"หากนโยบายรัฐบาลยังไม่เปลี่ยน ก็ต้องทำอย่างนั้น" คคลซึ่งอยู่ในกระแสความขัดแย้งเรื่องการแปรรูป รัฐวิสาหกิจมากที่สุดคนหนึ่ง
แม้ภารกิจของเขายากลำบากและน่าเหน็ดเหนื่อยมากเพียงใด แต่เขาก็ยอมรับและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด
ทัศนะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเขาปรากฏออกมาชัดเจน ในเรื่องการลดทอนสัดส่วนการถือหุ้น
ของทางการลง และขายหุ้นเหล่านั้นให้แก่พันธมิตรร่วมทุน ซึ่งในยามวิกฤติเศรษฐกิจ
เขาเห็นว่าควรขายให้นักลงทุนต่างชาติซึ่งมีกำลังซื้อที่ดีกว่าในประเทศ
ปิยสวัสดิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าในเดือนธันวาคมนี้จะมีการเปลี่ยนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่
ซึ่งภาพโดยรวมแล้วอัตราค่าไฟฟ้าจะลดลงจากเดิมประมาณ 2% (ล่าสุดเลื่อนการใช้ออกไปเป็นเดือนก.พ.
2543 และก็มีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดอีก) การเปลี่ยนโครงสร้างใหม่นี้รวมถึงเรื่องการแปรรูปด้วย
เพราะการกำหนดค่าไฟตอนนี้หลักการอันหนึ่งที่สพช.ยึดถือมาโดยตลอด คือ ต้องให้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง
มีความมั่นคงเพียงพอ โดยผู้ให้กู้ก็กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับฐานะการเงินที่สำคัญๆ
เอาไว้ 2 เรื่องคือ
- self financing ratio หรือ SFR คือ รายได้ที่จะนำมาสมทบในการลงทุน
หมายความว่าหากมีการลงทุนใหม่ 100 บาท ต้องมีรายได้มาสมทบอย่างน้อย 25 บาท
และไปกู้ไม่เกิน 75 บาท
- มีความสามารถในการชำระหนี้เพียงพอ วัดด้วยตัว debt service covered
ratio จะต้องไม่ต่ำกว่า 1.3
ทีนี้ปัญหาของการไฟฟ้าฯ ขณะนี้ โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็คือ มีกำไร
ผลตอบแทนต่อทรัพย์สินก็อยู่ในระดับที่พอใช้ได้ แต่กำไรเมื่อหักการชำระเงินต้นแล้ว
กลับไม่มีเหลือไปสมทบการลงทุน เพราะฉะนั้นฐานะการเงินก็เลยไม่ดีเพียงพอ
วิธีการแก้ไขก็มีหลายวิธีการ แต่วิธีการหลักที่ใช้ในสมัยก่อนก็คือขึ้นค่าไฟฟ้า
แต่ถ้าเผื่อกฟผ.ไปขึ้นค่าไฟฟ้า มันก็ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคเพราะว่ากำไรมี
ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในเรื่องนี้ก็ถูกว่าจ้างให้มาศึกษาว่ามีวิธีการไหน
ก็พบว่ามันก็พอจะหาวิธีการอื่นได้โดยไม่ขึ้นค่าไฟ ดังนั้นค่าไฟที่เสนอมาว่าอาจจะลดได้
2% นี่ก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการดำเนินงาน 4 เรื่องเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายนั้น
:-
เรื่องแรกคือ ต้องมีการแปรรูปโรงไฟฟ้าราชบุรี
เรื่องสอง เงินที่ได้จากการแปรรูปโรงไฟฟ้าราชบุรีนี้ ขอไม่นำส่งคลัง
ขอให้กฟผ.เก็บไว้ใช้ทั้งหมด เพื่อไว้ใช้ลดภาระหนี้สินของกฟผ.
