จอห์น บรอคแมน เป็นคนปลุกวง การสำนักพิมพ์สหรัฐฯ ให้ตื่นตัวด้วย
การล้มระบบเดิมๆ ที่การติดต่อระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์เต็มไปด้วยเอกสารและขั้นตอนมากมาย
สำนักงานของเขาไม่มีกระดาษสักแผ่น เขาใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ทำงานเป็นนายหน้าให้กับนักเขียนแนววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และสามารถคิดค่าตอบแทนได้นับล้านดอลลาร์
บรอคแมนบอกว่าทุกๆ สิบปีเขาจะมีความคิดแปลกใหม่ขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เพราะว่าเขาเป็นคนอยากรู้อยากเห็นและเบื่อง่าย
สจ๊วต แบรนด์ นักเขียนซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและลูกค้าของเขาบอกว่า
"จอห์นชอบเอาเข็มแยงจมูกผู้คนเพียงเพื่อจะดูว่าพวกนั้นจะทำหน้ายังไง"
บรอคแมนเคยเป็นนักเรียนไฮ
สกูลที่มีผลการเรียนย่ำแย่ถึงขนาดถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัย 17 แห่ง เขาช่วยพ่อทำงานในร้านขายดอกไม้ในบอสตัน
"พ่อชอบบอกผมว่า จอห์นนี เอาดอกไม้ออกมาจากตู้แล้วจัดเข้าช่อซะ ก่อนที่มันจะเหี่ยวตาย
" บรอคแมนเล่า "นี่แหละคือสิ่งที่ผมทำกับความคิดของผม"
ปี 1958 บรอคแมนได้สมัครเข้าเรียนที่ Babson Instutute of Business
Administration ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางด้านการเงินเพียงแห่งเดียวที่ยอมรับเขา
คราวนี้บรอคแมนจบปริญญาตรีด้วยผลการเรียนดีเด่น ทำให้ Columbia Business
School รับเขาเข้าเรียนต่อจนจบเอ็มบีเอ
เมื่อเรียนจบ บรอคแมนเข้าทำงานทางด้านวาณิชธนกิจ แต่เขารู้สึก "เกลียดชัง"
งานด้านนี้ จึงหันไปทำงานเกี่ยวกับศิลปะบ้าง ปี 1965 เขาทดลองจัดเทศกาลภาพยนตร์ที่แมนฮัตตัน
ซึ่งพาเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานที่ต้องอาศัย สื่อหลายรูปแบบ งานสร้างสรรค์แนว
"performance art" ของเขาประสบความสำเร็จ สื่อมวลชนพากันชื่นชม และทำให้เพื่อนเก่าซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทสก๊อต
เปเปอร์ ติดต่อให้บรอค แมนสร้างงานมัลติมีเดียเพื่อกระตุ้นยอดขายผ้าอนามัย
Confidets ของสก๊อต ซึ่งซบเซามานาน
"ผมคิดค่าจ้าง 15,000 ดอลลาร์" บรอคแมนบอกตัวเลขที่เขาต้องการ
ซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับฮิปปี้ที่ไม่มีแนวทางงานที่ชัดเจน และยังขาดประสบการณ์
แต่สก๊อต เปเปอร์ ตกลงว่าจ้างเขา และนี่เป็นครั้งแรกที่บรอคแมนได้รู้ถึงคุณค่าของการที่ไม่ได้อะไรมาง่ายๆ
