Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2547








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2547
ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศคนใหม่             
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
 


   
search resources

International Monetary Fund (IMF)
Rodrigo Rato




คณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีมติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 ให้นายร็อดดริโก ราโต (Rodrigo Rato) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศว่างลง เมื่อนายฮอร์สต์ โคห์เลอร์ (Horst Koehler) ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งเยอรมนี

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นองค์กรโลกบาลที่ก่อเกิดจากการประชุมที่ Bretton Woods มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา พร้อมๆ กับธนาคารโลก องค์กรโลกบาลทั้งสอง จึงมีชื่อเรียกว่า Bretton Woods Institutions (BWIs) หรือองค์กรน้องพี่แห่งเบรตตันวูดส์ นับตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรโลกบาลทั้งสอง มีการกำหนดกติกาในหมู่ประเทศมหาอำนาจ ที่จะให้ชาวอเมริกันดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลก และชาวยุโรปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยที่ฝรั่งเศสยึดเก้าอี้นี้เป็นเวลายาวนาน

ประเทศในโลกที่สามไม่พอใจการฮั้วกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับยุโรปตะวันตกดังกล่าวนี้ ความไม่โปร่งใสของกระบวนการคัดสรรประธานธนาคารโลก และผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศปรากฏอย่างเด่นชัด ประเทศด้อยพัฒนาไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก พยายามกดดันให้นานาประเทศมีธรรมาภิบาล (Good Gorvernance) แต่ธรรมาภิบาลกลับไม่ปรากฏในองค์กรโลกบาลทั้งสอง

ในการประชุมร่วมระหว่างธนาคาร โลกกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 71 ณ นครวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในเดือนเมษายน 2547 กลุ่ม G24 อันเป็นการรวมตัวของประเทศในโลกที่สาม เรียกร้องให้กระบวนการสรรหาผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีความโปร่งใสมากขึ้น ประเทศด้อยพัฒนามีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมมากขึ้น และต้องสร้างกลไกเพื่อให้ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีความรับผิดชอบต่อมวลสมาชิกมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างการบริหารในปัจจุบัน ประเทศโลกที่สามมีตัวแทนในคณะกรรมการบริหาร ทั้งในธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศต่ำกว่าสัดส่วนอันสมควร (Underrepresentation) ประเทศมหาอำนาจประพฤติปฏิบัติเสมือนหนึ่งว่า องค์กรโลกบาลทั้งสองเป็นสมบัติส่วนบุคคล

ในการสรรหาผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2543 นาย ฮอร์สต์ โคห์เลอร์ ได้ตำแหน่งด้วยอุบัติการณ์ทางการเมือง สหรัฐอเมริกายอมให้สหภาพยุโรปยึดตำแหน่งนี้ตามจารีตที่มีมาแต่ดั้งเดิม การเมืองภายในสหภาพยุโรป ทำให้เก้าอี้ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศตกแก่เยอรมนี แต่สหรัฐอเมริกาไม่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง Caio Koch-Weser ซึ่งเป็นตัวเลือกแรกของเยอรมนี อันเป็นเหตุให้เยอรมนีต้องนำนายโคห์เลอร์ใส่พานให้สหรัฐอเมริกาเห็นชอบ เมื่อสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นชอบ นายโคห์เลอร์จึงขึ้นดำรงตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เศรษฐศาสตร์การเงิน และไม่มีประสบการณ์ในการบริหารการเงิน

เจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศในฐานะลูกจ้างจำนวนไม่น้อย แสดงความไม่พอใจลักษณะไร้ธรรมาภิบาลของกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการองค์กรโลกบาลแห่งนี้ นายแจ็ก บัวร์แมน (Jack Boorman) ที่ปรึกษาพิเศษสำนักผู้อำนวยการ และเดิมเคยเป็นพนักงานระดับสูง ส่ง e-mail ถึงเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่าง ประเทศทุกคน การณ์ปรากฏว่า พนักงานมืออาชีพกว่าหนึ่งในสามสนองตอบ e-mail ดังกล่าวนี้ ซึ่งเรียกร้องให้การสรรหาผู้อำนวยการเป็นไปด้วยความโปร่งใส

การถกอภิปรายคุณสมบัติผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นไปอย่างกว้างขวาง ศาสตราจารย์ซีบาสเตียน เอ็ดเวิร์ดส์ (Sebastian Edwards) นักเศรษฐศาสตร์การเงินระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัย UCLA แสดงความเห็นว่า ในเมื่อสังคมเศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤติการณ์ การเงินด้วยความถี่สูงยิ่ง ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศควรมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา อันเกิดจากวิกฤติการณ์ดังกล่าว ในการนี้ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ดส์เสนอชื่อผู้นำ 2 คน อันได้แก่ นายเออร์เนสโต เซยิลโล (Ernesto Zedillo) อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Center for Globalization แห่งมหาวิทยาลัย และนายอเลจาน โดร ฟ็อกซ์เลย์ (Alejandro Foxley) อดีตรัฐมนตรีการคลังแห่งประเทศชิลีในทศวรรษ 2530 บุคคลทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศของตน

กลุ่ม G11 อันประกอบด้วยประเทศโลกที่สาม ที่มีตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต้องการให้ 'คนใน' ได้ตำแหน่งนี้ โดยเสนอชื่อนายสแตนเลย์ ฟิชเชอร์ (Stanley Fischer) นายแอนดรูว์ คร็อกเกตต์ (Andrew Crockett) และนายโมฮัมเหม็ด เอล-อีเรียน (Mohamed El-Erian) บุคคลทั้งสามเคยทำงานในกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาก่อน

