"นักวิเคราะห์" มนุษย์ทองคำพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะพวกติดดาว หลังโบรกฯแย่งซื้อตัว
หวังดึงดูดลูกค้าด้วยบทรีเสิร์ชที่เฉียบขาดสอดรับแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทย "ก้องเกียรติ" ชี้เป็นสัญญาณดี
แสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนต้องการคุณภาพมากขึ้น แต่คงไม่ถึงการออกมาคุมการย้ายค่ายเหมือนมาร์เกตติ้ง
เร่งเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์เป็น 500 คนใน 2 ปี และออกมาตรการคุมจรรยาบรรณ หลังพบบางส่วนแฝงตัวเข้ามาทำหน้าที่
นักวิเคราะห์เชียร์หุ้นโดยไม่ได้อ้างอิงพื้นฐาน ด้าน ก.ล.ต.จับนักวิเคราะห์ขึ้นทะเบียนเดือน
ก.ย.นี้
สถานการณ์ความเคลื่อนไหวในแวดวงตลาดทุน ที่กำลังถูกจับตามองขณะนี้คงจะมองข้ามการย้ายค่ายของบรรดานักวิเคราะห์ไปไม่ได้ เพราะเรียกได้ว่าตอนนี้นักวิเคราะห์กำลังจะกลายเป็นมนุษย์ทองคำพันธุ์ใหม่ที่มีมูลค่า
มีค่าตัว ไม่แพ้เจ้าหน้าที่การตลาดหรือมาร์เกตติ้ง ซึ่งถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องควบคุมในเรื่องการย้ายค่าย
ย้ายโบรกเกอร์มาก่อนหน้านี้
เมื่อแนวนโยบายทางการต้องการสร้างความแข็งแรงให้กับตลาดทุน ต้องการสร้างนักลงทุนที่มีคุณภาพและมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
จนนำมา สู่การใช้เป็นประเด็นแลกเปลี่ยนกับการยอมเลื่อนการเปิดเสรีค่าคอมมิชชันออกไปอีก
เพื่อแลกกับ "คุณภาพ" ของโบรกเกอร์ ทำให้การแข่งขันเริ่มเปลี่ยนทิศทางไป จากเดิมที่มีการแย่งชิงมาร์เกตติ้ง
เพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้า มาเป็นการแข่งขันกันในเชิงคุณภาพมากขึ้น นั่นก็หมายถึงการมีบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ถูกต้อง
แม่นยำ จึงจะสามารถดึงดูดลูกค้าได้
รุมแย่งติดดาวค่าตัวพุ่ง
"นักวิเคราะห์" ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ผลิตงานวิจัยเพิ่มคุณภาพให้กับโบรกเกอร์และนักลงทุน
จึงเริ่ม มีค่าตัว ค่าหัวกันขึ้นมา บวกกับจำนวนนักวิเคราะห์ในระบบอยู่ในระดับที่พูดได้ว่าไม่เพียงพอ
ส่งผลให้ทุกวันนี้การย้ายค่ายของนักวิเคราะห์มีให้เห็นกันแทบทุกวัน โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ประเภทที่เรียกว่า
ติดดาว
แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ กล่าวว่า นักวิเคราะห์ติดดาว เป็นพวกที่มักได้รับเชิญให้ไปบรรยายในเวทีสำคัญๆ
ต่างๆ โดยเฉพาะบนเวทีงานมหกรรมนักวิเคราะห์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหัวเรือใหญ่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
กับนักวิเคราะห์ที่ได้รับเชิญให้แสดงความเห็นผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือทีวี และวิทยุเป็นประจำ
พวกนี้มักจะถูกโบรกเกอร์รุมแย่งซื้อตัวบ่อยมาก จนทำให้มีการย้ายบริษัทกันเป็นว่าเล่น
และเมื่อโบรกเกอร์รายหนึ่งถูกดึงนักวิเคราะห์ไป โบรกเกอร์นั้นก็ต้องไปดึงจากที่อื่นมา
"นักวิเคราะห์หายไปกับวิกฤตเศรษฐกิจและตลาดหุ้นหลายปีก่อน การสร้างคนใหม่ขึ้นมาก็ไม่ทัน
ยิ่งภาวะตลาดหุ้นฟื้นตัวตลาดหลักทรัพย์มีกิจกรรมที่ต้องอาศัยนักวิเคราะห์มาก เช่น
การเขียนงานวิจัยให้กับงานมหกรรมนักวิเคราะห์ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี อีกทั้งยังมีงานเขียนหนังสือด้านการลงทุนให้กับตลาด
หลักทรัพย์มาก ซึ่งทำให้งานของนักวิเคราะห์ในปัจจุบันล้นมือ เข้าตำราคนน้อยงานมาก
