ครั้งแรกที่ "ผู้จัดการ" ได้สัมภาษณ์ จิรพรรณ กิตติศศิสุนทร ในงาน BIG เมื่อปี พ.ศ.2544 ร้านขายโคมไฟของเธอ เป็นเพียงบูธเล็กๆ และตัวเธอเอง ก็ยังมีท่าทีไม่แน่ใจในสินค้าที่นำเสนอในปีนั้นมากนัก
ในงาน BIG ปี 2547 จิรพรรณเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับบูธเล็กๆ ที่ได้ขยายกว้างขึ้นเกือบเท่าตัว
มีโคมไฟเก๋ๆ แปลกๆ จัดวางอย่างสวยงาม ในขณะที่เจ้าของผู้กำลังเสนอขายสินค้ากับชาวต่างชาติ
อยู่ในเวลานั้นมีท่าทีแคล่วคล่องและความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ "ผู้จัดการ" ต้องตามไปดูความเติบโตในเรื่องการผลิตถึงโรงงานของเธอในเขตบางขุนเทียน
วันนั้นเป็นวันฉัตรมงคล ซึ่งโรงงานหรือบริษัทห้างร้านทั่วไปหยุด แต่ที่บริษัท
Able Interrior Workshop คนงานเกือบ 80 คน กำลังวุ่นวายกับการทำงาน โดยมีจิรพรรณ
และสามี ซึ่งใช้โรงงานแห่งนี้เป็นบ้านด้วย กำลังควบคุมการทำงานของคนงานอย่างใกล้ชิด
งานทั้งหมดทำด้วยมือ ความคิดสร้างสรรค์สินค้าต้องไปพร้อมๆ กับการสร้างคน
เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์และ ควบคุมคุณภาพ
เศษไม้เมเปิลที่เหลือจากการทำเฟอร์นิเจอร์ ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาดโรงงาน
คือสิ่งที่เธอเคยเห็นและจุดประกายความคิดขึ้นมาว่า แทนที่จะเผาทิ้งไปเฉยๆ
น่าจะนำมาทำอะไร ได้บ้าง
ลายไม้ที่สวยงามตามธรรมชาติ คือเสน่ห์ เมื่อมาส่องดู กับไฟความสวยงามก็เด่นชัดยิ่งขึ้น
งานโคมไฟกลมๆ รูปแบบ ธรรมดาก็เลยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ความเป็นคนชอบคิด คิดแล้วลองทำ และกล้านำเสนอขาย คือจุดเริ่มต้นที่ดีของจิรพรรณ
การตัดสินใจออกงาน BIG ครั้งแรกเป็นความกล้าในการเปิดตลาด และเป็นฐานสำคัญของการเติบโตในเวลาต่อมา
ยอดออร์เดอร์เข้ามาพร้อมๆ กับงานของเธอเริ่มถูกก๊อบปี้ กลายเป็นพลังให้เธอรังสรรค์งานชิ้นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องจากโคมไฟทรงกลม
รูปทรงสี่เหลี่ยม วงรี ได้พัฒนาเทคนิคต่างๆ มากขึ้น เป็นโคมรูปฟักทอง และดอกไม้ขนาดใหญ่
รวมทั้งการนำมาสานมาสอด ถักทอ ให้เกิดเป็นลายใหม่ๆ ต่างออกไป
จิรพรรณสั่งไม้เนื้อแข็งสีอ่อนจากอเมริกาเข้ามา ส่วนใหญ่เป็น ไม้เมเปิล
เพราะเป็นไม้ที่นำแสงได้ดีที่สุด และพยายามศึกษาหาไม้ลายใหม่ๆ มาลองด้วย
รูปทรงของโคมไฟ อาจจะไม่หนีกันมากนัก แต่ตัวลายไม้ จะเป็นตัวกำหนดเทรนด์ใหม่ๆ
เช่น ไม้ EMONY จากแอฟริกาใต้ที่มีสีสันสวยงาม
วัสดุที่เป็นหนังถูกหยิบมาผสมกับไม้ เป็นกล่องใส่ของฝาหนัง ใบใหญ่ กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน
และใช้ประโยชน์ได้จริง
TOUCHABLE เริ่มส่งออกจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.2544 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศยุโรป
และเป็นสัดส่วนที่พอๆ กันกับการเข้ามาสั่งซื้อ เพื่อนำไปตกแต่งของสถาปนิกและอินทีเรียร์ในเมืองไทย
ไอเดียใหม่ๆ ของสินค้า ต้องไปพร้อมกับการรักษาคุณภาพใน การผลิต และเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