เป็นข่าวใหญ่โตขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ เมื่อนายเหวิน เจียเป่า
นายกรัฐมนตรีจีนให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อปลายเดือนเมษายนในเชิงเตือนว่า
เศรษฐกิจจีนดูจะเติบโตรวดเร็วจนเกินไป จำเป็นจะต้องชะลอการเติบโตอย่างเร็วที่สุด
บทสัมภาษณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ตลาดหุ้นสำคัญๆ ร่วงลงทันที
ตลาดหุ้นออสเตรเลีย รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียก็ดิ่งลงรับข่าวนี้เช่นกัน
ค่าเงินออสเตรเลียลดลงจาก 73.21 เซ็นต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 71.57 เซ็นต์
โดยก่อนหน้านี้เคยแข็งขึ้นไปถึง 77 เซ็นต์ต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงต้นปีและถูกคาดการณ์ว่าอาจจะขึ้นไปถึง
80 เซ็นต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ
ตลาด All ordinaries ร่วงลง 1.23% ขณะที่ตลาดหุ้นทรัพยากรธรรมชาติได้รับผลกระทบอย่างหนัก
หุ้นสำคัญๆ อย่าง Rio Tinto และ BHP Billiton ซึ่งเป็นบริษัทที่ลงทุน ค่อนข้างมากในประเทศจีนลดลง
3.4% และ 3.5% ตามลำดับ
ก่อนหน้านี้มีปัจจัยที่สนับสนุนการสะดุดของเศรษฐกิจออสเตรเลียอยู่แล้ว
จากการเกรงกลัวการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของเฟดซึ่งเป็นธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา
อุตสาหกรรมส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะโลหะของออสเตรเลียถือว่าได้รับผลกระทบอย่างสาหัส
เพราะนายเหวิน เจียเป่า ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการชะลอการเติบโต โดยจะเน้นที่การหยุดการปล่อยสินเชื่อ
โดยจะเริ่มนับจากวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็น วันเริ่มต้นการหยุดยาวประจำปีประมาณหนึ่งสัปดาห์
การหยุดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานถลุงเหล็กและโลหะต่างๆ โรงงานปิโตรเลียม และการสร้างถนนหนทางต้องชะลอลงทันที
ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกวัตถุดิบของออสเตรเลีย ไปประเทศจีนและราคาโลหะในตลาดโลกจะต้องดิ่งลงอย่างแน่นอน
หนังสือพิมพ์ Straits Times เรียก เหตุการณ์นี้ว่า "the China syndrome"
เมื่อมองในแง่ความสัมพันธ์ทางการค้า ระหว่างออสเตรเลียกับจีนแล้ว จะพบว่า
มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมาก
ธนาคารชาติของออสเตรเลีย หรือ Reserve Bank of Australia รายงานมูลค่าการค้าของออสเตรเลียโดยรวมเพิ่มขึ้น
5% เมื่อปีกลาย การเพิ่มขึ้นครั้งนี้ส่งผลให้มูลค่าการค้าของออสเตรเลียเพิ่มสูงที่สุดในรอบ
25 ปี
มูลค่าการค้าเมื่อพิจารณาดูแล้ว อาจจะเกิดได้สองทาง คือ มูลค่าการนำเข้าที่ลดลง
หรือมูลค่าการส่งออกที่มากขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย หรือ Australian Bureau of Statistics
รายงานตัวเลขราคาของมือถือ เครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นวิดีโอ และเครื่องเล่นดีวีดี
ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าของออสเตรเลียได้ลดลงประมาณ 42.8% นับจากเดือนมีนาคม
1994 ในขณะที่ราคาเครื่องใช้ภายในสำนักงานก็ลดลง 75% เช่นกัน
คนออสเตรเลียสามารถหาซื้อเครื่องเล่นดีวีดี โทรทัศน์ และแอร์ในราคาที่ถูกมาก
เมื่อศึกษาดูลึกๆ แล้ว จะพบว่าสินค้า เหล่านี้ล้วนนำเข้าจากประเทศจีน
ค่าจ้างแรงงานที่ถูก และมีปริมาณมหาศาล รวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันจำนวนมากมายของจีนเอง
ทำให้ประเทศจีน ตั้งโรงงานผลิตสินค้าเหล่านี้ ทั้งเพื่อป้อนอุปสงค์ภายในประเทศเอง
และส่งออกไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก และประเทศออสเตรเลียเองก็นำเข้าสินค้าหลากหลายจากประเทศจีน
ในแง่นี้ มูลค่าสินค้านำเข้าของออสเตรเลียจึงลดลง
เมื่อมองถึงการส่งออกไปประเทศจีนแล้ว
ประเทศจีนเป็นประเทศนำเข้าสินค้าใหญ่อันดับห้าของออสเตรเลียรองจากญี่ปุ่น,
อเมริกา, เกาหลี และนิวซีแลนด์ คิดเป็นมูลค่า 9 พันล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี
หรือ 7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยมีอัตราการ เติบโต 8% ต่อปี โดยเฉพาะการเติบโตในส่วนของแร่ธาตุและพลังงาน
แต่ลดลงในส่วนของสินค้าเกษตร