จึงเป็นเหตุให้เกิดการแย่งตัวและรายได้ของนักวิเคราะห์ก็พุ่งสูงตามไปด้วย"
แหล่งข่าวกล่าว
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า การที่ช่วงนี้นักวิเคราะห์ย้ายค่ายกันมาก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโบรกเกอร์มีการเสนอผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าที่เดิม รวมทั้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ซึ่งก็คงไม่ผิดที่นักวิเคราะห์จะย้ายไปยังที่ที่ดีกว่า
ฤดูกาลโยกย้ายนักวิเคราะห์
รายงานข่าวจากวงการโบรกเกอร์ ระบุว่า เท่าที่จำได้ในระยะใกล้ๆ ก็คือ นักวิเคราะห์ของ
บล. ยูโอบี เคย์เฮียน ที่แทบจะย้ายไปยกค่าย ตั้งแต่โบรกเกอร์ดังกล่าวมีปัญหากับตลาดหลักทรัพย์
เกี่ยวกับการดึงตัวเจ้าหน้าที่การตลาดมาจากบล.ซีมิโก้ ซึ่งในช่วงนั้นตลาดหลักทรัพย์ถึงกับประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับบล.ยูโอบีลง
ทำให้ทั้งผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งนักวิเคราะห์ต่างพากันย้ายค่ายกันยกใหญ่
โดย นางสาวอรุณรัตน์ จิวางกูร นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโสของ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน
ไปสังกัดอยู่กับโบรกเกอร์เปิดใหม่อย่าง บล.นครหลวงไทย นายวีระชัย ครองสามสี นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโส
ย้ายไปอยู่กับค่ายทรีนีตี้ และล่าสุดสังกัดอยู่ที่ บล. ฟาร์อีสท์ ในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์
นายธวัชชัย อัศวพรไชย มือเทคนิค ไปอยู่กับบล.โกลเบล็ก
จากนั้นก็ดูเหมือนว่าฤดูกาลการโยกย้ายของนักวิเคราะห์ได้มาถึงแล้ว เพราะมีอีกหลายคนที่ย้ายค่าย
อย่างเช่น นายนำชัย เตชะรัตนวิโรจน์ ที่ย้ายจาก บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มาอยู่กับบล.ซิกโก้
นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม นักวิเคราะห์ลูกหม้อของ บล.แอ๊ดคินซัน ที่ต่อมาถูกโยกไปอยู่
บล.ไอบี ที่เปลี่ยนชื่อเป็น บล.เอเพ็กซ์ ล่าสุด ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่ บล.ไซรัส นางสาวรัชนก
ด่านดำรงรักษ์ นักวิเคราะห์ที่เรียกได้ว่าฮิตฮอตอยู่ในระดับติดดาวที่ย้ายจากบล.กิมเอ็ง
(ประเทศไทย) ไปอยู่กับบล.ธนชาติ และล่าสุดกำลังจะย้ายไปอยู่ค่ายน้องใหม่มาแรงอย่าง
บล.ฟินันซ่า นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ จากค่ายกิมเอ็ง ย้ายไปอยู่กับ บล.ภัทร และนักวิเคราะห์น้องใหม่แต่แซงขึ้น
มาอยู่ในระดับติดดาวได้อย่างรวดเร็วอีกคนหนึ่งคือ นายจักรกริช เจริญเมธาชัย ที่กำลังจะย้ายจากบล.เอเพ็กซ์ไปอยู่กับ
บล.ฟินันซ่าเช่นกัน
นอกเหนือจากนักวิเคราะห์ที่ได้ยินชื่อ และได้เห็นหน้าค่าตากันตามสื่อต่างๆแล้ว
ยังมีนักวิเคราะห์อีกหลายคนที่อาจจะไม่ได้เปิดตัว หรือออกสื่อมากนักทำให้ไม่เป็นที่รู้จัก
ก็มีการโยกย้ายเช่นกัน
"ก้องเกียรติ"มองถือสัญญาณดี
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์ เปิดเผยว่า การย้ายค่ายของนักวิเคราะห์ในช่วงนี้
เป็นเพราะโบรกเกอร์ต้องการนักวิเคราะห์ที่เก่งและมีคุณภาพ ในขณะที่จำนวนนักวิเคราะห์ในระบบยังมีค่อนข้างน้อย
ซึ่งต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะแสดงให้เห็นว่าลูกค้าหรือนักลงทุนต้องการคุณภาพจากโบรกเกอร์มากขึ้น
