แบงก์ทหารไทยจัดทัพรองรับแบงก์ใหม่หลังควบรวมเสร็จ 2 ก.ค.นี้ วางโครงสร้างตามกลุ่มธุรกิจตั้ง
7 สายงานหลักหารายได้ แยกสายงานสนับสนุน 8 สายงาน วางเป้าเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของประเทศในกลุ่มลูกค้าขนาดกลาง
รายย่อยเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมหวังกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่สร้างรายได้หลัก คาดวางผู้บริหารรับผิดชอบสายงานได้เสร็จเดือนนี้
แหล่งข่าวจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของธนาคารแห่งใหม่หลังจากมีการควบรวมกับ
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) และธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด
(มหาชน) ว่า ขณะนี้ธนาคารมีการจัดโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงเรียบร้อยแล้ว โดยจะแบ่งออกเป็นสายงานที่รับผิดชอบหลัก
ๆ 7 สายงาน ที่เป็นสายงานที่หารายได้เข้าธนาคาร เพื่อรองรับการเป็นธนาคารแห่งใหม่
หลังจากมีการควบรวมกันเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ซึ่งขั้นตอนการควบรวมกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์
(Tender offer) เพื่อให้ธนาคารทหารไทยเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารดีบีเอสฯ
และไอเอฟซีที
สำหรับการจัดโครงสร้างสายงานระดับสูงดังกล่าว เป็นการวางโครงสร้างร่วมกันระหว่าง
ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปไอเอฟซีที
และนายไมเคิล แอนดรูว์เฮก กรรมการผู้จัดการธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งยังมีที่ปรึกษา คือบริษัท Boston Consuliting Group ซึ่งร่วมกันจัดโครงสร้างภายใต้กรอบของธนาคารที่ให้บริการครบวงจร (Universal Bank) ที่จะเน้นลูกค้าและเครือข่ายที่มีระบบปฏิบัติงานที่มีมาตรฐาน
สามารถได้รับประโยชน์เต็มที่จากการควบรวม
สำหรับโครงสร้าง 7 สายงานประกอบด้วย 1.สายงานสาขา Branch Banking Group เป็นสายงานที่เน้นให้บริการลูกค้าทุกกลุ่ม
และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและการขยายธุรกิจ รวมทั้งจัดองค์กรระดับภูมิภาคโดยใช้ระบบ
Hub and Spoke ซึ่งสายงานดังกล่าวธนาคารทหารไทยเป็นแกนนำเพราะมีเครือข่ายและความสัมพันธ์กับลูกค้ากระจายทุกๆ กลุ่ม
2.สายงานกลุ่มธุรกิจ Consumer Banking เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่สำหรับ 3 องค์กรที่ควบกิจการ
โดยเน้นการวางแผนกลยุทธ์และขยายตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งสนับสนุนการขาย
3.สายงานธุรกิจ SME and Development Banking เป็นโครงสร้างที่นำจุดเด่นของไอเอฟซีทีเข้ามาเป็นแกน
เน้นการวางแผนกลยุทธ์ และขยายตลาด ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสามารถให้คำปรึกษาหรือร่วมทุนกับลูกค้าได้ในเงื่อนไขที่เหมาะสม
4. สายงานธุรกิจ Corporate Banking เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ลูกค้า นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อพื้นฐานและบริการ
ที่ซับซ้อน รวมทั้งสนับสนุนการขาย ร่วมกับสายงานที่ 5 คือสายงาน Investment Banking
ที่จะมีผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน และให้คำปรึกษา สามารถหาลูกค้า และป้อนให้กับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ
ได้
6.สายงานธุรกิจ Treasury and Markets เน้นการขายร่วมกับ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง
นำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการด้วยความเชี่ยวชาญและยังมีหน้าที่บริหารงานสำหรับธนาคารอีกด้วย
7.สายงานธุรกิจ Asset Recovery Group เป็นสายงานที่ติดตามและแก้ไขหนี้แบบครบวงจรโดยแบ่งตามประเภทลูกค้าและตั้งให้มีเป้าหมายทางธุรกิจชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีสายงานระดับสูงอีก 8 สายงาน ซึ่งจะเป็นสายงานสนับสนุนการบริหารส่วนกลาง
ซึ่งสายงานทั้งหมดนี้จะมีผู้บริหารระดับสูงของ 3 สถาบันกำกับดูแลมีอำนาจรับผิดชอบเต็มที่ โดยที่จะมีการรายงานโดย ตรงกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือประธานกรรมการ
(CEO) และยังมีกลุ่มตรวจสอบ(Audit)
"การจัดโครงสร้างใหม่ดังกล่าว จะออกแบบเป็นกลุ่มธุรกิจหรือ Business Group ที่จัดกลุ่มที่หารายได้เข้าแบงก์
7 สายงาน และเป็นกลุ่มสนับสนุนอีก 8 กลุ่ม รวมเป็น 15 กลุ่ม ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบงก์ในแต่ละกลุ่มคือ กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่แบงก์ตั้งเป้าหมายจะเติบโตแบบก้าวกระโดดกลุ่มลูกค้าขนาดกลางซึ่งตั้งเป้าที่กว้างขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มขนาดใหญ่ ที่จะเน้นสร้างกำไรด้วยผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าที่หลากหลาย
ส่วนผู้บริหารที่จะเข้ามารับผิดชอบในแต่ ละสายงานกำลังพิจารณาว่าใครเหมาะสมคาดว่าจะสามารถระบุได้ภายในเดือนมิถุนายนแน่นอน"
แหล่งข่าวกล่าว