เรื่องที่สาม ต้องมีการลดการลงทุนในระบบสายส่งและสายจำหน่ายลงบ้างเล็กน้อย
ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ชะลอลง
เรื่องที่สี่ ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า ในการส่งไฟฟ้า
และในสายจำหน่ายไฟฟ้า โดยในการผลิตไฟฟ้าให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ 5.8%
ต่อปี ในกิจการส่งไฟฟ้าให้ปรับปรุงประสิทธิภาพ 2.6% ต่อปี และในกิจการจำหน่ายไฟฟ้าให้ปรับปรุงประสิทธิภาพ
5.1% ต่อปี
อันนี้เป็นสี่ข้อที่ต้องทำ หากทำอย่างนี้ได้ ค่าไฟฟ้าก็จะลดลงได้
ทั้งนี้ตัวเลขประสิทธิภาพเป็นตัวเลขที่ศึกษาไว้เมื่อปีที่แล้ว โดยที่ปรึกษาอีกชุดหนึ่งของกฟผ.
ที่ปรึกษาชุดนี้ไปดูจากประสิทธิภาพของกฟผ., กฟภ. และกฟน.ในขณะ นี้แล้วเอามาเปรียบเทียบกับในประเทศอื่น
และดูว่าที่ผ่านมามีการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างไร
ในที่สุดก็ได้พบว่าที่ผ่านมา ทั้งสามกิจการไฟฟ้าก็ปรับปรุงประสิทธิภาพของตนเองขึ้นพอสมควรในแต่ละปี
(ความจริงอัตราที่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมีมากกว่านี้) แต่บางช่วงค่อนข้างสูง
แต่ถึงแม้จะปรับปรุงขึ้นมาแล้ว ก็ยังมีประสิทธิภาพไม่ค่อยสูงนักเมื่อเทียบกับกิจการไฟฟ้าในหลายแห่ง
ดังนั้นหนทางที่จะปรับปรุงต่อไปมันก็มีความเป็นไปได้ ดังนั้นจึงได้มีการเสนอตัวเลขชุดนี้ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นตัวเลขชุดนี้อันที่จริงได้มีการประชุมกับการไฟฟ้า และได้มีการตกลงกันตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วด้วยซ้ำว่าเป็นตัวเลขเป้าหมายที่น่าจะใช้ได้
"เพียงแต่ในขณะนี้พอจะเอามาเป็นเงื่อนไขในการกำหนดค่าไฟ การไฟฟ้าก็เลยไม่ใคร่จะชอบเท่าไหร่
แต่ผมคิดว่าในที่สุดแล้วผมว่าก็คงจะยอมรับ แม้ว่าจะไม่ใคร่ชอบก็ตาม"
ปิยสวัสดิ์ให้ความเห็น
กฟผ.ต้องดำเนินการแก้ไข 4 ข้อตามที่ไพร้ซฯ บอก ซึ่งหากลดเงินนำส่งคลัง
มันก็ช่วยด้วย ตอนที่สพช.ทำข้อเสนอการแปรรูปโรงไฟฟ้าราชบุรี เดิมทีเดียวที่เสนอไปที่รัฐบาล
ข้อเสนออันหนึ่งคือขอไม่นำส่งเงินที่ได้จากการแปรรูปราชบุรีให้กระทรวงการคลัง
เพราะว่ากฟผ.ก็มีปัญหาทางการเงิน ก็ต้องการที่จะเก็บเงินนี้เอาไว้ใช้ในกฟผ.
แต่ข้อเสนอส่วนนี้เป็นส่วนเดียวที่ไม่ผ่าน โดยที่มีมติว่าให้มาตกลงกันอีกทีหนึ่งระหว่าง
กฟผ. สพช.และกระทรวงการคลัง มันก็เลยยังค้างอยู่ และก็เลยทำให้เกิดประเด็นปัญหาว่าพนักงานกฟผ.ก็มีความวิตกว่าแปรรูปแล้วต้องเอาเงินนำส่งคลัง
มันก็น่าเห็นใจเพราะว่ามันเป็นทรัพย์สมบัติของกฟผ. หากแปรรูปแล้วกระทรวงการคลังเอาไปเยอะนี่เงินจำนวนนั้นมันก็ไม่เหลือเอาไว้ใช้ในกิจการกฟผ.
