ชื่อของเบนจามิน แกรห์ม นักลงทุนเน้นคุณค่ายุคแรก ที่สวมคราบนักวิชาการเป็นหมวกใบที่สองในวงการหุ้นนั้น
ยืนยงยาวนาน และกลับมาสู่ความสนใจเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในยามที่เสียงเรียกร้องหา
นักลงทุนเน้นคุณค่า (value investors) ดังขึ้นมา ในยามที่ตลาดหุ้นเป็นห้วงเวลาขาขึ้น
แต่มีการปรับฐานแรงอย่างหวือหวา จนกระทั่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นตัวเอง
เบนจามิน แกรห์ม จึงเป็น "ปฏิมาอุปโลกน์" ของวงการหุ้นที่มีอายุยืนยาวพอให้คนรุ่นหลังเอามาขายได้เรื่อยๆ
หนังสือเล่มนี้ก็เป็นเช่นนั้น และมาได้ยุคได้สมัยพอดี โดยสำนักพิมพ์นั้นมีวิธีจัดการแบบชาญฉลาดไม่น้อย
ด้วยการ "ทำให้ทันสมัย" ด้วยการผสมผสานข้อเขียนดั้งเดิมของแกรห์มเมื่อ 40
ปีก่อน เอามาพ่วงต่อด้วยข้อมูลร่วมสมัยโดยผู้เขียนร่วมสมัยอย่างเจสัน ชวิก
ในท้ายทุกๆ บทที่เรียกเสียไพเราะว่า new cemmentary
วิธีการอย่างนี้เท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือ คนที่อยากอ่านต้นฉบับสำนวนเดิมก็ได้อ่าน
คนที่เบื่อเรื่องเล่าที่พ้นยุค ก็ได้ "แบบอนุมาน" สไตล์พลาโตที่ทันสมัย
เหมาะกับยุคสมัยนักอ่านประเภท "แดกด่วน" และนักลงทุนที่เป็นชนชั้นกลางที่เร่งรีบกลัวตกขบวนแห่งความมั่งคั่งในตลาดหุ้น
(แต่ความจริงแล้วติดหุ้นระนาว)
สิ่งที่เห็นผลลัพธ์ได้ในทันทีจากวิธีการของสำนักพิมพ์เช่นนี้คือ ได้หนังสือหนาขึ้นมาอีก
1 เท่าตัว แทนที่จะเป็นแค่ 300 หน้า ก็กลายเป็น 623 หน้า (รวมดัชนีและเชิงอรรถสารพัด)
ในราคาที่ดูไม่แพงนัก
โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับเมื่อ 40-50 ปีก่อน
นั่นคือการวิเคราะห์กระบวนการลงทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้น การรับมือกับความผันผวนการบริหารพอร์ตโฟลิโอ
การวิเคราะห์หลักทรัพย์ การลงทุนในกองทุนรวม การป้องกัน ความเสี่ยงฯ เป็นต้น
โดยที่คนเขียนพ่วง (ไม่อาจจะเรียกว่าเขียนร่วมได้) อย่างชวิกนั้นทำหน้าที่ใส่ข้อมูลปัจจุบันเข้าไปในโครงสร้างเดิมๆ
เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่า ผลงานของแกรห์มนั้น ไม่เคยล้าสมัย ซึ่งไม่จริงเสมอไป
กระนั้น หลักการพื้นฐานที่แกรห์มย้ำแล้วย้ำอีกบ่อยในข้อเขียนของเขา ยังคงเป็นรากฐานของการลงทุนที่เตือนสตินักลงทุนได้ดี
และยังเป็น "อกาลิโก" ไม่เปลี่ยนไปกับยุคสมัยหลายประการ ได้แก่หลังการบางอย่าง
อาทิ
- หุ้นไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงไป หรือการกะพริบของแรงซื้อขายเท่านั้น
หากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของการเป็นเจ้าของร่วมในธุรกิจที่แท้จริง โดยมีราคาหุ้นเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์
(ขายทิ้งเมื่อมูลค่าบริษัทไม่น่าพึงพอใจ ซื้อเมื่อเห็นว่าอนาคตแจ่มแจ๋ว)
- ตลาดหุ้นจะเหวี่ยงเหมือนลูกตุ้มนาฬิกาตลอดเวลาระหว่างขั้วสูงสุดของการมองโลกอย่าง
"สุนิยมตื่นตูม" (ทำให้ราคาหุ้นแพงเกินเหตุ) และ "ทุนิยมที่ไร้เหตุผล" (ทำให้ราคาหุ้นต่ำเกินจำเป็น)
นักลงทุนเน้นคุณค่า คือนักฉวยโอกาสที่ขายเมื่ออารมณ์ตลาดเกิดสุนิยมท่วมตลาด
และซื้อเมื่ออารมณ์ทุนิยมท่วมตลาด
- มูลค่าของการลงทุนในอนาคตขึ้นต่อผลประกอบการที่ให้ราคาที่แท้จริงในปัจจุบัน
ราคาซื้อหุ้นแพงในปัจจุบัน คือ ผลตอบแทนที่ต่ำลงในอนาคต
- ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนที่ระวังตัวดีแค่ไหน ความเสี่ยงที่คุณไม่สามารถเลี่ยงได้คือ
ความเสี่ยงที่จะตัดสินใจผิดพลาด การทำความเข้าใจเรื่อง "ส่วนต่างของความปลอดภัย"
