บริษัทกับความรับผิดชอบต่อสังคม
หลายคนอาจจะคิดว่า แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ริเริ่มโดยบริษัทอย่าง
Ben & Jerry's หรือ The Body Shop แต่ความจริงแล้ว แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
Jeffrey Hollender ชี้ว่า บริษัท Quakers ได้เริ่มคัดกรองธุรกิจที่บริษัทเข้าไปลงทุน
ด้วยการใช้หลักเกณฑ์ด้านศีลธรรมจรรยา มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว โดย Quakers
จะถอนการลงทุนในธุรกิจที่แสวงหากำไรในทางที่บริษัทไม่เห็นด้วย
แต่บริษัทที่ยึดแนวทางเดียวกับ Quakers มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แม้กระทั่งเมื่อเวลาล่วงมาถึงศตวรรษที่
20 ก็ยังคงมีผู้ที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า "ความโลภเป็นสิ่งที่ดี" อย่าง Milton
Friedman โดย Friedman ระบุในหนังสือชื่อ Capitalism and Freedom ที่เขาเขียนขึ้นในปี
1963 ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ทำลายบริษัท พร้อมทั้งระบุด้วยว่า
ความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงอย่างเดียวที่ธุรกิจควรมีคือ "การเข้าแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเปิดเผยและเสรี
โดยปราศจากการหลอกลวงหรือฉ้อโกง" เท่านั้น Friedman ยังชี้ด้วยว่า เมื่อใดที่บริษัทเริ่มเชื่อว่า
ตนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วไซร้ นั่นคือจุดจบของความเป็นอิสระของบริษัท
และจะต้องถูกครอบงำด้วยกฎเหล็กของรัฐสิ่งที่สำคัญที่สุด
แต่ Hollender คัดค้านความคิดที่ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท จะบ่อนทำลายระบบทุนนิยม
Hollender ชี้ว่า บริษัทอย่าง Ben & Jerry's Homemade Inc และ Stonyfield
Farm (ผลิตโยเกิร์ตแบบอินทรีย์) ต่างก็ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างงดงาม
โดยต่างเป็นแบรนด์ระดับโลก และภายหลังยังถูกซื้อไปโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ Unilever
ของเนเธอร์แลนด์ กับ Danone ของฝรั่งเศสตามลำดับ Gary Hirshberg ผู้ก่อตั้ง
Stonyfield ยืนยันว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมทำให้ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จ
ส่วนศาสตราจารย์ Lynn Sharp Paine แห่ง Harvard ชี้ว่า สังคมจะไม่สามารถอยู่รอด
หากเรายอมยกเว้นให้บริษัท ซึ่งเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดและมีจำนวนมากที่สุดในสังคมสมัย
ไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรมจรรยา ยิ่งโดยเฉพาะในโลกทุกวันนี้ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง
Microsoft เพียงแค่แห่งเดียว ก็มีมูลค่าตามราคาตลาดมากกว่ารายได้ประชาชาติของหลายประเทศรวมกัน
เราก็ยิ่งต้องเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมจากบริษัทมากยิ่งขึ้น ตามอำนาจที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทขนาดใหญ่เหล่านั้น
นอกจากนี้ Hollender ยังไม่เห็นด้วยกับ Friedman ที่ว่า รัฐบาลเป็นแหล่งเดียว
ที่สามารถจะกดดันบริษัทให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ แต่ลูกค้าก็เป็นฝ่ายสำคัญ
ที่ให้ความสนใจกับวิธีการได้มาซึ่งกำไรของบริษัทเช่นกัน และผลก็คือ ปัจจัยตัวใหม่ที่เป็นแรงกดดันที่อ่อนไหวที่สุด
ที่ทำให้บริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ก็คือ "ชื่อเสียง" หรือค่าความนิยม
(good will) ที่ปรากฏอยู่ในงบดุลของบริษัทนั่นเอง จุดนี้เองที่ทำให้บริษัทเริ่มตระหนักแล้วว่า
ชื่อเสียง เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด อย่างที่อย่างโรงงานอันใหญ่โตหรืออาคารสำนักงานอันหรูหราไม่อาจจะเทียบได้