Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2542
"โรงภาพยนตร์" สงครามที่กำลังร้อนระอุ             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

   
related stories

102 ปีกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ไทย
IMAX THEATRE
"โกลด์คลาส" โรงภาพยนตร์ในความคิดฝัน

   
search resources

อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเม้นต์, บมจ.
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, บมจ.
เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้, บจก.
วิชัย พูลวรลักษณ์
วิชา พูลวรลักษณ์
สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์




ในรอบ 102 ปี ของธุรกิจภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้สร้างคนสำคัญที่มีส่วนสร้างยุคต่างๆ ให้กับวงการมากมาย วันนี้วิชัยกับวิชา พูลวรลักษณ์ แห่งค่าย "อีจีวี" และ "เมเจอร์ซินีเพล็กซ์" เป็นผู้สร้าง อีกยุคหนึ่งของธุรกิจภาพยนตร์อ ด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ โดยที่ต่างคนต่างมุ่งมั่นในแนวทางที่มั่นใจและทุ่มทุนแข่งขันกันในทุกรูปแบบด้วยระบบเทคโนโลยีที่สุดยอด รวมทั้งการตกแต่งโรงภาพยนตร์ด้วยรูปลักษณ์ใหม่ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

และแล้ววันนี้สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ สิงห์หนุ่มหน้าหยกจากค่ายเอสเอฟ ได้หอบประสบการณ์จากการเป็นเจ้าโรงภาพยนตร์ในภูธร ยึดเอา "เสี่ยเจียง" สิงห์เฒ่าแห่งสหมงคลฟิล์มเข้าร่วมเป็นพันธมิตร และก้าวสู่สนามแข่งด้วย โดยปักธงชัยไปแล้วใน "เอสเอฟ ซีนีม่าซิตี้" บนมาบุญครองชั้น 7 และกำลังวางแผนตามไปร่วมต่อสู้ด้วยในทุกทำเล

ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ปี 2000 จึงกำลังรอวันเปิดฉากด้วยความตื่นเต้นน่าระทึก!

102 ปีของธุรกิจภาพยนตร์ในเมือง ไทยที่ผ่านไปนั้นได้เกิดเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างมากมาย การบริหารโรงภาพยนตร์ในปัจจุบันนอกจากจะแข่งกันด้วยรูปลักษณ์ใหม่ที่หรูหรา โอ่อ่าแล้ว ก็ยังแข่งกันด้วยระบบมาตรฐานของโรงภาพยนตร์เอง เพื่อรองรับการพัฒนาของระบบเสียงที่ทันสมัยขึ้นจากเดิมที่เป็นระบบ Stereo มาเป็น Mono และระบบ Digital จนถึงระบบ Dolby Digital Surround EX

ปีเตอร์ ซีเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายระหว่างประเทศของ Dolby ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ Starpice ฉบับเดือนกันยายน 2542 ว่า ยอดโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยที่ติดตั้งระบบเสียงดิจิตอลมีทั้งหมด 310 โรง และที่ติดตั้งระบบ EX มีถึง 140 โรง ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีโรงภาพยนตร์ที่เป็นระดับ เดียวกับยุโรปและอเมริกา และดีกว่าหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย แม้แต่สิงคโปร์เอง

สิ่งที่เกิดขึ้นยืนยันให้เห็นว่าโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยไม่ได้เป็นธุรกิจที่ตายไปตามกระแสเศรษฐกิจอันเลวร้าย แต่กลับพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง โดยสถาบันการเงินเองก็พร้อมที่จะอ้าแขนโอบเอื้อ ในการปล่อยกู้โดยมีกระแส เงินสดที่เข้ามาแต่ละวันเป็นการันตี

สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่เจ้าของโรงภาพยนตร์มีความเชื่อมั่นว่าในยุคแห่งการสื่อสารที่ไร้พรม แดนทุกวันนี้ ประเทศเราถูกควบคุมจัดการด้วยโลกแห่งจินตนาการจากฮอลลีวู้ด ในปีนี้โรงหนังที่อเมริกาเพิ่มขึ้นนับพันโรง โรงหนังมากขึ้นคนสร้างหนังมากขึ้น ช่องทางการจัดจำหน่ายก็มากขึ้น "Holly Wood never Die" คือสิ่งที่นักธุรกิจคิด และยังเป็นธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของสินค้าอื่นๆ อีกมาก มาย เช่นแผ่นวิดีโอเทป วีซีดี เทปเพลง และสินค้าพรีเมียมอื่นๆ

2 ค่ายใหญ่ที่มีการแข่งขันกันรุนแรงที่สุดบนถนนสายบันเทิงในเมืองไทยวันนี้คือค่าย อีจีวี (EGV) Entertain Golden Villege Thailand ที่มีวิชัย พูลวรลักษณ์ เป็นผู้บริหาร ร่วมกับกลุ่มโกลเด้น ฮาร์เวสต์ จากฮ่องกง และวิลเลจ โรดโชว์จากออสเตรเลีย