(margin of safety) จึงมีความสำคัญทั้งศาสตร์และศิลปะ
- ความลับของความสำเร็จทางการเงินอยู่ที่ตัวนักลงทุนเอง ขึ้นอยู่ว่าคุณเป็นคนที่พิจารณา
"ข้อเท็จจริงของตลาด" ด้วยศรัทธา หรือเป็นคนที่ยอมให้อารมณ์ของตลาดครอบงำตัวคุณ
โดยต้องไม่ลืมหลักการที่ว่า คุณลงทุนอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับคุณประพฤติตัวอย่างไร
ที่สำคัญ แกรห์มเขียนบทนำไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า คนอ่านอย่าได้คาดหวังเลยว่า
หนังสือของเขานี้ ไม่ใช่หนังสือประเภท "ฮาว ทู" ที่จะทำให้ใครอ่านแล้วรวยทันตาเพราะเก่งเป็นเซียนเหนือตลาดหุ้น
หากต้องการให้เข้าใจ "อารมณ์แปรปรวนของตลาดหุ้น" เพื่อจะไขว่คว้าโอกาสจากความแปรปรวนดังกล่าว
และไม่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์
วัตถุประสงค์เช่นนี้ จึงเหมาะสำหรับบรรดานักลงทุนประเภท "แมงเม่า" ที่ต้องการใช้
"บาดแผลจากความแปรปรวนของตลาดหุ้น" เพื่อทบทวนตัวเอง และใคร่ครวญเสียใหม่
ก่อนจะกลับเข้าไปในตลาดอีกรอบหนึ่งด้วยความแข็งแรงและมีภูมิมากกว่าเดิม
สำหรับผู้วิจารณ์แล้ว บทที่ 8 ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นบทคลาสสิกของแกรห์ม
The Investor and Market Fluctuations ที่กล่าวขวัญกันมาก ถือเป็นบทดีที่สุด
รองลงไปได้แก่ บทที่ 10 ในหนังสือเล่มนี้ The Investor and His Advisors
ที่ให้ข้อสังเกตที่มีประโยชน์มากกับนักลงทุนในการ "อ่านระหว่างบรรทัด" กับคำแนะนำของ
"กูรูตลาดหุ้น" ทั้งหลายแหล่ อันประกอบด้วย ที่ปรึกษาการลงทุน นักวิชาการตลาดหุ้น
นักวิเคราะห์และเทรดเดอร์ของบริษัทโบรกเกอร์ CFA (chartered financial analysts)
รวมทั้ง IB (investment bankers) ตลอดจนผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตลาดหุ้น
ซึ่งแกรห์มระบุว่า แต่ละคนล้วนมี "วาระซ่อนเร้น" และ "ผลประโยชน์ทับซ้อน"
ด้วยกันทั้งสิ้น และมีข้อควรระวังอย่างไร ก่อนที่จะกลายเป็นเหยื่อคนเหล่านี้
แค่อ่าน 2 บทนี้ ก็ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแบบไหน แมงเม่าขาใหญ่
หรือพวกเน้นคุณค่า เพราะเป็นบทที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอย่างตรงไปตรงมามากนักในตลาดหุ้นทุกวันนี้
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้
1) Investment versus Speculation : Results to Be Expected by the Intelligent
Investor แกรห์มระบุว่าการจำแนกจิตสำนึกและพฤติกรรมเพื่อนิยามให้ชัดระหว่างการลงทุน
(การหารายได้จากทุนด้วยพันธะเรื่องความปลอดภัย และผลตอบแทนตามสมควร) และการเก็งกำไร
(พฤติกรรมอื่นๆ นอกจากนั้น) เป็นเรื่องน่าขัน เพราะที่จริงแล้วมีความหมายเดียวกันในตลาดหุ้น
โดยเขาคิดว่าควรแบ่งนักลงทุนออกเป็นสองพวกคือ พวกเน้นป้องกันตัว (defensive)
กับพวกก้าวร้าว (aggressive)
2) The Investor and Inflation : การเลือกลงทุนในตลาดตราสารหนี้กับหุ้น
เมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด พร้อมกับการจัดพอร์ตโฟลิโอที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
เพื่อให้คุ้มค่าและได้รับผลตบแทนสูงสุด
3) A Century of Stock-Market History : The Level of Stock Prices in
Early 1972 การศึกษาแรงเหวี่ยงของดัชนีตลาดหุ้นในวอลล์สตรีทนับแต่อดีตถึง
ค.ศ. 1972 เพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ของตลาดย้อนหลัง ก่อนคาดเดาอนาคต
4) General Portfolio Policy : The Defensive Investor การศึกษาพฤติกรรมในการวางตำแหน่งและบุคลิกภาพของนักลงทุนประเภทเน้นป้องกันตัว
