ทศททำหนังสือหารืออัยการสูงสุด ขอความชัดเจนประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับรฟม. ทรูหรือเอไอเอสสร้างโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทุกระบบภายในรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมกับภายนอกเพื่อให้บริการประชาชนจะทำได้หรือไม่
คนในทศทชี้งานนี้ถูกหลักการ แต่ผิดกฎหมาย ยันจัดการปัญหาไม่ดีมีสิทธิ์กระเทือนหมอเลี้ยบ
แหล่งข่าวจากบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมาทศทได้ทำหนังสือหารืออัยการสูงสุดกรณีติดตั้งระบบโครงข่ายในอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน
โดยระบุว่าตามที่บริษัท ทีเอ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น
ได้ทำสัญญาร่วมการงานกับทศท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายเลขหมายโทรศัพท์ในกทม.โดยบริษัทต้องติดตั้งและส่งมอบอุปกรณ์ในระบบโทรศัพท์จำนวน
2.6 ล้านเลขหมายให้ทศทตามเงื่อนไขของสัญญา และต้องขอความเห็นชอบจากทศทก่อนการดำเนินการ
ปรากฏว่าปัจจุบัน บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (รฟม.) ได้จัดทำระบบสื่อสารโทรคมนาคมภายในอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน
โดยระบบดังกล่าวจะให้บริการ เชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทุกระบบ ระหว่างภายในและภายนอกอุโมงค์
ซึ่งรฟม.เคยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือให้ทศทเป็นผู้ดำเนินการ แต่ต่อมาขอยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวและอาจให้ทรูหรือเอไอเอสเป็นผู้ดำเนินการแทน
ทศทจึงขอหารืออัยการสูงสุดในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสัญญาดังนี้
1.รฟม.หรือทรูหรือเอไอเอส สามารถสร้างโครงข่ายระบบสื่อสารภายในอุโมงค์และเชื่อมต่อโครงข่ายดังกล่าวออกสู่ภายนอกอุโมงค์เพื่อให้บริการ
ประชาชน จะดำเนินการได้หรือไม่และจะขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี 2544
หรือไม่อย่างไร
2. ทรูหรือเอไอเอส จะเป็นผู้สร้างโครงข่ายภายในอุโมงค์และเชื่อมต่อโครงข่ายออกสู่ภายนอกอุโมงค์เพื่อให้บริการประชาชนทั่วไปได้หรือไม่
จะขัดต่อสัญญาร่วมการงานที่ทำไว้กับทศทหรือไม่อย่างไร และ 3. หากทรูหรือเอไอเอสจะดำเนินการให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างภายในและภายนอกอุโมงค์
จะต้องขออนุญาตจากทศทก่อนหรือไม่ ในฐานะเป็นผู้ร่วมการงานกับทศทตามสัญญา และทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องโอนให้
ทศท ตามสัญญาหรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นผลกระทบโดยตรงกับน.พ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เนื่องจากในระหว่างยังไม่มีคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(กทช.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีถือเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลในช่วงสุญญากาศดังกล่าว
ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี 2544 ดังนั้นหากบริษัท เรเดียนซ์ คอมมูนิเคชั่น
เน็ตเวิร์ก ซึ่งมีทรู,ช.การช่างและซีเมนส์ให้บริการเชื่อมโยงสัญญาณระบบสื่อสารโทรคมนาคมกับภายนอกเพื่อให้บริการประชาชนทั่วไป
เริ่มให้บริการ หากยังมีความคลุมเครือในข้อกฎหมาย หรือหากผิดกฎหมาย ในประเด็นที่ไม่สามารถให้ใบอนุญาตได้เนื่องจากยังไม่มีกทช.
น.พ.สุรพงษ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นถอดถอน
"ตอนนี้ฝ่ายค้านมีข้อมูลในเรื่องนี้มากพอสมควร หากเรเดียนซ์เริ่มให้บริการเมื่อไหร่
ก็อาจเสนอเรื่องถอดถอนหมอเลี้ยบกับปปช. เพราะถือว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย"
แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามที่ทศทส่งเรื่องให้อัยการ ตีความเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่ารฟม.ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องบริการสื่อสารโทรคมนาคมเคลื่อนที่
ที่เชื่อมโยงด้วยระบบวิทยุทุกย่านความถี่ (โทรศัพท์มือถือ) ภายในอุโมงค์กับภายนอกเพื่อให้บริการประชาชนทั่วไปได้
รวมทั้งไม่สามารถอนุญาตให้นิติบุคคลใดมาดำเนินการให้บริการได้เช่นกัน จะมีก็แต่
ทรูหรือเอไอเอส ที่สามารถดำเนินการได้ในลักษณะการเช่าพื้นที่ติดตั้งเสาอากาศได้ตามสัญญาร่วมการงาน
แต่หลักปฏิบัติสากลทั่วไป จะใช้วิธีให้มีบริษัทกลางมาดำเนินการแทน แล้วผู้ให้บริการทุกรายมาร่วมใช้ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม
แต่บริษัทกลางดังกล่าวก็ต้องได้รับใบอนุญาตจากกทช.ก่อน ซึ่งในช่วงกทช.ยังไม่เกิดจะต้องอาศัยสิทธิตามกฎหมายของทศทหรือบริษัท
กสท โทรคมนาคม เพื่อเป็นเจ้าภาพตั้งบริษัทดังกล่าวขึ้นมา
"การตั้งบริษัทเรเดียนซ์ถือว่าถูกหลักการปฏิบัติสากล แต่ผิดกฎหมายและผิดวิธีการ
วิธีที่ถูกต้องคือทำตามเอ็มโอยูที่รฟม.ได้ลงนามไว้กับทศทเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2545
ซึ่งกระทรวงไอซีที โดยคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงได้รับทราบเอ็มโอยูดังกล่าวตั้งแต่วันที่
9 ต.ค. 2546 ดังนั้นหากให้เรเดียนซ์ให้บริการก็เท่ากับกระทรวงไอซีทีรู้แต่เพิกเฉยไม่กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย"
แหล่งข่าวกล่าวว่าขณะนี้เรเดียนซ์ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยการสร้างข่ายสาย
(WIRE WAY COMMUNICATION) ภายในสถานีเสร็จเรียบร้อย ส่วนข่ายสายภายในสถานีที่เชื่อมต่อกับข่ายสายทศท
ภายนอกสถานี มีการก่อสร้างท่อร้อยสายเกือบครบทุกสถานีแล้ว ซึ่งทำให้การสร้างข่ายสายโครงการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับรถไฟฟ้าใต้ดินเหลือเพียงงานภายนอกสถานีรถไฟฟ้า
ซึ่งเป็นงานส่วนน้อย รวมทั้งรฟม.ไม่ให้ทศทเข้าดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการสร้างข่ายสายและไม่แจ้งความต้องการใช้ข่ายสายของทศท
ทั้งๆ ที่ทศทได้บริษัท เอ็นทีคอนเข้าดำเนินการ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นทศทก็คงต้องโดนบริษัทดังกล่าวฟ้องร้อง
ด้านน.พ.สุรพงษ์กล่าวว่า ถึงบริษัท เรเดียนซ์ จะวางระบบเชื่อมโยงเสร็จแล้วก็ตาม
ก็ยังไม่สามารถ ให้บริการได้ เพราะต้องรออัยการสูงสุดชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาร่วมการงานดังกล่าวเสียก่อน
"ต้องรอผลจากอัยการสูงสุด หากให้บริการตอนนี้ถือว่าบริษัท ทำผิดกฎหมาย"