ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฯ คนที่ 6 เป็นผู้ที่มีบุคลิกโดด เด่นมากในเรื่องของการยืดหยุ่นประนีประนอม
แม้ว่าผู้ว่าการคนก่อนหน้าอาจจะมีบุคลิกเช่นนี้ตามลักษณะ ของผู้นำที่ดี แต่วีระวัฒน์โดดเด่นกว่าเพราะสถานการณ์
เขาเป็นผู้ว่าการที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงปรับตัวครั้งใหญ่ของ
กฟผ.
เขาเป็นผู้ว่าการที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างมาก และสถานะการเงินของกฟผ.ก็หมิ่นเหม่
และเขาก็จะเป็นผู้ว่าการที่พานาวากฟผ.ให้รอดไปได้ด้วย
โชคช่วยคงจะมีส่วนน้อย หากปราศจากซึ่งการบริหารจัดการที่ดีของหน่วยงานแห่งนี้
กฟผ.เคยถูกจัดอันดับเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี มีความสามารถหาแหล่งเงินกู้เองได้ในสมัยที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองยุคฟองสบู่
มีการบริหารทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้กฟผ.สามารถรอดปากเหวมาได้จนปัจจุบัน
เมื่อเผชิญหน้ากระแสเรื่องการแปรรูป การขายทรัพย์สินให้ต่างชาติ วีระวัฒน์มองเรื่องนี้อย่างใจเย็น
เขาพูดคุยแนวคิดการดำเนินงานที่สะท้อนปรัชญาของเขาออกมา
"คนของเรา 60 กว่าล้านคนมันต้องมีอนาคตนะครับ ใจคออย่าไปคิดเป็นแค่ลูกจ้างไต้หวัน
หรือสิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น เลย ผมไม่ใช่ชาตินิยมแบบคลั่งชาติ แต่ผมเห็นว่าอนาคตของคน
60 กว่าล้านคน คนมีความรู้เยอะ มีสติปัญญาดี มีทรัพยากรพอสมควร ความเจริญที่สะสมไว้ก็มีพอสมควร
เมื่อขาดเงินหน่อย อย่าไปกระตือรือร้นสิ้นหวังกับมัน มันไม่ถึงกับตายหรอก
รักษาอะไรให้มั่นๆ ไว้ เป็นตัวของเราเอง อย่าปล่อยให้กระแสพาไป เห่อกันไป
สะกดคำว่า globalization หรือ privatization แล้วต้องทำให้เป็นอย่างนั้น
ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ต้องระวัง เป็นตัวของตัวเองบ้างครับ
เราอย่าไปสิ้นหวังครับ มันเสียศูนย์ไปหน่อย เซไปหน่อย แต่ยังไม่ล้มครับ"
นั่นเป็นคำพูดเชิงสรุปต่อสถานการณ์วิกฤติที่เคยเกิดขึ้นกับกฟผ.
