Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2547
เที่ยวฟงแตนโบล             
โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
 





รู้จักปราสาทฟงแตนโบล (Fontainebleau) และพระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) ตั้งแต่เมื่อเป็นนักศึกษาในฝรั่งเศส รู้แต่ว่าเมื่อได้ชมพระราชวังทั้งสองแห่งนี้แล้ว ชอบฟงแตนโบลมากกว่าแวร์ซายส์ เพราะกะทัดรัดและสวย หลังจากนั้นได้กลับไปเยือนอีกหลายครั้งในสามฤดูกาล กล่าวคือ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูหนาว

ปราสาทฟงแตนโบลสร้างเมื่อไรไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงคร่าวๆ ว่าในศตวรรษที่ 12 ปราสาทนี้มีอยู่แล้ว กษัตริย์หลุยส์ 9 หรืออีกนัยหนึ่ง แซงต์หลุยส์ (Saint Louis) ชื่นชอบเป็นพิเศษและให้สร้างโรงพยาบาลที่ฟงแตนโบลในปี 1259 ในยุคเรอแนสซ็องส์ (Renaissance) กษัตริย์ฟรองซัวส์ที่ 1 (Franois Ier) หลงรักปราสาทแห่งนี้โดยเฉพาะป่าที่รายรอบ จึงใช้ฟงแตนโบลเป็นที่ล่าสัตว์ ทำนุบำรุงและต่อเติมส่วนที่เป็น Franois Ier Galerie โดยใช้อาร์ติสต์อิตาเลียน ห้องบอลรูม อีกทั้งตกแต่งด้วยงานศิลป์จำนวนมาก เช่น ภาพเขียนของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) และราฟา เอล (Rafael) ประติมากรรม เทเปสตรี้ เป็นต้น งานเลี้ยงที่ฟงแตนโบลเป็นที่เลื่องลือมากจนกวีอย่างร็งซารด์ (Ronsard) นำไปเขียน การต่อเติมปราสาทฟงแตนโบล ทำกันอย่างต่อเนื่องในหลายรัชสมัยโดยเฉพาะยุคอองรี 4 (Henri IV) หลุยส์ 14 หลุยส์ 15 และหลุยส์ 16 ให้ต่อเติมอีก

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส นโปเลอ็ง (Napleon) เดินทางมาที่ฟงแตนโบลและพบว่าตัวปราสาทว่างเปล่า จึงตั้งโรงเรียนการทหารขึ้นระหว่างปี 1803-1808 ซึ่งภายหลังย้ายไปที่แซงต์ซีร์ (Saint Cyr) และนับตั้งแต่ปี 1804 ให้ตกแต่งฟงแตนโบลใหม่ นโปเลอ็งเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสที่ใช้ปราสาทฟงแตนโบลมากที่สุดก็ว่าได้

การเดินทางไปฟงแตนโบลไม่ยากอย่างที่คิด เพราะมีรถไฟไปถึงเมืองเลย และนั่งรถประจำทางหน้าสถานีรถไฟสายที่ไปปราสาท ลงหน้าสำนักงานท่องเที่ยว (Office du tourisme) ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับตัวปราสาท ความโดดเด่นของฟงแตนโบลอยู่ที่บันไดที่โค้งไปมาสร้างระหว่างปี 1632-1634 แทนบันไดรูปเกือกม้าที่ทรุดโทรมไป ลานกว้างหน้าบันไดนี้เรียกว่า Cour des adieux เป็นที่ที่นโปเลอ็งกล่าวอำลากองทัพหลังสละราชสมบัติ

ส่วนที่จัดให้สาธารณชนเข้าชมนั้นอยู่ที่ชั้นสองขึ้นบันไดหินอ่อน ฝาผนังกรุหินอ่อนสีชมพูและเขียว สวยแปลกตา แล้วก็ถึง Franois Ier Galerie อันวิจิตร พิสดาร ตกแต่งด้วยภาพเขียน อีกทั้งรูปแกะสลักฝาผนัง ส่วนหนึ่งเป็นไม้สลักตัวซาลาแมนเดอร์ อันเป็นสัญลักษณ์ ของกษัตริย์ฟรองซัวส์ที่ 1 เก้าอี้ที่วางเรียงรายทุกตัวสลักตัวซาลาแมนเดอร์ด้วย ลวดลายที่ตกแต่ง Franois Ier Galerie นั้นมีมากจนดูรกตา ด้วยว่าตั้งใจนำมาชุมนุมกัน

ห้องที่น่าทึ่งคือห้องพอร์ซเลน ติดจานพอร์ซเลน ของเมืองแซฟวร์ (Sevres) ซึ่งกษัตริย์หลุยส์-ฟิลิป (Louis-Philippe) สะสมไว้ มีทั้งหมด 128 ใบ เล่าประวัติ ของฟงแตนโบลเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังเล่าเหตุการณ์และสถานที่ต่างๆเช่น น้ำตกไนแอการา เป็นต้น มาเที่ยวหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยชมจานได้หมดทุกใบ ห้องสมุดขนาดใหญ่โอ่อ่า ด้านข้างมีหน้ามุขมองลงไปที่โบสถ์เล็ก