อีกค่ายหนึ่งคือ เมเจอร์ ซินี-เพล็กซ์ ที่มีวิชา พูลวรลักษณ์ เป็นผู้บริหาร

ความแตกต่างของอีจีวีกับเมเจอร์ ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ อีจีวีจะเคลื่อนทัพไปเปิดตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ และเปิดพร้อมๆ กันหลายๆโรง ปัจจุบันอีจีวีมีโรงหนัง ทั้งหมดประมาณ 70 โรง 22,000 ที่นั่ง

ในขณะที่ค่ายเมเจอร ์จะลงทุนสร้างศูนย์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์เป็นของตัวเองไม่ผูกติดไปกับศูนย์การค้าปัจจุบันมี 4 ศูนย์ใหญ่คือ เมเจอร์ ปิ่นเกล้า เมเจอร์ สุขุมวิท เมเจอร์ รัชโยธินซึ่ง มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 45 โรงประมาณ 14,500 ที่นั่ง ต่างฝ่ายต่างก็มั่นใจในคอนเซ็ปต์ของตน และยึดเป็นนโยบายที่เหนียวแน่นในการสยายสาขาในการทำธุรกิจ แม้จะไม่แตกกันแต่ก็ไม่ประสาน

"ในความเป็นญาติเราต่างมีให้กัน เหมือนเดิม ญาติคนนั้นคนนี้แต่งงาน เราก็ไปร่วมแสดงความยินดี ไปปาร์ตี้สังสรรค์ ใครเปิดโรงใหม่เราก็ไปแสดงความยินดีกัน แต่ในเชิงธุรกิจเราก็เหมือนคู่แข่งกัน ถ้าจะถามว่าจะมาร่วมมือกันไหมเราคงไม่คุยเรื่องนี้แล้วเพราะ เคยพูดกันมานานตอนนี้มันเลยจุดนั้นมาแล้ว"

วิสูตรพี่ชายของวิชัยผู้บริหารคนหนึ่งของอีจีวี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

วิชัยกับวิชาไม่ใช่พี่น้องกัน แต่เป็นญาติสนิทที่ต่างก็มาจากรากเดียวกัน คือตระกูลพูลวรลักษณ์ ซึ่งในรุ่นพ่อมีด้วยกัน 4 คน พี่น้อง คือ เจริญ จำเริญ เกษม และจรัล ซึ่งทั้ง 4 คนพี่น้อง ได้ช่วยกันบริหารโรงภาพยนตร์ โรงแรกของตระกูล คือศรีตลาดพลู โรงหนังซึ่งเป็นเก้าอี้ไม้ พัดลม ราคาตั๋วหนังใบละเพียง 2 บาท ก่อนที่จะขยายตัวไปยังจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ คือ เมโทร เพชรราม่า และแมคเคนน่า ภายใต้การบริหารของ บริษัทโกบราเดอร์ จำกัด (CO-BROTHER)

คำว่า CO หมายถึงแซ่โกว ซึ่งเป็นแซ่ของตระกูล หรือหมายถึงความร่วมมือ โลโกของโกบราเดอร์ จึงเป็นภาพมือ 4 ข้างจับกัน

โรงหนังศรีตลาดพลู เกิดขึ้นเมื่อปี 2504 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่วิชัยเกิด และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี วิชา ซึ่งเป็นลูกของผู้เป็นอา คือจำเริญก็ลืมตาดูโลกเช่นเดียวกัน

ดังนั้นชีวิตในวัยเด็กของคนทั้งคู่จึงคลุกคลีอยู่กับโรงหนัง เป็นลูกเถ้าแก่ตัวน้อยที่ริเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ในวัยเด็ก

"ตั้งแต่เกิดผมก็อยู่กับโรงหนังแล้ว โตขึ้นมาหน่อยก็ขายน้ำ ขายขนม อยู่ในโรงหนังกับบรรดาญาติๆ รุ่นเล็กด้วยกัน โรงหนังพักรอบทีขายดีที ก็วิ่งอยู่ในโรงหนังจนหนังเลิก รอกลับพร้อมคุณพ่อพร้อมพี่สาว ตอนนั้นคุณพ่อเป็นผู้จัดการโรง คุณอาจำเริญ คุณอาเกษมเป็นคนฉายหนัง อาผู้หญิง ก็เป็นคนขายบัตร พอโรงขยายมากขึ้นคุณพ่อก็จะเป็นแผนกสร้าง คุณอาจำเริญก็จะเป็นฝ่ายบริหารคอยจัดรอบฉายเรื่องอะไร ฉายเมื่อไหร่"

วิชัยเล่าย้อนให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงชีวิตในวัยเด็กซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าอิทธิพลต่างๆ จากประสบการณ์ในวัยเด็ก ได้ซึมลึกติดตัวไป ทำให้เขาสลัดอาชีพนี้ไม่ออกทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากทำเลย "เราน่าจะทำอะไรที่มีรายได้ที่ดีกว่านี้ และที่สำคัญเราก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวทั่วไปที่มองว่าธุรกิจครอบครัว เป็นอะไรที่ยัดเยียดไม่อยากจะทำ และธุรกิจโรงหนังเป็นธุรกิจที่ไม่มีอนาคต หลายคนคิดอย่างนี้กันรวมทั้งผมด้วย"