งานที่บรอคแมนสร้างสรรค์ให้กับผ้าอนามัย Confidets เป็นภาพนางระบำที่ค่อยๆ
เปลื้องเสื้อผ้าที่ทำจากกระดาษทิชชูสก๊อตออกบางส่วน ผลก็คือทีมงานของสก๊อตรู้สึกกระฉับกระเฉง
ขึ้น ทำให้ยอดขายผ้าอนามัยเพิ่มขึ้นตาม ด้วย
บรอคแมนกลายเป็นหนุ่มน้อยมหัศจรรย์ที่ The New York Times ตีพิมพ์ประวัติ
แล้วบริษัทต่างๆ ก็พากันติดต่อให้เขาสร้างงานอินเตอร์มีเดียให้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเจเนอรัล
อิเล็กทริค หรือกัลฟ์ เวสเทิร์น
แต่บรอคแมนโด่งดังจริงๆ ก็ในปี 1968 เมื่อผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "Head"
ติดต่อให้บรอคแมนช่วยทำตลาดภาพยนตร์แนวจิตวิทยาให้ และแนวคิดที่บรอคแมนนำเสนอก็เรียบง่ายอย่างน่าประหลาด
คือ ติดโปสเตอร์รูปศีรษะของชายคนหนึ่งไปทั่วเมืองแมนฮัตตัน โปรดิวเซอร์บอกแนวคิดของภาพยนตร์ว่า
"ความคิดของคุณ หัวของคุณ" บรอคแมนจึงใช้เวลาเพียงสั้นๆ ติดโปสเตอร์ไปทั่วสถานีรถไฟใต้ดิน
และในรถเมล์ทุกคัน จนคนทั่วเมืองจำรูปเขาได้หมด ทั้งที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ในนิตยสาร New Yorker ถึงกับบอกว่า "เป็นภาพดูแล้วหดหู่เหลือเกิน"
บรอคแมนใช้ชีวิตในช่วงหลังของทศวรรษ 1960 ด้วยการเป็นที่ปรึกษา นอนกลางวัน
แฝงตัวอยู่ในโรงงานของ Andy Warhol สวมสูทกำมะหยี่ และท่องราตรีไปตามที่ต่างๆ
เขานอนไม่หลับ จึงเขียนหนังสือ เล่มแรกคือ "By the Late John Brocman"
ซึ่งรวบรวมคติพจน์ต่างๆ ที่เขาเขียนขึ้นเองในระหว่างที่เดินทางเป็นเวลาสั้นไปที่เคป
คอด หนังสือเล่มนี้ สำนักพิมพ์แมคมิลแลนจัดพิมพ์ในปี 1969 ในขณะที่มีผลงานของนักเขียนแนวอนาคตวิทยาชั้นนำอย่างมาร์
แชล แมคลูฮัน, จอห์น เคจ และไฮนซ์ ฟอน ฟอร์สเตอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกับงานศิลปะชิ้นอื่นๆ
ของบรอคแมนในแง่ที่ได้สร้างความรำคาญใจให้ผู้คนอีกครั้ง และถูกวิจารณ์จาก
Kirkus Review ว่า "เป็นมุมมองเกี่ยวกับอนาคตที่ไร้สาระ"
คำวิจารณ์เช่นนี้ทำให้บรอคแมนเจ็บปวด เขาตัดสินใจปิดปากเงียบและหายตัวไปจากวงการ
"ผมตัดโทรศัพท์ไม่ติดต่อใคร คนคงนึกว่าผมตายไปแล้ว" เขาเล่า "ผมกลายเป็นอดีตจอห์น
บรอคแมน ไปแล้ว"
บรอคแมนใช้ชีวิตสี่ปีหลังจากนั้น ครุ่นคิดเรื่องต่างๆ และเก็บตัวอยู่ตามห้องสมุด
เขาเขียนหนังสือออกมาอีก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เขายิ่งเจ็บปวดกับบรรดาสำนักพิมพ์และตัดสินใจว่า
"จะเลิกคบค้ากับพวกบก."