ซึ่งก็มีปัญหาทางการเงินอยู่
แนวทางล่าสุด รมต.สาวิตต์ได้พูดออกมาชัดเจนและสั่งออกมาชัดเจนแล้วว่าจุดยืนของสพช.คือไม่ส่งคลัง
ก็จะขอเจรจาว่าจะไม่ส่งคลัง แต่ว่าตามขั้นตอน ต้องมีการประชุมกันอีกทีอย่างเป็นทางการ
ระหว่างกระทรวงการคลัง สพช.และกฟผ. เพื่อตกลงกันให้ชัดเจน และนำเสนอครม.
นับเป็นท่าทีประนีประนอมอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ม็อบกฟผ.
ปิยสวัสดิ์เข้าใจว่า "เรื่องราชบุรีนี่ผมว่าน่าจะเห็นภาพชัดเจนว่ามันจะเดินต่อไปอย่างไรในเร็วๆ
นี้หมาย ความว่าจริงๆ แล้ว ผู้บริหารกฟผ.ขอเวลา 3 เดือนในการ ทำความเข้าใจ
ซึ่งก็ครบแล้ว มันก็น่าจะมีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่างานเรื่องการแปรรูปจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในเร็วๆ
นี้ คืองานแปรรูปเดินต่อไปก็ต่อเมื่อมีการจ้างที่ปรึกษาการเงินที่จะให้ทำรายละเอียดในการดำเนินงาน
และมีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในเรื่องนี้
ตามมติครม. มันมีกำหนดอยู่แล้วว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานในเรื่องนี้
ที่ปรึกษาทางการเงินนี่ผมเข้าใจว่ากฟผ.คัดเลือกได้แล้ว แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา"
"ผมเข้าใจว่าโรงราชบุรีไม่ใช่แอนเดอร์สันฯ แต่เป็นชุดเดิมคือเลห์แมนฯ
ไคล์นเวิร์ดฯ และไทยพาณิชย์ ที่คัดเลือกแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา"
ปิยสวัสดิ์ยอมรับว่า "ปัญหาที่หนักมากของกฟผ. ก็คือปัญหาเรื่อง cash
flow ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นการแปรรูปราชบุรีจะเป็นวิธีการที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่อง
cash flow ได้มาก แต่ขณะเดียวกันการแปรรูปราชบุรีก็เป็นขั้นตอนหนึ่งเท่านั้นของการที่จะแปรรูปกิจการไฟฟ้าต่อไปในอนาคต
ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ.
หรือกฟน. ต้องการให้มีการแข่งขันในการผลิตไฟฟ้า"
เพราะฉะนั้นในระยะยาวแล้ว มันหนีไม่พ้นที่จะต้องแยกระหว่างกิจการผลิตไฟฟ้า
กับกิจการสายส่งไฟฟ้า ออกจากกัน การแปรรูปราชบุรีเป็นขั้นตอนแรกในการที่จะเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้า
ถ้าเผื่อเราให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ไม่ต้องซื้อจากกฟภ.หรือ กฟน. และก็มีการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าขึ้นมา
การแข่งขันในการขายไฟให้ผู้บริโภค มันจะมากจะน้อยแค่ไหน มันขึ้นอยู่ว่า ในการผลิตไฟฟ้ามีการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน
หากมีผู้จำหน่ายไฟฟ้าหลายรายมาแข่งกันขายไฟฟ้าให้กับผู้บริโภค แต่ไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าซึ่งการแข่งขันมีไม่มาก
ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับประโยชน์เท่าไหร่จากการแข่งขันนี้ ปลายทางมันแข่งขันแต่ต้นทางมันผูกขาด
ดังนั้นมันจึงสำคัญที่จะต้องเพิ่มการแข่งขันในการผลิตไฟฟ้าในระดับซึ่งเป็นขั้นต้น
ไม่เช่นนั้นแล้วมันจะทำให้เกิดการผูกขาดไปตลอดจนถึงตอนปลาย
ดังนั้นการที่จะแยกกิจการผลิตไฟฟ้าออกจากสายส่งจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น
และในการแยกนั้นจะแยกเป็นบริษัทใหญ่บริษัทเดียวก็จะไม่ได้ หากเราไม่แยกกิจการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ออกจากกันเลย
คือไม่ได้แปรรูปโรงไฟฟ้าราชบุรี แต่เก็บโรงไฟฟ้าทั้งหมดไว้ในบริษัทเดียว
กำลังการผลิตของบริษัทนี้จะสูงถึง 50% ที่เหลือก็จะเป็นพวก EGCO IPP SPP
50% นี่ค่อนข้างสูง อำนาจเหนือตลาดนี่สูงมาก เพราะฉะนั้นในส่วนของกฟผ. จึงจำเป็นที่จะต้องแยกออกเป็นหลายบริษัท
ที่กฟผ.เสนอมานี่เป็น 4 กลุ่ม คือราชบุรีกลุ่มหนึ่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนอีก
2 บริษัท และโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกบริษัทหนึ่ง ในการศึกษาที่ทำอยู่ตอนนี้ ที่ปรึกษาของสพช.คือแอนเดอร์สันกับแนร่า
ก็มีการถามหรือการหารือในเบื้องต้นแล้ว ข้อเสนอของที่ปรึกษาสพช.คือเราเห็นว่าการที่จะแยกการผลิตไฟฟ้าออกจากสายส่งไฟฟ้าจะทำได้ยาก
ทำได้ไม่รวดเร็ว คงต้องใช้เวลา แม้จะมีการแปรรูปกิจการผลิตไฟฟ้าแล้ว ก็อาจจะเป็นการขายหุ้นเพียงบางส่วน
กฟผ.คงยังถือหุ้นอยู่พอสมควรในบริษัทเหล่านี้ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันก็ยังไม่สามารถแยกออกจากกันได้ภายใน
4-5 ปีนี้ ต้องหาวิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหาที่ว่าอาจจะเกิดการผูกขาดขึ้นมาได้
วิธีการที่ทางที่ปรึกษาเสนอออกมาคือต้องแยกตัว system operator ออกมา
ซึ่งก็คือศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าศูนย์นี้ควรจะแยกออกมาจากสายส่ง ตอนนี้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบสายส่ง
อยู่ในสายงานของสายส่งของกฟผ. เพราะฉะนั้นศูนย์ฯ นี้ควรแยกออกมาเป็นศูนย์ควบคุมอิสระหรือ
independence system operator ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ศูนย์ควบคุมเป็นตัวสั่งเดินเครื่อง
เป็นตัวที่ดูแลตลาดซื้อขายไฟฟ้า ความจำเป็นที่จะแยกการผลิตไฟฟ้าออกจากการส่งไฟฟ้าโดยสิ้นเชิงก็จะน้อยลงไป
ทำให้มีเวลามากขึ้นในการที่จะปรับตัว
แต่ที่แปลกใจมากที่สุดคือที่ปรึกษาของกฟผ.เอง เขาเสนอว่า system operator
ให้อยู่กับสายส่ง โดยมีเงื่อนไขว่าการผลิตไฟฟ้าต้องแยกออกจากการส่งไฟฟ้าโดยสิ้นเชิงภายในปี
2546 ซึ่งคนกฟผ.หลายคนเห็นว่าทำได้และอยากจะเห็นเป็นอย่างนี้
แต่ทางสพช.กลับเป็นฝ่ายเป็นห่วงว่าสายส่งกับผลิตไฟฟ้านี่อาจจะแยกออกจากกันไม่ง่ายนัก