แต่สิ่งที่ทำให้วิชัยตัดสินใจกระโดดลงมาทำธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างเต็มตัว หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร ์ก็เพราะเจริญขอร้องว่าอย่าทิ้งธุรกิจโรงหนัง และเพราะประทับใจในความเป็นคนรักหนังไทยของวิสูตรพี่ชายที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้างเอง รวมทั้งมองว่ามันเป็นธุรกิจที่สร้างสรรค์เป็นธุรกิจที่ขายรอยยิ้มและน้ำตาแห่งความสุข

การตัดสินใจของวิชัยในครั้งนั้นทำให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการธุรกิจบริหารโรงภาพยนตร์ในเมือง ไทย และเขาก็ได้ก้าวขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งในวงการนี้โดยไม่คาดคิด

ก่อนหน้านั้นบริษัทของกงสี โก-บราเดอร์ได้สยายปีกครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ และธนบุรีด้วยจำนวนโรงภาพยนตร์ประมาณ 50 โรง แต่แล้วประมาณปี 2527 จำเริญก็ได้แยกตัวออกมา

"ในปี 2527 คุณศุภชัย อัมพุช บิดาของศุภลักษณ์ อัมพุช เจ้าของห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ เขาเสนอให้พี่ชายผมคือคุณเจริญเช่าโรงภาพยนตร์เอ็มจีเอ็มที่เดอะมอลล์ รามคำแหง แต่พี่ชายผมไม่เอาเพราะเห็นว่าธุรกิจช่วงนั้นตกต่ำอย่างมาก ผมเลยรับมาบริหารเองนับเป็นโรงภาพยนตร์คู่แรกที่อยู่นอกกงสีพูลวรลักษณ์" (ดนุช ตันเทอดทิตย์เขียนไว้ในผู้จัดการรายเดือนปี 2537)

ความสำเร็จของเอ็มจีเอ็ม อยู่ตรงที่เป็นโรงภาพยนตร์ ที่อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่บูมมากในสมัยนั้น ซึ่งแม้แต่ วิสรรค์ วิศิลป์และ ศรีจันทร์ ลูก 3 คนใน 5 คน ของจำเริญเอง ก็ยังหันไปสนใจธุรกิจศูนย์การค้ามากกว่าโรงภาพยนตร์ ทางออกของ

จำเริญตอนนั้นก็คือเขาได้เข้าไปสร้างโรงหนังในศูนย์การค้าเป็นมินิเธียเตอร์แทน โดยเข้าไปสร้างโรงหนังเมเจอร์ในห้างสรรพสินค้าเวลโกของลูก ในห้างสรรพสินค้ามาบุญครองและห้างอื่นๆ จำเริญเลยเป็นที่ยอมรับในวงการบันเทิง ว่าเป็นผู้บุกเบิกยุคที่ 2 ของโรงภาพยนตร์ ที่เรียกว่ายุค "มินิเธียเตอร์" ซึ่งคราวนี้ไม่เกี่ยวกับธุรกิจดั้งเดิมของตระกูลแล้ว

และแล้วโรงหนังแบบมินิเธียเตอร์ที่ผู้เป็นอาเป็นคนริเริ่มต้องหลบฉากถอยไป เมื่อเกิดระบบมัลติเพล็กซ์ ของวิชา หลานชายเกิดขึ้น เมื่อปี 2536 ซึ่งถือเป็นยุคที่ 3 ของวงการภาพยนตร์

การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามานี้วิชาได้ร่วมทุน 50% กับกลุ่มวิลเลจโรดโชว์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในออสเตรเลีย และทำธุรกิจเอนเตอร์เทนเม้นท์ครบวงจรมานานกว่า 30 ปี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และบริษัทโกลเด้นท์ ฮาร์เวสต์ จากฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตภาพยนตร์จากฮ่องกง เรื่องที่คนไทยรู้จักกันดีตอนนั้นก็คือ "ไอ้หนุ่มซินตึ้ง" บริษัทอีจีวีในประเทศไทยที่บริหารโดยวิชาก็เลยเกิดขึ้นในปีนั้น

มัลติเพล็กซ์เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อประมาณปี 2532-2533 เป็นระบบที่รวมโรงภาพยนตร์หลายๆ โรงไว้ด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยทำให้สามารถฉายภาพยนตร์เรื่องเดียว กันพร้อมกันครั้งละหลายๆ โรงมีการบันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งคมชัด พร้อมๆ กันนั้นยังมีบริการด้านอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านคอมพิวเตอร์ ร้านเกม การตั้งอยู่ในศูนย์การค้าจะเป็นการเสริม จุดนี้ซึ่งกันและกัน โรงหนังประเภทนี้จะเป็นที่ต้องการของศูนย์การค้าทุกแห่ง