ในปี 1990 ประเทศจีนมีความต้องการ อะลูมิเนียม ทองแดง และเหล็ก เพียง 5%
ของความต้องการทั่วโลกเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ประเทศจีนประเทศเดียวบริโภคเหล็กมากถึง
30% ของความต้องการทั่วโลก ต้องการทองแดง 20% และอะลูมิเนียมอีก 18%
โดยรวมแล้วปีกลายที่ผ่านมา ประเทศ จีนต้องการใช้แร่โลหะเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง
25%
และประเทศออสเตรเลียก็เป็นผู้ส่งออกแร่โลหะรายยักษ์ของโลก โดยเป็นผู้ส่งแร่โลหะรายใหญ่ของประเทศจีนมากว่า
30 ปี
โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียยิ่งแน่น
แฟ้นมากขึ้น โดย BHP Billiton และ Rio Tinto เพิ่งทำสัญญาฉบับใหม่กับโรงงานถลุงเหล็กหลายแห่งในประเทศจีน
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา BHP Billiton เซ็นสัญญามูลค่าเก้าพันล้านเหรียญที่จะนำส่งแร่เหล็กให้โรงงานถลุงเหล็กสี่แห่งของจีนปริมาณ
12 ล้านตันต่อปีเป็นเวลา 25 ปี สองเดือนต่อมา Rio Tinto เซ็นสัญญาสิบปีกับ
Shanghai Baosteel ซึ่งเป็นโรงงานถลุงเหล็ก อันดับสองของจีน สัญญาฉบับนี้ทำให้
Rio Tinto สามารถขายเหล็กได้อย่างน้อย 20 ล้าน ตันต่อปีให้กับโรงงานนี้
นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีสัญญามูลค่า 30,000 ล้านเหรียญ ที่จะส่งก๊าซธรรมชาติเหลวจากบริเวณ
North West Shelf ให้กับ China National Offshore Oil Company อีกด้วย
ออสเตรเลียถือเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่วงการวัตถุดิบธรรมชาติของโลกอย่างแท้จริง
ที่ป้อนสินค้าให้กับประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมสำคัญของเอเชียอย่างจีน
ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ที่ลืมไม่ได้คือ ราคาแร่โลหะเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา
ฉะนั้น เมื่อมองในแง่การส่งออกแล้ว มูลค่าการส่งออกของออสเตรเลียจึงเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
มันมากเสียจน Ian Macfarlane ผู้ว่าการธนาคารชาติของออสเตรเลียโหมกระพือการเติบโตของอนาคตการส่งออกวัตถุดิบธรรมชาติ
โดยกล่าวว่า เรากำลังนั่งมองการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์การค้าของออสเตรเลียอย่างใจจดใจจ่อ
แม้หลาย คนจะวิจารณ์และตั้งข้อสงสัยว่า ออสเตรเลียจะสามารถวางอนาคตอยู่บนการส่งออกสินค้า
วัตถุดิบธรรมชาติ แร่ธาตุ และสินค้าเกษตรได้หรือ ทำไมออสเตรเลียไม่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า
และบริการที่ดูน่าจะมีอนาคตที่ยั่งยืนกว่า แต่ Ian Macfarlane ก็ไม่ได้ปฏิเสธความเห็นเหล่านั้น
เพียงแต่เขาคิดว่า อย่างน้อยในสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า ออสเตรเลียยังสามารถคงความเป็นผู้นำในการส่งออกวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้ได้
แม้ท้ายที่สุดจะไม่สามารถหลีกพ้นการตกลงของ การส่งออกก็ตาม
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Australian กล่าวถึงการค้าระหว่างประเทศจีนกับออสเตรเลียว่า
ประเทศจีนในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ข้างหนึ่งจีนผลักราคาลง แต่ในเวลาเดียวกัน
จีนก็ดันราคาขึ้นด้วยเช่นกัน และโชคดีที่ประเทศออสเตรเลียเป็นผู้ได้ในทั้งสองทาง
ทางหนึ่งประเทศออสเตรเลียนำเข้าเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอื่นๆ
จากประเทศจีน ในเวลาเดียวกัน ประเทศออสเตรเลียก็เป็นผู้ส่งออกแร่รายใหญ่ของโลก
ประเทศออสเตรเลียได้ประโยชน์จากราคาแร่ธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Kambalda เมืองแห่งนิกเกิลทางตะวันตกของออสเตรเลีย
พร้อมกับการส่งออกนิกเกิลไปประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น 200% เมื่อปีกลาย
แม้นักวิเคราะห์หลายคนจะมองว่า ปฏิกิริยาตอบรับจากบทสัมภาษณ์ของนายเหวิน
เจียเป่า ของตลาดหุ้นและค่าเงินออสเตรเลียดูจะเกินจริงไปหน่อย และวันรุ่งขึ้นค่าเงินก็ดีดกลับขึ้นมา
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของประเทศจีนต่อระบบเศรษฐกิจของโลกโดยรวม
ที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย
มังกรแม้เพียงกระซิบบอกความในใจก็สร้างความหวาดหวั่นได้ถึงขนาดนี้ ถ้ามังกร
ตัวนี้คิดทำการใหญ่ ไม่รู้ว่าโลกจะปั่นป่วนอีกเพียงใด