แต่แล้วโชคชะตาก็พาบรอคแมน มาประกอบอาชีพในปัจจุบัน โดยใน
ช่วง ต้นทศวรรษ 1970 เขาได้พบกับ
จอห์น ลิลลี ในงานสัมมนาที่จัดโดยลิลลี และนักปรัชญาชื่ออลัน วัตส์ ลิลลีเคยเป็นฮิปปี้ติดยาที่ผันตัวเองมาเขียนหนังสือเรื่อง
"Man and Dolphin" เขาอยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับความรับรู้ของมนุษย์ในเรื่องพระเจ้า
บรอคแมนจึงช่วยเป็นเอเยนต์ขายหนังสือของลิลลีได้เป็นเงินนับหมื่นดอลลาร์
จุดนี้เองที่ทำให้บรอคแมนตระหนักว่าควรเขาทำงานเป็นเอเยนต์หนังสือ
หลังจากนั้นมา บรอคแมนก็มีลูกค้าอยู่ในบัญชีรายชื่อยาวเหยียด ทั้งที่เป็นนักวิชาการ
นักคิด และนักวิทยา-ศาสตร์ ซึ่งต้องการจะหารายได้จากตลาดล่าง
คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ได้เข้ามามีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงขึ้น
ในชีวิตของบรอคแมนปี 1982 บรอคแมนซื้อพีซีของไอบีเอ็มเป็นเครื่องแรก และเขาก็เรียนรู้อย่างรวดเร็วว่านักเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ก็เหมือนกับนักเขียน
ในแง่ที่ต้องการมีเอเยนต์สนับสนุน บรอคแมนพยายามชักชวนให้สำนักพิมพ์ทางด้านการค้าเห็น
ว่าซอฟต์แวร์นั้นจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก
"ผมบอกไปว่าซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจที่ขนาดใหญ่พอๆ กับธุรกิจอาหารสุนัข
และต่อไปจะมีขนาดใหญ่ถึงขนาดที่รวมเอาสำนักพิมพ์ทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกัน"
บรอคแมนเริ่มงานอาชีพเอเยนต์ ของเขาด้วยการขายโปรแกรมซอฟต์ แวร์ยอดฮิต
"Typing Tutor III" ให้กับสำนักพิมพ์ไซมอน ชูสเตอร์ได้นับล้านดอลลาร์
ต่อมาก็เป็นหนังสือคู่มือที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นคู่มือสำหรับ
Apple II หรือ PC ที่มียอดขายนับไม่ถ้วน ทยอยออกมาเป็นชุดๆ เฉพาะปี 1983
บรอคแมนทำยอดขายหนังสือเป็นเงินถึง 20 ล้านดอลลาร์ "พ่อผมผูกขาดตลาดดอกแกลดิโอลาตอนปี
1948 ส่วนผมผูกขาดตลาดหนังสือคอมพิวเตอร์ปี 1983 และ 1984"
ที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับบรอค-แมนก็คือยอดขาย "Whole Earth Software
Catalog" ที่สจ๊วต แบรนด์ จัดพิมพ์เมื่อปี 1983 เพราะตั้งแต่ยังเป็นเพียงเค้าโครงเรื่องของหนังสือ
ก็มีบรรณาธิการจากสำนักพิมพ์ดับเบิลเดบ์เสนอค่าตอบแทนให้บรอคแมนถึง 1 ล้านดอลลาร์สำหรับการจัดพิมพ์หนังสือ
เล่มนี้
"ผมปฏิเสธไป" บรอคแมนเล่า "ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดของเอเยนต์อย่างผม"
อีกสิบห้านาทีต่อมาก็มีโทรศัพท์กลับมาอีกครั้งจากบรรณาธิการคนเดิมที่เสนอเพิ่มตัวเลขเป็น
1.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งขณะนั้นนับเป็นตัวเงินที่สูงที่สุดสำหรับหนังสือเล่ม