แม้จะมีเสียงเรียกร้องมากปานใด ท้ายที่สุดกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังคงไร้ธรรมาภิบาล ในเมื่อการลงคะแนนเสียงมิได้ยึดกฎ 'หนึ่งประเทศ หนึ่งคะแนนเสียง' (One Country, One Vote) หากแต่คะแนนเสียงแตกต่างไปตามทุนเรือนหุ้นที่แต่ละประเทศเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ปรากฏว่า สหรัฐอเมริกาถือหุ้น 17% ญี่ปุ่น 7% เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร รวมกัน 17% (สหภาพยุโรปรวม 27%) ด้วยเหตุดังนี้ หากสหรัฐอเมริกาผนึกตัวกับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น สามารถกุมคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

ตำแหน่งผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังคงตกแก่สหภาพยุโรปตามข้อตกลงดั้งเดิม นับตั้งแต่การสถาปนาองค์กรโลกบาลแห่งนี้ กระบวนการคัดสรรจึงขึ้นอยู่กับการเมืองภายในสหภาพยุโรปนั้นเอง

ร็อดดริโก ราโต อดีตรัฐมนตรีการคลังแห่งประเทศสเปนเสนอตัวชิงตำแหน่งนี้ ฝรั่งเศสพยายามหนุนนายจัง เลอเมียร์ (Jean Lemierre) ประธานธนาคารเพื่อการ บูรณะและพัฒนายุโรป (European Bank for Reconstruction and Development : EBRD) โดยขอเสียงสนับสนุนจากเยอรมนี แลกเปลี่ยนกับการที่เยอรมนีได้ตำแหน่งกรรมาธิการยุโรปเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ (European Commission for Economic Reform) นายปาสกัล ลามี (Pascal Lamy) กรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป แสดงความสนใจตำแหน่งนี้ด้วย แต่มิได้รับเสียงตอบรับจากรัฐบาลฝรั่งเศส ในขณะที่อิตาลีพยายามดันนายมาริโอ ดรากิ (Mario Draghi) รองประธาน Goldman Sachs

ด้วยเหตุที่ฝรั่งเศสยึดตำแหน่งสำคัญ ในสหภาพยุโรปมากแล้ว ในขณะที่นายเลอเมียร์เป็นประธาน EBRD และนายจัง-คล็อด ตริเชต์ (Jean-Claude Trichet) เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งยุโรป (Euro-pean Central Bank : ECB) หากฝรั่งเศส ได้ตำแหน่งสำคัญในกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีก อิทธิพลของฝรั่งเศสในเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศย่อมมีมากเกินไป ด้วยเหตุดังนี้นายเลอเมียร์จึงกลับไปดำรงตำแหน่งประธาน EBRD เป็นสมัยที่สอง และฝรั่งเศสหันมากดดันให้นายราโตรับนโยบายหลักของฝรั่งเศสแลกกับเสียงสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาแอฟริกาและการปฏิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ร็อดดริโก ราโต ได้ตำแหน่งผู้อำนวย การกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ด้วยเหตุปัจจัยอย่างน้อย 4 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก นายราโตมีผลงานในการปฏิรูปเศรษฐกิจสเปนอย่างชัดเจน ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการคลังระหว่างปี 2539-2547 และได้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ยึดมั่นในแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยม แม้พรรคการเมืองที่นายราโตสังกัดจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2547 แต่รัฐบาลใหม่ของสเปนก็มิได้ถอนการสนับสนุนนายราโต

ประการที่สอง นายราโตได้รับเสียง สนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เขาจบ MBA จาก Berkeley จำนรรจาภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน และชอบฟังเพลง The Rolling Stones ด้วยเหตุดังนี้จึงพูดจากับผู้นำอเมริกันรู้เรื่อง

ประการที่สาม นายราโตเคยนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนประเทศสเปนมาก่อน จึงคุ้นเคยกับผู้นำองค์กรโลกบาลแห่งนี้

ประการที่สี่ นายราโตได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศละตินอเมริกา 17 ประเทศ อันนำโดยบราซิลและอาร์เจนตินา เกือบตลอดระยะเวลาที่ละตินอเมริกาเผชิญวิกฤติการณ์การเงินนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ต่อเนื่องมาถึงทศวรรษ 2540 นายราโตทำหน้าที่เป็นคนกลางในการผลักดันให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปล่อยเงินให้กู้แก่ประเทศเหล่านั้น

ในฐานะผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นายราโตต้องเผชิญงานเฉพาะหน้าหลายเรื่อง นับตั้งแต่การลดส่วนขาดดุลการคลังของรัฐบาลอเมริกัน การปฏิรูปการเงินในอาเซียบูรพา การปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาคในละตินอเมริกาและแอฟริกา และการปรับโครงสร้างในยุโรป แต่งานที่ท้าทายมากยิ่งกว่า ก็คือ การจัดระเบียบการเงินระหว่างประเทศ เพื่อลดทอนความไร้เสถียรภาพทางการเงินในสังคมเศรษฐกิจโลก

หมายเหตุ โปรดอ่าน

- Sebastian Edwards,"The IMF Needs a Leader from the Emerging Countries", Project Syndicate (March 2004)

- Joseph E. Stiglitz, "The IMF Comes to Germany", Project Syndicate (April 2004)

- www.project-syndicate.org/home/home.php4

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us