หัวเรื่องที่บ่งบอกถึงปรากฏการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิตในโลกยุคไฮ-เทคเลยก็ว่าได้
รายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในนิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนมีนาคม 2004 กล่าวว่า
Credit Industry Fraud Avoidance System (cifas) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านการป้องกันภัยจากอาชญากรรมของอังกฤษส่งสัญญาณอันตรายว่า
ปัจจุบันภัยจากโจร ID มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด ก่อให้เกิดกระแสเงินสด
(cash flow) ถึงวันละ 10 ล้านปอนด์ เห็นได้จากปี 1999 มีรายงานตัวเลขเกี่ยวกับโจร
ID ในอังกฤษ 20,264 คดี พอล่วงถึงปี 2002 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 74,766 คดี
เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกายิ่งเลวร้ายกว่ามาก เมื่อ Federal Trade Commission
ประเมินว่า รัฐต้องใช้งบประมาณเพื่อปราบปรามปัญหาโจร ID ถึงปีละ 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และทุกปีมีชาวอเมริกันกว่า 7 ล้านคน ต้องตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเภทนี้
ที่สำคัญคือทั้งหมดนี้เป็นรายงานตัวเลขเฉพาะที่เป็นทางการเท่านั้น
จึงไม่แปลกที่ประชาชนทั่วไปจะตระหนักถึงภัยจากโจรไฮ-เทคกันมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องทำลายเอกสารกลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ต้องมีไว้ติดบ้าน
ยอดขายจึงพุ่งกระฉูดเป็นประวัติการณ์
ขั้นตอนการก่ออาชญากรรมรูปแบบง่ายที่สุดทำได้ด้วยการรวบรวมข้อมูลบนแถบแม่เหล็กของบัตรเครดิต
แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปชอปปิ้งสบายใจเฉิบโดยผ่านระบบออนไลน์หรือไม่ก็ซื้อสินค้าแบบเมลออร์เดอร์
ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำบัตรไปรูดต่อหน้าพนักงานขาย ตำรวจอธิบายรายละเอียดอีกว่า
การดึงเลขบัญชีจากบัตรด้วยวิธีนำไปรูดผ่านเครื่องสแกนหรือ skimming กำลังระบาดอย่างหนัก
ตัวอย่างเช่น บริกรที่นำเลขบัญชีจากบัตรไปขายให้แก๊งโจรจะได้ค่าจ้าง 50 ปอนด์ต่อบัตร
แต่อาชญากรรมวิธีนี้มีระยะเวลาจำกัด เพราะสามารถใช้บัตรได้นานตราบเท่าที่เจ้าของบัตรไม่ทันไหวตัวเท่านั้น
แก๊งวายร้ายส่วนใหญ่จึงลงมือทำการทันทีที่ได้เลขบัญชีจากบัตรเครดิต แล้วทำแอคเคาต์ขึ้นใหม่ในชื่อของคนอื่น
ทำให้เหยื่อตายใจไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องผิดปกติอะไรขึ้นจนกว่าจะโดนหมายจับ
หรือเมื่อยื่นเรื่องขอเงินกู้ จึงทราบว่าตนมีชื่ออยู่ในบัญชีดำเสียแล้ว
โจรไฮ-เทคจะประสบความสำเร็จในการก่ออาชญากรรมวิธีนี้ได้ต่อเมื่อมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ
อยู่ในมือ อาทิ ชื่อ ที่อยู่ และรหัสผ่าน ซึ่งทำได้แสนจะง่ายดายด้วยการโทรศัพท์ไปขอจากเจ้าของบัตรโดยตรง
หรือถ้าไม่สะดวกก็เข้าหาแหล่งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ โจร ID ที่ชิคาโกไปไกลกว่าที่คิดเสียอีก
พวกเขาสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา แล้วส่งอี-เมลไปให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ
MSN เชิญชวนให้เข้าไปในเพจเพื่ออัพเดทรายละเอียดการสมัครสมาชิก แน่นอนว่ารายละเอียดดังกล่าวต้องรวมถึงเลขบัญชีในบัตรเครดิตด้วย
ในกรณีที่โจร ID ต้องการข้อมูลของคุณตั้งแต่เริ่มแรกล่ะ?
แหล่งข้อมูลวิเศษสุดของพวกเขาไม่ใช่อื่นไกล ถังขยะเราดีๆ นี่เอง!
บริษัท credit reference แห่งหนึ่งเคยนำถังขยะในอเมริกา 400 ถัง มาแยกดูส่วนประกอบ
ปรากฏว่า 72 เปอร์เซ็นต์ เป็นชื่อและที่อยู่ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นเลขบัญชีในบัตรเครดิตและวันหมดอายุ
อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเลขที่บัญชีธนาคารและ sort code
สาเหตุที่บริษัทนี้ลงทุนวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบในถังขยะอย่างจริงจัง
ไม่ใช่เพราะอุตริหรือไม่มีอะไรทำหรอกนะ หากแต่มีรายงานจากทางการส่วนท้องถิ่นว่า
ในพื้นที่ที่พวกเขารับผิดชอบมีปัญหาถังขยะหายเป็นประจำ!!