โรงภาพยนตร์ในระบบระบบมัลติ เพล็กซ์นอกจากจะสร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์แล้ว ยังสร้างความสะดวกให้แก่ผู้ชมภาพยนตร์อย่างมาก เพราะการขายบัตรที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทำให้ผู้ชมไม่จำเป็นต้องรอคิวเข้าแถวซื้อตั๋วยาว เหยียดเหมือนเดิม มีจอคอมพิวเตอร์ แจ้งชื่อเรื่องชื่อรอบ และโรงที่ฉายอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องสับสน ด้วยจุดดีดังกล่าวทำให้โรงหนังเล็กๆ แบบมินิเธียเตอร์ ต้องค่อยทยอยหายไปจากวงการ ภาพยนตร์ไทย

วิชัยสามารถเคลื่อนทัพโรงหนังด้วยระบบมัลติเพล็กซ์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเงินทุน และการถ่ายทอดเทคโน-โลยีที่ได้มาจากพันธมิตรชาวต่างชาติ ตอนนั้นเขาสามารถสร้างได้พร้อมๆ กัน 65 โรง ใน 4 สาขาในช่วงเวลา 18 เดือน โดยตอกเสาเข็มที่ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค เป็นที่แรก ต่อจากนั้นก็ปูพรมสร้างต่อในซีคอนสแควร์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และที่แฟชั่นไอส์แลนด์

"หุ้นส่วนผมเขายังมีอะไรที่เป็นคนเอเชีย ถ้าอเมริกันเขาจะมองเป็นธุรกิจอย่างเดียว ธุรกิจก็ต้องเป็นธุรกิจ ลงทุนต้องได้คืน ออสซี่ไม่ใช่ บางครั้งเขายังถามผมเรื่องฮวงจุ้ย มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีความสุขที่จะจอย " วิชัยพูดถึงหุ้นส่วนของเขากับ "ผู้จัดการ"

ปัจจุบันโรงหนังของอีจีวีมีอยู่ประมาณ 2,000 โรงทั่วโลก แต่เป็นอีจีวีในประเทศไทยประมาณ 80 โรง และเมื่อปี 2540 โรงหนังในเครืออีจีวีประเทศ ไทยก็ได้ประกาศศักดิ์ศรีให้ต่างประเทศได้รับรู้ด้วยรางวัล Exhibitor of the year" ในงานประกวดที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์

การพลิกโฉมใหม่ในการดูหนังครั้งใหม่นี้ ทำให้หลายค่ายคู่แข่งปฏิวัติตัวเองตามเช่นกัน แต่ด้วยจำนวนโรงที่มากกว่าจำนวนที่นั่งที่มากกว่าทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของค่ายอีจีวีในกทม. สูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างไม่ยากนัก

แต่วิชัยเองก็ไม่ยอมเสียเวลาชื่นชมฝันหวานกับความสำเร็จที่ได้รับ เพราะบัดนี้คู่แข่งก็ตามเขากระชั้นเข้ามาแล้วเหมือนกัน เขาเองรู้ดีว่าระบบโรงภาพยนตร์ที่ใหม่ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้นทุกอย่างตามทันกันได้หมด เพียงแค่มีเงิน การแข่งขันกันในเรื่องความคิด ความรวดเร็ว และบริการต่าง หากที่สำคัญ

ความคิดใหม่ที่ฉีกแนวออกไปของวิชัย คือรูปลักษณ์ใหม่ของโรงภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในโรงแกรนด์อีจีวี ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ และได้เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2542 ที่ผ่านมาในแกรนด์ อีจีวี มีโรง "โกลด์คลาส" 40 ที่นั่ง ราคาบัตรในซองที่ดีไซน์อย่างสวยเก๋นั้นราคาแพงถึง 300 บาทต่อที่นั่ง

วิชัยคิดได้อย่างไร แล้วทำไมถึง กล้าทำอะไรสวนกระแสในภาวะเศรษฐ กิจดิ่งลงเหวแบบนี้ (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)

"ในปี 2000 เรามีเทคโนโลยีหลายตัวที่เราเตรียมการไว้พอสมควรแล้ว ซึ่งคนที่เป็นแฟน EGV จริงๆ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้าน IT ของอีจีวีอย่างมาก" วิชัยยืนยันอีกครั้ง

ในขณะที่วิชัยวางแผนยึดหัวหาดสร้างโรงหนังมัลติเพล็กซ์ในศูนย์ การค้า วิชาก็มั่นใจในคอนเซ็ปต์ของ "เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์" ซินีเพล็กซ์ (Cineplex) มีความหมายมาจากคำว่า Cinema Entertainment Complex คือความบันเทิงและโรงภาพยนตร์ที่มาอยู่รวมกันพร้อมให้การบริการบันเทิงด้านอื่นหลากหลาย และในโรงภาพยนตร์เองก็ได้มีการนำเอาระบบเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้เช่นกัน เพียงแต่ว่าวิชาได้ลงทุนสร้างตึกขึ้นมาเอง โดยไม่ผูกติดกับศูนย์การค้าเหมือนอีจีวีและบริหารพื้นที่เองทั้งหมด โดยส่วนใหญ่แล้ว 60% ของพื้นที่ตึกจะเป็นโรงภาพยนตร์จำนวน หลายๆ โรงและพื้นที่ของเอนเตอร์เทนอื่นๆ ของทางเมเจอร์เอง ส่วนอีก 40% ที่เหลือคือพื้นที่ที่จะขายให้กับร้านค้าย่อยอื่นๆ