เขาถือว่า "ราชบุรีเป็นปัญหานิดเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลย เรามีปัญหามากมายเยอะแยะ
ปัญหาว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาไฟฟ้าให้แก่ประชาชนหรือภาพรวมได้ ในอดีตเราพัฒนาไฟฟ้าแบบรวมศูนย์อยู่
เรามักจะพัฒนาอะไรต่างๆ รวมศูนย์อยู่ในก้นอ่าวไทยนี่เท่านั้น แต่สิ่งที่ผมอยากจะทำคือทำไฟฟ้าที่มีคุณภาพไปถึงมือประชาชนผู้ใช้ทุกครัวเรือน
ไฟไม่ตก ไม่ดับ ไฟฟ้าที่มีคุณภาพจะนำโครงการดีๆ ไปสู่ท้องถิ่น เพราะมีการผลิตที่นั่น
คนก็อยู่กับท้องถิ่นได้ โรงงานก็แยกย้ายไปอยู่ที่ต่างๆ ความเจริญทั้งหลายก็แผ่ออกไป
ความเสื่อมทั้งหลายก็ไม่มาหมกอยู่ในที่เดียวกัน
อันนี้ผมอาจจะมองเกินเลยออกไป แต่ผมถือว่าผมทำไฟฟ้านี่ ผมมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบสังคมด้วย
ผมไม่ใช่ทำไฟฟ้าเพื่อที่จะขายไฟฟ้าและได้สตางค์เท่านั้น ผมต้องคิดอย่างอื่นให้กว้างขึ้นออกไปด้วย
ตอนที่เราทำคือทำได้แค่มีไฟฟ้าใช้ แต่ไฟฟ้าที่มีคุณภาพยังคงอยู่ในบริเวณแถบที่พัฒนาแล้ว
เราลงทุนเรื่องเครื่องมืออันหนึ่งไปมูลค่าถึง 4,000 กว่าล้านบาทเพียงเพื่อไม่ให้ไฟดับ
ในย่านของระยอง เท่านั้นเอง
เราควรทำไฟฟ้าที่มีคุณภาพ อาจยังทำไม่ได้ทุกจังหวัด แต่ว่าเป็นย่านๆ
ไป ผมก็ยังชอบปรัชญาการทำงานของชุมชนที่เอางานเข้าไปหาชุมชน คนยังสามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้
ไม่ต้องเข้ามาในเมือง อัตราการเปลี่ยนงานก็น้อย คนก็สบาย คุณภาพก็ดีขึ้น
โรงงานใหญ่ๆ ก็เอาสินค้าไปผลิตในชุมชนท้องถิ่น เราควรทำโครงการอย่างนี้ให้กว้างขวางขึ้น
ผมเห็นว่าไฟฟ้านั้นเป็นกิจการที่ทำกำไรได้ และต้องมีกำไรด้วย มันจึงจะอยู่รอด
แต่กำไรไม่ใช่เป็นเป้าหมายเราจะไม่ maximised เรื่องกำไร แต่กำไรต้องมี ประโยชน์
หลักคือเราต้องการกระจายออกไป การลงทุน สร้างสายส่ง การลงทุนในเรื่องระบบความมั่นคงเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทนกลับมาเป็นเงิน
แต่ว่าไฟฟ้าดีขึ้น ซึ่งการลงทุนตัวนี้รัฐต้องเป็นคนลงทุน ไฟฟ้าจะต้องลงทุน
แต่ไม่ใช่ว่าเราเอาแค่นี้ สายสั้นๆ ก็พอ หากินกันอยู่ตรงนี้เอากำไรแค่นี้นะ
เราต้องมองเศรษฐศาสตร์ในเชิงสังคมด้วย ไม่ใช่เอาเศรษฐศาสตร์เฉพาะที่ตัวเงินเท่านั้น"
ส่วนหลักการที่เขาจะจัดสรรผลประโยชน์ให้พนักงานนั้น ยึดนโยบายที่ว่า
"ผมต้องดูแลคนของผม ให้เขามีผลตอบแทนที่พอสมควร ในเมื่อเขาทำงาน เขาจะได้
devote และถ้าให้เขาพอแล้วเขาจะได้ไม่โกง ให้เขาน้อยแล้วให้เขาไปโกงนั้น
ผมไม่เห็นด้วย"
"ผมไม่ถึงกับเหนื่อยหรือหนักใจอะไร เราทำไปด้วยความมั่นคง ความเป็นมืออาชีพ
ความมีเหตุมีผล เรื่องการแปรรูปนั้นลูกน้องผมมักจะพูดให้ฟังเสมอว่าเรื่องการแปรรูปเขาไม่กลัวหรอก
