หลังจากจีอี พลาสติกส์ ประกาศก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกวิศวกรรม เมื่อ
15 เดือนที่แล้ว ปัจจุบันเริ่มผลิตพร้อมวางกลยุทธ์การใช้อีคอมเมิร์ซ เข้ามาช่วยดำเนินงาน
จีอี พลาสติกส์ ธุรกิจในเครือจีอี อิเลคทริค หรือจีอี เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์
เม็ดพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงในไทย เปิด โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกมูลค่า 20 ล้าน
เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 800 ล้านบาท นับเป็นโรงงานผลิตแห่งแรกในไทย ของจีอี
การกลับมาของผู้บริหารจีอี พลาสติกส์อีกครั้ง เป็นการพบกับ "ผู้จัดการ"
ที่ห่างจากครั้งแรกเพียง 15 เดือน ในครั้งนั้น ผู้บริหารจีอีได้บอกถึงแผนธุรกิจของจีอี
พลาสติกส์ ที่จะสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในไทย
"โรงงานแห่งนี้สร้างเสร็จเร็วเป็นประวัติการณ์ ที่สำคัญงานต่างๆ คืบหน้า
ไปโดยไม่มีอุบัติเหตุให้หยุดชะงัก เรา ใช้เวลาไปเพียง 10 เดือนในการก่อสร้าง
จนถึงวันเปิดเดินเครื่องผลิต" ชิพ ฮิลล์ กรรมการผู้จัดการจีอี พลาสติกส์ภาคพื้น
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ฮิลล์ประหลาดใจกับความคืบหน้าของโครงการ แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็บอกกับตัวเองว่า
"ในตลาดที่มีการแข่งขันแบบไร้พรมแดน ความเร็วเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องถือว่าจำเป็น"
โรงงานแห่งนี้จะผลิตเม็ดพลาสติกวิศวกรรมในอัตราประมาณ 30,000 เมตริกตันต่อปี
และจะ เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 60,000 เมตริกตัน ต่อปีให้เร็วที่สุดเท่า ที่จะทำได้
นอกจากโรงงานแห่งนี้จะเดินเครื่องไปสดๆ ร้อนๆ แล้ว จีอี พลาสติกส์ ยังได้ลงทุนด้านธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
(e-business) มาช่วยลูกค้าด้วย "ลูกค้า เราสามารถออกแบบสินค้า สั่งวัตถุดิบ และสอบถามข้อมูลบริการได้โดยใช้อินเทอร์เน็ต"
จอห์น ดินีน ประธานจีอี พลาสติกส์ แปซิฟิก ซึ่งประจำอยู่ ที่กรุงโตเกียวอธิบาย
จีอี พลาสติกส์มองว่า ด้วยขีดความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซของตัวเองจะทำให้บริษัทมีแบบแผนธุรกิจสำหรับรับมือกับศตวรรษใหม่ในไทย
ที่จะทำให้ลูกค้าในภูมิภาคนี้ได้รับบริการที่ได้มาตรฐานระดับโลก
"ลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้า
รวมทั้งได้ประโยชน์จากการวางออร์เดอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต ตลอดจนความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลล่าสุดในการตามออร์เดอร์"
ฮิลล์บอก
ดังนั้น การมีโรงงานผลิตเป็นของตนเองบวกกับขีดความสามารถในด้านอีคอมเมิร์ซจะช่วยให้บริการที่ได้มาตรฐานแก่ลูกค้าในไทย
การให้ความสำคัญกับธุรกิจ e-business และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่
ละประเทศถือเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ระดับโลกของจีอี
"การลงทุนด้านการผลิต และ e-business จะทำให้จีอีสามารถให้บริการ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ และให้การสนับสนุนทางเทคนิค ที่ลูกค้าต้องการได้สอดคล้องกับสภาพตลาดปัจจุบัน"
ศรัณย์ สังขะตะวรรธน์ ผู้จัดการจีอี พลาสติกส์ ประจำประเทศไทย กล่าว
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลูกค้าของจีอี พลาสติกส์ใช้บริการคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ตประมาณ
30% "เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแทบไม่มีลูกค้าใช้บริการในรูปแบบนี้เลย"
ดินีนบอก
ปัจจุบันไม่เฉพาะจีอี พลาสติกส์เท่านั้น ยังมีอีกหลายบริษัท ที่ไม่เพียงแต่สร้างโรงงานแล้วก็ลงมือทำงาน
หากแต่ต้องลงทุนอย่างมากในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซ เพราะเชื่อว่าด้วยความเร็ว ที่เหนือกว่าทุกยุคสมัย
โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานบริษัทเหล่านี้จะไม่ล้าหลัง และถูกคู่แข่งทิ้งห่าง
ด้วยปรัชญา "พวกเราได้ตั้งโรงงานใกล้สำนักงาน คุณแล้ว"
จีอี พลาสติกส์ก่อตั้งเมื่อ 75 ปีที่แล้ว และก้าวขึ้น เป็นหนึ่งในผู้นำด้วยการพัฒนากระบวนทางตรงสำหรับการผลิตซิลิโคนในทศวรรษ
1940
ทศวรรษ 1950 และ 1960 บริษัทพัฒนาทางเทคโนโลยีการผลิตเทอร์โมพลาสติกวิศวกรรม
การประดิษฐ์เม็ดพลาสติก โพลีคาร์บอเนต และชนิดต่างๆ ขึ้นมา
ผลิตภัณฑ์ของจีอี พลาสติกส์ได้เข้ามาจำหน่ายในไทยมานานกว่า 20 ปี และเข้ามาตั้งสำนักงานของตัวเองในปี
2532 และจากการคาดหวังถึงอัตราการเติบใหญ่ ของธุรกิจในอัตราไม่ต่ำกว่าตัวเลข
2 หลักในอีกหลายปีข้างหน้า จีอี พลาสติกส์จึงตัดสินใจสร้างฐานการผลิตขึ้นในไทย
พร้อมทั้งยกให้เป็นศูนย์กลางการผลิต เพื่อป้อนตลาดอินโดจีน
โรงงานใหม่แห่งนี้จะช่วยทดแทนผลิตภัณฑ์ ที่ปัจจุบันบริษัทต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น
อเมริกา สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป และราว 20% ของผลผลิตจาก โรงงานจะถูกส่งออกไปต่างประเทศโดยตรงในรูปวัตถุดิบ
ที่เหลืออีก 80% ส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ที่ผลิตในไทย
โรงงานของจีอี พลาสติกส์แห่งนี้ มีผู้จัดการคนแรกเป็นคนไทย ศรัณย์ สังขะตะวรรธน์
เข้าร่วมงานกับบริษัทเมื่อปี 2532 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการประจำประเทศไทยในปีถัดมา
และได้รับมอบหมายให้ดูแลตลาดอินโดจีนในปี 2536
ศรัณย์ จบปริญญาตรีสาขาออกแบบอุตสาหกรรม ในปี 2523 และปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโน
โลยี ในปี 2525 และสาขาบริหารสารสนเทศ ในปี 2527 จากมหาวิทยาลัยพิสเบิร์ก
สหรัฐอเมริกา