จุดสำคัญของความคิดนี้หัวใจอยู่ที่ทำเล ค่ายอีจีวีอาจจะมีตัวศูนย์ การค้าเป็นหัวหอกตอกย้ำความมั่นใจว่าทำเลที่ศูนย์การค้าตั้งจะมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าแน่นอน ถ้าพลาดทางอีจีวีก็อาจจะ ไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่โรงหนังในปีต่อๆ ไปซึ่งการเจ็บตัวที่เกิดขึ้นอาจจะน้อยกว่า

แต่ของค่ายเมเจอร์ต้องคิดเองและพิสูจน์เอง และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับร้านค้ารายย่อยที่จะต้องไปด้วยกันด้วย ถ้าพลาดค่ายเมเจอร์ต้องรับภาระที่ตามมาคนเดียวเต็มๆ แต่ถ้าโชคดีเม็ดเงินที่คืนกลับมามันก็มากกว่าการทำธุรกิจโรงหนังอย่างเดียวแน่นอนเหมือนกัน

"ตอนทำสาขาแรกที่เมเจอร์ ปิ่น- เกล้า เราก็ไม่มั่นใจ มันยากมากที่จะไป บอกลูกค้าว่าซินีเพล็กซ์คืออะไร ผมก็ไม่ มั่นใจ แต่ผมมีความกล้า กล้าๆ หน่อย คือสิ่งที่ผมคิด" เพราะความกล้าในวันนั้นของวิชา ทำให้เขาผงาดเป็นมือหนึ่งอีกคนบนถนนสายนี้

วิชาจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโททางด้านการเงินที่แซนดิเอโก สหรัฐอเมริกา จบมาก็ช่วยพี่ชายคือ วิสรรค์ทำงานที่ห้างเวลโกในระหว่างที่ทำธุรกิจเรียลเอสเตทกำลังบูมเลยออกมาทำเรื่องบ้านจัดสรร เพราะมองว่ามันเป็นการลงทุนที่ทำให้มูลค่าเพิ่มเหมือนกัน

วิชาไปเป็นนักพัฒนาที่ดินเจ้าของ บริษัทเวลแลนด์ดีเวลลอปเม้นท์อยู่พักหนึ่ง จนเกิดเหตุการณ์ห้างเวลโกไฟไหม ้บรรดาพี่น้องก็เสนอโปรเจกต์ไปให้ทางครอบครัว และในที่สุดจำเริญก็ให้โอกาสแก่วิชา

ปี 2536 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่วิชัยจับมือกับชาวต่างชาติ วิชาก็เริ่มลุยโครงการเมเจอร์ ปิ่นเกล้า ในพื้นที่ 30,000 ตารางเมตรมีโรงภาพยนตร์ขนาด 300-500 ที่นั่ง 6 โรง 800-1,200 ที่นั่ง 2 โรง และหลังจากนั้นต่อมาก็ได้มาพัฒนาเมเจอร์ สุขุมวิท และรัชโยธิน พร้อมๆ กันโดยใช้ทำเลเป็นตัวนำเช่นเดิม

เมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ รัชโยธิน ในคอนเซ็ปต์สุดยอดเมืองหนังและศูนย์รวมบันเทิงระดับโลก เป็นโครงการ ใหญ่ที่สุดของวิชัยที่วางแผนมาตั้งแต่ปี 2539 เริ่มก่อสร้างในปี 2540 เจอวิกฤติ การเงินสถาบันการเงินที่สนับสนุนถูกสั่งปิด แต่ในที่สุดก็ฝ่ามรสุมมาได้และได้เปิดตัวในปี 2541 ปีที่เศรษฐกิจดิ่งลงเหวสุดๆ

เมเจอร์ รัชโยธิน ถูกพัฒนาขึ้นเป็นตึกสูง 6 ชั้นมีพื้นที่รวมประมาณ 6 หมื่นตารางเมตร ขนาดของมันใหญ่กว่า เมเจอร์ที่ปิ่นเกล้า และสุขุมวิทประมาณ 1 เท่าตัว มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 14 โรง และมี IMAX THEATRE โรงภาพยนตร์ 3 มิติอีก 1 โรง

IMAX เป็นโรงภาพยนตร์ที่สุดยอดในเรื่องเทคโนโลยี เป็นโรงหนังแห่งอนาคตที่วิชาได้ร่วมลงทุนกับประเทศออสเตรเลีย เป็นเม็ดเงินถึง 350 ล้านบาทเพื่อสร้างเป็นจุดขายของที่นี่ (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) ส่วนโรงอื่นๆ ในโครงการนี้ก็ได้มีการทุ่มงบประมาณอย่างเต็มที่ในการตกแต่งเช่น เป็นอี-ยิปต์สไตล์ ยุโรปสไตล์ และฮอลลีวู้ด สไตล์ในบริเวณชั้นที่ 1 ชั้น 2 และ 3 ก็จะมีร้านอาหารชั้นนำ ร้านจำหน่ายเทปและซีดี รวมทั้งอุปกรณ์กีฬา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าแบรนด์เนมรายเดิมๆ ที่ให้ความเชื่อมั่น และขอเกี่ยวก้อยตามไปเปิดด้วยในทุกสาขาของเมเจอร์