เขากลัวเรื่องการเซ้ง ที่เขาวิตกคือเรื่องนี้ ตราบใดที่เราทำให้เกิดความโปร่งใส
ไม่ให้ผลประโยชน์ตกอยู่แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเข้าตัวเองการต่อต้านหรือการไม่เห็นด้วยคงจะน้อยลง
เขาพูดกันอย่างนั้น" นี่อาจจะเป็นคำเหน็บอะไรสักอย่าง ซึ่งเขาอธิบายต่ออีกหน่อยหนึ่งว่า
"วิธีการที่จะทำให้เกิดมูลค่า หรือการเลือกหรือไม่เลือก เหล่านี้ก็ทำให้เกิดการเซ้งได้"
ความคืบหน้าล่าสุดของการแปรรูปราชบุรีคืออยู่ในขั้นของการเลือกโมเดล
ว่าหุ้นควรเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ผลตอบแทนควรจะเป็นเท่าไหร่ จะมีการเติบโตอย่างไร
เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะถูก freeze เลยเหมือนบางหุ้นหรือเปล่า
"ในเบื้องต้นภาพอาจจะไม่ดี แต่ภาพโดยรวมนั้นจะดี เราเลือกโมเดลก่อน
เมื่อได้แล้วจะมา evaluate อีก
ทีมันดูเหมือนว่ามันใช้เวลา แต่มันไม่ช้าหรอกหากทำให้มั่นคง ในกระแสที่ว่าจะต้องมีผลประโยชน์
มีอะไรต่ออะไรที่เหลวไหลนี่ หากเราทำให้มั่นคงแล้ว เกิดความมั่นใจ คนที่จะมาลงทุนกับเรา
ประชาชนนั้นเขาก็ดีใจที่จะมาร่วมกับ เรา แต่ตราบใดที่เรารีบทำแล้วเกิดความคลุมเครืออยู่
ผมไม่เห็นด้วย ไม่เป็นประโยชน์เลย จะว่าผมช้าเหลือเกิน ผมไม่ช้าหรอก แต่ผมอยากทำให้เกิดความมั่นใจ"
วีระวัฒน์กล่าว
เขายึดถือหลักการเรื่องความยืดหยุ่นอย่างเหนียวแน่น ประกาศว่า "เราต้อง
dynamic พอควร สิ่งที่เราเคยคิดมาทำมาตอนที่เศรษฐกิจเป็นฟองสบู่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ที่เรามีแผนอะไรต่างๆ มาถึงตอนนี้เราต้องปรับให้เร็ว ต้องปรับใหม่ เราจะยืนแข็งอยู่อย่างนั้นไม่ได้
เราจะเสียหายและจะเจ๊ง โครงสร้างที่เราเคยพูดกันเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เราก็มาปรับกันใหม่ได้
เพื่อให้เหมาะ และเราก็คิดว่าในอีก 4-5 ปี ที่ growth ยังไม่มีนี่ งานบางอย่างเราอาจจะยังไม่มี
เราก็ปรับกันใหม่อีกที ไม่งั้นเราจะยืนแข็งตาย ต้อง dynamic พอควร ต้องปรับทิศทาง
หยุดการลงทุนบางเรื่อง เรื่องที่ต้องทำสืบเนื่องก็ต้องทำ เพราะว่าเรื่องบางเรื่องมันเป็นสาระในระยะยาว
สามเรื่องที่ผมไม่ลดคือเรื่องของการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องของการพัฒนาคน
และเรื่องของเทคโนโลยีเพราะตัวนี้เป็นอนาคตในเมื่อรถขบวนใหม่มาแล้วเราก็ต้องตามให้ได้
ราชบุรีเป็นเพียงหนึ่งในปัญหาที่เรามีมากมายเยอะแยะ เรื่องของการซื้อไฟขายไฟ
IPP เข้ามาไหม SPP มา
ไหม ค่าไฟฟ้าจากลาวจะแพงหรือถูก ก๊าซจะมาไหม น้ำมันจะแพงหรือถูก อะไรต่างๆ
มันมีหลายตัวที่เข้ามา ราช-บุรีเป็นหนึ่งในปัญหาเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นกระแส
ทุกคนก็เลยทำให้มันใหญ่โตไป"