"ตอนนั้นใครๆ ก็อยากเป็นเพื่อน ผม" บรอคแมนเล่าต่อว่าเขาเชิญแขกเหรื่อในวงการซอฟต์แวร์มาทานเลี้ยงอาหารค่ำในงานประชุม
Comdex 1984 ทำให้นักข่าวพากันเรียกขานชื่องานเลี้ยงนี้ว่า "งานเลี้ยงของเศรษฐีเงินล้าน"
งานเลี้ยงนี้ยังคงจัดต่อเนื่องมาทุกปีจนภายหลังก็กลายเป็น "งานเลี้ยงของเศรษฐีพันล้าน"
ไป
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหนังสือคู่มือด้านคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้อยู่ยืนนานนัก
เมื่อตลาดอิ่มตัว หนังสือประเภทนี้ก็ไม่ทำกำไรอีก สำนักพิมพ์หยุดซื้อต้น
ฉบับใหม่ๆ บรอคแมนต้องปลดพนักงานในบริษัทของเขาและปิดสำนักงานที่เวสต์ โคสต์
ซึ่งเพิ่งเปิดได้เพียงปีเดียว หลังจากนั้นเขาก็ใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบอีกครั้ง
เขาเช่าห้องขนาดพื้นที่ 75 เอ
เคอร์ ในย่านหรูหราที่ลิชฟีลด์ ในคอนเนกติกัต และใช้เวลากับสิ่งที่เรียกว่า
"Reality Club" เป็นที่ชุมนุมของนักแสดงศิลปะและนักวิชาการ เขาเริ่มใช้แฟกซ์
โมเด็ม มากขึ้น ซึ่งต่อมาก็เป็นอุปกรณ์สำคัญในการเป็นเอเยนต์ของเขา
ช่วงต้นทศวรรษ 1990 บรอค แมนเริ่มมีความคิดที่ว่า "วิทยาศาสตร์เป็นข่าวใหม่"
เขากวาดเอาวารสารและนิตยสารทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโน โลยีและข่าวหน้าหนึ่งใน
The New York Times มาพิจารณาว่ามีเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่องใดบ้างที่เป็นที่สนใจ
และพบว่าเรื่องเด่นในช่วงนั้นก็คือ การโคลนนิ่งแกะ การกลับมาของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เคยมีในปี
1918 และการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดีเปรสชั่น เป็นต้น แล้วเขาก็ชักชวนให้เพื่อนนักเขียนในกลุ่มของเขาลองเขียนเป็นโครงเรื่องหนังสือ
แล้วจัดส่งไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งใช้เวลา เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
บรอคแมนทำ ให้บรรดาบรรณาธิการตามสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เคยเฉื่อยเนือยต้องสะดุ้งหลายครั้ง
อย่างครั้งหนึ่ง เมื่อเขาไปญี่ปุ่นและอ่านเจอข่าวเรื่องช่วงต่อระหว่างกาละและเทศะ
วันรุ่งขึ้นเขาก็เสนอขายหนังสือในหัวข้อนี้ให้กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในสเปนได้
ไม่เพียงเท่านั้น บรอคแมนยังเป็นเอเยนต์ให้กับนักเขียนประจำนิตยสาร
Times อีกหลายคน เขาดำเนินการอย่างรวดเร็วในการทำสัญญา กับจอห์น มาร์คอฟ
ซึ่งเป็นนักเขียนคอลัมน์เทคโนโลยีของ Times ให้ลงมือเขียนหนังสือชื่อ Takedown
ภายหลังจากที่มาร์คอฟเขียนเรื่องของจอมโจรไซเบอร์ที่ชื่อ เควิน มิทนิค และในปี
1998 บรอคแมนก็เป็นคนเสนอให้ผู้สื่อข่าวสายวิทยาศาสตร์ของ Times อีกคนหนึ่งคือ