ในชั้น 4 วิชายังดึงเอาโบว์ลิ่ง สะท้อนแสง 38 เลน รุ่นใหม่ทันสมัยที่สุดเข้ามา

"หากมีเอนเตอร์เทนเม้นท์อะไรใหม่ๆ ของโลกเกิดขึ้นเราก็จะนำเข้ามา อย่างเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วผมเห็นธุรกิจโบว์ลิ่งจะเข้ามาเมืองไทย ผมเลยบินไปดูที่ญี่ปุ่น ผมเป็นคนหนึ่งที่ดูโบว์ลิ่งมา

เยอะที่สุดในโลกคนหนึ่งนะ แต่เป็นคนที่ไม่เล่นโบว์ลิ่งและไม่มีความรู้เรื่องโบว์ลิ่งเลย แต่มองว่าภาพลักษณ์ของโบว์ลิ่งเดิมเป็นภาพลักษณ์ของคนกลุ่มเดียวเป็นกีฬา แต่ผมมองว่าถ้าผมเอาโบว์ลิ่งเข้ามาในเอนเตอร์เทนเม้นท์คอม-เพล็กซ์ และทำภาพลักษณ์โบ์วลิ่งให้เป็นเอนเตอร์เทนเม้นท์ได้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจผมก็เลยเร่งศึกษา" วิชากล่าวถึงความคิดของเขาเกี่ยวกับธุรกิจโบว์ลิ่ง และอธิบายถึงจุดเด่นในทำเลตรงนี้ว่า

"เรามั่นใจในทำเลตรงนี้มากเพราะมีเอสซีบีปาร์ค มีคอนโดใหญ่ๆ ทั้งหมดคือกลุ่มลูกค้าเรา ซึ่งเป็นทั้งทำเลที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งสถาบันการศึกษาเช่น เกษตรศาสตร์ เซ็นต์จอห์น จันทร์เกษม หอการค้า ซึ่งทำให้ร้านค้าเองก็เชื่อมั่นและเรื่องของคอมเพล็กซ์เอนเตอร์เทนเม้นท์ ก็เป็นเรื่องที่ขายได้ เป็นอะไรที่ใหม่ๆ ในตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่ง"

การที่บริหารเองทั้งหมดอาจจะมีข้อดีตรงที่ว่า การทำแผนการตลาดในเรื่องต่างๆ สามารถทำไปพร้อมๆ กับแผนของโรงภาพยนตร์ ซึ่งจะทำได้ง่ายรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะต้องการความคล่องตัวอย่าง นี้ก็เป็นได้ทำให้วิชามองว่าไม่จำเป็นจะต้องร่วมมือกับชาวต่างชาติในการทำธุรกิจโรงหนังในเมืองไทย

"ผมจะหุ้นกับใครสักคนต้องมีที่มาเช่นถ้าผมขาดเงิน เขามีเงิน มีแต่ฝีมืออย่างเดียวอย่างนี้หุ้นกันได้ แต่ถ้าผมมีความพร้อมทางด้านเงินทุน ทางด้านประสบการณ์ ผมต้องการเทคโนโลยี ผมก็จะเอาเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียวอย่างเช่นการร่วมทุนที่เกิดขึ้นใน IMAX เรื่องโรงหนังทั่วไปผมมองว่าฝรั่งไม่ได้ทำดีกว่าเราเลย เรื่องการเงินแบงก์พร้อม ที่จะให้การสนับสนุนเราอยู่แล้ว เขาไม่ได้มองธุรกิจนี้ตรงหลักประกัน แต่เขามองกระแสเงินสดถ้าคุณมีกระแสเงินสดดีแบงก์ก็อยากจะให้มากกว่าธุรกิจที่มีหลักทรัพย์" วิชาย้ำถึงจุดยืนในการทำธุรกิจของเขา ซึ่งนั่นก็หมายความว่าโอกาสที่จะเข้าไปร่วมทุนกับคนต่างชาติในลักษณะเดียวกับอีจีวีนั้นเขาไม่ได้คิด

ในเดือนพฤศจิกายน 2542 นี้ เมเจอร์ซินีเพล็กซ์จะเกิดแห่งที่ 4 ย่านรามคำแหง ในพื้นที่ของเดอะมอลล์ 4 รามคำแหงซึ่งทำให้เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ มีโรงหนังทั้งหมดถึง 14,500 ที่นั่ง และสิ้นปี 2000 เป้าหมายที่วางไว้ก็คือ จะต้องเปิดเมเจอร์ซินีเพล็กซ์แห่งต่อไปเพื่อให้ได้ที่นั่งทั้งหมด 2 หมื่นที่นั่ง

