ทรูยันให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินได้ไม่ผิดกฎหมาย "อธึก" ชี้ประเด็นเหมือนการเดินสายในอาคารสำนักงานแล้วมาเชื่อมต่อผู้ให้บริการ
ย้ำสิ่งที่ทศท หารืออัยการสูงสุดเป็นการหลงประเด็น ด้าน "หมอเลี้ยบ"
ย้ำต้อง รอผลตีความอัยการสูงสุดเพื่อความชัดเจนคาด 1 เดือนได้ข้อสรุป
นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานและหัวหน้าคณะผู้บริหารกฎหมาย บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น
กล่าวถึงประเด็นที่บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่นหารืออัยการสูงสุดประเด็น ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการให้บริการในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินว่า
การหารืออัยการสูงสุดเพื่อความชัดเจนในบทบาทของบริษัท ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น
มีรายละเอียดที่ไม่สอดคล้องกับความจริง และไม่มั่นใจว่าการที่ทศทเรียกร้องนั้นต้องการอะไร
ระหว่างต้องการที่จะไม่ให้รถไฟฟ้าใต้ดินเปิดบริการตามเวลา หรือว่าต้องการให้เปิดบริการตามเวลาไปได้
แต่ไม่ให้มีการสื่อสารภายใน ซึ่งเป็นเรื่องสวัสดิการและมาตรฐานความปลอดภัยที่สำคัญมาก
เขาเล่าว่าที่ผ่านมาอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า หรือหมู่บ้านจัดสรร จะใช้วิธีเลือกลงทุนระบบโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานเองหรือทำในลักษณะร่วมทุน
หลังจากนั้นจึงมาเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นทรูหรือทศท โดยที่เจ้าของสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้าไม่ได้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์
กรณีนี้เช่นเดียวกันการเดินสายไฟฟ้าหรือให้บริการน้ำประปา ซึ่งเจ้าของสถานที่ไม่ได้ให้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาเอง
"เป็นวิธีทำมาหากินกันโดยตลอด เหมือนเจ้าของอพาร์ตเมนต์ เขาเดินสายภายในให้ แล้วใครอยากได้เบอร์ก็มาจ่ายเงิน
แต่เจ้าของอพาร์ตเมนต์ไม่ได้ให้บริการโทรศัพท์เอง"
เขาย้ำว่าสิ่งที่ทรู ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่3/2003 เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย
เพราะหากผิดจริงแสดงว่า ที่ผ่านมาเจ้าของพื้นที่ อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย อพาร์ตเมนต์
ทำผิดกฎหมายทั้งหมด
"ผมมั่นใจทรูให้บริการได้ไม่ผิดกฎหมาย"
ทั้งนี้ การดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้าใต้ ดินที่เกี่ยวกับการสื่อสารภายในมี 2
บริษัท คือ 1. Radiance Communication Networks (RCN) ซึ่งติดตั้งระบบอุปกรณ์ที่เรียกว่า
leaky cable ภายในอุโมงค์ทั้งหมด เพื่อทำให้การสื่อสารขณะที่รถไฟฟ้าเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้
โดย RCN เป็นบริษัทลูกของ BMCL ผู้ได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้า
2. บริษัทร่วมทุน ซึ่งบริษัทนี้มี True ถือหุ้นอยู่ 40% ดำเนินการรับจ้างจาก
BMCL เพื่อการวางสายเคเบิลเชื่อมต่อระหว่างสถานีทั้งหมดรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคม
โดยการลงทุนของทรูครั้งนี้อยู่ในราวกว่า 100 ล้านบาท
"วันนี้ระบบสื่อสารทั้งหมดพร้อมแล้ว เหลือเพียงการเชื่อมต่อ Jump สายกับทรูเพื่อเชื่อมต่อในกรณี
โทรศัพท์พื้นฐานส่วนโทรศัพท์มือถืออยู่ที่การเจรจาของโอเปอเรเตอร์ แต่ละรายเพื่อเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อให้บริการลูกค้าของตัวเองเช่นกัน"
BMCL, RCN และบริษัทร่วมทุนที่ True ลงทุนไป ก็ไม่ถือเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม
เพราะไม่ได้ทำการสื่อสารโดยตรงไปถึงประชาชน
นายอธึกกล่าวว่า ในหลักการนี้ ทรูไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด หากจะตีความว่าการลงทุน 40% ในบริษัทร่วมทุนที่วางสายเคเบิล อันมีผลทำให้เกิดการเชื่อมต่อไปสู่ภายนอกได้ก็ไม่ยุติธรรมกับบริษัท
เพราะการลงทุนในบริษัทต่างๆ ของทรูเป็นเรื่องปกติและถือเป็นการลงทุนส่วนน้อย
สำหรับการแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นกันนั้น ทรูจะมีรายได้จากการใช้งานที่เกิดขึ้น
หลังจากที่ได้มีการ jump สายกับโครงการนี้เรียบร้อย ซึ่งไม่น่าที่จะมีปัญหาเพราะได้มีการเจรจาในเชิง
ธุรกิจเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ทรูยังมีรายได้อีกทางหนึ่งจะผ่านมาทางบริษัทร่วมทุนที่
True ลงทุนไป ในรูปค่าเช่าโครงข่ายซึ่ง BMCL จะแบ่งมาให้ซึ่งขณะที่ BMCL ก็ไม่ถือเป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารเพราะไม่ได้เชื่อมต่อประชาชนโดยตรง ทั้งนี้โอเปอเรเตอร์ทุกรายต้อง
มาเชื่อมต่อในจุดที่ถูกจัดไว้ให้ รวมถึง TA Orange บริษัทในเครือทรู ก็ต้องมาขอเชื่อมตามจุดเพื่อให้บริการ
"ประเด็นที่ทศท หารืออัยการถือเป็นคนละเรื่องกับความเป็นจริง"
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวน่าจะสรุปได้ภายใน 1 เดือนซึ่งไอซีทีก็ยังต้องการให้รอผลจาก
อัยการสูงสุดก่อนเพื่อความชัดเจน ส่วนเรื่องโทรศัพท์มือถือนโยบายคือทุกค่ายต้องส่งสัญญาณได้เหมือนกันหมด