จินา โกลาตา นำผลงานวิจัยเรื่องโรคมะเร็งของจูดาห์ โฟล์คแมนซึ่งตีพิมพ์เป็นเรื่องปกใน
Times มาเขียนเป็นหนังสือ (ภายหลังโกลาตาถูกวิจารณ์ อย่างหนักและบอกเลิกโครงการไป)
อย่างไรก็ตาม การทำงานอย่างฉับไวของเขาได้ทำให้บางโครงการต้องพับไปบ้าง
อย่างเช่นเมื่อครั้งที่เขาติดต่อให้นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เมอเรย์ เกลมานน์
เขียนหนังสือ The Quark and the Jaguar เพราะบรอคแมนเชื่อว่างานของเกลมานน์
จะขายในตลาดล่างได้เช่นเดียวกับงานของสตีเฟน ฮอว์กิงและริชาร์ด ฟีนแมน สำนักพิมพ์แบนแทมยอมจ่ายถึง
550,000 ดอลลาร์ แต่เมื่อเกลแมนไม่สามารถเขียนหนังสือเสร็จตามกำหนดจึงต้องคืนเงินล่วงหน้าให้กับสำนักพิมพ์
หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ในเวลาต่อมาโดยสำนักพิมพ์แห่งอื่น
งานของบรอคแมนจึงนับว่าเป็นงานจับคู่ระหว่างสำนักพิมพ์กับนักเขียน "ตราบใดที่มันเป็นอาชีพที่ทำเงิน
ผมไม่สนใจหรอกว่างานนี้จะทำให้ทั้งสองฝ่ายปวดหัวแค่ไหน และไม่สนใจด้วยว่าท้าย
ที่สุดจะลงเอยด้วยดีหรือเปล่า" บรอคแมนถือว่าหน้าที่ของสำนักพิมพ์คืองานบรรณาธิกรณ์ต้นฉบับและจัดพิมพ์หนังสือ
ส่วนงานของนักเขียนก็คือเขียนหนังสือ
ในช่วงหลายปีหลังนี้ บรอคแมน ทุ่มเทอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงระบบเอเยนต์ติดต่อกับสำนักพิมพ์แบบเดิมๆ
ซึ่งจะต้องมีเรื่องเอกสารสัญญา การจัดส่งต้นฉบับที่จัดพิมพ์อย่างดีจำนวนหนาเตอะ
โดยอาศัยพนักงานส่งเอกสารหรือระบบไปรษณีย์ในการติดต่อ บรอคแมนทำให้เรื่องจุกจิกเหล่านี้หายไปด้วยการเข้าสู่ระบบดิจิตอล
บรอคแมนบอกว่าเพื่อนๆ นักเขียนของเขาส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเรื่องเทคโนโลยี
"พวกเขายังติดอยู่ในวัฒนธรรมรุ่นที่สอง ซึ่งยังล้าหลัง" เขาจึงต้องผลักดันให้บรรดานักเขียนเข้าสู่
"วัฒนธรรมรุ่นที่สาม" ซึ่งนิยามกว้างๆ ได้ว่าคือผู้ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีนั่นเอง
ปี 1997 เป็นปีที่สำนักงานของ บรอคแมนเป็นสำนักงานไร้กระดาษอย่าง สิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่องหนังสือหรือต้นฉบับถูกจับเข้าไปไว้ในคอมพิวเตอร์โดยเปิดเว็บไซต์มีรหัสผ่าน
สำนักพิมพ์ที่ต้องการอ่านจะได้ URL และรหัสซึ่งมักจะเป็น "best seller"
ซึ่งจะสามารถอ่านข้อมูลออนไลน์เหล่านั้นหรือจะสั่งพิมพ์ในกระดาษด้วยก็ได้
ตรงนี้เองที่สร้างความรำคาญใจอยู่ไม่น้อยให้กับบรรณาธิการของสำนักพิมพ์หลายแห่ง
แต่ไม่ว่าจะมีเสียงบ่นหรือข้อไม่พอใจเพียงใด ในท้ายที่สุดสำนักพิมพ์เหล่านี้ก็ต้องติดต่อกับบรอคแมนทางอีเมลอยู่ดี
ส่วนบรอคแมนเองก็ได้รับประโยชน์ จากการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นค่ากระดาษ
ค่าพิมพ์ และค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งบางครั้งค่าใช้จ่ายของเค้าโครงหนังสือเพียงเล่มเดียว