ที่มักจะข้ามไปมาระหว่างตลาดหุ้นกับตลาดตราสารหนี้เพื่อความปลอดภัย โดยไม่ทุ่มสุดตัวในหุ้น
5) The Defensive Investor and Common Stocks กฎ 4 ข้อในการบริหารพอร์ตลงทุนหุ้นของแกรห์มอันลือลั่น
ภายใต้สโลแกน "การป้องกันตัว คือการรุกที่ดีที่สุด" และการบริหารพอร์ตโฟลิโอที่เหมาะสม
เพื่อลดความเสี่ยง
6) Portfolio Policy for the Enterprising Investor : Negative Approach
การศึกษาพฤติกรรมของนักลงทุนที่เน้นวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลอย่างเคร่งครัดว่า
เหตุใด จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ซื้อหุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้เกรดต่ำ หุ้นกู้รัฐบาลต่างประเทศ
หุ้นจองที่แถมสารพัด เพื่อไม่ให้ตก "ถังขยะ"
7) Portfolio Policy for the Enterprising Investor : Positive Approach
กฎ 4 ข้อของการเข้าซื้อหุ้น ภายใต้สภาวะ พื้นฐานบริษัท และทางเลือก โดยเฉพาะการเลือกหาหุ้นที่
"ดี แต่ซุ่มซ่อน" เพื่อเลี่ยงหลบสภาวะ "ตื่นตูม" (hype) ของตลาด
8) The Investor and Market Fluctuations ยุทธวิธีการบริหารพอร์ตเฉพาะหน้าแบบ
ดร.เจคกิ้ล และมิสเตอร์ไฮด์ในช่วงตลาดผันผวนด้วยการศึกษาแนวโน้มของตลาดที่แท้จริง
แล้วทำตรงกันข้าม เพราะไม่เคยมีใครที่ทำตามกระแสแล้วกำไร "มากกว่าปกติ"
9) Investing in Investment Funds การเลือกกองทุนเพื่อการลงทุนประเภทต่างๆ
ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสภาพเล่น "ผีถ้วยแก้ว" กับการฝากเงินไว้กับคนอื่น
10) The Investor and His Advisors ที่ให้ข้อสังเกตที่มีประโยชน์มากกับนักลงทุนในการ
"อ่านระหว่างบรรทัด" กับคำแนะนำของ "กูรูตลาดหุ้น" ทั้งหลายแหล่ พร้อมด้วยข้อสังเกต
3 ประการ
11) Security Analysis for the Lay Investor : General Approach การพิจารณาคุณภาพของบทวิเคราะห์ประเภทต่างๆ
12) Things to Consider About Per-Share Earnings การพิจารณาประวัติของงบการเงินและกำไรขาดทุน
เพื่อเล่นเกมซ่อนหากับผู้บริหารและนักบัญชีของบริษัท
13) A comparison of Four Listed Companies ตัวอย่างรูปธรรมของการวิเคราะห์ฐานะการเงินเชิงเปรียบเทียบของบริษัทเป้าหมาย
14) Stock Selection for the Defensive Investor แนวทางการเลือกหุ้นที่แข็งแกร่ง
และมีความผันผวนต่อราคาน้อยเพื่อกระจายพอร์ตโฟลิโอ
15) Stock Selection for the Enterprising Investor เป็นบทที่ค่อนข้างซับซ้อนค่อนข้างมาก
ว่าด้วยการพิจารณารายละเอียดของตัวแปรต่างๆ เพื่อค้นหา margin of safety
อันเป็นเรื่องที่สำคัญและลดความเสี่ยงที่คาดหมายล่วงหน้าได้
16) Convertible Issues and Warrants การพิจารณารายละเอียด ก่อนที่แกรห์มจะสรุปว่า
ให้เลี่ยงซื้อวอร์แรนต์ให้ไกลที่สุด
17) Four Extremely Instructive Case Histories กรณีศึกษาหุ้นอื้อฉาวในอดีต
4 รายในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หนึ่งในนั้นเป็นการออก IPOs ของบริษัทที่ไร้ค่าที่แสนเจ้าเล่ห์
18) A Comparison of Eight Pairs of Companies การจับคู่บริษัทในกลุ่มธุรกิจมาศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบฐานะการเงิน
19) Shareholders and Managements: Dividend Policy ภาระหน้าที่ของผู้ถือหุ้นในการติดตามพฤติกรรมผู้บริหารผ่านนโยบายจ่ายปันผลของบริษัท
ที่สะท้อนอะไรมากมาย
20) "Margin of Safety" as the Central Concept of Investment ย้ำบทบาท
ของการป้องกันตัวในการลงทุนเก็งกำไรทุกชนิดและทุกตลาด