อาจจะต้องใช้เวลา บางคนของกฟผ.คิดว่าแยกได้ เช่น สิทธิพร รัตโนภาส รองผู้ว่าการ
กฟผ. เห็นว่าทำได้ ดังนั้น system operator นี่ให้อยู่กับสายส่งได้
คือถ้าเผื่อว่าแยกได้จริง ตัว SO ก็อาจจะอยู่กับสายส่งได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทั้งนี้สายส่งนี่ อย่างไรก็เป็นการผูกขาดอยู่แล้ว มันเป็นลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติที่รัฐต้องกำกับดูแล
อย่างไรก็ต้องผูกขาด เพียงแต่ว่าหากสายส่งกับผลิตไฟฟ้าไม่แยกออกจากกัน ก็เท่ากับยังมีความเป็นเจ้าของที่โยงกันอยู่
การที่จะให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เข้ามาครอบ งำในตลาดได้ยากขึ้นก็คือต้องแยกศูนย์ควบคุมออกมา
หากพิจารณาเรื่องข้อดี-ข้อเสียนั้น มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติเป็นหลัก
การปฏิบัติแบบกฟผ.นี้จะยาก หมาย ความว่าหุ้นในกลุ่มเหล่านี้ต้องขายหมด ในขณะที่โครงสร้างอีกแบบนี่
เรายังมีหุ้นอยู่ได้ และก็ค่อยๆ ลดลงไป มีเวลามากขึ้น ไม่ใช่ต้องทำภายในปี
2546 อันนั้นต้องทำ ให้ได้ภายในปี 2546 และตัวศูนย์ควบคุมมันก็เป็นแค่ศูนย์ที่ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำตรงบางกรวยเท่านั้นเอง
ก็แค่นั้นเอง มันไม่ยุ่งยากอะไรที่จะแยกออกมา
ดังนั้นแนวทางทั้งสองอย่างนี่เป็นรูปแบบที่มีการคุยกันมามากพอสมควร
มันมีทางเป็นไปได้ทั้งสองรูปแบบ แต่ในทางปฏิบัติ อันไหนจะยากกว่าง่ายกว่าเท่านั้นเอง
เรื่องโครงสร้างใหม่ที่ว่าจะเกิดในเดือนธ.ค.นี่ ในเมื่อขั้นตอนต่างๆ
ล่าช้าลง มันจะเกิดได้อย่างไร ปิย-สวัสดิ์กล่าวว่า "ถึงเวลานั้นคงมีคำตอบออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้ว
และเมื่อรัฐบาลออกนโยบายมาแล้วว่าแปรรูปราชบุรี การคำนวณค่าไฟก็จะคำนวณเสมือนว่ามีการแปร
รูป แม้ว่าจะยังไม่มีการแปรรูป คือเราจะคำนวณค่าไฟเสมือนว่ามีการแปรรูปตราบใดที่การแปรรูปราชบุรียังเป็นนโยบายของรัฐบาล
เพราะฉะนั้นหากเกิดแปรรูปไม่ได้ตามเป้าหมายตามนโยบายของรัฐ มันก็จะไม่มีผลต่อผู้บริโภคเพราะว่าเราก็จะกำหนดค่าไฟเสมือนกับว่ามีการแปรรูปและดำเนินการใน
4 เรื่องตามที่ผมเรียนแล้ว
และถ้าเผื่อว่าฐานะการเงินไม่ดี กฟผ.ก็ต้องไปรับภาระเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
ในเมื่อรัฐบาลบอกว่าให้ทำอย่างนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงิน และค่าไฟจะได้ลงได้
2% แล้วเกิดไม่ทำขึ้นมาเนื่องจากปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ภาระส่วนนี้ก็ต้องรับเอง
จะมาให้ผู้บริโภคได้อย่างไร ก็ต้องไปหาวิธีอื่นที่จะมาทำ ต้องไปปรับปรุงฐานะการเงินเอง
เช่น ต้องลดเงินเดือน ลดโบนัส"
หากพิจารณาว่าเรานำเอาส่วนลด 2% นี้เหมือนกับเป็นการนำไปใช้ล่วงหน้า