ก็สูงถึง 1,200 ดอลลาร์ หากต้องจัดส่งให้สำนักพิมพ์ในยุโรปหรือเอเชีย นอกจากนั้น
การใช้สื่อดิจิ-ตอลยังทำให้บรอคแมนเสนอขายหนังสือ ให้กับผู้สนใจทั่วโลกได้พร้อมกันด้วย
เขาเคยขายหนังสือนวนิยายที่เขียนโดยบรูโน แมดด็อกซ์ อดีตบรรณาธิการ Spy ได้ในเก้าประเทศภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์
โดยไม่มีการจัดส่งเอกสารใดๆ ทางไปรษณีย์ และไม่ต้องเสียเงินให้กับซับเอเยนต์อีกด้วย
บรอคแมนได้ลงทุนกับระบบ
ออนไลน์ในธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยจัดทำ "RightsCenter" ขึ้น ในไซต์ดังกล่าวจะมีผู้เข้าใช้ทั้งสำนักพิมพ์
เอเยนต์ บรรณาธิการ และนักเขียนทั่วโลก ซึ่งจะต้องเสียเงินสองสามร้อยดอลลาร์สำหรับการจัดส่งข้อมูลออนไลน์
บรอค แมนคาดการณ์ว่า RightsCenter จะเติบโตขึ้นอีกมากในตลาดงานเขียนออน ไลน์
ซึ่งเขาจะมีรายได้เพิ่มอีกมากมาย จะได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นและที่สำคัญก็คือทำความรำคาญใจให้กับผู้คนได้
เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสิ่งพิมพ์จะต้องหันมาใช้ไซต์นี้ แม้ว่าจะไม่อยากใช้ก็ตาม
สำหรับบรอคแมนแล้ว Rights Center จึงเป็นงานใหญ่ที่ไม่เพียงแต่ทำให้เงินให้เขามากขึ้นเท่านั้น
แต่มันเป็นความก้าวหน้า ซึ่งเขาบอกว่า "ความ ก้าวหน้าคือการปฏิเสธสิ่งที่เคยเป็นมา
ไม่ใช่การพูดถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น"
ในระยะหลายปีที่ผ่านมา บรอค แมนเป็นเอเยนต์ติดต่อให้มีการจัดพิมพ์หนังสือดังๆ
หลายเล่ม อาทิ มิเชล ดรอสนิน (The Bible Code) เดวิด เกเลอร์นเตอร์ (Machine
Beauty) และ ไบรอัน กรีน (The Elegant Universe) เขาเป็นนายหน้าที่ทรงอิทธิพลสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการเขียนหนังสือ
แต่เมื่อถามว่าเขาอยากเป็นอะไรแน่ เขากลับตอบว่า เขาอยากเป็นคนโง่
"พรสวรรค์มันฆ่าคุณได้" บรอค แมนบอก "ไม่มีใครคิดทำอะไรคนน่าเบื่อหรอก
ผมอยากบอกว่าผมเป็นพวกพ้นจากความน่าสนใจไปแล้ว"
"อย่างคุณน่ะรึไม่น่าสนใจ"
"ไม่ใช่ ไม่น่าสนใจ" เขาตอบ "แต่พ้นจากความน่าสนใจไปแล้ว ความน่าสนใจไม่ให้อะไรเลย
โอเค มันอาจจะให้อะไรกับชีวิตคุณครั้งหนึ่ง แต่ก็แค่ครั้งเดียว ไม่มีครั้งที่สอง
ผมเคยเป็นคนน่าสนใจ เป็นพวกไอที ซึ่งก็ดูน่าสนใจอยู่หรอก แต่มันก็เท่านั้นแหละ"
บรอคแมนบอกว่าการเป็นเอเยนต์ทำให้เขาบรรลุความต้องการสำคัญสามประการคือ
เขาได้หาเงิน (เขาบอกว่าเขาไม่ชอบการมีเงิน แต่ชอบหาเงินมา) มันทำให้เขาโด่งดัง
และที่สำคัญ มันสนองความพอใจส่วนตัวของเขาที่ทำให้ผู้คนรู้สึกรำคาญใจ
อย่างนี้ คงต้องเรียกว่าเป็นคนป่วนแห่งยุคดิจิตอลกระมัง
(เรียบเรียงจาก Agent Provocateur โดย Warren St.John จาก WIRED, September
1999)