ปตท.รุกธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ โดยเซ็นเอ็มโอยูกับปิโตรเวียดนามศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการระบบท่อจำหน่ายก๊าซฯที่โฮจิมินห์ในเวียดนามเป็นประเทศแรก ก่อนขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าลงทุนเบื้องต้น 100 ล้านบาท ชี้โครงการดังกล่าวจะนำสู่ความร่วมมือโครงการอื่นทั้งโรงแยกก๊าซฯ ปิโตรเคมี
โดยเฉพาะการวางท่อก๊าซธรรมชาติหลักในอนาคต
วันนี้ (26 พ.ค.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู)
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการวางระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ทางตอนใต้ของเวียดนาม
กับบริษัท เวียดนาม ออยล์แอนด์ก๊าซ คอร์เปอ-เรชั่น จำกัด (ปิโตรเวียดนาม) เพื่อรองรับความต้องการก๊าซฯ
ของโรงงาน อุตสาหกรรมในเวียดนามที่มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นในอนาคต
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน
เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทันที โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่เมืองโฮจิมินห์ก่อน
เพราะมีนิคมอุตสาหกรรมถึง 12 แห่ง คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2548 หากผลการศึกษาคุ้มค่าและมีผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม (IRR) 12-15% ก็จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสร้างท่อย่อยเชื่อมจากท่อก๊าซฯหลักมายังโรงงานอุตสาหกรรม
เพื่อจัดจำหน่ายให้ลูกค้า คาดว่าเบื้องต้นจะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท หากมีความต้องการใช้ก๊าซฯ
ในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นก็จะลงทุนเพิ่มขึ้นอีก
"การลงนามในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการบันทึกความเข้าใจระหว่าง ปตท.กับปิโตรเวียดนามเมื่อวันที่
1 ธันวาคม 2540 เรื่องความร่วมมือในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ และได้มีการขยายขอบเขตความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ส่วนสาเหตุที่เลือกศึกษาความเป็นได้ของโครงการที่เมืองโฮจิมินห์นั้น
เนื่องจากเป็นเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรมถึง 12 แห่ง ซึ่งในปีนี้จะศึกษา 6 แห่ง และปีหน้า
จะศึกษาอีก 6 แห่งที่เหลือหากมีความเป็นไปได้ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ก็จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน
เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซฯต่อไป"
รูปแบบโครงการวางระบบท่อจัดจำหน่ายในเวียดนามก็จะใช้โมเดลเดียวกับไทย โดยปตท.จะลงทุนก่อสร้างวางท่อ
และกำหนดค่าผ่านท่อ ซึ่งเบ็ดเสร็จราคาก๊าซฯจะต้องต่ำกว่าราคาเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ
ที่ใช้อยู่
โครงการวางระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซฯในเวียดนามครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ปตท.เข้าไปวางท่อจำหน่ายก๊าซฯให้โรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศ และยังมีแผนจะขยายการลงทุนท่อก๊าซฯในประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ พม่า อินโดนีเซีย
เป็นต้น โดยในส่วนเวียดนาม นอกจากลงทุนท่อก๊าซฯ แล้ว ยังอาจนำไปสู่ความร่วมมือโครงการอื่น
เช่น โรงแยกก๊าซ ธุรกิจปิโตรเคมี โดยเฉพาะการวางท่อก๊าซธรรมชาติหลัก หลังจากรัฐบาลเวียดนามเปิดโอกาสให้เอกชนต่างประเทศแสดงความจำนงเข้ามาลงทุน ซึ่งปตท.จะหารือกับปตท.สผ. ในฐานะบริษัทย่อย เพื่อเจรจาวางท่อก๊าซฯเชื่อมต่อแหล่งปิโตรเลียมที่ปตท.สผ.ร่วมทุนอยู่
โดยไม่ต้องเปิดประมูล
ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้เข้าไปลงทุนด้านปิโตรเลียมในเวียดนามตั้งแต่การเข้าไปร่วมสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในเวียดนามร่วมกับยูโนแคล ปตท.มองว่า ธุรกิจก๊าซฯในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวสูงมาก ปัจจุบันเวียดนามตอนใต้มีการใช้ก๊าซฯอยู่ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนใหญ่ ใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้า ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมจะใช้ก๊าซหุงต้ม
และน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง หากมีการเจรจาให้ผู้ประกอบการโรงงานในเวียดนามหันมาใช้ก๊าซฯที่มีราคาถูกกว่าเป็นเชื้อเพลิง
ก็จะทำให้เวียดนามสามารถนำก๊าซหุ้งต้มที่มีราคาแพงกว่าใช้ในภาคครัวเรือนทดแทนการนำเข้าได้
นอกจากนี้ ปตท.สผ. และปิโตรเวียดนาม มีโครงการลงทุนร่วมกันในการพัฒนา แหล่งน้ำมันที่แอลจีเรีย
และคาดว่าจะสามารถร่วมกันลงทุนในประเทศอื่นๆ ได้ด้วย โดยเวียดนามมีความสนิทสนมกับรัสเซีย
ซูดาน แอลจีเรีย เยเมน จึงเป็นช่องทางให้ปตท.สผ.สามารถเข้าไปลงทุนได้เพิ่มเติม
นายจิตรพงษ์ กล่าวว่า จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้
จะไม่กระทบราคาก๊าซธรรมชาติ เว้นแต่ราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูงต่อไปอีก 6-8 เดือนข้างหน้า
ซึ่งจะสะท้อนให้ราคาก๊าซฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มประมาณ 4-5% ของราคาปัจจุบัน
เพราะตามปกติแล้วราคาน้ำมันจะมีผลต่อราคาก๊าซฯในสัดส่วน 30% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซฯก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง
ดังนั้น รัฐบาลต้องหามาตรการอื่นเสริมเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ปัจจุบันราคาเนื้อก๊าซฯอยู่ที่
120 บาท/ล้านบีทียู