ทั้งที่ตัวราชบุรียังไม่ได้แปรรูปขายหาเงินเข้ามาเลยนั้น ปิยสวัสดิ์กล่าวว่า
"ก็มันเป็นนโยบาย ถ้าหากนโยบายรัฐบาลยังไม่เปลี่ยน ก็ต้องทำอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นหากเราบอกว่าให้รอ
ไปทำให้เสร็จก่อนอาจจะต้องรอไปอีก 4 ปีก็ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพก็เหมือนกันเมื่อกำหนดเป็นเป้าหมายแล้ว
ถึงเวลาทำได้ไม่ถึงแค่นั้น เราก็ไม่ให้มาเพิ่มในค่าไฟ ก็ต้องรับภาระตรงนี้เอาเอง
ปรับปรุงประสิทธิภาพที่จริงในส่วนของสายส่งและสายจำหน่าย เราเริ่มแล้วในส่วนของ
FT ปัจจุบัน เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน แต่ในส่วนของค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ใช้เท่านั้นเอง
ถ้าเผื่อจะเอามาใช้นี่ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่องของการผลิตไฟฟ้าในโครงสร้างใหม่"
ปิยสวัสดิ์เปิดเผยความรู้สึกว่า "ประสบการณ์เรื่องราชบุรี ผมก็เหนื่อย
ก็เป็นช่วงๆ บางจากน่าเบื่อกว่าเพราะว่าผมไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลยกลับถูกด่า
น่าเบื่อที่สุด แต่ ราชบุรีนั้นอย่างน้อยเรายังเป็นคนดูแล และก็รมต.สาวิตต์ก็เป็นคนที่ดูแลทั้งกฟผ.และสพช.ก็เป็นคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา เราก็แก้เองได้ และจะไปโทษใครไม่ได้ หากเกิดปัญหาเราก็แก้เองได้"
ราชบุรีตอนนี้อยู่ระหว่างการกำหนดโครงสร้างก่อน ว่ารูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร
ตัวนี้ต้องออกมาให้ชัดว่าจะเป็นรูปแบบไหน และเพาเวอร์พูลจะเป็นลักษณะแบบไหน
ต้องร่างกติกาต่างๆ ออกมาให้ชัดเจนก่อน โครงสร้างจริงคงจะเห็นภาพได้ประมาณปลายปีนี้
หลังจากนั้นคงต้องเริ่มปฏิบัติ ก็คงต้องแบ่งงานกันไป ถ้าเผื่อจะเป็นแบบนี้นี่
ส่วนหนึ่งของกฟผ.ก็ต้องไปเริ่มที่จะจัดตั้ง ISO ขึ้นมา เตรียมการในการจัดตั้ง
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้แยกทันที เพราะว่าในการแยกนี่คงใช้เวลาอีก 2-3
ปี ข้อสำคัญ คือให้เสร็จก่อนปี 2546
โดยส่วนตัว ปิยสวัสดิ์พอใจแนวทางที่จะให้มีการแยกกิจการสายส่งออกมา
"อันนี้มีความเป็นไปได้มากที่ สุด อีกแบบหนึ่งนั้นน่าเหนื่อย มันไม่ค่อยง่ายนะ
และถึง แม้ไม่มีการต่อต้าน ปริมาณงานที่จะต้องทำอันนี้จะเยอะมากเพราะว่าคนที่จะทำงานจริงๆ
ในหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งในหน่วยงานกฟผ.ด้วย ที่จะมีความรู้เรื่องการขายหุ้น
ตั้งบริษัท การแปรรูปนี่มีจำนวนไม่มาก ปริมาณงานที่จะทำไม่ใช่น้อย และปริมาณหุ้นที่จะกระจายเข้าตลาดหลักทรัพย์เยอะมาก
ตลาดฯจะรับไหวหรือไม่ก็ไม่ทราบ ตั้งแต่ตอนนี้ถึงปี 2546 ถึงไม่มีการต่อต้าน
รูปแบบนี้ผมก็ยังคิดว่าเหนื่อย"
คงยังจะต้องเหนื่อยอีกนานเพราะราชบุรีเป็นแค่ฉากโหมโรงเท่านั้น