ทำให้แต่ละโบรกฯ ต้องหาทีมงานนักวิเคราะห์ที่เก่งและมีความสามารถมาตอบสนองความต้องการของนักลงทุน
ซึ่งก็คงไม่ต่างจากอาชีพอื่นที่ต้องการคนฝีมือดีไปร่วมงาน
ส่วนการเข้ามาควบคุมเหมือนกับการควบคุมมาร์เกตติ้งนั้น คาดว่าจะยังไม่เกิดขึ้น
เพราะนักวิเคราะห์ไม่ได้มีการแบ่งผลตอบแทน (ค่าอินเซนทีฟ) เหมือนมาร์เกตติ้ง
จึงไม่ต้องเข้ามาควบคุม
"ตอนนี้นักวิเคราะห์มีน้อย ซึ่งก็ไม่ต่างจากอาชีพอื่น ที่ต้องการคนเก่งไปร่วมงาน
แต่เมื่อคนมีน้อย ก็ต้องดึงมาจากที่อื่น ซึ่งในส่วนของสมาคมฯ ก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักวิเคราะห์จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ
250 คน เป็น 500 คน ภายใน 2 ปี โดยการจัดโปรแกรมอบรมพ่วงกับหลักสูตรปริญญาโท ที่มีโปรแกรมการวิเคราะห์การเงินอยู่แล้ว
เมื่อเรียนจบก็สามารถมาสอบซีซ่าเพื่อเป็นนักวิเคราะห์ได้เลย"
ก.ล.ต.จับตีทะเบียนก.ย.นี้
นายก้องเกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการประชุมสมาคมฯ
ซึ่งมีการหารือกันในประเด็นที่สำคัญคือ บทบาทของสมาคมฯ ที่จะเข้ามาดูแลเกี่ยวกับมาตรการทางจรรยาบรรณของนักวิเคราะห์
โดยในต่างประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา จะมีการเปิดเผยข้อมูลของนักวิเคราะห์ว่ามีผลประโยชน์อยู่กับบริษัทที่ตนเขียนวิเคราะห์หรือไม่
หรือโบรกเกอร์ที่นักวิเคราะห์สังกัดอยู่มีหุ้นของบริษัทที่เขียนวิเคราะห์ถึงหรือไม่
เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันยอมรับว่ามีนักวิเคราะห์หลายรายที่ใช้อารมณ์ในการวิเคราะห์มากเกินไป
หรือวิเคราะห์ไปตามกระแสโดยไม่ได้อิงกับปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งนักวิเคราะห์เหล่านี้หากสังกัดกับโบรกเกอร์สมาคมฯก็สามารถที่จะตักเตือนได้
แต่มีบางคนที่ไม่ได้สังกัดโบรกเกอร์ เป็นนักวิเคราะห์อิสระ ทำให้อยู่นอกเนือการควบคุม
ซึ่งสมาคมฯกำลังหาวิธีการที่จะให้นักวิเคราะห์อิสระเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม
นอกจากนั้นในส่วนของ ก.ล.ต.ที่จะมีการให้ขึ้นทะเบียนนักวิเคราะห์ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเข้ามาจัดการกับนักวิเคราะห์ที่ไม่มีจรรยาบรรณ
หรือแฝงตัวมาในรูปอื่นได้
"การเป็นนักวิเคราะห์ ต้องไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป ดูอะไรต้องถี่ถ้วน หนักแน่น
ไม่ใช่วิเคราะห์ตามกระแส วันนี้หุ้นขึ้นก็บอกจะขึ้นต่อ พอหุ้นลงก็บอกจะลงต่อ อย่างนี้ไม่ต้องเรียนมาก็วิเคราะห์ได้
และเดี๋ยวนี้มีพวกแบบนี้เยอะ เหมือนเชียร์มวยมากกว่าวิเคราะห์หุ้น และบางคนไม่ได้สังกัดโบรกเกอร์ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้
ดังนั้นในส่วนของสมาคมจึงพยายามที่จะให้พวกนี้เข้ามาเป็นสมาชิกให้หมด จะได้สามารถควบคุมได้"
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงเรื่องการรวบรวมบทวิเคราะห์รายบริษัทของแต่ละโบรกเกอร์
เพื่อให้นักลงทุนรายย่อย มีข้อมูลมากขึ้นในการประกอบการลงทุน โดยล่าสุดได้มีการเจรจากับบริษัทเซ็ทเทรด
ดอท คอม แล้ว ซึ่งในส่วนของเซ็ทเทรดยินดีให้ความร่วมมือและอาสาที่จะเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ให้
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต.กำลังอยู่ ระหว่างการออกประกาศเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
ซึ่งจะเริ่มให้นักวิเคราะห์มาขึ้นทะเบียนได้ภายในเดือน ก.ย. 2547 นี้