต่สำหรับจีอีนั้นเราเริ่มที่คน อเมริกันชน
2 คนไม่สามารถมานั่งคิดแผนการอะไรที่เหมาะสมและถูกต้องแก่ประเทศไทยได้ ต้องเป็นคนไทย
2 คนต่างหาก ซึ่งในเมืองไทยนี้เราได้พบแล้วได้ฝึกขึ้นมาแล้ว ผมเชื่อว่าคนมีความสำคัญที่สุด
นั่นคือวิญญาณของจีอี ไม่ใช่แผนการ"
ในส่วนของกระบวนการทำงานนั้นขณะนี้เขากำลังดำเนินโครงการ "คุณภาพ Six
Sigma ในจีอี" ซึ่งเริ่มมาได้ 3 ปี 6 เดือนแล้ว คุณภาพ Six Sigma เป็นระเบียบวิธีการกำจัดข้อบกพร่องทั้งหมดออกจากผลิตภัณฑ์
กระบวนการ และธุรกรรมทุกอย่างของ บริษัท กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการลดข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดจากราวๆ
35,000 รายการต่อหนึ่งล้านกิจกรรม
หรือ Three Sigma ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบริษัทส่วนใหญ่ ให้เหลืออยู่ในระดับ
Six Sigma คือมีข้อบกพร่องน้อยกว่า 4 รายการต่อหนึ่งล้านกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการผลิตชิ้นส่วนหัวรถจักรหนึ่งชิ้น
หรือการให้บริการลูกค้าบัตรเครดิต ไปจนถึงการรับเดินเรื่องจัดสินเชื่อเช่าซื้อให้ลูกค้า
และการรับโทรศัพท์
โครงการ Six Sigma ทุกโครงการมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการกำจัดความซ้ำซ้อนในการดำเนินธุรกิจ
ซึ่งผลลัพท์ที่ได้จากการดำเนินโครงการนี้มีเหนือความคาดหมาย ในปี 2541 บริษัท
สามารถประหยัดเงินลงทุน จากการนำโครงการ Six Sigma มาใช้ได้ถึง 1 พันล้านเหรียญในช่วง
3 ไตรมาส คาดว่าปีนี้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านเหรียญ รวมกับอีกหลายพันล้านเหรียญ
ที่จะได้จากยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของอินเตอร์เน็ตนั้น มร.เวลซ์กล่าวว่า"อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงชีวิตของผมในตอนนี้
ผมเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจตลอดไป ทุกๆ อย่างที่เราทำ
อินเตอร์เน็ตจะก่อให้เกิดความโปร่งใสขึ้นมาได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่ง
คือการจัดจำหน่าย การขนส่ง และความสัมพันธ์ในระดับชั้นต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไป
ผู้คนในระดับต่างๆ จะได้ข้อมูลเร็วขึ้น เป็นต้น"
เขากล่าวปิดท้ายการแถลงข่าววันนั้นว่า "ที่จีอีนั้นเรามองว่าตำแหน่งงานเป็นเครื่องมือหรือกลไก
จีอีเป็นผู้ที่ถือกระป๋องน้ำในมือหนึ่ง ขณะที่มืออีกข้างถือถุงปุ๋ย เราทำการรดน้ำลงไปยังต้นไม้ซึ่งก็คือบุคลากรในองค์กรของเรา
ใส่ปุ๋ยลงไป งานของเราคือหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตได้ตามความฝันของพวกเขา
พนักงานกว่า 2,000 คนของเรามีโอกาสเติบโตภายใต้การดูแลรับผิดชอบของเรา และอาจจะงอกเงยขึ้นมาเป็น
5,000 หรือ 10,000 คน นี่คือแนวทางของเรา"