วิชามองว่าหัวใจของการแข่งขันทุกวันนี้อยู่ที่การสร้างชื่อของสินค้าให้ติดปากและแข่งกันในเรื่องการบริการ เพราะเขาเชื่อว่าไม่ว่าเกิดระบบอะไรใหม่ๆ ขึ้นที่ฮอลลีวู้ดทุกค่ายในเมืองไทยรับได้ไวและเร็วอยู่แล้ว

"ตอนนี้คอนเซ็ปต์ของการดูภาพยนตร์ทั่วโลกคือ out home entertainment หมายถึงออกไปหาประสบการณ์และไปเจอคน ไม่ใช่ไปดูหนังที่ไหนก็ได้ นั่นคือจุดที่เรามั่นใจในเอนเตอร์เทนเม้นท์ และมั่นใจว่าเมเจอร์ซินีเพล็กซ์จะอยู่ในใจคนมากที่สุด" วิชากล่าวย้ำกับ "ผู้จัด การ" อย่างมั่นใจมากๆ

ทั้งวิชัยและวิชาอาจจะมีความมั่น ใจว่าต่างคนต่างครองความเป็นเจ้ายุทธจักรในธุรกิจโรงภาพยนตร ์และทิ้งห่างคู่แข่งออกไปทุกที จนกระทั่ง โครงการ SF cinema city เกิดขึ้นที่มาบุญครอง เมื่อเดือนเมษายน 2542 ที่ผ่านมา

ทำเลตรงศูนย์การค้ามาบุญครอง เป็นแหล่งวัยรุ่นที่ยังคงคึกคัก ถึงแม้ว่าจะมีห้างใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกมากก็ตาม ยังเป็นจุดที่ถูกจ้องตาเป็นมันจากหลายค่ายใหญ่ๆ หลายเจ้า การที่จู่ๆ ค่ายหนัง น้องใหม่ในกรุงเทพฯ เอสเอฟคว้าไปได้จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเช่นกัน

การปักธงชัยบนชั้น 7 ของห้างมาบุญครองเป็นการยึดพื้นที่ในเมืองกรุงครั้งแรกของสิงห์ภูธรค่ายนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในการบริหารธุรกิจโรงภาพยนตร์เพราะเอสเอฟมีประสบการณ์ ทางด้านนี้มานานกว่า 30 ปีจากการทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ในหัวเมืองสำคัญต่างจังหวัดในเขตตะวันออกเช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายภาพยนตร์คุณภาพจากทุกค่าย ต่อมาก็เป็นผู้สร้างโรงภาพยนตร์ ปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมดที่กำลังบริหารอยู่ในต่างจังหวัดประมาณ 40 กว่าโรง

สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ สิงห์หน้าหยกวัย 29 ปี คือกรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารคนสำคัญของค่ายเอสเอฟที่ร่วมกับพี่ชายอีกคนคือสุวัฒน์ หลังการเสียชีวิตของสมานผู้เป็นบิดา

การเข้ามาประกาศศักดาครั้งแรกในกรุงเทพฯ ของค่ายนี้ไม่ธรรมดาตรงที่ว่าได้ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่บนชั้น 7 ของมาบุญครองทั้งชั้น ซึ่งเดิมเป็นเอ็มบีเคฮอลล์ ในพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ให้เป็น One Floor Entertainment ในรูปแบบอลัง การบันเทิงเหนือจินตนาการที่โดดเด่นด้วยการตกแต่งในบรรยากาศห้วงจักร วาลตระการตา มีโรงหนังทั้งหมด 6 โรง มีร้านค้าชั้นนำและ Shopping Street รวมทั้งความบันเทิงด้วยลานโบว์ลิ่ง

พร้อมกับการลงทุนติดตั้งระบบเสียงที่ดีที่สุดคือ Dolby Digital, Sdds, DTS และระบบต่างๆ ตามมาตรฐาน THX, Surround EX ซึ่งนับเป็นความบันเทิงสมบูรณ์แบบที่สุดไม่แพ้รายอื่นๆ เช่นกัน

จะว่าไปแล้วค่ายเอสเอฟได้ใช้รูปแบบของการทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ของอีจีวี และเมเจอร์ซินีเพล็กซ์ผสม

ผสานอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

"คือเราคงไม่ทำโรงภาพยนตร์อย่างเดียว คอนเซ็ปต์ของโรงภาพยนตร์ สมัยใหม่ ทางโรงภาพยนตร์จะต้องบริ-หารพื้นที่เองทั้งหมดที่อยู่รอบๆ มีล็อบบี้ของเขาเอง ซึ่งมันจะจัดสัดส่วนได้ดี ทำให้การจราจรของลูกค้าที่จะเดินขึ้นมาสะดวกกว่าเยอะ" สุวิทย์กล่าวถึงจุดยืนของค่ายเอสเอฟ

และที่สำคัญนโยบายของเอสเอฟ ไม่ได้ยึดมั่นว่าจะต้องผูกติดไปกับศูนย์การค้าเพียงอย่างเดียวการเข้าไปทำธุรกิจโรงหนังที่มีตึกเป็นของตนเอง เช่นเดียวกับเมเจอร์เป็นสิ่งที่เขาต้องการเช่นกัน