ฟงแตนโบลได้ชื่อว่าเป็นปราสาทที่มีเครื่องเรือนมากที่สุด ห้องต่างๆ ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนหลายสมัย เก้าอี้และโซฟาที่บุผ้าทอหลากสีหลายลาย อีกทั้งพรมปูพื้น ได้ชมห้องและเตียงนอนของมารี-อองตัวแน็ต (Marie-Antoinette) ที่ยังไม่ทันได้รับใช้เจ้าของ ก็เกิดการปฏิวัติในปี 1789 หลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแน็ตมีอันถูกกิโยตีนเสียก่อน ผู้ที่ได้มาใช้คือโจเซฟีน (Josephine) มเหสีของนโปเลอ็ง ได้เห็นท้องพระโรงของนโปเลอ็ง มีบัลลังก์ใต้กระบังผ้าสีแดงทอลายผึ้งสีทอง ผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของนโปเลอ็ง ห้องประชุมเสนาบดี ห้องว่าราชการ ห้องนอนของนโปเลอ็ง เตียงนอนเล็กนิดเดียวด้วยว่านโปเลอ็งสูงเพียง 158 เซนติเมตรเท่านั้น ห้องเล่นไพ่ของราชินี ห้องที่นโปเลอ็งลงนามสละราชย์ อีกทั้งโต๊ะเล็กและเก้าอี้ที่ใช้ในการนี้ ห้องน้ำ ห้องพักขององครักษ์ เป็นต้น ความวิจิตรของแต่ละห้องอยู่ที่เพดาน ซึ่งมีลวดลายไม่ซ้ำกัน จึงมักบอกญาติมิตรให้แหงนคอดูเพดาน มีอันให้ต้องเมื่อยออกมา

ห้องสุดสวยอีกห้องหนึ่งคือ ห้องบอลรูม เป็นห้องเต้นรำที่มีหน้าต่างสองด้าน โคมระย้าระยิบระยับ สุดห้องยกพื้นสูงเล็กน้อย เป็นที่ประทับของกษัตริย์ ณ ห้องนี้เองที่นโปเลอ็งต้อนรับสันตะปาปาไพอัสที่สอง ที่เดินทางมาประกอบพิธีสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส และแต่งตั้งโจเซฟีนเป็นมเหสีในวาระเดียวกัน และ ณ ห้องนี้เช่นกันที่กษัตริย์หลุยส์-ฟิลิปรับรองคณะทูตสยาม ในปี 1861 ครั้งแรกที่ไปนั้นทางพิพิธภัณฑ์ เปิดเพลงคลาสสิกประกอบการชมด้วย อีกทั้งตั้งม้านั่งให้นักท่องเที่ยวนั่งชมความงามของห้องและจินตนาการ ภาพเอาเอง หากครั้งสุดท้ายที่ไปนั้นเป็นช่วงฤดูหนาว ไม่ได้ชมห้องบอลรูมนี้ สังเกตว่าทางการได้ปิดห้องหลายห้องช่วงที่ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว การชมตัวปราสาทจบลงที่โบสถ์เล็กแสนสวย เสียงออร์แกนดังแผ่ว

เมื่อเดินไปด้านหลังของปราสาท จะเห็นหนองน้ำและสวนที่ร่มรื่น ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ผู้คนนั่งและนอนเล่นบ้าง พายเรือเล่นบ้าง อีกทั้งยังมีรถม้าที่นำนักท่องเที่ยวชมสวนป่าที่อยู่อีกฟากหนึ่งของถนน ไม่แนะนำให้ญาติมิตรนั่งเพราะกระเทือนไปตลอดทาง อีกทั้งฝุ่นเข้าหน้าตาจนแทบไม่ได้เห็นอะไรเลย แถมจะกลายเป็น "ขวานฟ้าหน้าดำ" อีกต่างหาก

สวนของฟงแตนโบลเป็นแบบฝรั่งเศสส่วนหนึ่ง กล่าวคือตัดเป็นลวดลายเลขาคณิต ไม้ดอกปลูกเป็นหย่อมๆ อีกทั้งน้ำพุที่ทำให้ดูชุ่มชื้น เดินไปสุดบริเวณสวน มองตรงไปจะเห็น Grand Canal เป็นคลองใหญ่ที่สองฝั่งมีต้นไม้เรียงราย ดูร่มรื่นเป็นอย่างยิ่ง เข้าใจว่า คลองนี้เองที่นำมาซึ่งน้ำและหนองน้ำในบริเวณปราสาท ปลาคาร์พขนาดใหญ่แหวกว่ายไปมา

เสียดายที่ไม่ได้ชมพิพิธภัณฑ์นโปเลอ็งและงานศิลป์จากจีน ด้วยว่าเป็นส่วนที่จัดไว้สำหรับการชมปราสาทที่มีไกด์อธิบาย และต้องเสียค่าเข้าชมในอีกอัตราหนึ่ง ตั้งใจว่าครั้งต่อไปจะเข้าชมแบบนี้ทุกครั้งที่ข้องขัดเพราะญาติมิตรที่มาไม่มีใครเข้าใจภาษาฝรั่งเศสเลย นี่คือปัญหา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us