"แผนการที่เราจะลงทุนเป็นบิลดิ้ง ของตัวเองเราก็อยากทำแต่ขึ้นอยู่กับโลเกชั่น และต้นทุนของการลงทุน ถ้าการลงทุนเริ่มจากการไปซื้อพื้นที่มา ผมว่าไม่คุ้มแน่ แต่ถ้าเราไปเจอทำเลดีๆ เจ้าของที่ดินต้องการร่วมลงทุนด้วย โอกาสยังงั้นก็ไม่แน่ว่าเราจะทำเองหรือเปล่าอาจจะมีความเป็นไปได้ ที่จะทำทั้ง 2 อย่างคือในศูนย์การค้าด้วยสร้างเองด้วย เราพร้อมบริหารพื้นที่เองอยูแล้ว" สุวิทย์ย้ำแผนบุกเมืองกรุงอย่างชัดเจน

แต่ในอดีตที่ผ่านมาในต่างจังหวัด นั้นเอสเอฟได้เคลื่อนทัพไปพร้อมกับศูนย์การค้าใหญ่ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการที่ปัจจุบันธุรกิจศูนย์การค้าซบเซาลงก็เป็น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องบุกเมืองกรุง ในมาบุญครองเอสเอฟเราทำสัญญาเช่าทั้งหมด 15 ปี เพราะทางมาบุญครองก็เหลือสัญญาเช่ากับทางทรัพย์สินจุฬา 15 ปีเช่นกัน สุวิทย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"การทำธุรกิจนี้จุดคุ้มทุนของการทำค่อนข้างจะยาว ประมาณ 8-9 ปี แต่เราไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้นแน่นอน"

สุวิทย์เป็นคนหนุ่มอีกคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจภาพยนตร์ และเขาต้องการสานต่อเจตนารมณ์ในการทำธุรกิจของตระกูล ความสนใจในเรื่องธุรกิจเอนเตอร์เทนของเขาถูกซึมลึกลงไปในวิญญาณเช่นเดียวกับวิชัยและวิชา เพียงแต่ว่าเขากลับเลือกเรียนทางด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นวิชาที่เขาชอบ และจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะมาช่วยธุรกิจครอบ ครัวอย่างจริงจัง และรับผิดชอบโครงการใหม่ของครอบครัวที่กรุงเทพฯ โดยมีสุวัฒน์พี่ชายคนโตเป็นประธานบริษัท พงศ์ศักดิ์พี่ชายอีกคนรับผิดชอบทางด้านธุรกิจภาคตะวันออก

ความมั่นใจในศักยภาพของตนเองสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องกลุ่มนี้ โดยเฉพาะที่สำคัญพวกเขามีเสี่ยเจียงแห่งสหมงคลฟิล์ม เสือเฒ่าอีกคนแห่งวงการธุรกิจภาพยนตร์เป็นที่ปรึกษาและ หุ้นส่วนคนสำคัญของค่ายเอสเอฟ

และศึกครั้งนี้ของเสี่ยเจียงเป็นอีกครั้งหนึ่งของการกลับมาเป็นเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ในวงจรธุรกิจเดียวกับของตระกูลพูลวรลักษณ์

เมื่อประมาณปี 2510 เสี่ยเจียงเองเคยไปทำธุรกิจภาพยนตร์ที่ตลาดพลูชื่อศรีนครธน ติดกับโรงภาพยนตร์ศรีตลาดพลูของโกบราเดอร์และสู้กันอยู่ตรงนั้นนานพอสมควร หลังจากนั้นค่ายหนังของสหมงคลฟิล์มก็เป็นคู่แข่งรายหนึ่งมาตลอดบนถนนสายนี้ แต่ดูราวเหมือนว่าค่อยๆ อ่อนแรงลงไป แต่ มาในปีนี้เอสเอฟที่มีเสี่ยเจียงเป็นพันธมิตร ก็ได้มีโอกาสเป็นคู่แข่งที่สำคัญกับแกรนด์อีจีวีของวิชัยที่อยู่ห่างกันเพียงฟากถนนเท่านั้นเอง

และที่สำคัญในปี 2000 ค่ายเอสเอฟและพันธมิตรสำคัญคนนี้กำลังรุกคืบไปสร้างเอนเตอร์เทนเม้นท์ แห่งที่ 2 ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล ในคอนเซ็ปต์เดียวกับที่มาบุญครอง โดยใช้พื้นกว่า 8,000 ตารางเมตร และคู่แข่ง ที่สำคัญก็คงหนีไม่พ้น เมเจอร์ รัชโยธิน นั่นเอง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการบริหารที่มาบุญครอง แม้ยังไม่ใช่บทสรุปของกลุ่มเอสเอฟแต่ก็เป็นบันไดสำคัญที่ทำให้กลุ่มนี้กล้าไต่บันไดสูงต่อไป ซึ่งแน่นอนอาจจะยังไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวของพูลวรลักษณ์ทั้ง 2 แต่มันเป็นอะไรที่ทำให้วิชัยและวิชาต้องคอยหันกลับมามองเช่นกัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us